บทที่ ๓ งบดุลสังคม

4 มกราคม 2534
เป็นตอนที่ 4 จาก 7 ตอนของ

บทที่ ๓
งบดุลสังคม

ทำงบดุลชีวิตแล้ว ก็ทำงบดุลสังคมคู่กันไป

ทีนี้ มองให้กว้างออกไป นอกจากชีวิตของเราแล้ว วงงานของเรา โรงพยาบาลของเรา มหาวิทยาลัยของเรา สังคมไทยของเรา เป็นอย่างไร

อย่างสังคมไทยของเรานี้ ก็มีเรื่องที่ต้องสำรวจมาก จะมองในแง่สังคมกรุง เช่น มองในแง่สังคมกรุงและสังคมชนบทว่าเป็นอย่างไร เราเสื่อมหรือเราเจริญ หรือว่ามองในแง่เศรษฐกิจ มองในแง่การเมือง การศึกษา วัฒนธรรม ธรรมชาติแวดล้อม

โดยเฉพาะในเรื่องธรรมชาติแวดล้อมนี้เมืองไทยของเรากำลังประสบปัญหามาก เช่นเดียวกับทั่วโลก ลองสำรวจดูว่าในเรื่องธรรมชาติแวดล้อมนี้เราได้หรือเราเสีย กำไรหรือขาดทุน ตลอดจนเรื่องคุณภาพชีวิตทั่วไปๆ ก็ต้องดูว่าเป็นอย่างไร

มองใกล้ตัวเข้ามาก็ดูในด้านของวงการแพทย์ว่าเวชศาสตร์ทางด้านการป้องกันก็ดี เวชศาสตร์ทางด้านบำบัดก็ดี คือทั้งด้านบำบัดเยียวยา และด้านป้องกันส่งเสริม ทั้งสองด้านนี้เจริญขึ้นหรือเสื่อมลงอย่างไร มีได้มีเสียอย่างไร ล้วนเป็นเรื่องที่พิจารณาตรวจสอบกันได้

มีเรื่องที่จะพูดกันได้ไม่รู้จักจบ คือ เรื่องที่จะสำรวจมีมากเหลือเกินในการที่จะมาทำงบดุลของเรา

อย่างไรก็ตาม มีหลักอันหนึ่งที่น่าพิจารณา ในปัจจุบันสำหรับสังคมที่มองอย่างง่ายๆ แคบๆ คือเราอาจมองสังคมปัจจุบันนี้ ตามรูปแบบของการจัดแยกสังคมเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. สังคมเกษตรกรรม

๒. สังคมอุตสาหกรรม

๓. สังคมข่าวสารข้อมูล

สังคม ๓ แบบนี้ เกี่ยวข้องกับโลกในปัจจุบันนี้มาก เพราะว่าประเทศต่างๆ กำลังอยู่ในระยะของความเจริญพัฒนา โดยมีรูปแบบของสังคม ๓ ประเภทนี้เป็นที่กำหนด

สังคมไทยของเราก็เหมือนกัน เราก็เอารูปแบบของสังคม ๓ แบบนี้มาใช้เป็นเครื่องตรวจสอบ ลองมองดูสังคมของเราว่าเป็นอย่างไร สังคมของเราเป็นสังคมอะไรกันแน่ เป็นสังคมเกษตรกรรม หรือเป็นสังคมอุตสาหกรรม หรือเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล

อย่างอเมริกานี้เขาบอกว่าตอนนี้เขาเป็นสังคมข่าวสารข้อมูลแล้ว เขาพูดอย่างมั่นใจ เขาพูดมา ๒-๓ ปีแล้ว ว่าเขาเป็นสังคมข่าวสารข้อมูลแน่นอนแล้ว คนในภาคเกษตรกรรมเขามีแค่ ๓% เท่านั้นเอง คนในภาคอุตสาหกรรมก็ลดน้อยลง เดี๋ยวนี้เหลือสัก ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนคนในภาคข่าวสารข้อมูล และภาคบริการได้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งเขาพูดได้อย่างเต็มปากว่า ตอนนี้เขาเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล เสร็จแล้วก็ลองมาดูประเทศไทยของเรานี้ว่าเป็นสังคมประเภทไหน

