(ธรรมกถา 2: งานทำบุญเปิดบริษัท ส่องสยาม จำกัด)

27 พฤศจิกายน 2532
เป็นตอนที่ 2 จาก 3 ตอนของ

(ธรรมกถา 2: งานทำบุญเปิดบริษัท ส่องสยาม จำกัด)

ขอเจริญพร วันนี้อาตมภาพ คณะพระสงฆ์ ขออนุโมทนาในโอกาสมงคลที่ ท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และโยมพี่นิลฉวี ศิวรักษ์ ทำบุญฉลองการแต่งงานครบรอบ ๒๕ ปี พร้อมทั้งได้จัดพิธีเปิด “บริษัท ส่องศยาม จำกัด” ด้วย สองพิธีนี้ก็เป็นพิธีมงคลเนื่องกัน จะถือว่าได้ฉลองการแต่งงาน ด้วยการเปิดกิจการบริษัทส่องศยามก็ได้ เมื่อฉลองด้วยวิธีนี้ ก็เท่ากับว่า ได้ดำเนินกิจการที่เป็นเครื่องทำให้เกิดความเจริญงอกงามแห่งปัญญาแก่ประชาชน ก็เป็นสิ่งที่เป็นกุศล คือถ้าปัญญาเจริญงอกงามขึ้นได้ในประชาชน อันนั้นก็นำไปสู่ความเจริญงอกงาม ทั้งของชีวิตของประชาชนเหล่านั้นเอง และก็ความเจริญงอกงามของสังคมทั้งหมดด้วย

การที่นิมนต์พระสงฆ์เป็นพิธีเปิดบริษัทอย่างนี้ เป็นการทำบุญในการริเริ่มต้นกิจการต่างๆ ชาวพุทธนั้น เมื่อจะขึ้นบ้านใหม่ ก็มีพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นการเริ่มต้นขึ้นอยู่ในบ้านนั้น ดำเนินกิจการต่างๆ เริ่มต้นก็มีการทำบุญอย่างนี้ คือ เปิดบริษัท อันนี้อาจเป็นได้ว่าสืบเนื่องมาแต่คติสมัยพุทธกาล

