การรู้ความจริงของธรรมชาติ กับการตัดสินใจปฏิบัติ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์

21 กรกฎาคม 2541
เป็นตอนที่ 5 จาก 6 ตอนของ

การรู้ความจริงของธรรมชาติ
กับการตัดสินใจปฏิบัติเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์

เมื่อมีเรื่องที่จะต้องพิจารณา อย่างในกรณีนี้ เราพูดได้ว่าไม่มีสูตรสำเร็จ เมื่อไม่มีสูตรสำเร็จ เราจะทำได้เพียงนำเอาหลักการบางอย่างมาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ที่จะต้องใช้ปัญญาในการนำหลักการทั่วไปมาใช้ให้เข้ากับเรื่องเฉพาะกรณี เมื่อไม่มีสูตรสำเร็จ ปัญญาก็ต้องเข้ามา เพื่อพิจารณาที่จะทำให้ดีที่สุดในกรณีนั้น

ถ้าว่าตามทางพุทธศาสนา เราต้องแยกเรื่องเป็น ๒ ระดับ

ระดับที่ ๑ คือหลักการที่เป็นความจริงของธรรมชาติ

ระดับที่ ๒ คือการสนองความต้องการของมนุษย์ว่า เมื่อรู้ความจริงนั้น หรือมีความจริงเท่าที่รู้ แล้วมนุษย์จะเอาอย่างไร

๑. การรู้ความจริงของธรรมชาติว่าเป็นอย่างไร อย่างในกรณีนี้ก็คือรู้เรื่องชีวิตมนุษย์ เช่นว่าชีวิตมนุษย์คืออะไร เป็นอย่างไร ชีวิตสิ้นสุดเมื่อไรแน่ ถ้าเรารู้ความจริงนี้แน่นอนเด็ดขาดแล้ว การปฏิบัติที่ว่ามนุษย์จะเอาอย่างไรก็จะชัด แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า ความจริงของธรรมชาตินั้นเรายังรู้ไม่เด็ดขาด

๒. การปฏิบัติของมนุษย์ว่าจะเอาอย่างไร ในเรื่องนี้ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าข้อหนึ่งยังไม่ถึง การตัดสินในข้อที่สองก็ทำได้ยาก ปัญหาจึงมาอยู่ที่ว่า ถ้าจะต้องทำทั้งที่ยังไม่รู้ มนุษย์จะเอาไหม และจะเอาอย่างไร

เป็นอันว่า การที่จะสนองความต้องการของมนุษย์อย่างไรเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างการรู้ความจริงของธรรมชาติ กับการปฏิบัติต่อความต้องการของคน เรื่องนี้เป็นปัญหาของมนุษย์มาโดยตลอด ถ้าเป็นกรณีที่เราได้เข้าถึงความจริงแล้ว เราก็มั่นใจและสบายใจในการปฏิบัติที่ว่าจะเอาอย่างไร ทั้งนี้เราก็ต้องรู้ตัวอยู่แล้วว่า ความจริงของธรรมชาตินั้นไม่เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องแยกออกเป็นสองขั้นอย่างที่ว่าไปแล้วนั้น

ที่ว่าความจริงของธรรมชาติไม่เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์นั้น ก็รวมทั้งการที่ว่ามันจะไม่เป็นไปตามบัญญัติของมนุษย์ด้วย มนุษย์อาจจะมาตกลงบัญญัติกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าเราไม่รู้ความจริงของธรรมชาติ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลจริง และก็จะมีปัญหาต่อไป

ไม่ว่าเราจะบัญญัติอย่างไรก็ตาม ความจริงของธรรมชาติก็ไม่เป็นไปตามบัญญัติของมนุษย์นั้น จึงเป็นเรื่องที่บอกว่าต้องไม่ประมาท คนจะต้องพยายามศึกษาเพื่อให้รู้ความจริงของธรรมชาติ เมื่อรู้แล้วจะทำอย่างไร ก็เป็นขั้นปฏิบัติการที่สืบเนื่องออกไป แต่ก็ขอให้มีการประสานกันไว้ ถ้ายังทำไม่ได้อย่างถึงความจริงแท้ ก็จะได้ตามความจริงเท่าที่รู้ถึงเวลานั้น

