ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเจริญ และความเสื่อมของการศึกษาในอินเดีย

1 มกราคม 2513
เป็นตอนที่ 6 จาก 10 ตอนของ

ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเจริญ และความเสื่อมของการศึกษาในอินเดีย

ในหัวข้อเรื่องประวัติการศึกษาของสารานุกรมบริแตนนิกา ได้เขียนสรุปเกี่ยวกับความเป็นมา และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศอินเดีย มีข้อความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอีกตอนหนึ่ง เห็นว่าน่าสนใจ จึงขอแปลมาดู ดังนี้ :-

“เดิมนั้น การศึกษาของอินเดีย เป็นแบบก้าวหน้า และเสรี วิชาสามัญ เช่น คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และเคมี เป็นวิชาที่สนใจกันพอๆ กับวิชาศาสนวิทยา และกระบวนพิธีกรรมต่างๆ ตอนนั้น ระบบวรรณะยังไม่ตึงจัด สมาชิกในชุมชนอารยันยุคแรกทุกคน (ไม่เฉพาะพราหมณ์อย่างเดียว) มีสิทธิได้รับการศึกษาทั้งหญิงและชาย (ต่อมา เกิดมีความนิยมให้แต่งงานกันแต่วัยเด็ก1 และห้ามสตรีศึกษาพระเวท) ก่อนระยะที่เกิดความเสื่อมโทรมเช่นนี้ สถิติคนรู้หนังสือของอินเดีย สูงถึงร้อยละ ๖๐2 เมื่อดูจากข้อเท็จจริงที่ว่าตอนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สถิติคนรู้หนังสือของอินเดีย ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ ก็จะเห็นได้ว่าการศึกษาของอินเดีย ได้เสื่อมทรามลงมากเพียงใด”

“การศึกษาแบบพุทธศาสนา เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการศึกษาระบบวรรณะ และการผูกขาดของพราหมณ์ สาระสำคัญของการศึกษาแบบพุทธศาสนา คือวรรณคดีพุทธศาสนา หาใช่พระเวทไม่ และการศึกษาแบบพุทธนี้ เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนทุกคน ไม่ต้องคำนึงถึงวรรณะ โรงเรียนของพุทธศาสนาก็คือวัด แม้ว่าเยาวชนอินเดียส่วนใหญ่จะยังไม่อาจได้เล่าเรียนวิชาทางศาสนาและสามัญศึกษาทั่วถึงกัน แต่เด็กที่มีความสามารถเป็นพิเศษ ถึงจะเกิดในกำเนิดต่ำ ก็มาเล่าเรียนที่วัดได้ ระบบการเรียนแบบอันเตวาสิกที่มีระเบียบรัดกุม อยู่ในควบคุมของกลุ่มอาชีพที่มีการจัดรูปงานไว้อย่างดี ช่วยให้ลูกหลานของพวกช่างฝีมือ ได้รับการฝึกอบรมในวิชาชีพและช่วยรักษาระดับฝีมืออันชำนิชำนาญให้คงอยู่ สำนักภิกษุณี ก็ช่วยเป็นเครื่องเร้าใจให้สตรีได้รับการศึกษา ตลอดระยะเวลาที่พระพุทธศาสนายังมีกำลังรุ่งเรืองอยู่นี้ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งหลายมีนาลันทาเป็นต้น จัดว่าอยู่ในประเภทศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียน ที่ดีเด่นที่สุดในอินเดีย”

“ในสมัยที่มุสลิมเข้าปกครองแล้ว ก็ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนพระคัมภีร์กุรอ่าน และศูนย์กลางการศึกษาชั้นสูงขึ้นในที่ต่างๆ เช่น อัครา ละฮอร์และเดลี ส่วนมหาวิทยาลัยฮินดูและพุทธศาสนานั้น แม้บางแห่งจะถูกทำลายไปแล้ว แต่ก็ยังมีการอุปถัมภ์บำรุงส่วนบุคคลที่ช่วยรักษาระบบการศึกษาแบบฮินดูไว้ได้จนสิ้นยุคโมกุล ชาวยุโรปพวกแรกที่เข้าไปในอินเดีย ได้พบเห็นสถาบันการศึกษาแบบฮินดูและมุสลิม ปะปนกันอยู่มากมายทั่วประเทศ”