สังคมไทยของเรานี้ในแง่ประชากรส่วนใหญ่ ราว ๗๐% อยู่ในภาคเกษตรกรรม ถ้าว่าถึงภาคอุตสาหกรรม แม้จะกำลังเพิ่มขึ้น และเป็นที่นิยมมาก แต่ก็ยังมีน้อย ยิ่งภาคข่าวสารข้อมูลด้วยแล้ว ต้องนับว่ายังไม่เข้าขั้นเลย ถึงแม้ว่าจะได้รับผลจากความเจริญในสังคมอื่นมามากเหมือนกัน ก็ยังไม่นับว่าเจริญเข้าขั้นอย่างนั้น

มองดูสังคมไทยว่าจะก้าวต่อไปทางไหน

ถ้าว่าตามความต้องการหรือตามที่อยากจะเป็น สิ่งที่เราปรารถนากันมากก็คืออยากจะเป็นสังคมอุตสาหกรรม แต่ตัวจริงของเรานั้นถ้าว่ากันตามด้านประชากร เราก็เป็นสังคมเกษตรกรรม

ทีนี้ก็มีปัญหาว่า สภาพที่เป็นจริงกับสิ่งที่ปรารถนามันไม่สอดคล้องกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะเอาอย่างไร เราจะก้าวไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมไหม เราจะเอาแน่ไหม ตอนนี้ก็เป็นระยะเวลาของการสำรวจตรวจสอบว่า เราจะเอาอย่างไรกันแน่กับวิถีของสังคมของเรา

ถ้าเราจะเป็นสังคมเกษตรกรรม โดยสภาพประชากรก็อย่างที่ว่าแล้ว ก็แน่นอนว่าเป็นได้ เพราะประชากร ๖๐-๗๐% อยู่ในภาคเกษตรกรรม

แต่ในเวลาเดียวกันถ้าเรามองดูสภาพความเป็นจริง ที่ดินสำหรับทำเกษตรกรรมนี่กำลังลดน้อยลง กำลังถูกขายไปๆ อย่างปีที่แล้วก็ไม่รู้ว่าถูกขายไปเท่าไร ร่อยหรอลงไปมากมาย และแม้แต่ส่วนที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้ใช้ ถูกทอดทิ้งรกร้างว่างเปล่าด้วยความหวังว่าจะขาย

ชาวบ้านจำนวนมากมีที่นาก็ไม่ทำ ได้แต่รอคอยว่าจะขาย จนกระทั่งตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจขึ้น เกี่ยวกับการให้เงินกู้เป็นต้น มีปัญหาพลิกผันในเรื่องของการขายที่ดิน ซึ่งไม่เป็นผลดีเท่าไรต่อภาคเกษตรกรรม

นอกจากนี้ก็คือเรื่องค่านิยม ชาวนาหรือเกษตรกรเองก็ทั้งไม่พอใจและไม่ภูมิใจในอาชีพของตน มีความพร้อมที่จะสละออกไป เพราะอาชีพเกษตรกรรมนั้นทั้งหนักทั้งเหนื่อย หนักและเหนื่อยแล้วยังไม่พอ ยังเสี่ยงมากอีกด้วย เพราะทำไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลกำไรหรือไม่ สินค้าของตนเอง แต่ตนเองไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา จึงไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ ราคาพืชผลต้องขึ้นต่อคนกลางเป็นผู้กำหนด คือผู้อื่นมากำหนดให้เรียกได้ว่าไม่มีอิสรภาพ และไม่สามารถพึ่งตนเองได้

การทำนาในปัจจุบันนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนมีวัวมีควายอยู่กันตามธรรมชาติ ถึงเวลาฝนมาก็ไถหว่านแล้วก็เพาะปลูกก็ได้ข้าวกิน

แต่เดี๋ยวนี้ไม่อย่างนี้แล้ว จะทำนา ตอนแรกก็อาศัยรถไถ ซึ่งหลายคนก็ไม่มีเป็นของตนเอง ต้องจ้างรถไถของคนอื่นมา น้ำมันก็ต้องอาศัยจากภายนอก อาศัยน้ำมันก็ยังไม่พอ ต้องอาศัยยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู ยาฆ่าปู ยาฆ่าหญ้า แล้วก็ปุ๋ยอีก ทุกอย่างต้องอาศัยจากภายนอก เป็นอันว่าพึ่งตนเองไม่ได้เลย ต้องอาศัยผู้อื่น ต้องพึ่งผู้อื่นไปหมด ถึงเวลาขายก็ไม่ค่อยได้กำไร เพราะถูกคนอื่นเป็นผู้กำหนดราคาอย่างที่ว่ามาแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ชาวนาก็เลยท้อถอย หรือท้อแท้ ไม่อยากทำนา

