บทที่ ๕ ดำเนินชีวิตดีมีแต่กำไร

4 มกราคม 2534
เป็นตอนที่ 6 จาก 7 ตอนของ

บทที่ ๕
ดำเนินชีวิตดีมีแต่กำไร

จากการใช้เวลาเป็น ขยายสู่ระบบแห่งการดำเนินชีวิตเป็น

การดำเนินชีวิตของคนเรานั้น ในความหมายหนึ่งก็คือ การบริโภค การเสพ หรือใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ การใช้เวลาเป็นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการรู้จักบริโภค ซึ่งเป็นความหมายอย่างหนึ่งของการดำเนินชีวิตเป็น

คนเราที่จะเป็นอยู่อย่างดีนั้นจะต้องดำเนินชีวิตเป็น คือรู้จักดำเนินชีวิตนั่นเอง ถ้าใครรู้จักดำเนินชีวิต ชีวิตนั้นก็เป็นชีวิตที่ดีงาม เป็นชีวิตที่พัฒนาเจริญก้าวหน้า ประสบประโยชน์สุข แต่ถ้าดำเนินชีวิตไม่เป็น ก็มีแต่ขาดทุนและประสบต่อความทุกข์ และความเสื่อม ฉะนั้นจะต้องรู้จักดำเนินชีวิต หรือดำเนินชีวิตเป็น

ในบรรดากิจกรรมทั้งหลายของการดำเนินชีวิตเป็นนั้น อันหนึ่งก็คือ การใช้เวลาเป็น การดำเนินชีวิตเป็นนี้ เป็นหลักที่สำคัญ ก็เลยจะขอพูดถึงเรื่องการดำเนินชีวิตเป็นเสียด้วย เพื่อให้เห็นองค์รวม เพราะในยุคนี้เราถนัดเรื่องความคิดเกี่ยวกับองค์รวม การใช้เวลาเป็นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง หรือเสี้ยวหนึ่งของการดำเนินชีวิตเป็น ถ้าเราจะทำให้ได้ประโยชน์ครบถ้วนจะต้องมองเห็นองค์รวมของการดำเนินชีวิตเป็นนั้น

องค์รวมที่เรียกว่าดำเนินชีวิตเป็นนั้น คืออะไร

การดำเนินชีวิตของคนเราคืออะไร มีคำพูดมาแต่เก่าก่อนว่า ชีวิตคือการต่อสู้ หมายความว่า การที่เราดำรงชีวิตอยู่นี้ เราต้องประสบปัญหา ประสบสิ่งบีบคั้นต่างๆ เราจะต้องต่อสู้ดิ้นรน ซึ่งพูดสั้นๆ เป็นภาษาวิชาการ ก็คือการแก้ปัญหา ที่พูดว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ก็เท่ากับพูดว่าชีวิตคือการแก้ปัญหา คนใดที่แก้ปัญหาเก่ง แก้ปัญหาเป็น คนนั้นก็จะดำเนินชีวิตได้ดี จะต่อสู้ได้ชนะ

เป็นอันว่าในแง่ที่หนึ่ง ที่พูดว่าชีวิตคือการต่อสู้ เมื่อพูดให้เข้าหลัก ก็คือชีวิตคือการแก้ปัญหา ฉะนั้น เราจะต้องรู้จักแก้ปัญหา หรือแก้ปัญหาเป็น ในแง่นี้การดำเนินชีวิตเป็น ก็คือการแก้ปัญหาเป็น ถ้าคนแก้ปัญหาเป็น ก็ประสบความเจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ

“คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น” ยังไม่พอต้องสื่อสารเป็นด้วย

ข้อต่อไปก็คือ ความหมายของการดำเนินชีวิตในแง่ที่ ๒ การดำเนินชีวิตของเราในแต่ละวันนี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ คืออย่างไร

มองในแง่หนึ่ง ชีวิตของเราแต่ละวันนี้ก็คือการทำสิ่งต่างๆ ที่ภาษาพระท่านเรียกว่า การทำกรรม ชีวิตของเรานี้ตลอดเวลาคือการทำกรรม ลองพิจารณาดูว่าใช่หรือเปล่า

กรรมคืออะไร คือการทำ พูด คิด ไม่คิดก็พูด ไม่พูดก็ทำทางกาย ถ้าไม่ทำออกมาทางกาย ก็พูดทางวาจา หรือไม่ก็คิดอยู่ในใจ วันเวลาของเราทั้งหมดนี้ แต่ละวันเป็นเรื่องของการทำ พูด คิด หรือคิด พูด และทำ ใช่หรือเปล่า