มีเรื่องเล่ามาในพระไตรปิฎกเหมือนกัน โดยเฉพาะในพระสูตรที่สำคัญสูตรหนึ่งชื่อว่า สังคีติสูตร ว่าพวกกษัตริย์ชาวมัลละทั้งหลายในเมืองปาวา ได้สร้างสัณฐาคารขึ้นใหม่ สัณฐาคารก็คือที่เรียกในปัจจุบันว่า สภา ที่นี้ก็เป็นหอประชุมของรัฐ คือพวกมัลละปกครองด้วยระบบสามัคคีธรรม เมื่อมีกิจการบ้านเมืองจะต้องตัดสินใจ หรือจะต้องมีการวินิจฉัย ก็จะมาประชุมพร้อมกันในสัณฐาคารนี้ ตอนนั้น พวกชาวมัลละ กษัตริย์มัลละเหล่านี้ หรือนักปกครองชาวมัลละทั้งหลาย ก็ได้สร้างสัณฐาคาร หรือหอประชุม หรือสภาขึ้นใหม่ พอสร้างเสร็จแล้ว ก็มานิมนต์พระพุทธเจ้าให้ไปทรงใช้หอประชุมนี้ก่อน บอกว่าหอประชุมนี้สร้างใหม่ ยังไม่เคยมีบุคคลใดได้ใช้เลย ก็มาขอให้พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระสงฆ์ ไปใช้ก่อนเป็นบุคคลแรก ก็คงจะเพื่อความเป็นสิริมงคล พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จไป เข้าใจว่าไปตอนเย็น และเมื่อเสด็จไปแล้ว ก็ได้สนทนาแสดงธรรมแก่กษัตริย์มัลละเหล่านั้นจนกระทั่งดึก กษัตริย์มัลละทั้งหลายก็ลากลับ ต่อจากนั้น พระพุทธเจ้าก็รับสั่งให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่พระสงฆ์ เพราะว่าพระสงฆ์ ยังตาสว่างอยู่ ส่วนพระองค์ก็คงจะทรงเพลียจากที่ได้แสดงธรรมแก่กษัตริย์มัลละ แล้วก็ขอทรงเอนพัก พระสารีบุตรก็ได้แสดงธรรมแก่พระสงฆ์ คราวนั้น พระสารีบุตรก็ปรารภเรื่อง นิครนถ์นาฏบุตรได้ถึงแก่มรณภาพ ปรากฏว่า พวกสาวกของนิครนถ์ทั้งหลายนั้น ได้เกิดทะเลาะวิวาทกัน เพราะว่าหลักธรรมคำสอนของนิครนถ์นาฏบุตรนั้น เมื่อตัวศาสดาล่วงลับไปแล้ว ไม่ได้ประมวลรวบรวมไว้ ก็กระจัดกระจาย ลูกศิษย์ก็เกิดความคิดเห็นแตกต่างกัน จำได้แตกต่างกัน ก็ทะเลาะวิวาท พระสารีบุตรก็ปรารภว่า ในทางพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้เป็นอย่างดีแล้ว เราทั้งหลายควรจะมาสังคายนา ร้อยกรองรวบรวมประมวลไว้ ให้เป็นหลักฐานแน่นอน เพื่อให้พระศาสนานี้เจริญมั่นคงยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก แล้วพระสารีบุตรท่านก็ได้แสดงการสังคายนาเป็นตัวอย่าง คือประมวลหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาจัดเป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่หมวด ๑ ไปจนถึงหมวด ๑๐ ท่านผู้รวบรวมคัมภีร์ก็เรียกว่า สังคีติสูตร ซึ่งก็แปลว่าพระสูตรว่าด้วยการสังคายนานั้นเอง อันนี้จะเรียกได้ว่าเป็นแบบอย่างของการสังคายนาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังดำรงชนม์อยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระมหากัสสปะก็ได้เป็นหัวหน้าในการจัดสังคายนาขึ้นเป็นครั้งแรก อันนี้ก็เป็นปฐมกำเนิดของการสังคายนา พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่สำคัญ เพราะประมวลหลักธรรมไว้เป็นอันมาก ในที่นี้ ก็ให้เห็นถึงคติ หรือประเพณีที่ว่า คนในสมัยนั้นก็ต้องการความเป็นสิริมงคลแก่สถานที่ กิจการต่างๆ ก็มีการนิมนต์พระพุทธเจ้าไปทรงใช้สถานที่นั้นก่อน แต่อันนั้นจะเห็นว่า สาระสำคัญจะอยู่ที่การที่ได้มีการแสดงธรรมให้เป็นประโยชน์ สำหรับธรรมที่แสดงนั้นก็เป็นหลักเป็นฐานสำคัญ ที่ว่าเป็นหลักการของพระศาสนา เป็นหลักธรรมที่จะได้ยึดถือไว้ร่วมกัน พระศาสนานั้นเป็นสิ่งที่อาจเรียกว่า “กิจการ” ได้ ซึ่งใหญ่โตกว้างขวาง มีศาสนิกชนทั้งฝ่ายบรรพชิต และคฤหัสถ์มากมาย และก็เผยแผ่ไปในที่ต่างๆ กระจายกันไกลออกไป ถ้าหากว่าไม่มีหลักธรรมวินัยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้แน่นอนแล้ว ก็จะเกิดปัญหาในความแตกแยกมากมาย จึงถือเป็นคติตลอดมาว่า จะต้องรักษาหลักการของพระธรรมวินัยนี้ให้ได้ อันนี้ก็ถือว่า ในการที่พระพุทธเจ้าประทับที่สัณฐาคารของกษัตริย์มัลละคราวนั้น ก็มีผลให้เกิดขึ้น คือ ได้หลักของพระศาสนาไว้สำหรับยึดถือปฏิบัติสืบมา

