(กล่าวนำ)

14 ธันวาคม 2534
เป็นตอนที่ 1 จาก 7 ตอนของ

ข้อคิดชีวิตทวนกระแส1

ขออนุโมทนา ท่านผู้สนใจและท่านที่ดำเนินชีวิตแบบทวนกระแส ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความตั้งใจดีในการจะดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ไม่เฉพาะแต่การดำเนินชีวิตของตนให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังหมายถึงจะพยายามนำทางสังคมไปในทางที่ถูกต้อง หรือว่าจะทำกิจกรรมอะไรต่างๆ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่สังคม โดยมองว่าความเป็นไปในชีวิตและในสังคมปัจจุบันเท่าที่เรามองเห็นนี้ยังมีสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

การที่เราใช้คำว่า “ทวนกระแส” บอกอยู่ในตัวแล้วว่า สภาพปัจจุบันนี้มีอะไรที่ไม่สมควรคล้อยไปตามหรือยอมเป็นตาม เราจึงจำเป็นต้องมีการทวนกระแสขึ้น ในขณะเดียวกันการที่จะมาทวนกระแส ก็บอกอยู่ในตัวว่ามีความยาก เพราะกระแสที่เป็นไปคือกระแสของคนส่วนใหญ่ในสังคม เมื่อเราจะมาทวนกระแส การกระทำของเราซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มเล็กๆ เมื่อไปทวนเข้ากับกระแสความเป็นไปของคนส่วนใหญ่ก็ย่อมเป็นเรื่องยาก

กระแสนี้มีหลายอย่าง อาจจะเป็นกระแสค่านิยม กระแสวัฒนธรรม หรือกระแสความเจริญ ซึ่งบางอย่างเป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นนามธรรมมาก บางอย่างก็ออกมาเป็นรูปของวัตถุด้วย

กระแสค่านิยมเป็นตัวนามธรรมที่กำกับพฤติกรรมของคนหรือของสังคม ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากในชีวิตของมนุษย์ ชีวิตของคนทุกยุคทุกสมัยมักจะเป็นไปตามค่านิยม และสังคมก็จะถูกกำหนดด้วยค่านิยมนั้น แต่ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งว่ากระแสความเจริญ ก็จะทำให้มองกระแสนั้นในลักษณะที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เป็นเรื่องของวัตถุ เป็นเรื่องของสภาพที่มองเห็น ที่พูดนี้หมายความว่ากระแสมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับกระแสค่านิยมที่เป็นนามธรรม จนถึงกระแสความเจริญในลักษณะที่เป็นวัตถุอย่างปัจจุบันนี้

เรามองว่าสังคมปัจจุบันนี้เน้นเรื่องเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกระแสของความเจริญที่มีปัญหา ซึ่งไม่ควรจะปล่อยตัวเรื่อยเปื่อยไปตาม แต่ก็เหมือนกับที่ได้บอกไว้ข้างต้นแล้วว่า การใช้ชีวิตทวนกระแสนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นเรื่องของการที่เราซึ่งเป็นบุคคล หรือเป็นคนจำนวนน้อยมาทวน คือไม่ไปตามกระแสของหมู่ใหญ่ที่กำลังเป็นไป แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะเราเห็นว่ากระแสที่เป็นไปนี้ไม่ถูกต้อง เราจะให้ไปเป็นถูกต้อง เราจึงทวนกระแส

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปทวนกระแส ไม่ใช่ต้านกระแส >>

เชิงอรรถ

  1. เรียบเรียงจากบทนำเสวนาเรื่อง “ชีวิตทวนกระแสในมุมมองชนชั้นกลาง” ซึ่งได้จัดขึ้น ณ อาศรมวงศ์สนิท ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ (ได้ปรับปรุงใหม่ สำหรับการพิมพ์ครั้งล่าสุด พ.ค. ๒๕๓๖ นี้)

No Comments

Comments are closed.