ปัญญาทำงานไป ใจมุ่งหน้า มั่นแน่ว

9 เมษายน 2564
เป็นตอนที่ 7 จาก 15 ตอนของ

ปัญญาทำงานไป ใจมุ่งหน้า มั่นแน่ว

สดชื่นรื่นสบาย ผ่อนคลาย มองนิ่งได้ ชัดและตรง

ทีนี้ พอวิจัยไปๆ ปัญญาเดินหน้าพัฒนาไป ก็ได้กำลังเรี่ยวแรงบุกฝ่าเดินหน้ามาขับเคลื่อน ตัวนี้คือความเพียร ได้แก่

๓. วิริยะ คือ ความเพียร ตอนนี้ปัญญาทำงาน ก็ต้องการวิริยะมาหนุน เจอเรื่องยาก ก็ไม่ระย่อ วิริยะ คือความแกล้วกล้าพากเพียรบุกฝ่าเดินหน้าไม่ถอย ช่วยให้ปัญญาเดินหน้าไปในการพินิจพิจารณา ในการคิดค้นเรื่องต่างๆ คิดสรรวิธีการต่างๆ ความเพียรมาช่วย เรียกได้ว่าขับเคลื่อน ส่งกำลังให้ปัญญา

๔. ปีติ คือ ความอิ่มใจ ปลื้มใจ พอมีวิริยะแล้ว ทีนี้ใจมองว่า ปัญญาเห็นสว่างก้าวหน้าไปๆ และความเพียรก็เข้มแข็งขับดันให้กำลังหนุนอย่างดี สติก็จับอยู่ ไม่หลุดไม่พลาด ธัมมวิจัยก็ทำงานได้ดี วิริยะก็เดินหน้าไป ประสานสอดคล้องกันดี ก็สมใจ พอสมใจหมายได้ดังใจ ก็ปลื้มใจ อิ่มใจ นี่คือปีติมา

ในปีตินั้น ไม่มีความขุ่นข้อง ขัดข้อง ขาดตกบกพร่องในใจ ใจจึงอิ่ม เรียกว่าอิ่มใจ แล้วความอิ่มใจนั้น ด้านหนึ่ง ก็ไปเสริมวิริยะ เมื่อวิริยะไม่มีอะไรติดขัด มีกำลังเต็มที่ ก็เดินหน้าได้เต็มแรง และอีกด้านหนึ่ง ก็ส่งผลต่อเนื่องให้ใจที่อิ่มแล้วนั้น เกิดความผ่อนคลาย ซึ่งเป็นภาวะของจิตและกาย ที่สำคัญมาก เป็นโพชฌงค์ข้อต่อไป

๕. ปัสสัทธิ คือ ความผ่อนคลาย นี่คือ เมื่อใจอิ่ม ไม่มีอะไรขาดพร่อง ไม่มีอะไรขัดข้อง ไม่มีอะไรมารบกวนใจ ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเขม็ง ไม่ต้องเครียดภายใน ใจก็ผ่อนคลาย ดังนั้น พอปีติ คือความอิ่มใจมาแล้ว ปัสสัทธิก็ตามมา

ปัสสัทธิ แปลว่า ความผ่อนคลาย รื่นสบายกายใจ (ตรงข้ามกับ “สารัทธะ” ที่แปลว่าเครียด) ไม่มีอะไรกดดันรุนเร้า เป็นภาวะจิตสำคัญที่เปิดโอกาสแก่ความสุข และแก่สมาธิ และเป็นภาวะที่บรรจบประสานกายกับจิต คือเมื่อมีปัสสัทธิ ก็จะมีทั้ง กายปัสสัทธิ – กายผ่อนคลายรื่นสบาย และ จิตตปัสสัทธิ – ใจผ่อนคลายรื่นสบาย

ปัสสัทธินี้ มีความสุขตามมาด้วย การทำงานด้วยโพชฌงค์จึงเป็นการพักผ่อนไปในตัว และเป็นความสุขแถมให้อีกด้วย

