จิตไร้สำนึก: จุดเริ่มแห่งการให้ผลของกรรม

17 พฤษภาคม 2529
เป็นตอนที่ 9 จาก 12 ตอนของ

จิตไร้สำนึก: จุดเริ่มแห่งการให้ผลของกรรม

ที่ว่ามานี้มีความหมายอย่างไรเกี่ยวกับกรรม ความหมายก็คือ มันแสดงว่าสิ่งที่เราทำไว้ทั้งหมด สิ่งที่เราคิด เรานึก ทุกอย่างไม่ได้หายไปไหนเลย ยังคงอยู่ในจิตใจของเราทั้งหมด เพียงแต่เราไม่รู้ตัวและระลึกออกมาโดยจิตสำนึกไม่ได้เท่านั้น เราสามารถเอาวิชาการสมัยใหม่ที่เขาศึกษา วิจัย วิเคราะห์กันทีหลังนี้มาประกอบการศึกษาเรื่องกรรมได้ด้วย ทำให้เห็นว่าวิธีการสมัยใหม่ในยุคหลังนี้ก็เป็นเครื่องช่วยย้ำสนับสนุนให้คนปัจจุบันเข้าใจหลักความจริงของจิตที่ท่านสอนไว้ว่าเป็นอย่างไร

ก. จิตสะสมประสบการณ์ทุกอย่าง และปรุงแต่งชีวิตเรา

สิ่งที่เป็นประสบการณ์ของมนุษย์นี้จิตเราไม่ได้ลืมเลย และก็เป็นอันว่าจิตสั่งสมไว้ทุกอย่าง เมื่อสั่งสมแล้วก็ไม่ได้สั่งสมไว้เฉยๆ มันมีผลต่อตัวเราทั้งหมดด้วย โดยที่เราไม่รู้ตัว สภาพจิตส่วนที่ปรุงแต่งชีวิตของเรานี้ ส่วนมากเป็นจิตที่ไม่รู้ตัว

ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเรามีจิตโกรธบ่อยๆ เป็นคนฉุนเฉียว พบอะไรขัดใจนิดก็เกิดโทสะ และแสดงความเกรี้ยวกราดออกมาให้จิตกำเริบอยู่เสมอ ต่อไปถ้าสั่งสมสภาพจิตอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย ทำให้เป็นคนมักโกรธ ความโกรธง่ายจะเป็นลักษณะจิตใจ เป็นนิสัย ต่อมาสภาพจิตก็แสดงออกทางหน้าตา หน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่เสมอ กลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าบุคลิกภาพ และออกมามีผลทั้งต่อและจากผู้อื่น คนที่พบเห็นก็ไม่อยากคบ ไม่อยากพูดจาด้วย เขาอยากจะหลีกเลี่ยง กลัวจะเกิดเรื่อง อะไรทำนองนี้ แล้วก็กลับมามีผลต่อชีวิตของตนเอง

รวมความว่าเรื่องก็ดำเนินไปในลักษณะที่ว่า จากความคิดจิตใจ ก็ออกมาเป็นลักษณะนิสัย เป็นบุคลิกภาพ แล้วก็เป็นวิถีชีวิตของคนนั้น และความมีนิสัยอย่างนี้ หรือมีความโน้มเอียงอย่างนี้ ก็ชักจูงตัวเขาเอง ชวนให้ไปพบกับประสบการณ์ต่างๆ และสถานการณ์ที่ทำให้เกิดเรื่องอย่างนั้นๆ ขึ้นมา

ส่วนในทางตรงข้าม คนที่มีจิตเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใส คิดนึกเรื่องดีๆ เสมอ เวลาพบอะไร จิตใจก็มองไปในแง่ดี สบายใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส ต่อมา หน้าก็เป็นหน้าตาที่ยิ้มแย้ม เป็นคนมีเสน่ห์ น่ารัก น่าชม ชวนให้คบหา แล้วทั้งหมดนั้น ก็ออกมาเป็นผลต่อวิถีชีวิตของเขาต่อไปด้วย นี่ก็เป็นเรื่องของการสั่งสม