แล้วยังมีค่านิยมที่ทำให้ไม่ภูมิใจในอาชีพของตน ซ้ำเข้าไปอีก ภาคเกษตรกรรมก็ยิ่งเสื่อมทรุดกันใหญ่ ซึ่งมีผลกระทบไปถึงด้านแรงงานด้วย

ในด้านแรงงานนั้น แรงงานเกษตรกรรมก็หลบลี้หนีจากอาชีพของตนไป หนุ่มสาว ถ้ามีโอกาสก็มุ่งหน้าเข้าสู่เมือง ไปขายแรงงานเป็นคนงานก่อสร้างบ้าง ทำงานรับจ้างอื่นๆ บ้าง ตลอดจนเป็นโสเภณี และที่กำลังนิยมกันมากขึ้น ก็คือ เมื่อมีทางก็ไปเข้าโรงงานอุตสาหกรรม ทอดทิ้งคนแก่คนเฒ่าและเด็กอ่อนให้อยู่กับนากับไร่ ท้องนาก็ไม่มีแรงงานที่มีคุณภาพ มีแต่คนแก่และคนที่ไม่ได้เป็นแรงงาน เช่น เด็กเล็กๆ ตกลงว่าในชนบทก็ขาดแรงงาน ทั้งแรงงานกายและแรงงานสมอง แรงงานกายก็อย่างที่ว่ามานี้

ส่วนแรงงานสมองที่ว่าขาดนั้น ก็เพราะเข้ากรุงเข้าเมืองไปก่อนแล้ว คือเข้าไปในทิศทางของการศึกษา ไปเล่าเรียน เข้ากรุงไปกันหมด ฉะนั้นภาคชนบทกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีความหมายโยงกันอยู่เป็นอันเดียวกัน ก็จึงเสื่อมไปด้วยกัน คือ เสื่อมทรุดโทรมลงไปพร้อมๆ กัน

ปัจจุบันนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมไปสร้างในชนบทมากขึ้น เวลาเช้าก็มีรถจากโรงงานไปรับคนถึงที่ เด็กหนุ่มสาวก็แต่งตัวมาขึ้นรถไปโรงงาน เช้าไปเย็นจึงกลับมา ทิ้งท้องนาท้องไร่ให้รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ นี้คือสภาพที่เป็นอยู่ ภาคเกษตรกรรมของเราก็เป็นอย่างที่ว่ามานี้

ทางเลือกที่รอการตัดสินใจ

ทีนี้ภาคอุตสาหกรรมละ ก็ต้องมาพิจารณากันอีกว่าภาคอุตสาหกรรมของเราเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมของเราเป็นอุตสาหกรรมภาคจักรกลมาก หรือเป็นอุตสาหกรรมภาคอิเล็กทรอนิกส์มาก เป็นอุตสาหกรรมที่จะรองรับยุคต่อไปคือยุคข่าวสารข้อมูลหรือเปล่า หรือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เรียกว่าไปรับระบายมลภาวะมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

เดี๋ยวนี้เขามีศัพท์ใหม่คำหนึ่งว่า throw-away industries แปลเป็นไทยว่า อุตสาหกรรมที่เขาโยนทิ้งแล้ว เขาบอกว่าประเทศไทยและประเทศจีนแดง ในระยะต่อไปนี้ถ้าไม่ปรับตัวให้ดี จะเป็นประเทศที่รับอุตสาหกรรมที่เรียกว่า throw-away industries จากประเทศพวกนิกส์ ๔ เสือ

๔ เสือคืออะไร คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี สำหรับญี่ปุ่นนั้นไม่ต้องพูดถึง เขาก้าวหน้าไปไกลแล้ว

พวกนิกส์ที่เป็น ๔ เสือนั้น เขาไม่เอาแล้วกับ throw-away industries คือพวกอุตสาหกรรมหนักประเภทที่ว่ามลภาวะสูง เขากำลังโยนมันทิ้งไป คราวนี้ประเทศไทยก็กำลังตั้งท่าจะรับระบายอุตสาหกรรมเหล่านี้มา ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะที่มีมลภาวะสูง

ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่าเราจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมประเภทไหน เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเพื่อระบายเอามลภาวะมาให้แก่ประเทศของตัวหรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา

