หลักพระพุทธศาสนาส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษา

1 มกราคม 2513
เป็นตอนที่ 3 จาก 10 ตอนของ

หลักพระพุทธศาสนาส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษา

จากข้อความที่กล่าวมานี้ จะมองเห็นต่อไปอีกว่า งานหลักหรือภารกิจสำคัญของสถาบันสงฆ์ ก็คือการศึกษา ระบบการต่างๆ ที่จัดขึ้นในทางการปกครองก็ดี ทางการเลี้ยงชีพก็ดี ทางชีวิตสังคมก็ดี ล้วนมุ่งให้เป็นเครื่องส่งเสริมสนับสนุนระบบการศึกษาอบรมทั้งนั้น กล่าวได้ว่า การศึกษาเป็นความหมายหรือเป็นตัวแท้ของชีวิตพรหมจรรย์ คำสอนและบทบัญญัติต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนา มีสาระสำคัญที่ส่งเสริมการศึกษาอบรม หลักฐานสำหรับยืนยันหรือสนับสนุนความข้อนี้ จะเห็นได้ทั้งในทางธรรม และทางวินัย

ในทางธรรม พึงเห็นได้ดังนี้:-

๑. จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือ นิพพาน แล แม้คุณพิเศษอื่นๆ ที่มนุษย์ต้องการ จะสำเร็จเพียงด้วยความปรารถนา หรือด้วยการร้องขออ้อนวอนให้อำนาจวิเศษใดๆ บันดาลให้ไม่ได้ บุคคลจะต้องเข้าถึงโดยประจักษ์แก่ตนเอง ด้วยความสามารถ ความสนใจ ใส่ใจ และการลงมือกระทำ ซึ่งรวมเรียกว่ากรรมของตนเอง พระศาสดา ครู อาจารย์ ผู้แนะนำสั่งสอน ช่วยเหลือ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น เป็นเพียงสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการกระทำนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีระบบการฝึกหัดอบรม เพื่อให้บุคคลได้พัฒนาคุณสมบัติและความสามารถต่างๆ ตลอดจนลงมือกระทำการต่างๆ ด้วยวิธีการอันถูกต้องเพื่อเข้าถึงจุดหมายหรือบรรลุสิ่งที่ต้องการนั้น คือ ต้องมีการศึกษานั่นเอง

๒. ตามหลักพระพุทธศาสนา อวิชชา คือความไม่รู้ (หมายถึง ไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น) เป็นรากเหง้า เป็นต้นตอ ของความชั่วและความทุกข์ทั้งปวง การกำจัดความชั่วและความทุกข์ กระทำได้โดยฝึกอบรมให้ปัญญาเพิ่มพูนขึ้น ให้วิชชาเกิดขึ้น เมื่อรู้สภาพของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงแล้ว ก็กำจัดความชั่วได้หมดสิ้น หลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นอิสระโดยสมบูรณ์1 การสร้างความรู้ ปัญญา หรือวิชชา จึงเป็นสิ่งจำเป็น

๓. การประพฤติพรหมจรรย์ หรือหลักความประพฤติปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เรียกสั้นๆ ก็คือ สิกขา หรือ การศึกษา สิกขาคือ ระบบการฝึกหัดอบรมบุคคล ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เรียกง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นพื้นสมาธิเป็นตัวยึด ปัญญาเป็นตัวกระทำการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ระบบการฝึกอบรมจึงเพ่งเล็งไปที่ตัวปัญญา มุ่งสร้าง เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้นไปโดยลำดับ ด้วยอาศัยศีลและสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน จนกว่าจะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ โดยนัยนี้ พระพุทธศาสนาในทางปฏิบัติก็คือการศึกษา และปัญญาเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการศึกษานี้