ข. จิตส่วนใหญ่และขุมพลังแท้ อยู่ที่จิตไร้สำนึก

แง่ต่อไปคือ เมื่อจิตไร้สำนึกนี้เป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นส่วนที่มีกำลังมาก จิตของเรานี้เราเอามาใช้งานนิดหน่อยเท่านั้น ความจริงมันมีพลังมากมายที่เราไม่รู้ตัวและยังไม่รู้จักดึงเอามาใช้ แต่เราจะเห็นตัวอย่างได้ว่า จิตมีกำลังขนาดไหน ในเมื่อมีเหตุการณ์ที่บังคับตัวไม่ได้ เช่นเวลาเกิดไฟไหม้ขึ้น บางคนยกตุ่มน้ำได้ หรือวิ่งหนีด้วยความตกใจ มาถึงรั้วแห่งหนึ่งซึ่งสูง ปรกติแล้วกระโดดข้ามไม่ได้ แต่ด้วยความกลัวหนีภัยมานั้น สามารถกระโจนข้ามไปได้ เรื่องอย่างนี้เราได้ยินกันบ่อยๆ แสดงให้เห็นว่า ที่จริงจิตของเรานั้นมีความสามารถอะไรบางอย่างอยู่ข้างใน แต่ตามปกติ เราไม่รู้จักใช้มัน มันก็เลยไม่เป็นประโยชน์

ความสามารถนี้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่จิตไร้สำนึกนั้น ตอนที่เราหนีภัยด้วยความตกใจก็ดี ตอนที่แบกตุ่มน้ำหรือของหนักไปได้เวลาไฟไหม้ก็ดี ตอนนั้นเราคุมสติไม่อยู่ จิตสำนึกของเราไม่ทำงาน แต่ถูกจิตไร้สำนึกกำกับการออกมาแสดงบทบาททำให้เราทำอะไรได้แปลกๆ พิเศษออกไป หรืออย่างในเวลาสะกดจิต ทำให้เอาเข็มแทงไม่เจ็บ ตลอดจนสามารถสะกดจิตแล้วผ่าตัดบางอย่างได้ ไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรเลย นี้เป็นเรื่องของจิตใจซึ่งมีส่วนที่เราไม่รู้จักอีกมาก พวกนักจิตวิเคราะห์ก็มาศึกษากัน นักจิตวิเคราะห์คนสำคัญชื่อนายซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ได้ศึกษาเรื่องจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกนี้มาก

ที่ว่าจิตเป็นตัวปรุงแต่งสร้างสรรค์นั้น จิตสำนึกได้แต่คิดปรุงแต่งเบื้องต้นเท่านั้น ตัวปรุงแต่งสร้างสรรค์แท้จริงที่สร้างผลออกมาแก่ชีวิตส่วนใหญ่ เป็นนิสัย เป็นบุคลิกภาพ ตลอดจนเป็นชะตากรรมของชีวิตนั้น อยู่ที่จิตไร้สำนึกที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา

จะขอชักตัวอย่างหนึ่งมาแสดงให้เห็นเกี่ยวกับเรื่องกรรม ซึ่งอาจจะช่วยให้เห็นทางเป็นไปได้มากขึ้น ว่าวิธีการศึกษาแบบสมัยใหม่จะมาสนับสนุนการอธิบายเรื่องกรรมอย่างไร

นายซิกมุนด์ ฟรอยด์ เล่าให้ฟังถึงกรณีหนึ่งว่า เด็กผู้หญิงอายุ ๑๗ ปี ชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านกับผู้ชายคนหนึ่ง พ่อไม่พอใจมาก วันหนึ่งก็ทะเลาะกับพ่อ พ่อโกรธมากก็ทุบหน้าเด็กหญิงคนนี้ เด็กคนนี้เจ็บก็โกรธมาก อารมณ์วูบขึ้นมาก็เงื้อแขนขวาขึ้นมาจะทุบพ่อบ้าง พอเงื้อขึ้นไปแล้วจะทุบลงมา ก็ชะงักเงื้อค้าง นึกขึ้นได้ว่านี่เป็นพ่อของเรา เราไม่ควรจะทำร้าย ก็ยั้งไว้ได้ แต่ก็ยังถือว่าตัวทำถูก ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ พ่อก็โกรธไม่ยอมพูดด้วย

