ฐานและแก่นสารของวัฒนธรรม

29 สิงหาคม 2537
เป็นตอนที่ 2 จาก 7 ตอนของ

ฐานและแก่นสารของวัฒนธรรม

วัฒนธรรมนี้ ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องในระดับรูปแบบ คือเป็นเรื่องสภาพที่ปรากฏภายนอกโดยส่วนมาก วัฒนธรรมที่เป็นรูปปรากฏหรือเป็นรูปแบบนี้ จะมีแก่นสารแท้จริง ก็จะต้องมีตัวความจริงที่ลึกซึ้งลงไปรองรับ

ถ้าจะพูดในแง่ของสิ่งที่เป็นฐานของวัฒนธรรมนี้ก็จะเห็นได้ว่า แยกได้ถึง ๓ ระดับ เราสามารถใช้คำว่า ธรรม มาเป็นเครื่องมือในการแบ่งระดับของสิ่งที่เกี่ยวข้อง ที่โยงมาถึงวัฒนธรรม วัฒนธรรมนั้นเป็นรูปแบบเบื้องปลาย ลึกลงไปมีอะไรเป็นฐานอยู่อีก ในที่นี้จัดเป็น ๓ ระดับ คือ

ระดับที่เป็นฐาน เป็นรากที่สุดได้แก่ สัจธรรม สัจธรรมคือตัวความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ สัจธรรมนี้เป็นฐานเริ่มต้นที่รองรับวัฒนธรรมไว้

ต่อจากสัจธรรม ก็คือสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม อันได้แก่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับความดีงาม ซึ่งเป็นความจริงที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ความจริงของมนุษย์ต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ จึงจะเกิดผลสำเร็จได้ด้วยดี

จากนั้นจึงจะมาถึงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบหรือเป็นวิธีปฏิบัติที่จะให้เกิดผลเป็นจริงตามที่มนุษย์ต้องการ

สัจธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เป็นภาวะของธรรมชาติ

จริยธรรม คือข้อผูกพันที่โยงสัจธรรมนั้นเข้ากับชีวิตและสังคมของมนุษย์

วัฒนธรรม คือรูปแบบการปฏิบัติตามจริยธรรมที่ปรากฏในวิถีชีวิตของสังคมมนุษย์

ขอโอกาสให้ตัวอย่างว่าธรรม ๓ อย่างนี้สัมพันธ์กันอย่างไร ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรื่องการจราจร

การจราจรมีทั้งสัจธรรม มีทั้งจริยธรรม และมีทั้งวัฒนธรรมอยู่ด้วยกัน ซ้อนกันอยู่ ๓ ชั้น

สัจธรรมคือ ความจริงตามธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ ในกรณีนี้ก็คือ ในการที่มนุษย์จะเดินทาง ถ้าไปด้วยเท้า ก็เดินทางไปได้ช้า ถ้าต้องการไปให้เร็วขึ้น ก็ต้องมียานพาหนะ โดยเฉพาะรถซึ่งเราใช้กันมาก รถราจะเดินทางไปได้ด้วยดี ต้องมีที่ว่างเป็นช่องทางให้ผ่านไปได้ และจะต้องมีความเป็นระเบียบ นอกจากนั้นรถราเหล่านี้ซึ่งเป็นยานพาหนะที่วิ่งเร็ว ประกอบด้วยวัตถุที่เป็นโลหะ ถ้าหากว่าเกิดมีการชนกันขึ้น ก็เป็นอันตรายร้ายแรง ทำให้ถึงแก่เสียชีวิต หรือพิกลพิการ อันนี้เป็นความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเราต้องการที่จะมีการเดินทางด้วยรถ ก็จะต้องคำนึงไว้ก่อนจะมาถึงความจริงในขั้นที่เป็นการปฏิบัติของมนุษย์

ความจริงที่มนุษย์จะต้องรู้ว่า การเดินทางให้ไวจะไปได้ด้วยการใช้ยานพาหนะที่ดีมีประสิทธิภาพ โดยมีช่องทางที่เพียงพอ และไม่ให้ขัดข้องด้วยอุบัติเหตุเป็นต้น นี้เป็นความจริงตามธรรมชาติ เรียกว่า สัจธรรม

จากนั้นก็มีความจริงในการปฏิบัติของมนุษย์ที่จะต้องกระทำให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น คือจะต้องมีความเป็นระเบียบในการเดินทาง เช่น การไปตามลำดับ การขับรถด้วยความระมัดระวัง การมีสติ ไม่ประมาท การเอื้อเฟื้อเกื้อกูล เห็นใจกัน ตลอดจนมารยาทต่างๆ ในการขับรถ ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพที่ยานพาหนะมีช่องทางที่เพียงพอ และไม่ขัดข้องด้วยอุบัติเหตุเป็นต้น