ปัสสัทธิเข้ากันดีกับความคิดที่สุจริต ไม่มีการเบียดเบียน และเป็นตัวแสดงของสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลมาถึงสุขภาพกายด้วย

เมื่อมีปัสสัทธิ ก็เปิดโอกาสให้จิตเป็นสมาธิ เป็นองค์ต่อไป

๖. สมาธิ คือ ภาวะจิตตั้งมั่น ใจมุ่งแน่ว เป็นธรรมดาตามธรรมชาติทีเดียวว่า เมื่อมีปัสสัทธิ คือความผ่อนคลายแล้ว ก็จะมีสุขตามมา สุข ก็คือ ไม่มีอะไรบีบคั้นกดดันทิ่มแทงกวนใจ จิตไม่ต้องดิ้นรน ก็อำนวยให้จิตนิ่งแน่วเป็นสมาธิ ดังนั้น ต่อจากปีติ ก็มีปัสสัทธิ มีปัสสัทธิแล้วก็ผ่านสุขมาเป็นสมาธิ (ความสุข เป็นเวทนาที่เสพเสวย มิใช่เป็นตัวทำงาน จึงไม่เป็นองค์ด้วย)

พอเป็นสมาธิ ใจก็นิ่งแน่ว เมื่อใจมั่นแน่วแล้ว ปัญญาจะพิจารณาสอดส่องตรวจตราเรื่องอะไร ใจนิ่งแน่วอยู่กับเรื่องนั้น ปัญญาก็ทำงานได้เต็มที่ คล่อง ไม่ต้องติดขัดเลย

ตอนนี้จึงยิ่งดีกว่าใช้สติ เมื่อกี้นั้น สติยังต้องคอยจับ คอยพยุง คอยคุม คอยดึงไว้ไม่ให้มันหลุดมันหายไป แต่ตอนนี้ใจอยู่กับเรื่องนั้นแล้ว เมื่อใจอยู่ สติก็ไม่ต้องทำงาน ตอนนี้สติเพียงคลออยู่ คือถ้าหลุดจากสมาธิเมื่อไร สติก็ทำงานทันที แต่พอสมาธิทำงาน สติก็ไม่ต้องแล้ว สติก็วางได้

ท่านเปรียบเหมือนกับว่า คนจับเอาวัวพยศมา แล้วจะให้มันอยู่กับที่ จะทำอย่างไร ก็เอาเชือกมาผูกดึงไว้ วัวจะไป ก็ไปไม่ได้ เพราะเชือกดึงอยู่ เชือกนี้คือสติ เชือกนี้ดึงไว้ ตรึงไว้ ทำให้วัวที่พยศ ไปไหนไม่ได้

แต่ทีนี้ ต่อมาเจ้าวัวพยศตัวนี้ใจมันยอมแล้ว มันก็หมอบนิ่งอยู่กับหลัก พอมันหมอบนิ่งแล้ว เชือกก็ไม่ต้องทำงานละ เชือกคือสติ ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องดึง ไม่ต้องตรึง เพราะมีสมาธิคือเจ้าวัวมันหมอบอยู่กับที่แล้ว ทีนี้ปัญญาก็ทำงานในจิตที่มั่นแน่วอยู่กับที่แล้ว ก็ทำงานได้สะดวกคล่องเต็มที่เลย

พอจิตมั่นแน่วเป็นสมาธิแล้ว ก็เปิดโอกาสให้จิตมีภาวะที่ลงตัวดีที่สุด เป็นองค์สุดท้ายเรียกว่าอุเบกขา ซึ่งเป็นข้อที่คนไทยมากมาย ยังเข้าใจผิดไปไกล ก็มาดูองค์สุดท้ายนี้ว่าเป็นอย่างไร

๗. อุเบกขา คือภาวะที่ใจนิ่งตรงเป็นกลาง แต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจชัด ใจนิ่งตรงเป็นกลางคืออย่างไร ก็ทำความเข้าใจกันนิดหนึ่ง ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ก็ยกคาถาที่พระพุทธเจ้าทีปังกรตรัสแก่สุเมธดาบส เอามาให้ฟังสักครึ่งคาถา พระองค์ตรัสว่า