มีนักทำนายอนาคตคนหนึ่งที่มีชื่อเสียง เขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Megatrends 2000 หนังสือนี้บอกไว้ว่าประเทศไทยนี้มีศักยภาพที่จะข้ามยุคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคข่าวสารข้อมูลได้เลย แต่ว่าประเทศไทยจะทำหรือไม่ ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็จะเสียโอกาสก็เป็นที่น่าสงสาร นี้เป็นความเห็นของนักทำนายอนาคตท่านหนึ่ง

ถ้าหากว่าประเทศไทยไม่ก้าวไปสู่ยุคข่าวสารข้อมูลที่ตัวมีศักยภาพที่จะทำได้ ไทยก็จะต้องรับ throw-away industries อันนี้เป็นเรื่องของประเทศไทยที่จะเลือกว่าเราจะเข้าอุตสาหกรรมแบบไหน

ต่อไปในแง่ที่จะเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล เราก็ได้รับกับเขาด้วย เพราะในปัจจุบันนี้การสื่อสารรวดเร็วเหลือเกินและข่าวสารข้อมูลนั้นก็หมุนเวียนมากมาย หลั่งไหลท่วมท้น จนกระทั่งรับกันแทบไม่ทัน

ทีนี้ก็มีปัญหาว่าในการที่จะเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลนั้น คนมีความพร้อมไหม มีคุณสมบัติในการที่จะรับข่าวสารข้อมูลไหม

การรับข่าวสารข้อมูลนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน การรับและการกลั่นกรอง ตลอดจนการที่จะนำเอาข่าวสารข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์โดยสร้างความรู้ใหม่ พร้อมทั้งมีความสามารถในการสื่อสารที่ว่านี้ มีความหมายรวมถึงความรับผิดชอบในการสื่อสารเป็นต้นด้วย ในเรื่องนี้ข้อพิจารณาที่สำคัญก็คือคนของเรามีความพร้อมไหม ตลอดจนในเรื่องของการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ในการสื่อสารซึ่งจะต้องดูว่าเรายังเป็นประเทศที่ต้องคอยรับอุปกรณ์ที่ผลิตจากประเทศอื่น มากกว่าที่จะผลิตด้วยตนเองใช่หรือเปล่า เราต้องอาศัยทีวี เครื่องโทรศัพท์ ระบบต่างๆ จนกระทั่งมาถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มาจากนอก

สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่มีเลยที่เราจะผลิตเอง ทั้งๆ ที่ว่าเดี๋ยวนี้คนไทยก็มีความสามารถ ถึงขั้นที่เริ่มผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ได้แล้ว แต่น่าพิจารณาว่าการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควรหรือเปล่า

อย่างคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาในเมืองไทยนี้ ภาษีเท่าที่ทราบประมาณ ๓๗% ต่างกันไกลกับสิงคโปร์ที่คอมพิวเตอร์เข้าประเทศไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะเขาเก็บภาษี ๐% ทางด้านประเทศมาเลเซีย อาตมาจำไม่ได้อาจจะเก็บภาษีสัก ๖-๗% แต่สำหรับประเทศไทยนี้ภาษีคอมพิวเตอร์ ๓๗%

เคยมีผู้สั่งมอร์นิเตอร์คือจอภาพของคอมพิวเตอร์เข้ามาไม่นานนี้ถูกเก็บภาษีเป็นสิ่งบันเทิง จอภาพของคอมพิวเตอร์เขามองเห็นเป็นจอทีวี แล้วเขาเก็บภาษี ๑๒๐% ฉะนั้นคนไทยเราจะก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลได้อย่างไร

ปีที่แล้วมีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่า รัฐบาลจะจัดเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าอยู่ในสินค้าประเภทส่งเสริมอุตสาหกรรม ปีที่แล้วรัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยวิธีลดภาษีอุปกรณ์อุตสาหกรรมที่ส่งเข้ามา จาก ๓๐% เหลือ ๕% ก็แสดงว่ารัฐบาลต้องการให้ประเทศเป็นสังคมอุตสาหกรรมแล้วกระมัง ก็เลยส่งเสริมเรื่องอุปกรณ์อุตสาหกรรมเข้าประเทศโดยลดภาษีจาก ๓๐% เหลือ ๕%