๔. พระพุทธศาสนา เน้นความสำคัญของปัญญาอย่างมาก กำหนดปัญญาไว้ในคำสอนทั่วทุกแห่ง เช่น ในที่ทุกแห่งที่สอนศรัทธา จะต้องสอนปัญญาด้วย ปัญญาเป็นทั้งเบื้องต้นและที่สุดของการปฏิบัติธรรม และกล่าวถึงปัญญาที่ได้รับการอบรมเพิ่มพูน ขึ้นตามลำดับการปฏิบัตินั้น ในชื่อต่างๆ กัน ปัญญามีไวพจน์เป็นอันมาก เช่น ญาณ วิชชา วิปัสสนา ปริญญา อภิญญา อัญญา ปฏิสัมภิทา สัมปชัญญะ ทัสสนะ อโมหะ สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น แสดงถึงความหมายในแง่ต่างๆ และขั้นต่างๆ ของปัญญา โดยเฉพาะในการปฏิบัติชั้นสูง ปัญญาที่กล่าวถึงบ่อย ก็คือความหยั่งรู้ที่เรียกว่าญาณ อันเป็นความรู้ที่อาศัยความรู้ทางประสาทสัมผัส แต่เกิดขึ้นเมื่อระงับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสแล้ว และมีชื่อแยกย่อยออกไปอีกตามระดับต่างๆ เป็นอันมาก พระพุทธศาสนาถือว่า ความรู้ที่แท้จริงนั้น เป็นความรู้ประจักษ์ เข้าไม่ถึงด้วยตรรกหรือการเก็งความจริงทางปรัชญา วิธีการคิดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเน้นหนัก คือ โยนิโสมนสิการ แปลกันว่า การใส่ใจโดยแยบคาย หมายถึง การใช้ความคิดสืบสาวตลอดสาย การคิดอย่างมีระเบียบ การพิจารณาด้วยอุบาย ถือว่าการใช้ความคิดแบบนี้ เป็นวิธีสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีพุทธพจน์แสดงความสำคัญของโยนิโสมนสิการว่า “สำหรับภิกษุ ผู้เสขะ … เรามองไม่เห็นองค์ประกอบภายในอื่นใดมีประโยชน์มากเท่าโยนิโสมนสิการเลย”2 (ขอให้เทียบกับองค์ประกอบภายนอกในข้อถัดไป) นี้แสดงถึงความสำคัญของการศึกษาในแง่ การฝึกการใช้ความคิด

๕. มีพุทธพจน์ว่า “สำหรับภิกษุผู้เสขะ … เรามองไม่เห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นใด มีประโยชน์มากเท่าความมีกัลยาณมิตรเลย”3 “ความมีกัลยาณมิตร เป็นเบื้องต้น เป็นบุพนิมิตของอริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนแสงเงินแสงทอง เป็นเบื้องต้น เป็นบุพนิมิต เมื่อดวงอาทิตย์จะอุทัย ฉะนั้น”4 “อานนท์ ความมีกัลยาณมิตรนี้ เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว”5 คำว่า “กัลยาณมิตร” มิได้หมายถึงเพื่อนสามัญในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป ในทางธรรม กัลยาณมิตร หมายถึงบุคคลที่มีคุณธรรม ผู้จะสั่งสอน แนะนำ ชักจูง ช่วยเหลือ ชี้ช่องทางให้ดำเนินไปในมรรคาแห่งการฝึกอบรมอย่างถูกต้อง ตามคัมภีร์แสดงว่า ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ครู อาจารย์ และท่านผู้เป็นพหูสูต ทรงภูมิปัญญาที่จะสั่งสอนแนะนำได้ แม้อ่อนวัยกว่า6