ถ้าเราไม่มีความเป็นระเบียบและความระมัดระวังในการเดินทาง ก็จะทำให้การเดินทางนั้นไม่ได้ผล ทั้งๆ ที่มีพาหนะอย่างดี ทั้งๆ ที่มีถนนหนทาง แต่รถจำนวนมากมายต่างคนต่างจะไป ก็กระจุกกันอยู่ ผลที่สุด แต่ละคนก็ไปไม่ได้สักคนหนึ่ง หรือไม่อย่างนั้นก็ช้า ติดขัดไปหมด ดังนั้น จึงเป็นความจริงในการปฏิบัติของมนุษย์ว่าจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ความจริงในเชิงปฏิบัติที่มนุษย์จะต้องทำตามนี้เรียกว่า จริยธรรม

เมื่อจริยธรรมบอกว่า จะต้องมีความเป็นระเบียบ เช่นมีการไปตามลำดับและมีการจัดช่องทางเป็นต้น เราก็ดำเนินการจัดรูปแบบในการปฏิบัติขึ้นมา ดังจะเห็นได้ในรูปของกฎจราจร เครื่องหมาย และอุปกรณ์ต่างๆ เช่นมีการวางกฎเกณฑ์ลงไปว่า รถทุกคันจะต้องวิ่งทางซ้ายของถนน เวลาจะแซงให้แซงทางด้านขวาของรถคันหน้า ดังนี้เป็นต้น จะต้องมีสัญญาณจราจร มีไฟแดงไฟเขียว การโบกมือ การเป่านกหวีดของตำรวจจราจร เส้นขาวเส้นเหลืองรูปลักษณะต่างๆ บนผิวถนน เป็นต้น เป็นเครื่องหมายรู้ และเครื่องหมายเหล่านี้ จะต้องเป็นที่ยอมรับกันในสังคม อันนี้เป็นรูปแบบในระดับของวัฒนธรรม

จะเห็นได้ว่ารูปแบบของวัฒนธรรม เช่น รูปแบบของการจราจรนี้อาจจะไม่เหมือนกัน ในสังคมหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง อีกสังคมหนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ต่างกันไป ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในประเทศไทย เรากำหนดให้รถวิ่งทางแถบซ้ายของถนน แต่ในอเมริกาเขาให้รถวิ่งชิดทางขวา อย่างนี้เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะจัดรูปร่างรูปแบบของวัฒนธรรมอย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็เป็นเพียงวิธีการที่จะให้ได้ผลสำเร็จตามความจริงของจริยธรรมคือความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเป็นฐานรองรับมันอีกทีหนึ่ง

ดังนั้น วัฒนธรรมจึงมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามกาลเทศะ และตามภูมิธรรมภูมิปัญญาของมนุษย์ผู้บัญญัติ ในขณะที่จริยธรรมก็ยังเหมือนกันและเหมือนเดิมตลอดทุกที่ทุกเวลา สุดแต่ใครจะมีภูมิปัญญา นำมาสื่อสารได้แค่ไหน และลึกลงไปสัจธรรมก็ยิ่งคงตัวอยู่ตามที่เป็นเรื่องของธรรมดาธรรมชาติ สุดแต่ใครจะมีภูมิปัญญาเข้าถึงได้เพียงใด

นี้คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ใน ๓ ระดับ

๑) สัจธรรม คือความจริงตามธรรมชาติ เป็นตัวแท้ที่สำคัญที่สุด

๒) จริยธรรม คือความจริงในขั้นปฏิบัติการของมนุษย์ที่จะต้องทำตามความจริงของธรรมชาตินั้นจึงจะได้ผลที่ต้องการ

๓) วัฒนธรรม คือความจริงในขั้นของวิธีปฏิบัติหรือรูปแบบที่จะต้องกำหนดวางขึ้นมา เพื่อให้จริยธรรมปรากฏตัวเป็นการปฏิบัติที่ได้ผลจริง บนฐานแห่งสัจธรรมนั้น

จริยธรรม เป็นสิ่งที่คงตัว และสัจธรรมก็คงตัวยิ่งกว่านั้น แต่วัฒนธรรม เป็นเรื่องของรูปแบบภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ เพราะวัฒนธรรมนั้น เป็นการจัดรูปแบบและวิธีการ ซึ่งจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกาลเทศะ คือยุคสมัย และถิ่นฐานบ้านเมืองเป็นต้น

เพราะฉะนั้น เราจึงให้ความหมายของวัฒนธรรมที่ปรากฏขึ้นมาเป็นรูปแบบต่างๆ ว่าเป็นวิถีชีวิตของสังคม ซึ่งปรากฏเป็นรูปลักษณะที่เป็นแบบแผนจำเพาะของชุมชนและสังคมนั้นๆ จนเรียกกันว่าเป็นเอกลักษณ์ เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมจึงเป็นภาพปรากฏในระดับของการนำเอาสัจธรรมและจริยธรรมมาใช้ประโยชน์ให้เกิดผลเป็นจริงในหมู่มนุษย์

