(กล่าวนำ)

26 มีนาคม 2544
เป็นตอนที่ 2 จาก 5 ตอนของ

ปฏิรูปการศึกษา : พระพุทธศาสนาจะไปอยู่ไหน?1

ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ขออธิบายความเป็นมาของกรรมการศาสนาและวัฒนธรรม ความเป็นมาของสำนักงานปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นอย่างไร เนื่องจากมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่ง ชาติ ๒๕๔๒ เกิดขึ้น จึงมีการตั้งสำนักงานปฏิรูปการศึกษาขึ้นมา เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๓ กรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการจัดโครงสร้างใหม่ให้กับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ทบวง มหาวิทยาลัย และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ จะต้องเอาสามหน่วยงานนี้มารวมเข้าด้วยกัน ตามกฎหมายระบุว่า กระทรวงการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมนั้น ให้มี ๔ องค์กรหลัก บริหารในรูปของสภา ประกอบด้วย

องค์กรที่หนึ่ง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นการเอาสภาการศึกษามารวมกันที่จุดนี้

องค์กรที่สอง คือ มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

องค์กรที่สาม สำนักงานกรรมการการอุดมศึกษา คือทบวงมหาวิทยาลัย

องค์กรที่สี่ คือตัวที่เป็นปัญหาปัจจุบันนี้ ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม

ทีนี้ ในรูปของคณะกรรมการ จะต้องมีคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรมขึ้นมาชุดหนึ่ง ภายใต้คณะกรรมการนี้ ก็มีสำนักงานเลขาธิการ

หน่วยงานสำนักงานเลขาธิการนี้ อันที่จริง ก็คือ หน่วยงานซึ่งเอางานของกรมการศาสนา กรมศิลปากร และสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติเข้ามารวมกัน

คณะกรรมการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ก็มีหน้าที่จะต้องกำหนดว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรมนั้นจะมีกี่คน ประกอบด้วยใครบ้าง

ตามกฎหมายบอกว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาศาสนา กฎหมายกำหนดว่าอย่างนั้น ส่วนเรื่องการบริหารงานต่างๆ ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงาน เลขาธิการ

พอเป็นรูปนี้ จึงคิดกันว่า คณะกรรมการชุดนี้ซึ่งจะต้องกำหนดนโยบายและแผนพัฒนา ควรจะต้องประกอบด้วย กรรมการหลายรูปแบบ

กรรมการกลุ่มที่หนึ่ง คือกรรมการโดยตำแหน่ง

กรรมการกลุ่มที่สอง คือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

กรรมการกลุ่มที่สาม คือกรรมการที่เป็นตัวแทนของงานด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม

งานด้านศาสนานั้นเดิมกำหนดไว้ว่า ให้มีตัวแทนของศาสนาพุทธ ๑ คน และตัวแทนศาสนาอื่นที่ทางราชการรับรองอีก ๔ คน คือ ศาสนาซิกซ์ ฮินดู อิสลาม และคริสต์ ศาสนาละ ๑ คน รวมทั้งหมดเป็น ๕ คน

พอข่าวอันนี้ออกไป ปรากฏว่าเป็นที่วิตกวิจารณ์กันมากว่า จะเอาคนศาสนาอื่นมาครอบงำศาสนาพุทธ หลังจากที่ไปพบพระพรหมมุนี จึงแก้ไขโดยให้ศาสนาพุทธมีตัวแทน ๓ คน เป็นพระภิกษุซึ่งทางมหาเถรสมาคมมอบหมายให้มาเป็นตัวแทน คือถ้าในรูปนี้ ศาสนาพุทธมีตัวแทน ๓ คน ศาสนาอื่นๆ มีตัวแทน ๔ คน แต่คนอื่นนอกจากนั้นโดยทั่วไปคงจะเป็นคนพุทธ

นี่คือภาพความวิตกก็เกิดขึ้นมากมาย ก่อนที่จะพูดถึงความวิตก กระผมขออนุญาตให้ท่านอธิบดีเล่าให้ฟังว่า องค์ประกอบ หรือรายละเอียดนั้นเป็นอย่างไร

ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ ถึงแม้ว่าจะมีการปรับกรรมการอย่างที่ท่าน ดร.ปรัชญาว่าไว้เมื่อกี้ เนื่องจากว่ากรรมการนี้มีหน้าที่กำหนดนโยบาย มีหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากร มีหน้าที่ในการตรวจการ อย่างไรก็ตาม เมื่อกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบ มีผู้ที่สงสัยคิดว่า กรรมการจะมีอำนาจร่วมในการบริหารหรือไม่