คำสอนที่เน้นความสำคัญของกัลยาณมิตร คือผู้นำการฝึกอบรมนี้ก็ดี คำสอนที่แยกคนเป็น ๔ ประเภทตามภูมิธรรม อันเปรียบเหมือนบัว ๔ เหล่า7 และแยกคนเป็น ๖ ประเภท ตามความถนัด ความโน้มเอียง ที่เรียกว่าจริต8 อันแสดงถึง การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลก็ดี คำสอนเรื่องทศพลญาณ9 เป็นต้นก็ดี เรื่องสัปปายะ ๗ อสัปปายะ ๗10 และปฏิรูปเทศ11 เป็นต้น ก็ดี ล้วนเป็นหลักฐานยืนยันว่า แม้พระพุทธศาสนาจะถือว่าจุดหมายหรือผลสำเร็จที่ต้องการ บุคคลจะต้องเข้าถึงด้วยตนเอง ด้วยการลงมือทำลงมือปฏิบัติเองก็ตาม แต่พระพุทธศาสนาก็มองเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของผู้สอน และความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นต้น ในฐานะเป็นสิ่งแวดล้อมและเป็นองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้การฝึกอบรมตนของบุคคลนั้นเป็นผลสำเร็จอย่างดี หลักการข้อนี้แสดงถึงความสำคัญของการศึกษา ในแง่ของการมีหลักการสอนและวิธีสอนที่ดี เริ่มแต่คุณสมบัติของผู้สอน สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม กลวิธีสอน ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะน้อมนำความสนใจ สอดคล้องกับอุปนิสัย ส่งเสริมความถนัดและความสามารถ ช่วยให้การศึกษาสัมฤทธิ์ผลด้วยดี

๖. พาหุสัจจะ คือ ความเป็นพหูสูต ความเป็นผู้คงแก่เรียน หรือได้เรียนรู้มาก เป็นคุณธรรมสำคัญมากอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนอยู่เสมอ โดยเฉพาะในฐานะเป็นคุณสมบัติสำหรับพระภิกษุ ผู้จะปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวด้วยประโยชน์ผู้อื่น เป็นที่พึ่งอาศัย หรือเป็นผู้ควรเคารพนับถือในทางธรรม12 เป็นผู้ควรได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายหน้าที่ในทางวินัย13 บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมข้อนี้ได้รับความยกย่องสรรเสริญอย่างสูงในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงนับว่าเป็นเหตุกระตุ้น หรือแรงจูงใจสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะให้นิยมการศึกษาและการให้การศึกษา

อย่างไรก็ดี พาหุสัจจะ อันเป็นความรู้ประเภทสั่งสมข้อควรรู้นี้ แต่ลำพังอย่างเดียวย่อมให้ผลสำเร็จได้ไม่สมบูรณ์และไม่สามารถทำให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ชีวิตควรเข้าถึงได้ จึงมีคุณค่าต่ำกว่าปัญญา อันเป็นความรู้ประเภทเข้าใจสภาวะ รู้วินิจฉัย และรู้ที่จะจัดการ ด้วยเหตุนี้ ในที่ใดสอนพาหุสัจจะไว้ จึงมักสอนปัญญากำกับไว้ด้วย เพื่อให้ผลที่ต้องการสำเร็จด้วยดี และปัญญาจึงเป็นจุดรวมความสนใจ ในระบบการศึกษาอบรมของพระพุทธศาสนา หลักการข้อนี้ แสดงว่า การศึกษามิได้หมายความเพียงการสั่งสมสุตะ การประมวลหรือรวบรวมสิ่งอันจะพึงรู้ ทำตนให้เป็นคลังเก็บความรู้เท่านั้น แต่หมายถึง การฝึกฝนความคิด อบรมปัญญา ให้เกิดความเข้าใจสภาวะ ความรู้วินิจฉัย และความรู้ที่จะจัดการโดยถูกต้องถึงที่สุดด้วย

