การสืบสานวัฒนธรรม

29 สิงหาคม 2537
เป็นตอนที่ 5 จาก 7 ตอนของ

การสืบสานวัฒนธรรม

ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมเป็นกระแสซึ่งมีการสืบทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน และโยงไปถึงอนาคตนี่แหละ จึงมีคำว่าสืบสานเกิดขึ้น ดังที่มีโครงการสืบสานงานวัฒนธรรมไทย ในที่นี้ จึงขอโอกาสพูดถึงความหมายของการสืบสาน

สืบสาน มีทั้งสืบ และสาน คำว่า สืบ ในความหมายหนึ่งหมายถึงสืบสาว คือย้อนลงไปในความเป็นมาเพื่อหาเหตุปัจจัยในอดีต และการย้อนลงไปหาที่เรียกว่าสืบสาวนั้น มี ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง คือสืบสาวในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อหาความเป็นมาในอดีตว่า วัฒนธรรมนี้เกิดสืบเนื่องมาจากอะไร ต้นตออยู่ที่ไหน และสืบต่อกันมาอย่างไร ทุกอย่างที่มีอยู่ มีความเป็นมาที่สืบสาวไปในอดีตได้ ถ้าชนชาติใดมีปัญญา มีความรู้เข้าใจ เกี่ยวกับรากฐานที่มาในประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรมของตน ชาตินั้นก็มีทางที่จะทำให้วัฒนธรรมของตนเจริญงอกงามได้ แต่ในบางสังคม คนมีความมืดมัว ไม่รู้จักสืบสาวหาความเป็นมาแห่งวัฒนธรรมของตนในอดีต

สำหรับสังคมไทยของเรานั้น เราพูดได้เลยว่า ในแง่ของประวัติศาสตร์ ถ้าเราสืบสาวลงไปในอดีต วัฒนธรรมของเรา แม้ไม่ทั้งหมด แต่ส่วนมากทีเดียวได้สืบทอดมาจากพระพุทธศาสนา พฤติกรรมและแบบแผนอันเนื่องจากพระพุทธศาสนานี้แหละ ได้เป็นที่มาแหล่งสำคัญของวัฒนธรรมของสังคมไทยปัจจุบันนี้ในเชิงประวัติศาสตร์

สืบสาวอีกด้านหนึ่งคือ ในด้านเนื้อหาสาระว่า เนื้อหาสาระของวัฒนธรรมไทยนั้น คืออะไร มาจากไหน ในด้านนี้ก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าวัฒนธรรมไทยนั้น มาจากพระพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นจึงถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย โดยส่วนมากหรือข้างมาก ทั้ง ๒ ด้าน คือ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ และในด้านเนื้อหาสาระ

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง

ท่านที่ทำงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เมื่อจะออกมาสู่ปฏิบัติการในสังคมไทย จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย และถ้ามองอีกด้านหนึ่ง ถ้าท่านที่ทำงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จะช่วยในเรื่องวัฒนธรรมไทยแล้ว ก็จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมไทยได้เป็นอันมาก นี่คือสืบในความหมายของการสืบสาว

สืบในอีกความหมายหนึ่ง คือสืบทอด สืบสาวนั้นโยงย้อนกลับไปข้างหลัง แต่สืบทอดนั้น สืบต่อไปข้างหน้าจากปัจจุบันสู่อนาคต เมื่อเราสืบสาวได้ดีแล้ว เราก็เห็นทางที่จะสืบทอดได้ดีด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการสืบทอดนั้น เราไม่ได้สืบทอดลอยๆ แต่สืบทอดด้วยปัญญาอย่างมีวิธีการ ถ้าสืบทอดโดยไม่มีวิธีการ ก็กลายเป็นการปล่อยให้ไหลเรื่อยเปื่อยไป การสืบทอดอย่างมีวิธีการในที่นี้เรียกว่าสืบสาน เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่าสืบสาน คือ นอกจากสืบแล้วก็มีการสานด้วย

สาน คือ การจัดสรรปรุงแต่งวัฒนธรรมที่สืบมาจากเดิมให้มีรูปแบบเป็นต้น ที่สอดคล้องกับยุคสมัยในสภาพปัจจุบัน ให้เป็นประโยชน์แก่คนที่ดำเนินชีวิตอยู่ การสานทำให้สิ่งที่สืบมาเกิดผลเป็นประโยชน์และมีชีวิตชีวา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการสานวัฒนธรรมด้วย ไม่ใช่สืบอย่างเดียว

เอาเป็นว่า การสาน จะทำให้วัฒนธรรมนั้นเป็นประโยชน์แก่คนในปัจจุบัน พร้อมทั้งจะเป็นฐานของการงอกงามสืบต่อไปเบื้องหน้าด้วย

จากนั้นถ้าเป็นไปได้ หากวัฒนธรรมของเราเป็นของดี ก็ควรที่จะแผ่ขยายความนิยมออกไปในสังคมโลกด้วย มิใช่จะเป็นแต่ฝ่ายตั้งรับหรือรอรับ อย่างที่เวลานี้เราได้กลายเป็นฝ่ายตั้งรับวัฒนธรรมอื่นที่บุกเข้ามา นับว่าวัฒนธรรมของเขาน่าชื่นชมที่ได้รับความนิยม แต่การที่เราไปนิยมตาม และรับเข้ามานั้น ถ้าไม่เป็นไปด้วยสติปัญญา ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เช่นมีคุณสมบัติที่เข้ากับลักษณะ ๖ ประการที่กล่าวไปแล้วหรือไม่