“น่าเสียดายว่า การถูกต่างชาติเข้ารุกรานยึดครอง และการถูกระบบวรรณะอันเข้มงวดขีดวงจำกัดไว้ ได้ทำให้แนวโน้มในทางก้าวหน้าและสร้างสรรค์ค่อยๆ หมดไปจนสูญสิ้น อาจเป็นได้ว่า จิตใจที่คิดสร้างสรรค์นี้ ได้ถูกบั่นทอนมาแต่ยุคต้นๆ ที่ใช้วิธีสอนแบบปากเปล่า ทวนซ้ำๆ ซากๆ และท่องจำแล้ว ก็ได้ อย่างไรก็ดี อินเดียในสมัยกลาง3 ได้หลงหมกมุ่นสนใจแคบๆ อยู่แต่เรื่องปรโลกจนละเลยวิชาสามัญ และแม้ในการศึกษาวิชาการทางศาสนานั้นเอง ก็ยึดติดแต่คัมภีร์ เลยทำให้ไม่เกิดความคิดวิจัยวิจารณ์ ไม่ยอมให้คิดผิดเพี้ยนไปจากความเชื่อถือเดิม อีกทั้งการมุ่งแต่ศึกษาภาษาสันสกฤต ไม่ใส่ใจในภาษาท้องถิ่น ก็ยิ่งเป็นการจำกัดการศึกษาให้อยู่ในวงแคบจำเพาะคนจำนวนน้อยหนักเข้าไปอีก”4

น่าสังเกตว่า ข้อความบางตอนในตำราฝ่ายตะวันตกที่ยกมาแสดงนี้ อาจเกิดจากความเข้าใจผิดได้บ้าง เช่นที่ว่า ในนาลันทามีโรงเรียนเกษตรกรรมซึ่งมีฟาร์มโคนม ความข้อนี้ ถ้าพิจารณาจากหลักฐานในตำราอื่นว่า พระราชา ผู้ทรงอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยนี้ ได้พระราชทานหมู่บ้านไว้เลี้ยงมหาวิทยาลัยถึง ๒๐๐ หมู่บ้าน (คงใช้วิธีเก็บส่วยบำรุงและให้รับใช้วัด) ฟาร์มโคนมที่กล่าวนี้ อาจเป็นของหมู่บ้านเหล่านี้ก็ได้ หรือมิฉะนั้นคงเป็นการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่เป็นคฤหัสถ์เท่านั้น5

ข้อสังเกตสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ จากข้อความที่ยกมาแสดงตอนท้าย จะเห็นว่า ระบบการศึกษาของพราหมณ์นั้น นอกจากจำกัดด้วยระบบวรรณะ ระบบการท่อง และการยึดคัมภีร์แล้ว ยังจำกัดด้วยภาษาที่ใช้ให้เป็นภาษาสันสกฤตอย่างเดียวอีกด้วย ส่วนระบบการศึกษาแบบพุทธศาสนานอกจากไม่จำกัดชาติ ชั้น วรรณะ ให้ใช้แบบการฝึกอบรมสุดแต่วิธีใดจะสำเร็จผลตามจุดหมาย และให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว ยังเปิดโอกาสในด้านภาษาให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ด้วย เรื่องนี้ ขอยกความในพระไตรปิฎกตอนนี้ มาแปลไว้ทั้งตอน

“สมัยนั้นแล ภิกษุ ๒ รูป เป็นพี่น้องกัน ชื่อเมฏฐะและโกกุฏฐะ เป็นคนวรรณะพราหมณ์โดยกำเนิด มีถ้อยคำสละสลวย ใช้คำพูดได้ไพเราะ เธอทั้งสองได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า :