เป็นอันว่า การดำเนินชีวิตของเรานี้ ในความหมายอย่างหนึ่งก็คือ การทำกรรม ได้แก่การทำ พูด คิด ทีนี้คนเราที่จะดำเนินชีวิตได้ดี อย่างที่เรียกว่าดำเนินชีวิตเป็น ประสบความสำเร็จก้าวหน้านั้น ลักษณะหนึ่งก็คือ การต้องทำกรรม ๓ อย่างนี้ให้เป็น ทำให้ดี ทำให้ถูกต้องแล้ว จึงจะเป็นชีวิตที่ดี

เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตเป็น จึงหมายถึงการรู้จักทำ รู้จักพูด รู้จักคิด หรือทำเป็น พูดเป็น คิดเป็น ๓ อย่างนี้แหละ ถ้าใครทำได้ชีวิตจะเจริญงอกงาม เมื่อคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็นแล้ว ก็มีชีวิตที่ดีงามสุขสบาย

สมัยปัจจุบันนี้วงการการศึกษาเน้นกันมาก ในเรื่องการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นใช่ไหม เมื่อเทียบกับที่พูดมาแล้วข้างต้นทั้ง ๒ ด้าน ก็เกือบจะตรงกันทีเดียว แต่ยังไม่ครบถ้วน คือ ขาด “พูดเป็น”

การศึกษาที่บอกว่าคิดเป็นทำเป็นแก้ปัญหาเป็นนั้นไม่พอ เพราะอะไร ยุคนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล พูดเป็นสำคัญมาก พูดเป็น ถ้าใช้ภาษาวิชาการ ก็คือสื่อสารเป็น ในยุคข่าวสารข้อมูล ถ้าสื่อสารไม่เป็นก็ลำบาก ฉะนั้น การศึกษาที่ดีจะต้องเพิ่มพูดเป็นหรือสื่อสารเป็นเข้าไปด้วย

ตั้งแต่โบราณ ไทยเรานี้ให้ความสำคัญแก่การพูดเป็นมานานแล้วว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ท่านเน้นความสำคัญของการพูดเป็นว่าปากเป็นเอกเลยนะ การศึกษาปัจจุบันบอกว่า คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เดี๋ยวนี้เขาเอากันแค่นี้เท่านั้น ลืมอย่างหนึ่งไปไม่ครบกรรม ๓ คือขาดพูดเป็น หรือสื่อสารเป็น

พูดเป็นนี้สำคัญมาก แม้มีความรู้ แต่ถ้าถ่ายทอดไม่ได้ หรือมีความต้องการอะไรแต่พูดให้เขาเข้าใจไม่ได้ ก็เรียกว่าสื่อสารไม่เป็น จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมให้ดีได้ยาก

ยิ่งในยุคปัจจุบันนี้การสื่อสารก้าวหน้าไปมาก เช่น มีการโฆษณา และชักจูงคนอื่น ทำให้มวลชนเห็นคล้อยไปตาม ก่อผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง การพูดเป็น รวมทั้งการรู้เท่าทันและรู้จักเลือกสรรข่าวสารข้อมูล จึงเป็นเรื่องสำคัญเหลือเกิน

เป็นอันว่า การดำเนินชีวิตเป็นในแง่ที่ ๒ ก็คือ การที่สามารถคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น

ดูเป็น ฟังเป็น คือจุดเริ่มของการศึกษา

ต่อไปมองอีกด้านหนึ่ง ชีวิตคืออะไร ตอนต้นได้บอกว่าชีวิตคือการต่อสู้ ซึ่งเป็นการมองในแง่การแก้ปัญหา นั่นก็ถูก ต่อมามองในแง่ของการทำกรรม ๓ อย่างก็ถูกเหมือนกัน แต่มองอีกอย่างหนึ่ง ชีวิตคืออะไร

ชีวิตของเราแต่ละวันนี้มองในแง่หนึ่ง ก็คือ การรับรู้ประสบการณ์ทางอินทรีย์หรือประสาทสัมผัสต่างๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ รับรู้ตลอดวันใช่ไหม ชีวิตของเราในแต่ละวัน ก็คือการได้เห็น ได้ฟัง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รับสัมผัสและรู้สึกนึกคิดต่างๆ วันๆ หนึ่ง เต็มไปด้วยการรับประสบการณ์ทั้งนั้นเลย ใช่หรือเปล่า