เมื่อไปพบพระพรหมมุนีและรับฟังข้อคิดเห็นแล้ว เราก็ไปเพิ่มเติมในหน้าที่ เขียนไว้ในกฎหมายว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ไม่ล่วงละเมิดอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม หรืออำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ทั้งในเรื่องของการกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่การตรวจติดตามอะไรต่างๆ ทางคณะกรรมการไม่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่เฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมและสนับสนุนเป็นการทั่วไป

ส่วนการบริหารทรัพย์ทางเรื่องของศาสนสมบัตินั้น เราเขียนไว้ในกฎหมายด้วยว่า คณะกรรมการนี้เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ แต่ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และถ้าหากว่า จะมีอะไรที่จะต้องรายงานคณะกรรมการ ในส่วนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น ให้ได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมเสียก่อน ถึงจะรายงานไปได้ จะเขียนในกฎหมายเพิ่มเติมเข้าไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในกระทรวงการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม เป็นการเขียนเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒

ในขณะเดียวกัน ในเรื่องของโครงสร้างการแบ่งส่วนงาน เมื่อมีการจัดองค์กรใหม่ อย่างที่ท่านประธานฯ พูดไปแล้ว เรามาจัดโครงสร้างงานที่กรมการศาสนาทำเหมือนเดิม เข้ามาในโครงสร้างใหม่ ให้เป็นสำนักส่งเสริมมหาเถรสมาคม ให้เป็นสำนักส่งเสริมกิจการศาสนสมบัติ รวมทั้งการกิจการของสงฆ์อยู่ด้วย และสำนักพุทธมณฑล

แต่หน้าที่หลักที่เรานำมาทำนั้น ให้มีหน้าที่ในการส่งเสริมและปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม ตามที่กำหนดไว้ในสาระของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มี ๓ หน่วยงาน ที่เป็นสำนักจริงๆ ถ้ามองในแง่องค์กร เป็นการยกระดับองค์กร ปรับปรุงประสิทธิภาพ จัดการแบ่งส่วนงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยงานที่เกี่ยวกับส่งเสริมพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปนั้น จะอยู่ในสำนักนี้ ในขณะเดียวกัน จะส่งเสริมศาสนาอื่นด้วย ส่วนที่เกี่ยวข้องหรือต้องดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น มี ๓ สำนักที่จะต้องดูแล รวมทั้งพุทธมณฑล แยกออกมาเป็นสำนักงานใหญ่

ในการบริหารจัดการ เลขาธิการคณะกรรมการการศาสนาวัฒนธรรม ก็ทำหน้าที่แทนอธิบดีกรมการศาสนา ในฐานะที่เป็นเลขานุการของมหาเถรสมาคม แล้วในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เขียนบอกว่า ให้กรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินพุทธศาสนา หน่วยงานนี้โอนไปเป็นของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศาสนา แต่มีข้อขมวดไว้ ที่ให้มีลักษณะเป็นการเฉพาะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในส่วนกลางเขียนไว้อย่างนี้

ในระดับพื้นที่ มีคณะกรรมการการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ในเขตพื้นที่ขึ้นเช่นเดียวกัน ในคณะกรรมการนั้น นอกจากจะมีผู้แทนองค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพต่างๆ แล้ว รวมทั้งผู้แทนทางด้านครู หรือทางด้านผู้บริหารการศึกษาแล้ว ก็เขียนให้มีผู้นำทางด้านศาสนา ให้เป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา หรือผู้นำศาสนา เพราะว่าในบางพื้นที่ อาจจะจำเป็นต้องมีผู้นำทางศาสนา

เดิมทีเดียว เขียนว่าให้มีผู้นำทางศาสนาเพียงอย่างเดียว ทีนี้ คำว่า “ผู้นำทางศาสนา” นั้นมีความหมายนัยทางกฎหมาย อาจจะทำให้มองไปทางอื่นได้ ตรงนี้จึงแก้เป็นพระในพุทธศาสนาที่มีคณะสงฆ์ให้ความเห็นชอบ ที่ไปเป็นผู้แทน

ในขณะเดียวกัน ในเขตพื้นที่ มีการจัดส่วนงานขึ้นรองรับงานการศึกษาศาสนาวัฒนธรรม ซึ่งแต่เดิมงานนี้ กรมการศาสนามอบไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฝ่ายของทางราชการ ส่วนที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ก็มีเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค ก็เป็นเหมือนเดิม ไม่ไปแตะต้องอะไรเลย เพียงแต่เปลี่ยนการทำงาน จะมอบงานไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ตอนนี้ ต้องมอบงานต่อไปแก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ และมีกลุ่มงานทางด้านศาสนาวัฒนธรรม ซึ่งเดิมทีเดียว แต่ละจังหวัด มีคนไม่กี่คน รวมทั้งที่อำเภอด้วย ตอนนี้ก็มีคนที่จัดไว้ประมาณ ๗-๘ คน ที่จะดูแลสนับสนุนงานทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม

แต่งานส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านศาสนา เพราะว่างานทางด้านศิลปะส่วนมากจะขึ้นตรงต่อส่วนกลาง ส่วนงานทางด้านวัฒนธรรมนั้นเป็นงานที่จะสนับสนุน เป็นเรื่องขององค์กรทาง ประชาชนมากกว่า

นี่เป็นการจัดองค์กรรวม ซึ่งคนเหล่านี้เราคงจะต้องพัฒนาเขา ให้สามารถเอื้ออำนวยทำงานเกี่ยวกับการสนับสนุนทางด้านศาสนา ในเรื่องของพระ ในเรื่องของวัด เรื่องของที่ศาสนสมบัติกลาง และงานต่างๆ ของพระศาสนาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อันนี้เป็นการปรับหลังจากในส่วนหนึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว

เดิมทีเดียว คณะกรรมการเข้าใจว่าการที่เขียนหน้าที่เข้าไว้ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบการปกครอง คณะบุคคลไม่น่าจะมีปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทางคณะสงฆ์และมีผู้ที่ตั้งข้อสังเกตมากมาย เราก็ไปปรับ ทั้งในแง่กฎหมาย ทั้งในแง่องค์ประกอบของคณะกรรมการ และในแง่ของโครงสร้าง ให้สอดคล้องกันทั้งระดับชาติ และระดับพื้นที่

อันนี้เป็นการดำเนินงานของคณะกรรมการ ก็ได้พยายามชี้แจงไปหลายที่ ผมกับท่านประธานฯ ได้ไปชี้แจงให้กับองค์กรพระพุทธศาสนาหลายครั้ง ผมขอชี้แจงเพียงเท่านี้

ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์: ขอกราบเรียนเพิ่มเติม เรื่องที่วิตกกังวลกันนี้ จะมีอยู่ ๒-๓ เรื่อง

เรื่องที่ ๑ ก็คือ เกรงว่าการปกครองคณะสงฆ์จะไปถูกครอบงำโดยคณะกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้เราเขียนไว้ว่า การปกครองคณะสงฆ์นั้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเป็นไปตาม พรบ.คณะสงฆ์ ซึ่งเขียนเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ไปแล้ว เรื่องการแต่งตั้งพระสังฆราช หรือพระราชาคณะต่างๆ นั้น ให้เป็นไปตามกฎหมาย คณะสงฆ์กำหนด เรื่องนั้นเขียนไว้ แต่มีหลายท่านยังไม่เชื่อว่า จะเป็นอย่างนั้นจริง แต่ที่เราเข้าใจกันเป็นอย่างนั้น

เรื่องที่ ๒ เรื่องศาสนสมบัติ ศาสนสมบัตินั้น มีทั้งศาสนาสมบัติกลาง ศาสนสมบัติของวัด ซึ่งศาสนสมบัติของวัดนั้นวัดดูแลอยู่แล้วตาม พรบ.คณะสงฆ์ ส่วนศาสนสมบัติกลางนั้น ในกฎหมายฉบับปัจจุบันเป็นเรื่องของอธิบดีกรมการศาสนา แต่ว่าในปี ๒๕๔๕ จะไม่มีกรมการศาสนาอีก งานอันนี้จึงยกไปให้กับเลขาธิการคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรมเป็นผู้ทำหน้าที่แทน และคนๆ นี้ก็จะเป็นเลขานุการของมหาเถรสมาคมเหมือนเดิม อันนี้คืองานเชิงปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นในแง่ของคณะกรรมการที่กำหนด ทั้งกฎหมายฉบับใหญ่และกฎหมายย่อย คณะกรรมการดูแลเพียงเชิงนโยบาย ติดตามกำกับ แต่คนที่ทำหน้าที่จริงๆ คือ ตัวเลขาธิการสำนักงานการศาสนาและวัฒนธรรม ตัวนี้คือตัวที่เขาจะต้องดูแล

เมื่อออกมาเป็นอย่างนั้น งานที่เกี่ยวข้องกันกับกิจการของคณะสงฆ์ ก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แยกไป ส่วนงานที่เป็นเชิงปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเป็นเชิงสนับสนุน เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ การศาสนาและวัฒนธรรม โดยที่กรรมการซึ่งเป็นกรรมการการศาสนาวัฒนธรรม และเอาคนศาสนาอื่นเข้ามาร่วมอยู่จำนวนหนึ่ง ก็ไม่ได้มีบทบาทในการเข้ามาครอบงำ