‘พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลาย ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างกำเนิด ต่างตระกูลกัน เข้ามาบวช ทำพุทธพจน์ให้เสียหาย ผิดเพี้ยนไปด้วยภาษาของตน ผิฉะนั้น พวกข้าพระองค์จะขอยกพุทธพจน์ขึ้นโดยฉันท์ (คือเป็นภาษาสันสกฤตอย่างพระเวท)’6

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ‘โมฆบุรุษ ไฉนพวกเธอจึงกล่าวอย่างนี้…’ แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงยกพุทธพจน์ขึ้นโดยฉันท์ (คือเป็นภาษาสันสกฤตอย่างพระเวท) ภิกษุใดยกขึ้น ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตให้เรียนพุทธพจน์ด้วยภาษาของตน”

ข้อนี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดการศึกษาพระพุทธศาสนา และแสดงถึงเสรีภาพในการศึกษาทางพระพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นว่าได้มีผู้คิดรักษาหลักคำสอนไว้ด้วยการหันกลับไปใช้ระบบของพราหมณ์ ซึ่งจะทำให้การศึกษาถูกผูกขาดจำกัดอยู่ในวงแคบอย่างเดิมอีก

การใช้ภาษาสามัญที่ประชาชนทั่วไปใช้กันอยู่เช่นนี้ เป็นโอกาสให้คนทุกชั้นวรรณะ เข้าถึงพระพุทธศาสนาได้เหมือนกันหมดและย่อมเป็นการให้การศึกษาแก่คนเหล่านั้นไปด้วย เรื่องนี้เห็นได้ชัด แม้ในยุคแรกๆ เช่น ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ประมาณ พ.ศ. ๒๑๘-๒๕๕) อันเป็นยุคที่อินเดียเป็นเมืองพุทธศาสนา และมีอำนาจรุ่งเรืองที่สุด พระเจ้าอโศกเมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้ทรงใช้นโยบาย “ธรรมวิชัย” คือ เอาชนะด้วยธรรม ทรงปกครองประชาชนโดยธรรม และมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนประพฤติธรรม มีความร่มเย็นเป็นสุขด้วย จึงโปรดให้จารึกพระธรรมและพระราชประสงค์ของพระองค์ เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของประชาราษฎร์ ลงในหลักศิลาบ้าง แผ่นศิลาบ้าง หินผาต่างๆ บ้าง ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ ทุกหนแห่ง ที่เป็นทางสัญจร ซึ่งประชาชนจะมีโอกาสอ่านได้ง่าย ทั่วมหาอาณาจักรของพระองค์ คำจารึกก็ใช้ภาษาของแต่ละถิ่นๆ นั้นเอง ข้อความที่จารึกก็เป็นหลักธรรมสำหรับการประพฤติปฏิบัติทั่วๆ ไป และพระราชกรณียกิจที่ประชาชนควรรู้เช่น :-

– พระบรมราโชบายที่ทรงถือประโยชน์ และความผาสุกของราษฎรเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทรงห่วงใยราษฎรทั่วถึงกันหมด โดยเฉพาะผู้อยู่ชายแดน ทรงถือว่าราษฎรเป็นลูก ปกครองให้ความสุข เหมือนอย่างที่พ่อผู้หวังดีพึงให้แก่ลูก ทรงตั้งข้าราชการไว้ดูแลทุกข์สุขของประชาชน และให้ถือเหมือนเป็นพี่เลี้ยงของประชาชน

– ทรงออกตรวจเยี่ยมสั่งสอนแก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง และส่งข้าราชการออกดูแลทุกข์สุขเป็นประจำ

– ให้เสรีภาพโดยสมบูรณ์แก่ทุกลัทธิศาสนา ให้ความคุ้มครองแก่สมณพราหมณ์ วางข้อกำหนดในการรักษาสามัคคีของคณะสงฆ์

– จัดบริการเภสัชสงเคราะห์และเวชสงเคราะห์ทั้งคนและสัตว์ ปลูกไม้ผล ไม้ให้ร่มเงา ขุดบ่อน้ำ แหล่งน้ำ เป็นระยะๆ ตลอดทางสัญจร ดูแลเอาใจใส่คนชรา คนอนาถา บรรเทาทุกข์ และให้ความคุ้มครองแก่สัตว์

