ตอน ๒ กรรม โดยใช้การ

17 พฤษภาคม 2529
เป็นตอนที่ 7 จาก 12 ตอนของ

ตอน ๒
กรรม โดยใช้การ

 

ความสำคัญของมโนกรรม/
ค่านิยมกำหนดวิถีชีวิตและสังคม

ขอผ่านไปยังเรื่องการให้ผลของกรรม อย่างที่บอกแล้วว่า เราได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับคำอธิบายการให้ผลของกรรมแบบโลดโผน ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ แบบที่ว่าทำให้สัตว์ขาหัก แล้วต่อมาตัวเองไปถูกรถทับขาหัก อะไรทำนองนี้ ซึ่งได้ยินกันบ่อย จนบางทีทำให้รู้สึกว่า กรรมเป็นอำนาจเร้นลับอย่างหนึ่งซึ่งลอยอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ มันคอยจ้องจะมาลงโทษเรา ถ้าอธิบายแบบนี้ ก็มีปัญหาที่บอกแล้วว่า คนที่เป็นนักคิดเหตุผลจะไม่ค่อยยอมรับ

ลองมาพิจารณากันดูว่า เราจะสามารถอธิบายกรรมในแง่สืบสาวเหตุปัจจัยได้อย่างไร ความเป็นเหตุเป็นผลนั้นอยู่ที่การสืบสาวเหตุปัจจัย ให้เห็นว่าแต่ละอย่างเชื่อมโยงกัน สืบทอดและต่อเนื่องกันอย่างไร จึงมาออกผลอย่างนี้ ถ้าอธิบายตรงนี้ได้ คนจะต้องยอมรับ

การที่จะอธิบายอย่างนี้ได้ก็ต้องลงไปถึงจุดเริ่มของมัน คือถึงข้างในจิตใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรม มี คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

ในบรรดากรรม ๓ อย่างนั้น กรรมที่ละเอียดอ่อนที่สุดก็ได้แก่ มโนกรรม คือ กรรมทางใจ

กรรมทางใจนอกจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแล้ว ก็เป็นจุดเริ่มด้วย หมายความว่า การกระทำที่จะออกมาเป็นวจีกรรมและเป็นกายกรรมได้ ก็เพราะเกิดขึ้นเป็นมโนกรรมก่อน คนเราต้องคิดก่อน คิดขึ้นมาในใจ คิดชั่วแล้วจึงพูดชั่ว ทำชั่ว ถ้าพูดชั่วขึ้นเฉยๆ อาจเป็นเพียงเคยปากหรือใช้คำพูดไม่ถูกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกรรม

คนจะทำอะไรก็เริ่มจากความนึกคิดในใจ ที่เรียกว่ามโนกรรม ในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่ามโนกรรมสำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสโดยทรงเปรียบเทียบกับลัทธินิครนถ์

ในลัทธินิครนถ์เขาเรียกกรรมว่า ทัณฑะ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ และบอกว่ากายทัณฑะสำคัญที่สุด เพราะว่าเพียงลำพังคิดอย่างเดียวไม่ทำให้ตายได้ แต่ถ้าเป็นกายทัณฑะ เอามีดมา ไปถึงฟันคอ ก็ตายแน่ๆ หรือว่าฉวยปืนมายิงก็ตาย ลำพังคิดไม่ตาย เพราะฉะนั้น ลัทธินิครนถ์ถือว่ากายทัณฑะสำคัญที่สุด

แต่พระพุทธศาสนาถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด เพราะมโนกรรมเป็นจุดเริ่มต้น เป็นตัวการใหญ่ เป็นเจ้าของแผนการ บุคคลก็ดี สังคมก็ดี จะเป็นไปอย่างไรก็ดำเนินไปตามมโนกรรมเป็นใหญ่ มโนกรรมเป็นตัวกำหนดวิถีหรือชี้แนวทางให้แก่แนวคิด ความนิยม ความเชื่อถือ เป็นตัวกำกับการ เช่น คนๆ หนึ่งมีความชอบในอะไร ใฝ่ในอะไร ชีวิตของเขาก็จะดำเนินไปตามวิถีทางที่ชอบที่ใฝ่นั้น

