ทวนกระแสสังคมได้สำเร็จ เมื่อมีกระแสการพัฒนาตัวเองอยู่ข้างใน

14 ธันวาคม 2534
เป็นตอนที่ 6 จาก 7 ตอนของ

ทวนกระแสสังคมได้สำเร็จ
เมื่อมีกระแสการพัฒนาตัวเองอยู่ข้างใน

เพราะฉะนั้น ชีวิตของชาวพุทธจะมีลักษณะที่ทวนกระแส เช่นอย่างพระสงฆ์ แทนที่จะมุ่งไปหาวัตถุบำรุงบำเรอ เพื่อเสพความสุขจากสิ่งเหล่านี้ ก็กลับเป็นว่าทั้งที่มีชีวิตเรียบง่าย อาศัยวัตถุแต่น้อย ก็มีความสุขได้ เป็นการทดสอบตนเอง และฝึกตนเองตลอดเวลา

ดังเช่นข้อปฏิบัติที่เรียกว่า ศีล นั้นก็เป็นเรื่องของการฝึกตน ขั้นแรกก็มีความมุ่งหมายให้ไม่เบียดเบียนกันในสังคม แต่ยอมรับว่า มนุษย์ต้องการวัตถุมาบำรุงบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะต้องมีความสุขจากการเสพหรือบริโภคสิ่งเหล่านี้ก่อน ตอนแรกท่านยอมรับ แต่เพื่อให้มีขอบเขตในการหาสิ่งมาเสพเสวย สนองตา หู จมูก ลิ้นนั้นโดยไม่เบียดเบียนกัน ไม่ละเมิดสิทธิของกันและกัน ท่านก็จึงให้ศีลเบื้องต้นเรียกว่า ศีลห้า เป็นการประนีประนอมผลประโยชน์หรือการหาและเสพสุขระหว่างตนเองกับคนอื่นในสังคม ท่านยอมรับในเบื้องต้นว่า มนุษย์ทั่วไป เมื่อธรรมชาติของเขายังไม่พัฒนาก็ต้องเป็นเช่นนั้น หาความสุขได้แค่นั้น แต่การที่เขาแต่ละคนจะได้ความสุขสมหวังกันนั้นเขาจะต้องไม่เบียดเบียนกัน ไม่แย่งชิงข่มเหงกันก่อน และเคารพสิทธิ์ของกันและกัน

ขั้นที่สองท่านให้ศีลเพิ่มขึ้น ขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องศีลเพิ่มขึ้น อย่างที่เราเรียกว่าศีลแปด

ศีลแปด นี้เพื่ออะไร ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่า อ้อ! ไม่มีอะไร ท่านเริ่มให้คนเราฝึกฝนตนเอง ให้พัฒนาตนในทางที่จะเป็นอิสระมากขึ้น ให้ลองดูว่า ถ้าเราไม่ต้องอาศัยวัตถุมากนัก เราจะมีชีวิตที่ดีและมีความสุขได้ไหม ให้พยายามมีความสุขได้โดยไม่ขึ้นกับวัตถุมากนัก เราเคยหาความสุขจากการที่ต้องกินเข้าไป บริโภคให้มากจึงจะมีความสุข ท่านก็บอกให้ลองศีลข้อที่หกเพิ่มเข้ามา

ศีลข้อที่หก วิกาลโภชนา เวรมณี เว้นอาหารในเวลาวิกาล ลองควบคุม ลองจำกัดอาหาร ภายในขอบเขตของเวลา เพื่อสุขภาพ กินเพื่อคุณค่าแท้ ไม่มุ่งในแง่บำเรอปาก เอารสบำเรอลิ้น กินอาหารเพียงมื้อเดียวหรือสองมื้อ หรือภายในเวลาเที่ยง ต่อจากนั้นไม่กิน จำกัดตนในเรื่องอาหาร ลองฝึกโดยให้ความสุขไม่ต้องขึ้นต่อการที่จะกินอาหารอร่อยๆ อย่างปล่อยใจตามสบาย ทำได้ไหม

ข้อต่อไป เราเคยมีความสุขจากการที่ต้องมีดนตรี ฟ้อนรำ ขับร้อง ตกแต่งประดับตัว ทีนี้เอาใหม่ลองไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เราจะมีความสุขได้ไหม ลองพัฒนาตัวเอง ฝึกตัวเอง ทดสอบตัวเอง

ข้อต่อไป เคยนอนห้องสบาย ต้องมีฟูกฟูนุ่มหนาปรนเปรอตัวเองให้สัมผัสสบาย คราวนี้ลองนอนกับพื้น นอนบนกระดาน อย่างพอสบายชนิดที่เป็นธรรมชาติ แล้วอยู่ดีได้ไหม มีความสุขไหม

นี่เป็นตัวอย่าง นี่เป็นเรื่องพื้นๆ ท่านให้ศีลแปดมาเพื่อฝึกให้เราทดสอบตนเองและพัฒนาตัวเองไปด้วย ว่าเราจะมีชีวิตที่เป็นอิสระจากวัตถุเพิ่มขึ้นได้ไหม ความสุขของเราไม่ต้องเกิดจากการหาวัตถุมาปรนเปรอได้ไหม ขึ้นต่อวัตถุน้อยลงได้ไหม เป็นการฝึก ท่านไม่ได้มุ่งให้ไปทรมานตัวเอง

เราจะเห็นว่า เมื่อทำได้ ศีลแปดจะทำให้ปลอดโปร่ง เบาสบายและทำอะไรได้มากขึ้น เพราะเราไม่ต้องมัววุ่นวายกับวัตถุ ตัดกังวลไปได้มากมาย พร้อมกับการที่ว่าชีวิตขึ้นกับวัตถุภายนอกน้อยลง เราก็ฝึกทางด้านจิตปัญญาไปด้วยพอเราฝึกทางด้านจิตปัญญาให้จิตใจมีความสุขได้ มีความรู้ความเข้าใจสิ่งต่างๆ แทนที่ว่าจะไปใช้เวลาและพลังงานเสียแรงงานกับเรื่องที่จะปรนเปรอตัวเรา ก็กลับมีเวลาและแรงงานที่จะฝึกฝนจิตปัญญามากขึ้น และจิตปัญญาที่พัฒนาขึ้นมานั้นก็กลับมาเกื้อกูล ทำให้ได้ความสุขอย่างใหม่ที่ประณีตมากขึ้น อันนี้ก็คือเรื่องของศีล ดังเช่นที่ยกตัวอย่างศีลแปดมาซึ่งเป็นทั้งการฝึกฝนใจ และสร้างความเป็นอิสระจากวัตถุให้มากขึ้น พร้อมกันนั้นก็สามารถใช้เวลาและแรงงานไปในการพัฒนาตนด้านจิตปัญญายิ่งขึ้นไปอีก นี่เป็นตัวอย่างชีวิตทวนกระแส

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ทวนกระแสร้ายไม่ไหว ถ้าลึกลงไปไม่ทวนกระแสกามทวนกระแสสังคมได้ เมื่อไม่ต้องทวนกระแสใจของตนเอง >>

No Comments

Comments are closed.