ต่อมาเช้าวันหนึ่ง อยู่ดีๆ เด็กคนนี้ยกแขนขวาไม่ขึ้น แขนที่จะใช้ตีพ่อนั้นขยับเขยื้อนไม่ได้เลย เรียกว่า ใช้ไม่ได้ เหมือนเป็นอัมพาต หมอทางกายตรวจดูแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติเลย แขนก็แข็งแรง เส้นเอ็นประสาทอะไรก็ไม่บกพร่องเสียหาย (ลองนึกเทียบกับคนที่ไปฟังผลสอบ พอรู้ว่าสอบตกก็เข่าอ่อน ยืนไม่อยู่ ทั้งที่ร่างกายกำยำล่ำสัน หรือคนที่ได้ยินศาลตัดสินประหารชีวิต อะไรจำพวกนี้)

เรื่องนี้ถ้าเราอธิบายแบบหักขาไก่แล้วต่อมาตัวเองขาหัก ก็เรียกว่าเป็นกรรมสนองแล้ว แต่ในกรณีนี้เขาเอาเรื่องจริงมาศึกษาวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์ และพยายามอธิบายตามแบบนักจิตวิเคราะห์ ศึกษาไปได้ความแล้ว เขาก็อธิบายว่า จิตไร้สำนึกของเด็กคนนี้แสดงตัวออกมาทำงาน ในเวลาที่จิตไร้สำนึกทำงานแล้ว จิตสำนึกสู้ไม่ได้ ต้องอยู่ใต้อำนาจของมัน

จิตไร้สำนึกทำงานเพราะอะไร ด้วยเหตุผลอะไร เหตุผลคือความรู้สึกขัดแย้งเกิดขึ้น เด็กนั้นรู้ว่าการตีพ่อนี้ไม่ดี ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทุบตีจริง แต่เขาก็เงื้อแขนขึ้นกำลังจะทำอาการนั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่อาจยอมรับผิดได้ เพราะเขาถือว่าเรื่องที่เขาทะเลาะกับพ่อนั้นเขาไม่ผิด จิตสำนึกแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ ความรู้สึกขัดแย้งก็หนักหน่วงท่วมทับฝังลึกลงไป ในที่สุด การที่เขาเกิดอาการแขนขยับเขยื้อนไม่ได้นั้น เป็นด้วย

๑. จิตไร้สำนึกต้องการขอความเห็นใจจากพ่อ ด้วยอาการที่เขาขยับเขยื้อนแขนไม่ได้ เขาเกิดไม่สบาย มีอาการผิดปกติไปแล้ว มันจะช่วยให้พ่อเห็นใจเขาได้ เหมือนกับยกโทษให้โดยอ้อม โดยไม่ต้องพูดขอโทษ (และก็ไม่ต้องบอกว่ายกโทษ) แต่ที่แสดงออกมาอย่างนี้ จิตสำนึกไม่รู้ตัว จิตไร้สำนึกเป็นผู้ทำงาน และ

๒. เป็นการชดเชยความรู้สึกที่ว่าได้ทำผิด เหมือนว่าได้ลงโทษตัวเอง มีการลงโทษเสร็จไปแล้ว เพราะความคิดภายนอกถือว่าตัวทำถูกแล้ว ไม่ยอมไปขอโทษพ่อ ยังไปคบผู้ชาย ยังออกไปนอกบ้านตามเดิม แต่ในจิตส่วนหนึ่งมีความรู้สึกว่าที่ได้ทะเลาะกับพ่อ แสดงกับพ่ออย่างนั้นเป็นความผิด แล้วความรู้สึกขัดแย้งนี้ก็ลงลึกไปอยู่ในจิตไร้สำนึก แล้วก็ชดเชยออกมา โดยแสดงอาการให้เห็นว่ามันได้ถูกลงโทษแล้ว เป็นอันว่าฉันได้ชดใช้ความผิดนั้นแล้ว จะได้พ้นความรู้สึกขัดแย้งนี้ไปได้

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ เด็กนั้นก็เลยขยับเขยื้อนแขนไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีโรคหรือความผิดปรกติทางร่างกายเลยสักนิดเดียว แพทย์ค้นหาเหตุแล้วไม่พบ

ปัจจุบันก็มีอย่างนี้บ่อยๆ คนที่เป็นโรคทางกาย มีอาการปวดศีรษะ หาสาเหตุไม่พบต่างๆ เหล่านี้ จิตแพทย์ที่ชำนาญจะต้องค้นหาเหตุทางจิตใจ นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้ามองเผินๆ หรือมองช่วงยาวข้ามขั้นตอน ก็พูดถึงเหตุและผลแค่ว่า จะตีพ่อ ต่อมาแขนที่จะตีพ่อก็เสียใช้ไม่ได้