ฉะนั้นชีวิตของคนมองอีกด้านหนึ่งไม่มีอะไรเลย เป็นการรับประสบการณ์เท่านั้น คือ ใช้ตา ใช้หู ใช้จมูก ลิ้น กาย ใจ วันๆ ชีวิตของเราอยู่กับสิ่งเหล่านี้

มนุษย์ที่ใช้อินทรีย์เหล่านี้ไม่เป็น เรียกว่าดำเนินชีวิตไม่เป็น การศึกษามองข้ามอันนี้ไป เอาแต่คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น แต่ไม่เอาการรับรู้ประสบการณ์เป็นเข้ามาด้วย

การรับรู้ประสบการณ์เป็นนี้สำคัญมาก คือจะต้องใช้ตาเป็น ใช้หูเป็น เป็นต้น ใช้ตาเป็นคือดูเป็น ใช้หูเป็นคือฟังเป็น อย่างนี้เป็นต้น

ดูเป็น ฟังเป็นนี้สำคัญมาก เพราะการศึกษาเริ่มต้นจากการรับรู้ก่อน แล้วจึงจะออกมาถึงทำเป็น แก้ปัญหาเป็น คือต้องรับรู้ก่อน ถ้ารับรู้ประสบการณ์ไม่เป็นก็จะไม่ได้ความรู้ ไม่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

ทางพระท่านบอกว่า ไม่ให้รับรู้ด้วยความยินดียินร้าย แต่ให้รับรู้ด้วยสติปัญญา ทั้งนี้เพื่อผลดีแก่ชีวิต คือ

๑. เพื่อจะได้ข้อมูลที่เป็นความรู้ ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ถูกล่อหลอกให้เขวออกไปโดยความรู้สึกที่เกิดขึ้น

๒. เพื่อให้ข้อมูลนั้นถูกรับรู้เข้ามาอย่างเที่ยงตรง บริสุทธิ์ เป็นธรรม ไม่ผิดพลาด ไม่ลำเอียง

การศึกษาไม่ได้พิจารณาเรื่องการรับรู้ประสบการณ์ จึงมองข้ามเรื่องนี้ไปเสีย และปล่อยปละละเลย เมื่อรับรู้ไม่เป็น พอรับประสบการณ์เข้ามา การรับรู้ก็กลายเป็นการชอบหรือชังเลยไม่ได้ความรู้ พอเห็นหรือได้ยินปั๊บ ก็มีแต่ความชอบหรือชังเท่านั้น แล้วก็ปรุงแต่งไปตามความชอบหรือชังนั้น มีเพียงความรู้สึกแต่ไม่ได้ความรู้

ฉะนั้น การที่จะรับรู้เป็นจะต้องใช้ตาเป็น ใช้หูเป็น คือต้องดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้น ซึ่งการศึกษาควรจะเน้น เช่น สังเกตว่า เมื่อเด็กดูโทรทัศน์แกรู้จักเลือกดูรายการไหม ดูรายการนั้นแล้วดูเป็นไหม จับเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือได้สิ่งที่เป็นโทษมา เมื่อฟังอะไร ฟังเป็นไหม เลือกฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือเปล่า ในรายการเดียวกันนั้น ฟังแล้วจับเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือได้สิ่งที่เป็นโทษ รู้จักสำเหนียกหรือเปล่า อันนี้เป็นการศึกษาขั้นเริ่มต้นที่สุด เพราะว่าการรับรู้ประสบการณ์เป็นสิ่งที่มาก่อนกิจกรรมอย่างอื่นของชีวิต

เป็นอันว่าชีวิตของเรานี้ ในแง่หนึ่งก็คือการรับรู้ประสบการณ์ทางอายตนะ หรืออินทรีย์ทั้งหลาย หรือทางประสาทสัมผัสต่างๆ ฉะนั้นการฝึกฝนพัฒนาคนขั้นแรกก็คือ จะต้องให้รับรู้เป็น เมื่อรับรู้เป็น เช่นดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้นแล้ว ก็เท่ากับว่าดำเนินชีวิตเป็นในขั้นเริ่มแรกที่สำคัญที่สุด

แต่แค่นี้ก็ยังไม่พอ ชีวิตคืออะไร ตอบได้หลายอย่าง ตอบว่าชีวิตคือการต่อสู้ก็ได้แง่หนึ่ง ว่าคือการทำกรรมก็ได้แง่หนึ่ง ว่าคือการรับรู้ประสบการณ์ก็ได้แง่หนึ่ง ยังไม่จบแค่นั้น

