ความรู้ – ความรู้สึก

27 กรกฎาคม 2543
เป็นตอนที่ 4 จาก 7 ตอนของ

ความรู้ – ความรู้สึก

ในเรื่องนี้ แรกที่สุดจะต้องรู้ว่า ตา หู ฯลฯ ของเราทำหน้าที่อะไรบ้าง มันทำงาน 2 ด้าน คือ

1. รับความรู้

2. รับความรู้สึก

ที่เราต้องคอยหาอะไรมาป้อนให้มันเสพ หรือคอยปรนเปรอมันนั้น ก็คือเราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย รับความรู้สึก ถ้าเมื่อไรเราพัฒนาก้าวไปเน้นการใช้ตา หู ฯลฯ เพื่อรับความรู้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แม้แต่ในเรื่องความสุขด้วย

แค่รับความรู้ กับรับความรู้สึก แค่นี้ก็ต่างกันแล้ว เป็นจุดแยกที่สำคัญ

พวกที่ใช้ตา หู รับความรู้สึก พอรู้สึกสบาย ก็ชอบใจ รู้สึกไม่สบาย ก็ไม่ชอบใจ สุขทุกข์อยู่กับความชอบใจ ไม่ชอบใจ วนเวียนจบที่นั่น

แต่พอรับความรู้ คราวนี้ความรู้สึกไม่เกี่ยว ขอให้ได้ความรู้ก็แล้วกัน มันจะสบายไม่สบาย ถูกตาไม่ถูกตา ไม่เกี่ยวแล้ว ขอให้ได้ความรู้ ฉันก็เป็นสุข

เพราะฉะนั้น คนที่เริ่มขยับจากการใช้ตา หู จมูก ลิ้น เพียงรับความรู้สึก มาเป็นรับความรู้ จะเปลี่ยนมิติใหม่ของความสุข คือ ไม่ทุกข์เพราะความชอบใจ ไม่ชอบใจ แต่มองในแง่การได้ความรู้ ทั้งสิ่งที่ถูกใจ และไม่ถูกใจ ก็สุขได้หมด เพราะมันได้ความรู้ เราต้องการได้ความรู้ เมื่อเราอยากได้ความรู้ การได้ความรู้ก็เป็นการสนองความต้องการ และเป็นตัวให้เกิดสุข เพราะฉะนั้นสิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจจึงไม่เกี่ยว สิ่งที่ชอบใจก็ให้ความรู้ได้และทำให้สุขได้ สิ่งไม่ชอบใจก็ให้ความรู้ได้ ฉันก็สุขได้

เพราะฉะนั้น จึงสุขได้ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ นี่คือตัวอย่างการพัฒนาของมนุษย์

การใช้ตา หู ไม่เป็น เอาแค่รับความรู้สึก และหามาให้มันเสพ นอกจากไม่พัฒนาแล้ว ก็ก่อปัญหาอย่างหนัก ไม่ต้องพูดถึงปัญหาในสังคมที่คนแย่งชิง ข่มเหงกัน เพื่อจะเอามาเสพให้มากที่สุด ซี่งเป็นเรื่องข้างนอก เอาแค่ข้างในของแต่ละคน ถ้ามนุษย์รับรู้ในแง่เอาความรู้สึกเป็นเป้าหมาย ความรู้สึกก็จะมาเคลือบมาคลุมให้การรับรู้นี้ไม่บริสุทธิ์ เกิดความลำเอียง มองตามชอบใจ ไม่ชอบใจ ก็เกิดอคติ ยังไม่เกิดอคติก็ไม่เห็นตามความเป็นจริง เหมือนใส่แว่นสี

การรับรู้ที่ไม่พัฒนาอย่างนี้ ก็จึงมีอิทธิพลมาก คือ คนที่รับรู้แค่ความรู้สึก ท่านเรียกว่า อยู่แค่ยินดี ยินร้าย ไม่พัฒนา และสุขทุกข์ก็อยู่แค่ชอบใจไม่ชอบใจ

ที่เรียกว่าเป็นพาล กับบัณฑิต จุดแยกก็อยู่ตรงนี้ คือคนพาลอยู่แค่ความรู้สึก แต่บัณฑิตอยู่ด้วยปัญญา ที่รู้คิด และรู้เข้าใจ

พอพัฒนาเปลี่ยนจุดเน้นของการรับรู้ มาเป็นการรับความรู้ ก็พ้นจากสุขทุกข์เพราะชอบใจไม่ชอบใจ มาสุขจากการเรียนรู้ด้วยการสนองความต้องการรู้ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรับรู้จะบริสุทธิ์ จะตรงความจริงขึ้น จะต้องย้ำกันว่ามนุษย์จะพัฒนาไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักปรับปรุงการรับรู้ของตัวเอง คือ การใช้ตา หู จมูก ลิ้น เพียงปรับปรุงแค่นี้ก็ดีขึ้นแล้ว แดนความสุขความทุกข์ก็เปลี่ยนไป พร้อมทั้งแดนปัญญาก็พัฒนา เพราะเราสามารถรับความรู้ที่บริสุทธิ์ตรงความจริงมากขึ้น

ต่อจากนั้นก็เอาข้อมูลความรู้มาเก็บไว้เป็นความจำ สำหรับสติระลึกขึ้นมาแล้วเอามาใช้งาน โดยจับส่งให้ปัญญาเอาข้อมูลความรู้ต่างๆ นั้นมาวิเคราะห์สืบค้นสาวหาเหตุปัจจัย แล้วก็เอามาปรับใช้กับสถานการณ์ต่างๆ หรือใช้แก้ปัญหา ตลอดจนคิดสร้างสรรค์ทำการต่างๆ