ในกรณีของความตายนี้ก็มีเรื่องของความต้องการที่จะต้องพิจารณา เช่นอย่างความต้องการของผู้ป่วยเอง เช่นที่ว่าผู้ป่วยมีความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ก็อยากจะตาย แล้วก็อาจจะบอกคนอื่น ให้ช่วยฆ่าเขา ตามธรรมดาแม้คนที่เป็นเจ้าของชีวิตเขาต้องการจะตายแล้วให้คนอื่นฆ่าเขา โดยปกติก็ต้องยอมรับว่าคนฆ่าไม่พ้นผิด ฆ่าฉันทีซิ ถึงเราจะบอกว่าก็เขาอยากตายนี่ ฉันก็ฆ่าให้แล้วตามความต้องการเขา ฉันก็น่าจะได้บุญ แต่มันก็ยังเป็นการฆ่าอยู่นั่นแหละ นี่ก็เป็นปัญหาอีก

ในกรณีของความเจ็บป่วย บางทีคนที่จะตายไม่รู้ตัวแล้ว พอสั่งเสร็จแล้ว ตัวเองก็ไปอยู่ในภาวะไม่รู้ตัวจนกระทั่งโคม่า ทีนี้ ปัญหาก็อยู่ที่ว่า คนที่อยู่จะปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไร ซึ่งเป็นตอนสำคัญที่จะต้องพินิจพิจารณา ซึ่งแน่นอนเราย่อมหวังประโยชน์แก่คนตายนั่นแหละ

ขั้นที่หนึ่ง เราอาจจะนึกว่าเราอยากให้เขาพ้นจากทุกข์ทรมาน แต่เป็นไปได้ไหมว่าเจ้าของชีวิตเองที่ต้องการจะตายนั้นก็อาจจะสั่งโดยหลงผิด เพราะเวลาที่ทุกข์ทรมานเต็มที่นั้น ก็จะมองและเห็นไปข้างเดียว คิดแต่ว่าทำอย่างไรจะพ้นจากทุกข์ทรมานนั้นไปเสีย แต่แท้จริงนั้นที่เขาทุกข์ทรมานมาก เขาอาจจะไม่ตายก็ได้ ถ้าเราไม่ด่วนไปตัดรอนชีวิตของเขาเสียก่อน เขาอาจจะรอดก็ได้ นี่บางทีเราก็ไม่รู้ แต่นี้ก็ยังเป็นเรื่องข้างนอก

ข้างในที่ลึกกว่านั้นก็คือจิตใจของเขาเอง ในตอนที่เขาสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้นั้น เราไม่รู้ว่าในใจเขายังมีความคิดได้หรือเปล่า ทั้งในระดับที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แม้แต่ง่ายๆ อย่างในเวลาเจ็บป่วยมากๆ ญาติอาจจะนิมนต์พระไปพูดให้ฟัง ไปสวดมนต์ หรือแม้แต่ลูกหลานเองอาจสวดมนต์ให้ฟัง ก็จะมีการสงสัยกันว่า เอ…นี่คนเจ็บเขาจะได้ยินหรือเปล่า เขาจะรู้ไหม เขาจะได้ประโยชน์หรือเปล่า

บางทีอินทรีย์ทั้งหลาย เช่น ตา หู เป็นต้น ไม่ได้ดับไปพร้อมกัน แม้คนเจ็บจะสื่อสารไม่ได้แล้ว เพราะประสาทที่จะสื่องานและสมองที่จะสั่งงานในส่วนที่สื่อสารแสดงออกนั้นทำไม่ได้ แต่ในฝ่ายรับรู้บางทีก็ยังรับรู้อยู่ แม้จะรับรู้ด้านนี้ไม่ได้ ก็อาจจะรับรู้ด้านโน้นได้ รับรู้โดยตรงไม่ได้ แต่อาจจะรับรู้ทางอ้อมได้ บางทีรับรู้ทางตาไม่ได้ แต่อาจจะรับรู้ทางหูบ้าง ทางสัมผัสกายบ้าง หรือแม้โดยบรรยากาศ คือยังมีบางส่วนหรือบางทางที่ยังรู้ได้อยู่