ค. จิตทำงานตลอดเวลา และนำพาชีวิตไป

รวมความว่า จิตไร้สำนึกของเราทำงานอยู่เสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจแล้วมันไม่ลืม ถ้าได้ทำความชั่วอะไรสักอย่าง จิตก็ไปพัวพันอยู่ แล้วไปปรุงแต่งอยู่ข้างใน เช่น ชักพาให้จิตโน้มเอียงไปหาสภาพอย่างนั้นอยู่เรื่อย หรือปรุงแต่งความคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องแบบนั้น

สมมติว่าไปหักขาไก่ไว้ จิตก็สะสมความรู้สึกและภาพนี้ไว้ในจิตไร้สำนึก แล้วมันก็ปรุงแต่งของมันวนเวียนอยู่นั่นเอง ออกไปไม่ได้ จิตครุ่นคิดแต่เรื่องขาหักๆ ๆ แล้วจิตไร้สำนึกนั้นก็คอยโอกาสชักพาตัวเองไปหาเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การที่ตัวเองจะต้องขาหัก หรือต่อไประยะยาวเมื่อไปเกิดใหม่มันก็เลยปรุงแต่งขาตัวเองให้พิการไปเลย เป็นต้น

นี้เป็นการอธิบายรวบรัดให้เห็นทางเป็นไปได้ต่างๆ ซึ่งในทางจิตวิทยาสมัยใหม่ก็เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่ แต่ผลที่สุดมันเป็นเรื่องเหตุปัจจัยในกระบวนการของจิต เป็นเรื่องของกรรมนี้เอง นี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นอย่างผิวเผิน ขณะที่เรื่องจิตนี้เรายังจะต้องศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป ไม่ควรผลีผลามเอาความคิดเหตุผลอย่างง่ายๆ ของตนไปตัดสินเหตุผลที่อยู่ในวิสัยอีกระดับหนึ่งที่เลยขึ้นไป หรือสรุปเอาเรื่องที่สลับซับซ้อนลงไปอย่างง่ายๆ

พร้อมกันนั้นก็ให้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า วิชาการสมัยใหม่บางอย่างอาจจะมาช่วยอธิบายสนับสนุนให้คนสมัยนี้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี และเดี๋ยวนี้นักจิตวิทยาสมัยใหม่อย่างนักจิตวิเคราะห์หลายคน ก็มาเลื่อมใสในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา แล้วเอาไปใช้ในการศึกษาเรื่องจิตใจและแก้ปัญหาโรคจิต

เท่าที่พูดแทรกเข้ามาในตอนนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตของคน หลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมก็ทำงานสัมพันธ์กับจิตใจนั่นเอง คือสัมพันธ์กับจิตตนิยาม จิตตนิยามกับกรรมนิยามต้องไปด้วยกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ในที่นี้เป็นเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอำนาจเร้นลับมหัศจรรย์นั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดานี่เอง ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความสัมพันธ์สืบเนื่องโยงกันอยู่ให้เห็นได้ เป็นแต่ว่าตอนนี้เรายังไม่มีความสามารถที่จะเแยกแยะเหตุปัจจัยนั้นออกมาให้เห็นชัดเจนเท่านั้นเอง

เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้อย่างนี้ พอให้เห็นแนวทางแล้ว ถ้าท่านสนใจก็อาจจะศึกษาต่อไป เป็นเรื่องของการค้นคว้า เราอาจจะโยงหลักอภิธรรม เรื่องของจิต ทั้งเรื่องวิถีจิตและภวังคจิต กับเรื่องจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกของจิตวิทยาสมัยใหม่ เอามาเทียบเคียงกัน อันไหนเสริมกันก็จะได้นำมาช่วยประกอบการอธิบายแก่คนยุคนี้ให้ดียิ่งขึ้นไป ขอผ่านเรื่องนี้ไปก่อน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จิตสำนึก-จิตไร้สำนึก/ภวังคจิต-วิถีจิตการให้ผลของกรรมระดับภายนอก: สมบัติ ๔ – วิบัติ ๔ >>

No Comments

Comments are closed.