สมมติว่าเด็กคนหนึ่งเกิดชอบบวชพระ ชอบห่มผ้าเหลือง เห็นเณรแล้วก็อยากเป็นเณรบ้าง ความฝักใฝ่พอใจอันนี้ก็มาหล่อหลอมทำให้เขาคิดที่จะบวช ต่อมาเขาก็อาจจะบวชแล้วก็อยู่ในพระศาสนาไป แต่อีกคนหนึ่งจิตชอบใฝ่ไปในทางที่อยากได้ของของคนอื่น โดยไม่ต้องทำอะไร ก็อาจจะไปลักขโมย วิถีชีวิตก็จะหันเหไปอีกแบบหนึ่ง นี้ก็คือเรื่องของมโนกรรม ที่มีผลบันดาลชีวิตทั้งชีวิตให้เป็นไปต่างๆ กัน ความนิยม ความชอบ ความเชื่อถือต่างๆ นี้เป็นเครื่องกำหนดชะตาและสร้างชีวิตของคน พระพุทธศาสนามองในขั้นลึกซึ้งอย่างนี้ จึงถือว่ามโนกรรมสำคัญ

แม้แต่สังคมมนุษย์ที่จะเป็นไปอย่างไร ก็เริ่มมาจากมโนกรรม เช่นสิ่งที่ปัจจุบันนี้ชอบเรียกว่าค่านิยม เมื่อสังคมมีค่านิยมอย่างไร ก็จะชักนำลักษณะการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคมนั้นให้เป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่างเช่น คนในสังคมหนึ่งถือว่าถ้าเรารักษาระเบียบวินัยได้เคร่งครัดก็เป็นคนเก่ง ความเก่งกล้าสามารถอยู่ที่การทำได้ตามระเบียบแบบแผน ความนิยมความเก่งในแง่นี้ก็เรียกว่าเป็นค่านิยมในการรักษาระเบียบวินัย คนพวกนี้ก็จะพยายามรักษาระเบียบวินัยให้เคร่งครัด จนอาจทำให้ประเทศนั้น สังคมนั้น มีระเบียบวินัยดี

ส่วนในอีกสังคมหนึ่ง คนอาจจะมีค่านิยมตรงข้าม โดยมีความชื่นชมว่า ใครไม่ต้องทำตามระเบียบได้ ใครฝืนระเบียบได้ ใครมีอภิสิทธิ์ไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ได้ เป็นคนเก่ง ในสังคมแบบนี้ คนก็จะไม่มีระเบียบวินัย เพราะถือว่าใครไม่ต้องทำตามระเบียบได้ คนนั้นเก่ง

ขอให้ลองคิดดูว่า สังคมของเรา เป็นสังคมแบบไหน มีค่านิยมอย่างไร นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความใฝ่ความชอบอะไรต่างๆ ที่อยู่ในจิตใจเป็นตัวนำ เป็นเครื่องกำหนดวิถีชีวิตของบุคคล และเป็นเครื่องชี้นำชะตากรรมของสังคม

สังคมใดมีค่านิยมที่ดีงาม เอื้อต่อการพัฒนา สังคมนั้นก็มีทางที่จะพัฒนาไปได้ดี สังคมใดมีค่านิยมต่ำทราม ขัดถ่วงการพัฒนา สังคมนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรม พัฒนาได้ยาก จะประสบปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอย่างมากมาย ถ้าจะพัฒนาสังคมนั้นให้ก้าวหน้า ถ้าต้องการให้สังคมเจริญ พัฒนาไปได้ดี ก็จะต้องแก้ค่านิยมที่ผิดพลาดให้ได้ และต้องสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นด้วย

เรื่องค่านิยมนี้เป็นตัวอย่างเด่นชัดอย่างหนึ่งของมโนกรรม มโนกรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก มีผลระยะยาว ลึกซึ้งและกว้างไกล ครอบคลุมไปหมด พระพุทธศาสนาถือว่าค่านิยมนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก และมองที่จิตใจเป็นจุดเริ่มต้น เพราะฉะนั้นในการพิจารณาเรื่องกรรม จะต้องให้เข้าใจถึงหลักการของพระพุทธศาสนา ที่ถือว่ามโนกรรมสำคัญที่สุด และให้เห็นว่าสำคัญอย่างไร นี้คือจุดที่หนึ่ง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บุญ-บาป กุศล-อกุศลจิตสำนึก-จิตไร้สำนึก/ภวังคจิต-วิถีจิต >>

No Comments

Comments are closed.