๗. บุคคลในอุดมคติของพระพุทธศาสนา ก็คือผู้ที่ปฏิบัติกิจหน้าที่ของตนครบถ้วนสมบูรณ์ มีจิตใจบริสุทธิ์เป็นอิสระ มองสิ่งทั้งหลายด้วยความเข้าใจตามที่เป็นจริง มีความปลอดโปร่ง ปราศจากเงื่อนปมภายในที่จะเป็นเหตุสร้างปัญหาชีวิตให้แก่ตนและผู้อื่น มีชีวิตอยู่ด้วยความสุข เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินชีวิตที่ส่งเสริมความราบรื่น กลมกลืน ความสงบสุขของสังคม และพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น บุคคลเช่นนี้ไม่อาจสร้างขึ้นมาได้ด้วยวิธีอื่น นอกจากเป็นผลแห่งการศึกษาอบรมที่ถูกต้อง ซึ่งมีองค์ประกอบพร้อมทั้งฝ่าย วิชชา และฝ่าย จรณะ คือ มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

ในทางพระวินัย มีบทบัญญัติที่ส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาดังตัวอย่างต่อไปนี้:-

๑. ในพระวินัย มีบทบัญญัติกำหนดไว้ ให้ผู้อุปสมบทใหม่ ต้องถือ นิสัย คืออยู่รับการฝึกอบรมจากอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ จนกว่าจะมีความรู้ความสามารถปกครองตนเองได้ เป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด ๕ ปี บทบัญญัตินี้เป็นเหตุให้สมาชิกทุกคนของคณะสงฆ์ ได้รับการศึกษาอบรมอย่างที่เรียกได้ว่า เป็นหลักสูตรเดียวกัน เป็นการศึกษาที่มีลักษณะน้อมไปในทางเป็นแบบแผน และมีชีวิตแบบนักศึกษาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในเมื่อมีนิสิตร่วมอุปัชฌาย์หรืออาจารย์เดียวกันหลายรูป นิสิตได้รับการถ่ายทอดทั้งความรู้ในธรรมวินัย การฝึกอบรมความประพฤติและมีส่วนร่วมในชีวิตสังคม14

๒. คณะสงฆ์มีสภาพเป็นหลักฐานมั่นคงขึ้น เพราะมีวัดเป็นเครื่องกำหนด วัดเป็นหน่วยสังคมตัวอย่าง พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติกฎข้อบังคับต่างๆ ไว้โดยละเอียด เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยในหน่วยสังคมคือวัดนั้น ชีวิตสังคมของพระภิกษุสงฆ์นอกจากผูกพันอยู่กับอุปัชฌาย์อาจารย์ และนิสิตร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์อันเป็นหน่วยย่อยแล้ว ยังต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลในหน่วยย่อยอื่นๆ ในวัดเดียวกันนั้นอีก อย่างน้อยก็ในสังฆกรรมต่างๆ ที่จะต้องไปประชุมร่วมกันในโรงอุโบสถเดียวกัน และโดยที่ชีวิตของพระภิกษุสงฆ์ เป็นชีวิตที่มุ่งต่อการฝึกอบรมและการให้การศึกษาอบรม ดังนั้น ชีวิตสังคมของพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น จึงมากไปด้วยกิจกรรมทางด้านการศึกษา ในวัดตามพุทธานุญาตเดิมนั้น สถานที่พระสงฆ์พบพร้อมเพรียงกัน หรือเป็นจำนวนมากๆ นอกจากโรงอุโบสถแล้ว ก็คือ อุปัฏฐานศาลา ซึ่งเป็นทั้งโรงฉัน และหอประชุม เมื่อพระภิกษุสงฆ์ว่างจากการศึกษาปฏิบัติส่วนตนแล้ว เวลาบ่ายก็อาจมานั่งประชุมแสดงธรรม สนทนา สากัจฉา อภิปราย ตอบปัญหาธรรมกัน มีเรื่องปรากฏบันทึกไว้ในพระสูตรหลายแห่ง15 และการแสดงธรรม การฟังธรรม การสนทนาธรรม การสากัจฉา อภิปราย เช่นนี้เป็นกิจกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสนับสนุนมากด้วย16

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คณะสงฆ์เป็นสถาบันสังคมตัวอย่างการศึกษาขยายตัว >>