จะเห็นง่ายๆ อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่นการกินอาหาร การกินอาหารก็มีทั้งสัจธรรม ทั้งจริยธรรม แล้วก็มีวัฒนธรรมอยู่ในตัว

สัจธรรม คืออะไร ก็คือความจริงของธรรมชาติที่ว่า ชีวิตของมนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ตามหลักที่ว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา แปลว่าสัตว์ทั้งปวงดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหาร ถ้าไม่มีอาหารก็อยู่ไม่ได้ ชีวิตจะไม่สามารถสืบตัวเองต่อไป

จากนั้น ความจริงของสัจธรรมนี้ก็บ่งชี้ต่อไปว่า เพื่อจะให้การมีอาหารหล่อเลี้ยงร่างกายนั้นเป็นจริงขึ้นมา มนุษย์จะต้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น การหาอาหาร การจัดเตรียมและจัดแจงอาหาร และการกินอาหาร และปฏิบัติการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกินเหล่านี้จะต้องเป็นไปด้วยดี ที่จะไม่กลายเป็นการทำให้เกิดความขัดข้องจนต้องอดกิน หรือเกิดความเสียหายเดือดร้อนอย่างอื่น จนในที่สุดก็คือทำอย่างไรจะกินให้ได้ผลตามธรรมชาติที่ต้องการ คือได้อาหารหล่อเลี้ยงชีวิต ที่จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี โดยจะต้องคำนึงถึงคุณค่าของอาหาร การจัดปรุง การผลิตอาหาร การแบ่งสรรซื้อหา ตลอดจนความรู้จักประมาณในการกิน รวมทั้งการที่จะต้องดูแลกัน เช่นคนที่อยู่ในปกครอง ซึ่งไม่มีความสามารถดูแลตนเอง ก็จะต้องมีการจัดดูแลให้ได้รับประทาน นี้คือความจริงของการที่จะต้องกินอาหารซึ่งเป็นความจำเป็นของชีวิตในขั้นของ จริยธรรม อันเป็นความจริงที่มนุษย์จะต้องทำ

ต่อจากนั้น รูปแบบ ระบบ ตลอดจนกระบวนวิธีในการที่จะแสวงหา จัดหา จัดเตรียม การผลิต การปรุง และในที่สุดคือการกิน จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่จะกำหนดกันขึ้นมา ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของสังคมนั้นๆ อันมีดินฟ้าอากาศ ประเภทของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ไม่เหมือนกัน มีภูมิธรรมภูมิปัญญา รวมทั้งความพอใจชอบใจและรสนิยม ซึ่งแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน เช่น ในสังคมเกษตรกรรมกับในสังคมอุตสาหกรรม ระบบการผลิตอาหาร ก็ไม่เหมือนกันเป็นต้น แม้แต่ในการกิน บางสังคมก็อาจจะกินโดยเปิบด้วยมือ บางสังคมก็อาจจะกินโดยใช้ตะเกียบ บางสังคมก็อาจจะกินโดยใช้ช้อนส้อม และแม้วิธีปรุงอาหาร วิธีนั่งโต๊ะ นั่งพื้นรับประทาน การจัดเป็นกี่มื้อเป็นต้น ก็ไม่เหมือนกัน จะรับประทานเวลาไหนบ้าง อาหารที่ปรุงก็มีรูปแบบต่างๆ กัน ทั้งหมดนี้คือความจริงในระดับวัฒนธรรม

หลักสำคัญเรื่องธรรมสามอย่างนี้เป็นความเข้าใจเบื้องต้น ถ้ามีความเข้าใจนี้แล้ว ก็จะเป็นทางนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องวัฒนธรรม ขณะนี้เราต้องการให้เอาจริงเอาจังกันในเรื่องวัฒนธรรม แต่การที่จะปฏิบัติต่อวัฒนธรรมถูกต้อง ก็ต้องมีความเข้าใจลึกลงไปจนถึงสัจธรรม พร้อมทั้งจริยธรรม มิฉะนั้น วัฒนธรรมจะหาแก่นสารหรือสาระมิได้ จะเลื่อนลอย แล้วก็เกิดความเคลื่อนคลาด

เป็นอันว่า เท่าที่กล่าวมานี้ มีความจริง ๓ ระดับ คือ

๑. สัจธรรม คือความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ

๒. จริยธรรม คือความจริงในการที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาตินั้น

๓. วัฒนธรรม คือรูปแบบและวิธีการต่างๆ ที่มนุษย์จะใช้ในการปฏิบัติเพื่อให้จริยธรรมสำแดงผลตามสัจธรรม ในทางที่จะทำให้ชีวิตและสังคมของตนดำเนินไปด้วยดี

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)เกณฑ์ตรวจสอบวัฒนธรรม >>

No Comments

Comments are closed.