ถ้าจัดคอมพิวเตอร์เข้าเป็นอุปกรณ์อุตสาหกรรมด้วยก็จะลดภาษีลง ซึ่งจะเหลือราว ๕% แต่ต่อมาปรากฏว่ารัฐบาลไม่จัดอย่างนั้นคอมพิวเตอร์ก็ถูกเก็บภาษี ๓๗% ต่อไป1

ถ้าเราอยากจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญอย่างดี คอมพิวเตอร์ก็จะเป็นตัวหนุนอุตสาหกรรมได้อย่างดีทีเดียว จึงเป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล นี่อาตมาไม่ได้มาพูดติเตียน แต่มาพูดถึงเหตุการณ์ความเป็นไปว่าประเทศเราจะเอาอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ เราจะก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลหรือไม่ หรือจะเอาอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ จะพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปไหน ไปๆ มาๆ ก็ชักจะพูดกว้างออกไปทุกที

ศักยภาพที่รอการพัฒนา

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องข่าวสารข้อมูล กล่าวคือ ในสังคมที่มีข่าวสารข้อมูลมากนั้น จะต้องเน้นลักษณะที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. ประชาชนจะต้องมีความสามารถในการรับข่าวสารข้อมูล

๒. ผู้นำเสนอหรือถ่ายทอดข้อมูลจะต้องมีความรับผิดชอบ

เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาว่า สังคมของเราเป็นอย่างไรบ้างในเรื่องเหล่านี้

อาตมาขอยกตัวอย่าง เมื่อวานนี้เอง ก็มีหนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องหนึ่ง2 ซึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับพระศาสนา อาตมาจะยกมาพูดให้ฟัง หนังสือพิมพ์ฉบับนั้น พาดหัวตัวโตว่า “ชาวบ้านเฮจับพระสึก” อ่านข่าวก็ได้ความว่า

“อื้อฉาวอีกวงการพระ เจ้าอาวาสตกเป็นผู้ต้องหาข่มขืนเด็กวัย ๑๓ ปี ออกอุบายว่ากำลังมีเคราะห์ต้องไปเก็บดอกไม้ในที่เปลี่ยว”

และต่อมาก็บรรยายเหตุการณ์ต่อไปว่า “เด็กนั้นถูกเจ้าอาวาสปีนหน้าต่างลงไปบังคับขืนใจ” ตามข่าวบอกว่า เจ้าอาวาส เจ้าอาวาสๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก บอกแม้กระทั่งชื่อวัดว่า เจ้าอาวาสวัดบางขนอน

แต่เมื่ออ่านจบข่าว แล้วเราใช้การพิจารณาก็ปรากฏว่า ผู้ที่ทำการนี้ไม่ใช่เป็นพระ ไม่ใช่เป็นเจ้าอาวาส ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือไม่ใช่เป็นเจ้าอาวาสก็ขั้นหนึ่งแล้ว แล้วก็ไม่ได้เป็นพระด้วย

อ่านเสร็จแล้วก็ประมวลได้ความว่า มีคนหนึ่งซึ่งแต่งตัวเป็นพระ ไปที่หมู่บ้านนั้น แล้วก็อ้างว่าเจ้าคณะอำเภอให้มาพัฒนาวัดๆ หนึ่งในถิ่นนั้น ซึ่งไม่มีพระอยู่เลย ชาวบ้านก็เลยดีใจว่าจะมีพระมา จะได้มีวัด ชาวบ้านก็เป็นธรรมดาอยากจะมีวัด จะได้เป็นที่ทำบุญ แล้วก็ช่วยกันพัฒนาวัดนั้น และนิมนต์ให้คนนี้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ต่อมาจึงมีเรื่องเลวร้ายนี้เกิดขึ้น อย่างที่ว่าข้างต้น และได้มีการตรวจสอบหนังสือสุทธิ ปรากฏว่าเป็นหนังสือสุทธิปลอม เรื่องก็เป็นอย่างนี้

ในที่นี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า

๑. คนไม่น้อยจะอ่านแต่พาดหัวข่าว บางคนก็อ่านคำบรรยายข่าวเฉพาะตอนต้น แล้วก็ถือไปตามนั้น มีใครสักกี่คนที่อ่านข่าวไปจนจบ

๒. มีใครกี่คนอ่านแล้วจะเข้าใจดีว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การกระทำของพระ