ตุลาภูโต ทฬฺโห สมฺโพธึ ปาปุณิสฺสสิ

แปลว่า: ท่านเป็นดังตุลา หนักแน่นมั่นคง จักลุถึงซึ่งสัมโพธิญาณ

นี่คือพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรตรัสไว้ เป็นลักษณะของอุเบกขา ที่ว่าท่านเป็นดังตุลา หรือมีใจเป็นตุลา ก็หมายความว่า ท่านมีใจเหมือนอย่างตราชู รู้จักไหมตราชู มีใจเหมือนอย่างตราชู ก็อยู่ในดุล อยู่ในภาวะสมดุล คือเที่ยงตรง ไม่เอียงข้างซ้าย ไม่เอียงข้างขวา ไม่เอียงขึ้น ไม่เอียงลง ตรงแน่ว พอดีเลย นี่คือภาวะจิตที่ลงตัวอยู่ในดุลยภาพ

เป็นอันว่า ลักษณะสำคัญของอุเบกขา คือ “ตุลาภูโต” เป็นตุลา จำไว้เลยนะ พระพุทธเจ้าทรงใช้คำอธิบายของคำอุเบกขาว่า ตุลาภูโต ใจเหมือนตราชู อยู่ในดุล อยู่ในภาวะสมดุล

ตรงนี้แหละเป็นหลักสำคัญ จิตที่อยู่ในภาวะนี้ได้ เป็นจิตที่สมบูรณ์ มองเห็นอะไรๆ ตรง เต็ม พอดี พระอรหันต์มีจิตเป็นปกติอยู่ในภาวะที่เรียกว่าอุเบกขา ที่เป็นภาวะสมดุลนี้

ในเมืองไทย เราก็เอาตุลามาใช้ แต่เราเรียกว่าตุลาการ ก็เลยแปลตุลาการกันหน่อย

ตุลาการนี้แปลได้ ๒ อย่าง หนึ่ง แปลว่า มีอาการเหมือนตุลา มีอาการเหมือนตราชู หมายความว่า ผู้พิพากษาต้องมีอาการ คือมีการประพฤติปฏิบัติเหมือนกับตุลา เหมือนกับตราชู ซึ่งอยู่ในภาวะที่สมดุล ก็คือเที่ยงตรงนั่นเอง อีกอย่างหนึ่ง ก็แปลตุลาการว่า ผู้สร้างตุลา หรือผู้ทำตุลา ก็คือผู้สร้างตราชู หรือสร้างความเที่ยงตรงนั้นเอง อันนี้ออกไปนอกเรื่องนิดหน่อย ก็กลับมาที่ตุลาภูโต ซึ่งก็นั่นแหละ คืออันเดียวกัน

ตุลาภูโต แปลแล้วว่า เป็นเหมือนตุลา หรือมีจิตใจเป็นตุลา คืออยู่ในภาวะสมดุล ก็คือเที่ยงธรรม อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ไม่เอนเอียง ไม่ว่าซ้ายหรือขวา ไม่ว่าขึ้นหรือลง ตรงแน่ว ก็มองเห็นไม่ว่าอะไร ตรงไปตรงมาตามเป็นจริง เป็นกลาง ไม่ถูกความรู้สึกอะไรทั้งนั้นครอบงำ ไม่ว่าชอบ ไม่ว่าชัง ถ้าชอบ ก็เอียงไปทางหนึ่ง ถ้าชัง ก็เอียงไปอีกทางหนึ่ง เรียกว่าเกิดความไม่เที่ยงตรง การพิพากษาตัดสินวินิจฉัยก็เบี่ยงเบนไปหมด เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวคุมท้ายให้ถูกต้องสมบูรณ์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๒ – ขั้นปัญญา: รู้เข้าใจ ใช้โพชฌงค์ใจสมดุล งานสมบูรณ์ >>

No Comments

Comments are closed.