ในทางกลับกัน ทำไมเราไม่คิดว่า เราจะสืบสานวัฒนธรรมของเราให้สื่อสาระอันอุดม และให้ได้รับความนิยมแผ่ขยายออกไปในสังคมโลกบ้าง

ตกลงว่า การสาน ๓ อย่างคือ สานสิ่งที่สืบจากอดีตให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน สานสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันให้พร้อมที่จะงอกงามต่อไปในอนาคต และสานสิ่งที่ตนมีให้น่าชื่นชมแผ่ความนิยมกว้างออกไปในโลก นี้เป็นสิ่งที่ควรจะพยายามกระทำในการสืบสานวัฒนธรรม

การที่จะทำได้อย่างนี้จะต้องมีความรู้ความสามารถ คือการที่จะต้องนำเอาส่วนประกอบต่างๆ เข้ามาปรับปรุง เพราะการปรับปรุงหรือการสานนั้นจะต้องมีส่วนประกอบ แม้จะเป็นการสานกระบุง สานบุ้งกี๋ สานพัดอะไรต่างๆ ก็ต้องมีสิ่งที่เอามาประกอบกันเข้า เราจะต้องเอาส่วนประกอบจากวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมมาปรับ ให้รับกันกับสภาพที่เป็นอยู่ และนำส่วนประกอบใหม่ๆ ที่ควรจะรับเข้ามาปรุง แล้วสานเข้าเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาและมีการพัฒนา

องค์ประกอบสำคัญที่จะมาสานวัฒนธรรมซึ่งขาดไม่ได้ คือสติปัญญา เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระเดิมอย่างที่กล่าวมาแล้ว และมีความชัดเจนในสภาพปัจจุบัน เพื่อจะรักษาเนื้อหาสาระนั้นไว้ให้คงอยู่ได้ และสื่อสาระนั้นให้ปรากฏแก่ปัจจุบัน

ประการที่ ๑ วัฒนธรรมต่างๆ มีเนื้อหาสาระในเชิงสัจธรรมและจริยธรรม ที่จะต้องสืบค้นออกมาให้ได้ว่า เนื้อหาสาระที่เราต้องการนั้นคืออะไร และแยกออกได้จากเปลือกผิวหรือรูปแบบนั้น เมื่อจะทำการสานวัฒนธรรมที่สืบมา จึงควรจะตรวจสอบวัฒนธรรมของเราที่สืบมาถึงปัจจุบัน กับตัวเนื้อหาสาระที่แท้แต่ดั้งเดิมนั้นด้วย อันจะเป็นการปรับขั้นต้นในการสานวัฒนธรรม

ความรู้ในเนื้อหาสาระที่ต้องการ โดยเฉพาะหลักการของพระศาสนา ได้แก่ธรรมวินัยนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะใช้ประโยชน์ในการสานต่อวัฒนธรรมให้เจริญงอกงามสืบไป ถ้าขาดความรู้นี้เสียแล้ว การสืบสานวัฒนธรรมก็แทบจะไม่มีความหมาย วัฒนธรรมนั้นจะเลื่อนลอย มีแต่รูปแบบที่ไม่มีเนื้อหาสาระ เหมือนดังเปลือกที่ว่างเปล่า

ประการที่ ๒ คือความรู้เข้าใจในสภาพปัจจุบัน เช่น ปัญหาสังคม และสภาพความคิดจิตใจของคนในยุคปัจจุบันที่เป็นอยู่นี้ ซึ่งขาดไม่ได้ เพราะเราจะต้องเอาเนื้อหาสาระที่มีอยู่เดิมมาสานมาปรุงมาจัดมาสรรมาแต่งให้เข้ากับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ให้คนปัจจุบันนี้ใช้ประโยชน์ได้ ถ้าเราไม่รู้เข้าใจสภาพปัจจุบันแล้ว แม้เราจะรู้เนื้อหาสาระ เราก็จัดไม่เป็น มันก็ไม่เกิดประโยชน์ทั้งๆ ที่มีเนื้อหาสาระ เหมือนมีน้ำ แต่ไม่มีแก้วที่จะไปตักมากิน

ประการที่ ๓ เพื่อให้วัฒนธรรมของเรา ได้รับความนิยมแพร่หลายออกไป เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก เราจะต้องมีความรู้เท่าทัน ต่อปัญหาและความต้องการของมนุษย์ทั่วโลกด้วย เพราะฉะนั้น คนไทยที่จะดำรงรักษาวัฒนธรรม จะมัวคิดแต่เรื่องวัฒนธรรมเพื่อประเทศของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมองไปที่สังคมโลกทั้งหมด โดยเฉพาะโลกปัจจุบันนี้ก็แคบเข้ามาเป็นอย่างยิ่งแล้ว เป็นโลกในยุคข่าวสารข้อมูล ที่มีการติดต่อถึงกันหมดแล้ว วัฒนธรรมจะมีการบุกรุกต่อกันได้อย่างมาก เพราะฉะนั้นเราจะเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่อย่างเดียวไม่ได้ จะทานกำลังวัฒนธรรมจากภายนอกที่โหมท่วมทับเข้ามาไม่ได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ลักษณะสำคัญบางประการของวัฒนธรรมความสำเร็จของงานสืบสานวัฒนธรรม >>

No Comments

Comments are closed.