หลักการใหญ่: ปฏิบัติการด้วยเจตนาดีที่สุด บนฐานแห่งปัญญาที่รู้ถ่องแท้ที่สุด

21 กรกฎาคม 2541
เป็นตอนที่ 6 จาก 6 ตอนของ

หลักการใหญ่: ปฏิบัติการด้วยเจตนาดีที่สุด
บนฐานแห่งปัญญาที่รู้ถ่องแท้ที่สุด

ในโลกที่เจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นนี้ จะมีปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนแปลกๆ มากขึ้นด้วย ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จในการที่จะแก้ปัญหา จะมีให้ก็เฉพาะตัวหลักการ ซึ่งมนุษย์จะต้องรู้จักใช้ปัญญานำไปปรับเข้ากับเรื่องในแต่ละกรณี

ในขณะที่มนุษย์สมัยโบราณ อาจจะอยู่ง่ายๆ ด้วยสูตรสำเร็จ ที่ยึดถือปฏิบัติไปตามความเชื่อหรือศรัทธา แต่ในยุคปัจจุบัน ที่สูตรสำเร็จไม่เพียงพอ มนุษย์จะต้องอยู่ด้วยหลักการ ที่ปฏิบัติโดยใช้ปัญญา และข้อสำคัญประการแรกก็คือ ต้องมีหลักการที่เป็นหลักได้จริงๆ

ที่ว่า เราต้องอยู่ด้วยหลักการ แล้วเอาหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้ เพราะไม่มีสูตรสำเร็จนั้น ได้บอกแล้วว่ามีหลัก ๒ อย่าง ที่ต้องคำนึง คือ

๑. ความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างไร

๒. มนุษย์จะเอาอย่างไร

ความจริงของธรรมชาติ กับความต้องการของมนุษย์ จะต้องมาโยงกันว่า เมื่อความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ และเมื่อรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้แล้ว มนุษย์จะเอาอย่างไร หรือจะปฏิบัติอย่างไร

การรู้ความจริงนั้นเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของมนุษย์ที่สำคัญมาก เป็นคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษคือ ปัญญา มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีภูมิปัญญา และปัญญานี้ก็พัฒนาได้ จนกระทั่งถึงที่สุดเป็นโพธิ คือความตรัสรู้ ซึ่งเป็นการเข้าถึงความจริงแท้

ข้อสองคือการตัดสินใจของมนุษย์ว่าจะเอาอย่างไร เรียกว่า เจตนา

สองอย่างนี้เป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาตัดสินและปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ แต่ในเมื่อคนทั่วไปหาได้รู้ความจริงของธรรมชาติอย่างถ่องแท้ไม่ เราจึงต้องมีข้อเตือนใจในการปฏิบัติ ๒ ประการคือ

๑. ในขณะที่ตัวเองยังไม่เข้าถึงความจริง มนุษย์จะต้องใช้ปัญญาให้มากที่สุด หาความรู้ในความจริงให้ดีที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจ ให้การตัดสินใจหรือเจตนาที่จะเอาอย่างไรนั้นเกิดจาก ความรู้อย่างถ่องแท้มากที่สุด พูดง่ายๆ ว่าปัญญาที่ดีที่สุดในขณะนั้น

๒. มีความไม่ประมาท ที่จะพัฒนาปัญญานั้นต่อไป

เมื่อถึงขั้นนี้ เราก็เอาเกณฑ์สองอย่างนี้มาใช้ตัดสินว่า ในการกระทำแต่ละอย่างนั้น เราได้ทำไปโดย

  1. มีปัญญารู้ความจริงโดยศึกษาอย่างละเอียดลออถี่ถ้วนที่สุด พิจารณาค้นคว้า ปรึกษาหารือกัน รอบคอบที่สุดแล้วหรือยัง
  2. ตัดสินด้วยเจตนาดีที่สุดแค่ไหน เจตนาดีที่สุดในกรณีนี้ ก็คือเจตนาที่ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มีความปรารถนาดีต่อผู้ป่วย

เราตัดสินใจด้วยความปรารถนาดีต่อผู้ป่วย แต่ก็ต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย ให้สองอย่างนี้มาประกอบกัน ในแต่ละกรณีนั้นๆ เราก็อาจจะพูดยุติได้ว่า ถ้าทำด้วยปัญญาสูงสุด และ ด้วยเจตนาดีที่สุดแล้ว เท่าไรก็เท่านั้นก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นเรื่องของมนุษย์ก็จะไม่มีทางยุติ แต่ทั้งนี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติที่เราใช้ในกรณีอย่างที่ว่า เราไม่มีสูตรสำเร็จ

แต่ก็ไม่ใช่เท่านั้น ยังต้องมีต่อไปอีกว่า เราจะต้องไม่ประมาท ในขณะนี้ ครั้งนี้ กรณีนี้ เราตัดสินใจด้วยปัญญาสูงสุด และด้วยเจตนาดีที่สุดแล้ว เราก็เผื่อไว้อีกว่า เราจะพัฒนาตัวเองต่อไป เพื่อให้การตัดสินใจครั้งต่อไปได้ผลดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ยึดไว้ตายตัวและจบเท่านี้

ปัญญาที่ว่ามานี้มีความหมายหลายอย่าง นอกจากรู้ความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับการรักษาของเราเอง เช่นเรื่องวิชาการการแพทย์ และความรู้ที่เกิดจากการเพียรแสวงหาเพิ่มเติม เช่นด้วยการปรึกษาหารือกัน ไม่ใช่จะตัดสินใจไปง่าย ๆ คนเดียว อย่างนี้เป็นต้น การที่ได้มารวมหัวกัน ระดมความคิดกัน ร่วมกันพิจารณาแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราพูดได้ว่ามีปัญญาที่ดีที่สุด และทำด้วยความรู้ความเข้าใจมากที่สุด