การลงข่าววิธีนี้กลายเป็นว่า เอาเจ้าทุกข์เป็นจำเลย คือในกรณีนี้ ที่จริงพระศาสนาควรจะเป็นตัวเจ้าทุกข์ แต่การลงข่าวแบบนี้กลายเป็นเอาตัวเจ้าทุกข์คือพระศาสนานั้นเป็นผู้ร้ายไป คือแทนที่ว่าพระศาสนานี่จะเป็นเจ้าทุกข์ กล่าวคือถูกคนที่ปลอมตัวเป็นพระเข้ามาทำร้ายพระศาสนา แต่กลับเป็นว่าพระศาสนากลายเป็นผู้ร้ายไป นี้เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง

เวลานี้พระศาสนาของเราโดนข่าวอื้อฉาวต่างๆ ย่ำแย่พอแล้ว โดนแบบนี้เข้าอีก ก็ช้ำมาก ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวสารข้อมูล

ไม่เฉพาะแต่หนังสือพิมพ์ที่ยกตัวอย่างมานี้เท่านั้น หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ที่ลงข่าวให้ตื่นเต้นกันแบบนี้ก็มี ในเวลาเดียวกัน เรื่องที่ลงที่เป็นจริงก็มาก และเรื่องที่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้ลงเป็นข่าวก็มี

อย่างไรก็ตาม รวมความแล้ว ในสถานการณ์อย่างนี้สื่อมวลชนควรระมัดระวังที่จะลงข่าวด้วยความรับผิดชอบให้มากเพื่อช่วยกันฟื้นฟู หรืออย่างน้อยไม่ซ้ำเติมสังคมให้ตกต่ำลงไปอีก

ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์เดียวกันนั้น วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๓ ลงข่าวว่า “แหกผ้าเหลืองฆ่าโหด” แต่พออ่านข่าวก็ปรากฏว่าคนนั้นไม่ได้เป็นพระ

ตามปกตินั้น ถ้าแหกผ้าเหลืองก็หมายความว่า เขาเป็นพระอยู่ แล้วสึกออกไป แล้วก็ไปฆ่าคน แต่ในกรณีนี้เขาไม่ใช่เป็นพระ เพราะได้สึกออกไปนานแล้ว การที่ชาวบ้านบวชพระนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อบวชแล้วเขาก็สึกออกไปแล้วก็มีชีวิตของชาวบ้าน อยู่ต่อมาวันหนึ่งเขาก็ไปทำการร้าย แล้วเอาไปลงข่าวว่าแหกผ้าเหลือง ไปฆ่าโหด

นี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข่าวสารข้อมูล ถ้าสังคมของเราจะพัฒนาไปสู่ยุคข่าวสารข้อมูลที่ดี จะต้องมีความรับผิดชอบกันในเรื่องการนำเสนอข่าวสารข้อมูลให้มากขึ้น และประชาชนก็ต้องมีความสามารถในการรับข่าวสารข้อมูล รวมทั้งการเลือกข่าวสารข้อมูล เช่นทำอย่างไรจะรู้จักเลือกดูรายการ คือ ดูรายการทีวีอย่างที่เรียกว่าดูเป็น

ทำอย่างไรคนจะรู้จักเลือกดูทีวี คือ ดูรายการที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้ได้ความรู้ ได้สาระ ที่จะนำมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาชุมชนของตน ไม่ใช่ว่าจะดูแต่รายการบันเทิงสนุกสนาน หรือมองที่จะเอาไปเล่นการพนันกันท่าเดียว อะไรทำนองนี้ ซึ่งจะไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนา แม้จะมีข่าวสารข้อมูลมากมาย แต่ก็นำไปสู่ความเสื่อมโทรม นำไปสู่ความมัวเมา แทนที่จะนำไปสู่ความเจริญ

ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ สังคมของเราก็พัฒนาได้ยาก เพราะว่าข่าวสารข้อมูลนี้ เป็นฐานสำคัญของความเจริญในยุคต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทที่ ๒ สำรวจกำไรของชีวิตบทที่ ๔ วันเวลาที่เป็นทางมาของกำไร >>

เชิงอรรถ

  1. รัฐบาลไทยเพิ่งจะประกาศลดภาษีคอมพิวเตอร์ จาก ๓๗% ลงเหลือประมาณ ๕% เมื่อกลางปี ๒๕๓๔ นี้เอง (ประกาศ ณ วันที่ ๙ กรกฎาคม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๔)
  2. ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๔

No Comments

Comments are closed.