การดำเนินชีวิตเป็น จะไม่สมบูรณ์
ถ้าขาดเสพเป็น และเสวนาเป็น

ชีวิตคืออะไร วันหนึ่งๆ เราทำอะไรบ้าง ชีวิตของเราอีกอย่างหนึ่ง คำตอบที่สำคัญ คือ การเข้าไปเอาประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย

เราเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย เราเข้าไปเกี่ยวข้องไปโน่นไปนี่ ก็เพื่อไปเอาประโยชน์ให้แก่ชีวิตใช่หรือไม่ คือเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายเพื่อบริโภคมัน ใช้มัน กินมัน เสพมัน ภาษาพระท่านเรียกว่า เสวะ แปลว่า เสพ คือเอามันมาเป็นประโยชน์แก่เรา

ฉะนั้นการดำเนินชีวิตของเราแต่ละวันก็คือ การเข้าไปเอาประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย

แม้แต่การสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ว่าโดยพื้นฐาน ก็คือการไปเอาประโยชน์จากเขา ดังที่เรียกว่าเสวนา เสวนา คือการคบหา หรือการคบคนนี้ เพื่ออะไร ก็เพื่อเอาประโยชน์ให้แก่ชีวิตของเราใช่หรือเปล่า

การเอาประโยชน์จากปัจจัยสี่ เอาประโยชน์จากอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ อุปโภค บริโภค เราเรียกว่าโภคะ ซึ่งแปลว่า บริโภค หรือกิน คือการเอามาใช้ประโยชน์ให้แก่ตัวเรา ซึ่งรวมไปถึงการเสวนา คือการเสพคน หรือคบหาคนด้วย

จะเห็นว่าการดำเนินชีวิตของเราคือ การเสพ การบริโภค การใช้สอย และการคบหานี้เป็นเนื้อหาสาระเป็นความหมายสำคัญ หรือเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของการดำเนินชีวิตของเรา

คนเรานี้จะเรียกว่าดำเนินชีวิตเป็นก็ต้องบริโภคเป็น กินเป็น ใช้เป็น เสวนาเป็น ถ้าไปเกี่ยวข้องกับคน ก็ต้องเสวนาคือคบหาเป็น เสวนาแล้วให้ได้ประโยชน์แก่ชีวิตในทางสังคม ถ้าไปเสวนากับวัตถุ ก็คือ ไปบริโภควัตถุ ใช้ประโยชน์จากวัตถุให้ถูกต้อง ตลอดจนรู้จักประหยัด นี้เป็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต

ตกลงว่าด้านที่ ๔ ความหมายของชีวิตก็คือ การบริโภค หรือเสพ คือกินใช้ และคบหา ในแง่นี้ก็ได้ความว่าการดำเนินชีวิตเป็น ก็คือการบริโภคเป็น หรือใช้เป็น เสวนาเป็น ซึ่งเป็นการถือเอาประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย หรือจากสภาพแวดล้อมทุกอย่างได้อย่างถูกต้อง นับเป็นความหมายที่ ๔

ถึงตอนนี้ก็วกกลับเข้ามาหาเรื่องที่พูดค้างไว้ คือในบรรดาการใช้คือบริโภคหรือเสพ ซึ่งอยู่ในการดำเนินชีวิตด้านที่ ๔ นั้น ส่วนหนึ่งก็คือ การใช้เวลาเป็น อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ในเรื่องนี้ก็ต้องรู้จักใช้เวลา ใช้เวลาให้เป็น

ชีวิตของเราเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร เราก็ใช้ประโยชน์จากมัน เราเอามันมาใช้ประโยชน์ เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์ ให้มันเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าไปใช้มันแล้วกลายเป็นโทษแก่ตัวเอง เพราะไปจับแง่ผิดหรือไปติด ไปมัวเมาเสีย แทนที่จะได้ประโยชน์กลับได้โทษ นี้ก็เป็นความหมายของการดำเนินชีวิตเป็น

‘เป็น’ คือพอดี ในมัชฌิมาปฏิปทา

ตกลงว่านี้ก็คือองค์รวมของการดำเนินชีวิต ถ้าทำได้หมดทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว เรียกว่าดำเนินชีวิตเป็น เป็นชีวิตที่เจริญงอกงามอย่างแน่นอน

ด้านที่ ๑ ก็คือ แก้ปัญหาเป็น

ด้านที่ ๒ คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น

ด้านที่ ๓ รับรู้ประสบการณ์เป็น ดูเป็น ฟังเป็น ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายเป็น