จากนั้นก็คือ ทำด้วยเจตนาที่ดีที่สุด มีความมุ่งหมายดี ปรารถนาดีต่อมนุษย์ที่เป็นเจ้าของชีวิตนั้น พร้อมทั้งปรารถนาดีต่อ สังคม และปรารถนาดีต่อมนุษยชาติ

เวลานี้เรื่องความปรารถนาดีก็มีความซับซ้อนที่จะต้องพิจารณากันอีก เช่นว่า เราจะรักษาชีวิตคนเจ็บนี้คนเดียวแล้ว จะต้องยอมเสียเงินอย่างมากมาย ซึ่งเกิดจากงบประมาณของ ประเทศชาติ จะก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเท่าไร เดี๋ยวนี้ ปัญหาโยงกันไปหมด

เพราะฉะนั้น ที่ว่าเจตนาดีที่สุด บางทีไม่ใช่เจตนาดีเฉพาะต่อตัวผู้ป่วยไข้คนเดียวเท่านั้น ต้องปรารถนาดีทั้งต่อชีวิตของคนที่จะตายด้วย และต่อสังคม ต่อประเทศชาติทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆ นี่แหละที่ว่าพูดได้ในแง่หลักการ แต่ไม่มีสูตรสำเร็จ

ในกรณีอย่างนี้ก็เป็นอันว่า เราได้หลักในการประสานความจริงของธรรมชาติ กับความต้องการของมนุษย์ให้พอไปกันได้

วันนี้จะพูดแต่เพียงแนวกว้างๆ อย่างนี้ก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจความหมายของหัวข้อปาฐกถาชัดเจน โดยเฉพาะตอนที่สองที่ว่าผลต่อศาสนา แต่เรื่องพินัยกรรมชีวิตก็พูดไปจากพื้นความเข้าใจเก่า ในเรื่องที่ใช้ศัพท์ใหม่ ซึ่งสำหรับตัวเองไม่ทราบว่าได้บัญญัติกันเมื่อไร แต่ว่าโดยสาระคำถามทำนองนี้มีมานานพอสมควรแล้ว เป็นปัญหาของยุคสมัยในเวลาที่วิทยาศาสตร์เจริญ แต่อย่างที่ว่าแล้วคือเจริญไม่สมดุล เพราะรู้ความจริงของธรรมชาติไม่เพียงพอ แต่สามารถสร้างสรรค์อุปกรณ์เทคโนโลยีมาจัดการกับชีวิต และจัดการกับธรรมชาติได้ก้าวไกลล้ำหน้าไปมาก

แม้จะพูดไม่ยาวก็คิดว่าอาจจะเป็นข้อคิดบางประการ หรือแทนที่จะเป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์ ก็อาจจะกลับทำให้ท่านทั้งหลายยิ่งสับสนหนักเข้าไปอีก คือยิ่งทำให้ตัดสินใจยากเข้าไป แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็น เป็นธรรมดาว่าเมื่อเราจะหาข้อยุติที่ดีที่สุด เราก็ต้องนำเอาสิ่งเกี่ยวข้องที่ควรจะพิจารณาเข้ามา

สุดท้ายนี้ขอฝากย้ำอย่างที่ว่าแล้วคือ ปัญญากับเจตนาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ปัญญาเป็นตัวเชื่อมมนุษย์ให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แล้วก็เป็นสัตว์พิเศษที่ตรงนี้ ตรงที่ว่าสามารถรู้ความจริงของธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงผลผลิตของธรรมชาติ สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นมันเกิดขึ้นมา เหมือนกับเป็นผลผลิตของธรรมชาติเท่านั้น แต่มนุษย์มีความสามารถพิเศษที่กลับไปรู้ต้นตอของตัวเอง คือรู้ธรรมชาตินั้นได้ นี้คือตัวปัญญา

ปัญญาเชื่อมมนุษย์เข้ากับความจริงของธรรมชาติ และเมื่อมนุษย์มีปัญญา รู้ความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็จะช่วยให้เจตนาในการเลือกตัดสินใจของมนุษย์นั้นทำได้ดีที่สุดด้วย เพราะฉะนั้นจึงขอให้เรามีเจตนาที่เกิดจากพื้นฐานของปัญญาที่ดีที่สุด พร้อมทั้งมีความไม่ประมาทที่จะพัฒนาปัญญานั้นต่อไปจนกว่าจะเป็นปัญญาที่สมบูรณ์

ขออภัยที่วันนี้ไม่ได้ช่วยให้ความแจ่มแจ้งแก่ที่ประชุมมาก แต่ขอฝากไว้เป็นข้อคิดพิจารณาเพียงเท่านี้ก่อน ขออนุโมทนาต่อทุกท่านในที่ประชุมนี้ และขอให้ความตั้งใจดีนี้ ดำเนินไปสู่ประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ชีวิตและสังคม เพราะว่าท่านที่ตั้งเรื่องนี้ขึ้นมา แน่นอนว่ามีกุศลเจตนาปรารถนาดีต่อชีวิตและเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะต่อท่านผู้สูงอายุ เมื่อเจตนาดีเริ่มแล้ว ก็เป็นมงคล นับว่า เป็นจุดเริ่มที่ดี ก็ขอให้เราก้าวหน้าไปทั้งในเจตนาดีที่เรามี และก้าวหน้าไปในปัญญาที่จะมาเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจด้วยเจตนานั้นด้วย ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การรู้ความจริงของธรรมชาติ กับการตัดสินใจปฏิบัติ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์

No Comments

Comments are closed.