สมาธิโดยรูปแบบ กับ สมาธิโดยสาระ

26 กรกฎาคม 2543
เป็นตอนที่ 2 จาก 7 ตอนของ

สมาธิโดยรูปแบบ กับ สมาธิโดยสาระ

สมาธิโดยรูปแบบ

สมาธิโดยรูปแบบนั้น เพราะคำว่าสมาธิ คนโดยมากมักได้ยินในคำว่า “นั่งสมาธิ” หรือพ่วงมากับการนั่งในท่าอย่างนั้นอย่างนี้ และไปอยู่ในที่เฉพาะเช่นในวัดหรือในป่า คนก็เลยเอาสมาธิไปผูกอยู่กับรูปแบบนั้น ความจริงสมาธิเป็นธรรมชาติ มันเป็นสภาวะ เป็นคุณสมบัติของจิตใจ เมื่อจิตใจแน่วแน่ มั่นอยู่กับสิ่งนั้น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก มันก็เป็นสมาธิ อันนี้แหละเป็นสาระ เป็นสมาธิตัวแท้

คนไปนั่งสมาธิ อาจจะใจไม่มีสมาธิเลยก็ได้ ถ้าใจงุ่นง่าน คิดโน่นคิดนี่อยู่คนเดียว อย่างนี้ไม่เป็นสมาธิหรอก ได้แค่ไปนั่งสมาธิ แต่ไม่มีสมาธิ

สมาธิโดยสาระ

สมาธิ ว่ากันจริงๆ เอาที่เนื้อหาสาระ สมาธิก็เป็นธรรมชาติ คือเป็นคุณสมบัติของจิตใจ ที่จิตใจมันสงบ มันอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามที่ต้องการ ขอพูดง่ายๆ อย่างนี้ว่า สมาธิคือจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ได้ตามต้องการ

ตอนแรกพอจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการนี่ก็เข้าสมาธิแล้ว ยิ่งได้ตามต้องการก็เป็นสมาธิที่แน่นแฟ้น ใครที่ใจอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการก็เก่งแล้ว อันนี้เป็นสมาธิที่ไปไกลเลย ถ้าเอารูปแบบ คนไปนั่งสมาธิมีกี่คนที่จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องได้ตามต้องการ

สิ่งที่สำคัญก็คือ พอจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการแล้ว ก็แล้วแต่เราจะใช้จิตนั้นทำอะไร ท่านเรียกว่า เป็นจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน พอจิตสงบ ไม่พลุ่งพล่าน ไม่เครียด ไม่ขุ่นมัว ไม่กระวนกระวาย ไม่ส่าย ไม่วอกแวก ไม่พลุ่งพล่าน ไม่เหงา ไม่หงอย ไม่หดหู่ท้อแท้ ไม่อะไรเหล่านี้ มันก็เป็นจิตที่ตื่นตัวพร้อม และมีความหนักแน่นมั่นคง จะใช้ทำงานอะไรก็ได้ ถ้าได้อย่างนี้ก็คือ ธรรมะที่เป็นของจริง จะเรียกว่า ธรรมะในชีวิตประจำวัน หรืออะไรก็ได้ ซึ่งทุกคนมีโอกาสสามารถมีคุณสมบัตินี้

แต่ทำไมต้องมีรูปแบบอย่างนั้น ที่เรียกว่า “นั่งสมาธิ” และไปอยู่ในป่า ในเขา ในวัด หรือในที่จัดไว้

เพราะว่าคนเรานี้มีคุณสมบัติในจิตใจไม่เหมือนกัน การพัฒนาของจิตใจ ความสามารถทางปัญญา และอะไรต่างๆ ไม่เท่ากัน ดังนั้น เมื่อจิตใจยังไม่พร้อม สภาพแวดล้อมที่ต่างกันจึงมีอิทธิพล เช่น บางคนไปอยู่ในที่มีคนพลุกพล่าน หรือมีเหตุการณ์ตื่นเต้น ก็คิดอะไรไม่ออก แต่บางคนจะอยู่ที่ไหน แม้แต่ในสนามรบก็คิดได้อย่างดี ก็จึงต้องมีการฝึก คือ การที่จะมีสมาธิดี การที่จะมีปัญญาดี การที่จะเป็นคนมีคุณสมบัติอะไรที่ดีๆ ก็สำเร็จได้ด้วยการฝึก แต่การฝึกนั้น โดยทั่วไปต้องมีเทคนิคเข้ามาช่วย

ในชีวิตประจำวันนี่แหละ งานบางอย่าง ทำให้ได้ฝึกสมาธิไปในตัวอยู่ตลอดเวลา งานบางอย่างทำให้เสียสมาธิหรือทำลายสมาธิอยู่ตลอดเวลา คนเราอยู่กับงานและทำงานนั้นๆ เป็นสิบๆ ปี ลองคิดดูก็แล้วกันว่า จะได้ฝึกสมาธิ หรือได้ทำลายสมาธิ จนเป็นนิสัยไปเท่าไร

ถ้าพูดกว้างๆ ก็สภาพแวดล้อมอย่างหนึ่ง และวิธีการอย่างหนึ่ง จะเป็นเครื่องช่วย ก็เลยมีการพัฒนารูปแบบวิธีปฏิบัติขึ้นมา เป็นการนั่งสมาธิอะไรต่างๆ เหล่านี้ เพื่อจะมาฝึกเท่านั้นเอง เหมือนก่อนออกทะเล ก็ฝึกว่ายน้ำในสระน้ำนิ่งก่อน แต่พอคนฝึกได้ดี มีสมาธิจริงแล้ว ไม่ต้องมานั่งอย่างนั้นแล้ว สมาธิก็อยู่ในตัวไปกับตัวทุกที่นั่นแหละ คนมีสมาธิดีแล้ว จะมานั่งสมาธิก็เพื่อพักสบายๆ หรือทำงานทางนามธรรมอะไรสักอย่าง พูดง่ายๆ ว่า คนทั่วไปนั่งสมาธิ แต่พระพุทธเจ้าเป็นต้น ใช้สมาธิทำงาน แล้วก็มานั่งพักในสมาธิ

นี่ก็หมายความว่า บางคนอาจจะมีเหตุผลขึ้นมาว่า เอ้อ! ถ้าอยู่ในอิริยาบถอื่น และอยู่กลางคนมาก ก็มีเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง วุ่นวายมาก ก็เลยไปหาที่สงบให้ฝึกสมาธิง่ายขึ้น หรือบางทีอยากจะพัก ก็ไปหาที่สงบๆ นั่งสมาธิ ตกลงว่า เรื่องสมาธินั้น สาระที่แท้จริง อยู่ที่คุณสมบัติที่เป็นธรรมชาติ อยู่ในจิตใจของมนุษย์เอง

เมื่อเราเข้าใจ แยกตัวสาระกับรูปแบบได้แล้ว เราก็จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น และมองออกไปได้กว้างว่า เรื่องของมนุษย์ก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ที่ไหน เราก็ดำเนินชีวิตอยู่ในโลก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ไขข้อข้องใจของ นพ.ดำรงค์ ธนะชานันท์ชีวิต 3 ด้าน >>

No Comments

Comments are closed.