เพราะฉะนั้น แม้แต่เสียงสวดมนต์ ซึ่งเราอาจจะนึกว่า เขาคงไม่รู้เรื่อง แต่เขาอาจจะได้ยิน หรืออาจจะแว่ว หรืออาจจะรับรู้บรรยากาศ เพราะฉะนั้นจึงต้องเผื่อกันไว้ก่อน เสียงสวดมนต์ อย่างน้อยแม้แต่เจ้าตัวไม่ได้ยิน คือไม่ได้รับรู้โดยตรง แต่อาจจะสัมผัสแบบคนฝัน คนที่ฝันไม่ใช่ไม่มีการรับรู้เลยใช่ไหม คนฝันนี้ที่ว่าไม่รู้เรื่องนั้น ที่จริงในบางระดับก็รู้เหมือนกัน อย่างเช่นนอนหลับอยู่ในห้องนี้ แล้วมีคนมาเคาะประตู ป๊อก ๆ ๆ ปรากฏว่าเดี๋ยวก็ตื่น แต่ก่อนตื่น ฝันไปแล้วว่าไปรบที่เวียดนาม ได้ยินเสียงระเบิดตูมตามๆ นั่นคือเสียงเคาะประตู หมายความว่ามีการรับรู้อยู่บ้าง คือในตอนที่หลับอาจจะไม่สนิท นี่ก็คือการรับรู้โดยไม่รู้ตัว

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องตื่นหรอก ในขณะที่หลับนั่นแหละ อาจจะได้ยินเสียงบางอย่าง หรือมีการรับรู้บางอย่าง ทางหู ทางตา ทางสัมผัส แล้วก็เอาไปปรุงแต่งเป็นความฝันได้มากมาย นั้น หมายความว่าเขามีการรู้และจิตยังทำงานอยู่ ในสภาพจิตที่ทำงานอย่างนี้ ถ้ามีอะไรช่วย จิตของเขาอาจจะเดินไปในทางที่ดี อย่างเสียงสวดมนต์ที่แว่วก็จะเป็นประโยชน์ เช่นจิตใจอาจจะเอาไปปรุงแต่งเป็นภาพนิมิตต่างๆ ที่ดีงาม ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของ เขา เราจึงไม่ควรไปตัดรอน

ในกรณีที่ว่าลึกเข้าไปก็คือ ถ้าคนไข้สั่งไว้ว่าเมื่อถึงตอนนั้น อย่างนั้นแล้วให้จัดการให้เขาจบชีวิตเสียเลย ทีนี้ตอนนี้เราก็ไม่รู้แน่ ว่าที่เราไปตัดชีวิตเขานี้จะเป็นการไปตัดรอนโอกาสในการที่เขาจะได้เข้าถึงสิ่งที่ดีงามของชีวิต แม้แต่ประโยชน์สูงสุดอย่างที่กล่าวแล้วหรือเปล่า เมื่อทราบอย่างนี้ก็จะทำให้เราคิดมากขึ้น ไม่ใช่เห็นเขาทุกข์ทรมานเราก็คิดไปข้างเดียวว่านี่เขาเจ็บปวดแสนสาหัสแล้ว เขาแย่แล้ว อยู่ไปทำไม ให้ตายเสียดีกว่า

พระสาวกบางองค์ในพุทธกาล แม้จะเจ็บป่วยทุกข์ทรมานแสนสาหัส แต่พอถึงที่สุดแล้วกลับเกิดผลในทางที่ว่า ในกระบวนการทำงานของจิตใจ อาจจะมีภูมิหลังความรู้อะไรต่างๆ กลับมาประมวลกัน แล้วกระทบกับประสบการณ์นั้น ทำให้เกิดการหยั่งรู้หยั่งเห็นได้ ปัญญาอย่างที่ว่าเป็นโพธิญาณตรัสรู้ไปเลย อันนี้ก็กลายเป็นว่า บุคคลนั้นจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เรากลับไปตัดรอนเขาเสีย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องเผื่อไว้ให้เป็นข้อคำนึงเพื่อจะได้ไม่คิดข้างเดียว เพราะเรามักจะมองไปในแง่เดียวว่า เขาทุกข์ทรมานนัก ถ้าตายพ้นทุกข์ไปได้คงดี

ที่ว่ามานี้เป็นแง่ต่างๆ ที่จะต้องพิจารณา เพื่อจะได้ระมัดระวังว่า การที่จะถือเอาตามคำสั่งของคนไข้จะเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งความคิดของเราว่าเป็นการคิดที่เพียงพอหรือไม่ด้วย

อย่างน้อย เราก็จะไม่คิดเพียงแค่ว่าทำอย่างไรจะช่วยให้เขาได้ตาย แต่จะคิดว่าทำอย่างไรจะให้เขาตายดีด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ต้องยอมรับว่าเรายังรู้ไม่เพียงพอต่อความจริงของธรรมชาติ จึงต้องปฏิบัติการด้วยความไม่ประมาทหลักการใหญ่: ปฏิบัติการด้วยเจตนาดีที่สุด บนฐานแห่งปัญญาที่รู้ถ่องแท้ที่สุด >>

No Comments

Comments are closed.