ถ้ามามองถึงการเกิดบริษัทส่องศยามครั้งนี้ ก็เป็นกิจกรรมทางปัญญา เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว ก็จะมีการเผยแพร่หนังสือ ผลงานวรรณกรรมต่างๆ ที่ให้เกิดปัญญา ซึ่งงานที่จะให้เกิดปัญญานั้นก็มีมากมาย แต่ส่วนหนึ่งก็คืองานที่เป็นหลัก เป็นเนื้อหาสาระ เป็นสิ่งที่จะให้คนได้รับสารประโยชน์ที่แท้จริงที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคมของเขา ถ้าหากว่าได้มีหลักการต่างๆ หรือว่าสาระต่างๆ ที่ว่าเป็นแกนกลางไว้แล้ว โดยที่ดำเนินกิจการอย่างมีหลัก มีความคิด และต่อจากนั้นก็มีความรู้ หรือว่าวรรณกรรมที่แสดงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องประกอบออกไป ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยเป็นอันมาก ทางพระพุทธศาสนาก็ถือว่า ปัญญานี้เป็นแสงสว่างสำคัญ ถือเป็นแสงสว่างที่ส่องโลกไปทั่วหมด แม้ทุกมุม แม้แต่ในที่มืดที่แสงพระอาทิตย์ส่องไม่ถึง แสงพระอาทิตย์นั้น หรือแสงตะเกียง แสงไฟฟ้าอะไรก็ตาม ส่องไปได้เฉพาะในที่ที่โล่งโถง ไม่มีอะไรปิดกั้น ถ้ามีอะไรปิดบัง มีฝากั้น เป็นต้น ก็เข้าไปไม่ได้ แต่แสงสว่างแห่งปัญญานี้สามารถผ่านทะลุสิ่งกีดขวางไปได้ ท่านจึงบอกว่า “นตฺถิ ปฺาสมา อาภา” แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี แล้วก็สว่างส่องโลกให้ชีวิตนี้มีความเจริญงอกงาม เห็นทางที่จะดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง แม้จะมีแสงสว่างที่เป็นรูปธรรม แต่ถ้าไม่มีแสงสว่างที่เป็นนามธรรมคือปัญญานี้ บางทีชาวโลกก็ดำเนินชีวิต ดำเนินกิจการไปอย่างผิดพลาด ใช้แสงสว่างในทางที่เกิดโทษแก่ชีวิตก็มี ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ กลายเป็นว่ามืดในความสว่าง ทั้งๆ ที่มีแสงสว่าง แต่ก็อยู่กันอย่างมืดบอด ดำเนินชีวิตกันอย่างมืดบอด พัฒนากันอย่างที่จะเรียกว่ามืดบอดก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องการแสงสว่างแห่งปัญญานี้ เพื่อว่า แม้อยู่ในที่มืดก็สว่าง ก็จะดำเนินไปสู่ความถูกต้องฉะนั้น การที่ตั้งบริษัทส่องศยามนี้ ก็มีวัตถุประสงค์ในการสาดส่องแสงสว่างแห่งปัญญา ให้แพร่ไปทั้งสังคมศยาม ส่องศยาม ก็หมายความว่า ที่นี้คงจะเป็นเหมือนกับจุดศูนย์กลาง จุดที่เป็นดวงชวาลาหรือดวงประทีปที่ส่องแสงกระจายออกไปให้สว่างทั่วสังคมศยาม และก็คงไม่จำกัดเฉพาะสังคมศยามเท่านั้น เมื่อส่องไปในสังคมศยามแล้วก็แผ่ต่อไปอีกในสังคมทั่วโลก เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชนคือชนจำนวนมากสืบไป ฉะนั้น อาตมภาพก็ขออนุโมทนาด้วย ในการที่ได้เปิดดำเนินกิจการบริษัทส่องศยาม ก็ขอให้มีความเป็นมงคลเกิดขึ้น สมกับชื่อของบริษัทที่ว่าส่องศยาม ก็คือว่า ส่องแสงสว่างสาดไปให้ทั่วสังคมศยาม หมายถึงแสงสว่างแห่งปัญญานี้ เพื่อนำทางชีวิตและสังคม ให้ไปสู่ความสุขความเจริญงอกงามรุ่งเรืองต่อไป

 

ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ อาตมภาพก็ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พร “รตนตฺยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา” ด้วยอานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสักการะบูชาของเราทั้งหลาย พร้อมทั้งบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้ว จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โยมพี่นิลฉวี ศิวรักษ์ พร้อมทั้งครอบครัว และบริษัท ส่องศยาม จำกัด กับทั้งผู้ที่อยู่ในกิจการนี้ ที่ทำงานกัน ร่วมงานกันทั้งหลาย แล้วก็ญาติมิตรทั้งปวง เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกายกำลังใจ โดยเฉพาะกำลังปัญญา พรั่งพร้อมที่จะดำเนินกิจการเพื่อให้สำเร็จวัตถุประสงค์ของกิจการที่ได้ตั้งนี้ และให้มีความร่มเย็นเป็นสุข งอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนานเทอญ

 

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) แสดงธรรมกถา ณ วันจันทร์ที่ ๒๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๒ ในโอกาสวันทำบุญเปิดบริษัท ส่องศยาม จำกัด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (ธรรมกถา 1: โอกาสปิดงาน ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน และเปิดงาน ๑๐๐ ปี พระสารประเสริฐ)คำนำ >>

No Comments

Comments are closed.