เชิงอรรถ

  1. ที่มีผู้กล่าวว่า พระพุทธศาสนาถือว่า สมุทัย คือ ตัณหา เป็นเหตุแห่งทุกข์ จึงสอนให้บุคคลกำจัดทุกข์ ด้วยการกดและข่มตัณหาของตนนั้น แสดงถึงความเข้าใจ พุทธศาสนาอย่างผิวเผินผิดพลาด รู้ไม่ตลอดกระบวนความ ว่าตามหลักตัณหาเป็น เหตุให้เกิดทุกข์ การกำจัดตัณหา ซึ่งหมายถึงการกำจัดทุกข์ด้วย ทำได้โดยกำจัด อวิชชาที่เป็นต้นตอของตัณหานั้น ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นการขัดเกลาหรือลด ทอนตัณหานั้น เป็นเพียงวิธีการสร้างสภาพที่ช่วยให้พร้อมหรืออำนวยต่อการสร้าง วิชชา และกำจัดอวิชชาเท่านั้น โดยนัยนี้ จะเห็นความหมาย ๓ แง่ คือ ในระบบ การต่างๆ ที่จะสร้างวิชชา หรือกำจัดอวิชชานั้น ย่อมจะมีการควบคุมขัดเกลา หรือ กำจัดตัณหาอยู่ด้วยตามส่วน ๑ การหมดทุกข์ที่แท้จริงนั้น ทำไม่ได้ด้วยการ ข่มตัณหา แต่ต้องสำเร็จด้วยการกำจัดอวิชชา ๑ และการกดหรือข่มตัณหานั้น ถ้าไม่มีจดหมายที่จะดำเนินการต่อไปถึงขั้นกำจัดอวิชชาด้วยแล้ว จะกลับเป็นผลเสียหาย ซึ่งอาจร้ายแรงก็ได้ ๑
  2. ขุ. อิติ. ๒๕/๑๙๔/๒๓๖. เทียบ สํ.ม. ๑๙/๕๑๘/๑๔๑.
  3. ขุ. อิติ. ๒๕/๑๙๕/๒๓๗. เทียบ สํ.ม. ๑๙/๕๒๐/๑๔๒.
  4. สํ.ม. ๑๙/๑๒๙/๓๖.
  5. สํ.ม. ๑๙/๕-๑๑/๒-๕.
  6. ดู วิสุทธิมัคค์ ๑/๑๒๓-๑๒๕.
  7. องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๓๓/๑๘๓. วินย. ๔/๙/๑๑.
  8. วิสุทธิ ๑/๑๒๗.
  9. องฺ. ทสก. ๒๔/๒๑-๒๒/๓๔-๔๑.
  10. วิสุทธิมัคค์ ๑/๑๖๑.
  11. ขุ.ขุ. ๒๕/๖/๓.
  12. ดู องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๒๒/๒๘; ๑๖๐/๑๙๘. องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๘๗/๑๒๙, ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๖๔; ๔๓๘/๓๑๒. ขุ.ธ. ๒๕/๒๕/๔๒. ขุ.อิติ. ๒๕/๒๖๓/๒๙๒. อง. จตุกฺก. ๒๑/๒๐๒/๒๙๙.
  13. ดู วินย. ๖/๖๗๕/๓๕๓. วินย. ๔/๑๙๐/๒๔๙. วินย. ๗/๖๔๑/๔๐๖.
  14. นี้กล่าวตามระบบการเดิมตามพุทธบัญญัติ ส่วนในปัจจุบัน บทบัญญัติเหล่านี้มักเหลืออยู่เพียงในรูปพิธีการเท่านั้น
  15. ดู ม.อุ. ๑๔/๒๙๒/๒๐๓; ๓๕๗/๒๔๖; /๕๓๕/๓๕๒. สํ.นิ. ๑๖/๗๐๖/๓๒๕.
  16. ดู ขุ.ขุ. ๒๕/๖/๔ เป็นต้น

No Comments

Comments are closed.