ตอนนี้ก็เป็นเรื่องของแดนปัญญา ซึ่งเป็นแดนใหญ่ ตั้งแต่รู้ข้อมูลทางตา หู ฯลฯ จนกระทั่งรู้เข้าใจชีวิตของตนเอง และรู้เข้าใจโลกตามความเป็นจริง พอรู้เข้าใจถึงขั้นนี้ ก็จะวางใจได้ถูกต้องต่อสิ่งต่างๆ เพราะมนุษย์เรานั้น ชีวิตเป็นของธรรมชาติ อยู่ใต้กฎธรรมชาติ ชีวิตของเราก็เป็นไปตามสิ่งทั้งหลายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์กัน จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้อง จึงจะอยู่ดีมีสุขได้จริง

มนุษย์ที่ยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา ไม่อยู่ด้วยปัญญา ก็อยู่ด้วยความอยาก ที่ท่านเรียกว่าตัณหา เมื่ออยู่ด้วยความอยาก ก็อยากให้สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้

เมื่อมันเป็นไปตามอยากก็มีความสุข ไม่เป็นไปตามอยากก็เป็นทุกข์

แต่มนุษย์จะให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามอยากของตนเองย่อมเป็นไปไม่ได้

มันเป็นไปตามอะไร? มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

เพราะฉะนั้น ตรงนี้แหละ เป็นจุดสำคัญที่มนุษย์จะเข้าไปขัดแย้งกับความจริงหรือไม่ ถ้าเอาตัณหามาเป็นหลักของจิตใจ มันก็ขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะตัวอยากให้เป็นอย่างนี้ตามที่ใจอยากใจชอบ แต่ความจริงของสิ่งทั้งหลาย มันไม่ได้เป็นไปตามความอยากของมนุษย์ สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

ในระบบสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายนั้น ถ้ามนุษย์อยู่ด้วยตัณหา ก็เกิดความขัดแย้งแน่ แล้วเมื่อเกิดขัดแย้งขึ้นใครชนะ ตอบได้เลยว่าความจริงชนะ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยชนะ มนุษย์ไม่ได้อย่างใจ ก็ต้องทุกข์ไปเรื่อย

เมื่อมนุษย์อยากให้สิ่งต่างๆ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้นั้น ความเป็นจริงของธรรมชาติเหมือนบอกอยู่ตลอดเวลาว่า คุณจะให้ฉันเป็นตามใจอยากของคุณไม่ได้นะ คุณอยากให้เป็นอย่างไร คุณก็ต้องทำตามเหตุปัจจัยของฉันนะ

พอมนุษย์พัฒนาปัญญา ปัญญาก็รู้ตามเป็นจริง คือรู้ตรงกับเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย หรือรู้ตรงกับความเป็นไปของธรรมชาติ คราวนี้จิตก็ปรับตามปัญญา มันก็ไปตามกัน

เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ถ้าต้องการให้อะไรเป็นอย่างไร ก็ศึกษาให้รู้เหตุปัจจัยของมัน แล้วก็ทำเหตุปัจจัยนั้นขึ้น

ถ้าอะไรจะคงอยู่ไม่ได้เพราะมีเหตุปัจจัยอย่างนั้นๆ ขัดขวาง ถ้าเราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น เราศึกษาเหตุปัจจัยของมันแล้วก็แก้ที่เหตุปัจจัย ทำได้เท่าไรก็เท่านั้น ถ้ามันไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา ก็แสดงว่ามีเหตุปัจจัยที่เราทำไม่ทั่ว หรือมีเหตุปัจจัยที่อยู่นอกเหนือวิสัยของเรา เราก็รู้ตามเป็นจริง

เมื่อปัญญาของเรารู้ความจริงอย่างนี้ จิตใจก็อยู่กับความจริง ไม่ขัดไม่กระทบกระแทกบีบคั้นกัน ทุกข์มันก็เบา แล้วก็แก้ไขเหตุการณ์ได้ ทำอะไรก็สำเร็จ หนึ่ง ทุกข์ก็น้อย สอง ทำการก็สำเร็จ เพราะอยู่ด้วยปัญญา

แต่คนที่อยู่ด้วยตัณหา อยู่ด้วยความอยาก หนึ่ง ทำก็ไม่สำเร็จ สอง ใจก็มีทุกข์มาก

เราศึกษาวิชาทำมาหาเลี้ยงชีพกันมา เป็นการจัดเตรียมปัจจัย คือทุนข้างนอกที่จะให้ชีวิตอาศัย แต่ตัวชีวิตเอง มักจะละเลย ไม่เอาใจใส่ว่ามันควรจะเป็นอยู่อย่างไร ได้แต่พูดกันผ่านๆ ไป ท่านจึงให้ศึกษาชีวิต หรือพูดให้ถูกว่าให้ชีวิตศึกษา

ที่จริง ชีวิตต้องศึกษาตลอดเวลา เพราะการที่เรามีชีวิตเป็นอยู่นี้ ก็คือการเคลื่อนไหวไปพบประสบการณ์และสถานการณ์ใหม่ๆ ซึ่งเราจะต้องรู้เข้าใจและหาทางปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ให้เป็นผลดี อย่างนี้แหละเรียกว่าศึกษา แล้วชีวิตของเราก็พัฒนาไป คือเป็นอยู่ได้ดีขึ้นๆ

นี่แหละชีวิตที่ดีจึงเป็นชีวิตที่ศึกษา ถ้าไม่ศึกษาจะให้เป็นชีวิตที่ดีได้อย่างไร คนไหนศึกษาถูกจุดถูกทิศถูกทางก็พัฒนาได้ดี ทั้งทางความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และสิ่งทั้งหลาย ทั้งทางจิตใจ และทางปัญญา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ชีวิต 3 ด้านศึกษา 3 ด้าน >>

No Comments

Comments are closed.