ด้านที่ ๔ กิน ใช้ บริโภค เสพ คบหาเป็น

ที่พูดมาในตอนนี้ทั้งหมดนี่แหละคือเรื่องทั้งหมด ที่การศึกษาจะต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งแยกเป็น ๔ ด้าน ดังที่บรรยายมาแล้ว

การศึกษาจะต้องให้ครบ คือต้องช่วยให้คนฝึกฝนพัฒนาตนให้ดำเนินชีวิตเป็น ครบทั้ง ๔ ด้าน ฉะนั้นการที่จะดำเนินชีวิตเป็นก็ต้องเป็นหลายอย่าง ต้องเป็นทุกอย่าง ไม่ใช่แค่คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นเท่านั้น ซึ่งยังไม่พอ เดี๋ยวนี้เราเน้นกันมากในเรื่อง “เป็น” นี้ แต่ยังไม่ครบ

ตกลงก็จะต้องพูดว่าดำเนินชีวิตเป็น แต่ที่ว่า “เป็น” นั้น คืออย่างไร “เป็น” ก็คือให้ได้ผล หมายความว่าให้ได้ผลสมตามวัตถุประสงค์ ให้ได้คุณสมบัติที่เป็นจริง ให้พอดีให้เหมาะเจาะ ที่จะได้ผลที่ต้องการ การที่จะให้ได้ผลตรงตามต้องการก็ต้องทำให้พอดี เพราะที่ว่าเป็น ก็หมายถึงว่าให้คุณภาพไม่เสีย ไม่ขาดไม่เกิน ก็คือต้องให้พอดี

ใครคิดในเรื่องนั้นๆ ได้พอดี ตรงเรื่อง ตรงเป้า ได้เหตุปัจจัย หรือองค์ประกอบในเรื่องนั้นพร้อมบริบูรณ์ จึงจะให้เกิดผลตามที่ต้องการ นี่แหละเรียกว่าพอดี เราจะทำอะไรก็จะต้องทำให้พอดี ทำเหตุปัจจัยให้ครบถ้วนพอดี แล้วผลจึงจะเกิดตามที่ต้องการ

ตัวอย่างเช่น เป็นแพทย์ เป็นพยาบาล จะทำการรักษาดูแลคนไข้ก็ต้องทำทุกอย่างให้พอดี แล้วผลดีที่ต้องการรักษาทั้งต่อคนไข้ ต่อแพทย์ และพยาบาล และต่อกิจการส่วนรวม จึงจะเกิดขึ้น

ฉะนั้น คำว่า “เป็น” จึงมาตรงกับคำว่า พอดี พอดีก็คือคำว่า มัชฌิมา มัชฌิมาก็คือสายกลาง ที่เราพบกันอยู่เสมอในคำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่แปลว่าทางสายกลาง ตกลงว่านี้คือธรรมในพระพุทธศาสนานั่นเอง

ที่ว่าดำเนินชีวิต “เป็น” นั้น เราลองมามองดูตามหลักธรรม ดำเนินชีวิตคืออะไร ก็คือ มรรค “เป็น” คืออะไร ก็คือพอดี พอดีก็คือ มัชฌิมา มรรคก็คำเดียวกันกับปฏิปทา ตกลงว่าดำเนินชีวิตเป็นก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา

มัชฌิมาปฏิปทา ก็คือทางสายกลาง ทางสายกลาง ก็คือทางที่พอดี ทางอะไร ก็คือทางดำเนินชีวิต ทางดำเนินชีวิตที่พอดี พอดีที่จะให้เกิดประโยชน์ที่ต้องการที่บรรลุจุดหมาย

ตกลงว่าไปๆ มาๆ เรื่องการดำเนินชีวิตเป็น ก็คือ เรื่องมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง และในมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง คือทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม ถูกต้องพอดีนี้ ส่วนหนึ่งก็คือการใช้เวลาเป็นนี้แหละ

วันนี้อาตมามาพูดเน้นในเรื่องการใช้เวลา เพราะถ้าเราใช้เวลาเป็นในแต่ละขณะแต่ละวันแล้ว เราจะได้กำไร ชีวิตก็จะเจริญก้าวหน้า เมื่อเราเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดีแล้ว ท่านบอกว่าพรก็จะเกิดขึ้นเอง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทที่ ๔ วันเวลาที่เป็นทางมาของกำไรบทที่ ๖ พรที่สัมฤทธิ์แก่ผู้ดำเนินชีวิตที่ดี >>

No Comments

Comments are closed.