แต่ถึงจะอธิบายอย่างไร ก็ยังมีความวิตกกังวลกันอยู่ จนวันนี้ผมเชื่อว่าอย่างไรยังคงวิตกกังวลกันอยู่ว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น ได้อธิบายว่า ถ้าหากคนพุทธมีเกินกว่าครึ่ง นั่งอยู่ในนั้น ถ้า ๓๙ คน ๔ คนเป็นศาสนาอื่น ๓๕ คนเป็นคนพุทธ เมื่อคนพุทธยอมให้ศาสนาอื่นมาทำลายศาสนาพุทธ มันก็มีปัญหาแล้วนะครับ เขาบอกว่าให้ดู ในอดีตที่มีการลงชื่อกันตั้ง ๒ ล้านกว่าชื่อ เพื่อจะให้ระบุว่า ศาสนาพุทธต้องเป็นศาสนาประจำชาติ ก็ยังไม่เอากัน ไม่ไว้ใจคนพุทธด้วยกันอีก อันนี้เป็นความวิตกกังวล ซึ่งเขามีเหตุผลของเขา

พระธรรมปิฎก ขอโอกาสอาตมาแสดงความคิดเห็นหน่อย เรื่องนี้อาตมาได้ยินเช่นทางวิทยุ และบางท่านมาที่นี่บ้าง พูดตรงๆ ว่า ไม่มีเวลาเอาใจใส่จริงจัง คือ ที่มีการเคลื่อนไหวกันหลายต่อหลายวันแล้ว ก็เพิ่งจะได้ตามข่าว ก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ได้แค่ฟัง ยังไม่ได้ศึกษาเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้อง

เมื่อได้ทราบว่าท่านประธานฯ จะกรุณามาที่นี่ เมื่อวานนี้ก็เลยอ่านเอกสาร มีทั้งที่เป็นเอกสารแบบปริ๊นท์เอาท์ออกมาจากคอมพิวเตอร์ และที่เป็นเล่มหนังสือ ซึ่งมีหลายท่านเอามาทิ้งๆ ไว้ ไม่มีเวลาอ่าน บางเล่มวางอยู่เป็นเดือน เลยตะลุยอ่านเมื่อวาน เมื่ออ่านแล้วรวมกับที่ได้รับฟังมา จึงจะให้ความคิดเห็นได้

ที่ท่านประธานฯ ว่า เรื่องกลัวการครอบงำการปกครอง หรือการบริหารการพระศาสนา หรือคณะสงฆ์ ตลอดจนเรื่องศาสนาสมบัตินั้น คิดว่าคงไม่ใช่เท่านั้น ส่วนที่สำคัญคือ เราควรถือโอกาสคิดกันว่า ทำอย่างไรจะให้กิจการพระศาสนามีประสิทธิภาพในการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมประเทศชาติได้ดีที่สุด ให้สมตามอุดมคติของพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนานั้น และแม้แต่พระภิกษุทุกองค์ก็มีไว้เพื่อความมุ่งหมายนี้ คืออุดมคติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่าพระศาสนาดำรงอยู่และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก เพื่อเห็น แก่ประโยชน์และความสุขของพหูชน อันนี้เป็นอุดมคติและเป็นจุดหมายสำคัญ

เมื่อจุดหมายอยู่ที่นี่ พุทธศาสนาเป็นสถาบันใหญ่อยู่ในประเทศ มีบทบาทสำคัญ เมื่อเราทำงานที่เกี่ยวกับพระศาสนา แม้ว่าเราจะประสงค์ดี แต่จะต้องระลึกตระหนักถึงความสำคัญของงานนี้ เพราะถ้าผิดพลาดไป มันก็คือผลกระทบที่ร้ายแรงต่อพระศาสนา ซึ่งหมายถึงสังคมประเทศชาติด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องเห็นใจผู้ที่เป็นห่วง แม้จะมีการว่ากันแรงๆ บ้าง ก็อย่าถือกัน ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนนั้นมีใจมุ่งประโยชน์ส่วนรวม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความเป็นมา-๑- ทำไมกิจการพุทธศาสนา จึงควรตั้งเป็นองค์กรอิสระ >>

เชิงอรรถ

  1. เนื่องจากต้องจัดพิมพ์เร่งด่วน ไม่มีโอกาสให้ทุกท่านที่ร่วมสนทนาได้ตรวจทานต้นฉบับ ถ้อยคำบางแห่งที่ไม่ชัด ต้องตัดสินใจพิมพ์ไปตามที่จับความได้ ถ้ามีผิดพลาดบกพร่องก็ขออภัย และได้โปรดแจ้งเพื่อแก้ไขให้สมบูรณ์หากจะมีการพิมพ์ครั้งใหม่

No Comments

Comments are closed.