– สอนหลักธรรมต่างๆ ในพระพุทธศาสนา เช่น ความสัตย์ อดทน ซื่อตรง การเคารพ ฯลฯ และหลักปฏิบัติต่อกันในทางสังคมตามคำสอนเรื่องทิศ ๖ โดยเฉพาะเน้นการปฏิบัติดีต่อทาสและคนรับใช้

จารึกบางฉบับมีกำหนดว่าให้นำมาอ่านฟังกันในที่ประชุมแต่ละถิ่นในวันสำคัญ บางฉบับกำหนดให้อุบาสกอ่านรู้ความทุกวันอุโบสถ บางฉบับประกาศกำหนดให้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รู้พระราชประสงค์ของพระองค์ ศิลาจารึกเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนมากน่าจะรู้หนังสือ จึงเที่ยวจารึกไว้ในที่ต่างๆ ทั่วไปเช่นนี้ และผู้รู้หนังสือนั้นคงมีเหมือนกันทั้งหญิงทั้งชาย เพราะคำที่ใช้เป็นกลางๆ พูดถึงทั้งชายทั้งหญิง พิจารณาจากหลักฐานนี้ ก็น่าจะให้เห็นว่า การศึกษาของประชาชนเจริญแพร่หลายมิใช่น้อย และย่อมเนื่องมาแต่พระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ7

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เกิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา กับมหาวิทยาลัยในยุโรป >>

เชิงอรรถ

  1. ประเพณีนิยมของอินเดียสมัยต่อมา ที่ให้ผู้หญิงแต่งงานแต่เด็กนี้ อาจเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ภิกษุณีสงฆ์สูญสิ้นไป
  2. หมายถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๑๘ ๒๕๕)
  3. คือ ปลายยุคมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ถึง ประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๐
  4. TH.C., p. 10 10.
  5. แม้ว่าในประวัติศาสตร์ จะปรากฏเรื่องราวว่า คณะสงฆ์จัดการศึกษาอบรมให้แก่คฤหัสถ์อยู่บ่อยครั้ง แต่ตามหลักการแท้จริงแล้วพุทธศาสนาไม่มีนโยบาย เข้าไปผูกขาดการศึกษาของคฤหัสถ์ มีแต่สอนคฤหัสถ์ เช่น บิดามารดา ให้รับ ผิดชอบในการให้บุตรได้รับการศึกษา จึงเป็นภาระของคฤหัสถ์ มีรัฐเป็นต้น ที่จะ ต้ยงจัดการศึกษาฝ่ายโลกกันเอง ซึ่งพระพุทธศาสนาก็ส่งเสริมอย่างแท้จริง แต่ ภารกิจโดยตรงในทางการศึกษาของคณะสงฆ์ ก็คือการให้การศึกษาแก่พระสงฆ์ ส่วนการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องในการศึกษาของคฤหัสถ์ (นอกเหนือจากการสอน ทางธรรม) หรือไม่เพียงไร ย่อมเป็นไปตามความเหมาะสมของกาลสมัย เป็นต้น อันเป็นลักษณะยืดหยุ่นของพระพุทธศาสนา
  6. วินย. ๗/๑๘๑/๗๑, พระอรรถกถาจารย์อธิบายความตอนนี้ ว่า สกาย นิรุตฺติยา หมายถึง ภาษามคธ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส (วินย.อ. ๓/๓๕๑) แต่ความกลง กันได้ เพราะในถิ่นที่เรื่องเกิดนั้น เป็นถิ่นที่ประชาชนทั่วไปใช้ภาษามคธ คือ ตรัสตามภาษาของประชาชน (เทียบ สกสมัย ปรสมัย)
  7. จารึกพระเจ้าอโศก มีผู้รวบรวมแปลกันไว้หลายสำนวน เช่น Radhagovinda Basak, Asokan Inscription (Calcutta : Progressive Publishers, 1959) และฉบับของรัฐบาลอินเดียเป็นต้น

No Comments

Comments are closed.