๓. ภาวนา คือการพัฒนาชีวิต โดยเฉพาะในที่นี้หมายถึงการพัฒนาชีวิตด้านใน คือจิตใจและปัญญา และที่เน้นเป็นพิเศษสำหรับภาวนาในระดับบุญกิริยาวัตถุนี้ พระพุทธเจ้าทรงหมายถึง การเจริญเมตตาจิต ซึ่งเป็นฐานของทานและศีล เพราะเมตตาหรือความมีน้ำใจไมตรีต่อกันนี้ เป็นคุณสมบัติที่แท้จริงในตัวมนุษย์ที่จะรักษาสันติภาพไว้ในสังคมและทำให้โลกมีความร่มเย็นเป็นสุข
นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติและกิจกรรมดีงามอีกหลายอย่างในการพัฒนาจิตใจ (จิตตภาวนา) และพัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา) ดังที่ท่านยกตัวอย่างไว้ เช่น
ก) ธรรมสวนะ คือ การฟังธรรม รวมทั้งการอ่านค้นคว้าหาความรู้ธรรม หรือเรื่องเกี่ยวกับความจริงความดีงาม
ข) ธรรมเทศนา คือ การแสดงธรรม บอกกล่าว แนะนำ ให้ความรู้ธรรม หรือเรื่องเกี่ยวกับความจริงความดีงาม
ค) ทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็นให้ตรง ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ทำด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือปรับความคิดเห็นของตนให้ถูกต้องตามหลักการของธรรมนั้นๆ เช่น ให้ทาน เพื่อช่วยเขา ด้วยเมตตาการุณย์และสละโลภะหรือมัจฉริยะในใจของตน ไม่ใช่ให้เพื่อหาผลตอบแทน เป็นต้น
No Comments
Comments are closed.