ใจสมดุล งานสมบูรณ์

9 เมษายน 2564
เป็นตอนที่ 8 จาก 15 ตอนของ

ใจสมดุล งานสมบูรณ์

ตอนนี้ครบแล้ว องค์ทั้ง ๗ ของโพชฌงค์ ในชุดนี้ มีตัวทำงานสำคัญที่บอกเมื่อกี้ว่า สติเป็นตัวเริ่มต้นจับงานเอาไว้ แล้วปัญญาก็เป็นตัวทำงานเดินหน้าไป

ปัญญานี้ที่เรียกว่าธัมมวิจัยนี่แหละ เมื่อเข้าชุดโพชฌงค์ทำงานไปพัฒนาไปจนสำเร็จผลลุจุดหมาย ให้คนถึงธรรม เห็นความจริงแท้และได้ประโยชน์สูงสุดจากความจริงนั้น ธัมมวิจัยก็จะกลายเป็นโพธิ คือ ปัญญานี้แหละจะพัฒนาขึ้นไปเป็นโพธิญาณ เรียกว่าตรัสรู้

การที่ปัญญานั้นทำงานหาความรู้และคิดการเดินหน้าพัฒนาไปได้ ก็ด้วยมีวิริยะมาออกแรงทำการ โดยมีปฏิบัติการต่างๆ มากมายมาหนุนมาพาให้ก้าวไป แล้วในที่สุด ความรู้เข้าใจและคิดเห็นพิจารณาตัดสินวินิจฉัยที่เป็นงานของปัญญานั้น จะถูกต้อง พอดี ตรงตามเป็นจริง ไม่ผิดพลาด ไม่เอนเอียง ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะจิตที่เป็นอุเบกขา เป็นตุลา อยู่ในดุลยภาพ

แต่การที่จิตเข้าถึงภาวะเป็นอุเบกขานั้นได้ ก็ด้วยการที่จิตเองได้พัฒนาขึ้นมาเป็นจิตที่มีสุขภาวะแล้ว คือเป็นจิตที่เอิบอิ่มสดชื่นและผ่อนคลาย ด้วยปีติและปัสสัทธิ จนกระทั่งจิตนั้นอยู่ตัวตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ จึงก้าวมาถึงภาวะแห่งดุลยภาพของอุเบกขา

ทีนี้ก็มีข้อสังเกตว่า หลักธรรมทั่วไป โดยมากมีปัญญาเป็นตัวคุมท้าย แต่แปลกว่า ในชุดโพชฌงค์นี้ ปัญญาเป็นองค์ที่ ๒ เป็นตัวเจ้าของงาน ทำงานเต็มที่ แล้วมีอุเบกขาเป็นตัวคุมท้าย

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า อุเบกขาทำให้ทั้ง ๖ ข้อต้นทำงานได้ถูกต้อง เที่ยงตรง สมบูรณ์ เฉพาะอย่างยิ่งปัญญาที่เป็นตัวเอก ถ้าจิตไม่อยู่ในดุลยภาพ ไม่สมดุล เอียงซ้าย-เอียงขวา เอนขึ้น-เอนลง ก็จะรู้เข้าใจเอนเอียงบกพร่อง มองเห็นไม่ตรงตามเป็นจริง

ดูอย่างสติ ที่บอกเมื่อกี้ว่า สติตั้งหลักได้ เอาละ เราตั้งหลักได้ แต่ทีนี้พื้นกระดานบ้านเอียง พอพื้นกระดานบ้านเอียง เราตั้งหลักบนพื้นกระดานบ้านที่เอียง จะเป็นอย่างไร เราตั้งหลักได้ เราตั้งหลักได้ตรง บนพื้นกระดานบ้านที่เอียง หลักนั้นก็เอียงกับโลก แล้วทีนี้ ถ้าเราตั้งหลักนี้ให้มันตรงกับโลก ตรงขึ้นไปในท้องฟ้า มันก็เอียงขัดกับพื้นกระดานบ้านอีกนั่นแหละ เข้ากันไม่ได้กับพื้นบ้านที่เอียง นี่คือสติก็ยังสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าจิตไม่เป็นอุเบกขา

เพราะฉะนั้น ภาวะลงตัวสมดุลของจิตนี้จึงสำคัญมาก ตั้งแต่สติไปเลย สติแสนจะดี ทำให้ตั้งหลักได้ แต่พอมาเจออุเบกขาไม่มีเข้า สติก็ชักยุ่ง ก็ดีแหละต้องมีสติ แต่สติทำงานได้ผลไม่เต็มที่ เพราะมันมีความไม่สมบูรณ์อย่างที่บอกเมื่อกี้ เหมือนพื้นบ้านพื้นกระดานเอียงนั่นแหละ ไปตั้งหลักบนนั้น มันก็ยุ่ง

ต่อไปก็เหมือนกัน จิตไม่เป็นอุเบกขา ปัญญาก็เห็นเอนเอียง มองลำเอียง ถ้ายังมีความเอนเอียงอยู่ ก็เห็นไม่ตรง ก็ไม่ถูกจริง ไม่ตรงตามความเป็นจริง ยังมีความผิดพลาดได้ เพราะฉะนั้น ในที่สุด แม้จนถึงโพธิญาณ ก็จึงต้องมาในจิตที่เป็นอุเบกขา เมื่อถึงอุเบกขาครบจบโพชฌงค์ ๗ แล้ว ผลที่ปัญญาได้ คือความรู้ความเข้าใจ ก็จะสมบูรณ์ เที่ยงตรง ถูกต้อง แน่นอน ไม่ผิดพลาด

เพราะฉะนั้น จึงควรพัฒนาจิตใจให้สามารถมีภาวะจิตเป็นอุเบกขา เมื่อใจเราเข้าถึงภาวะจิตอุเบกขา ใจอุเบกขาก็มาบรรจบกับปัญญาที่จะรู้เข้าใจมองเห็นชัด-ตรง ปัญญาที่เป็นโพธิ มาในจิตที่สมดุลเป็นอุเบกขา

เป็นอันว่า ปัญญาที่สมบูรณ์มาในจิตที่เป็นอุเบกขา และอย่างที่บอกแล้วว่า จิตของพระอรหันต์ เป็นจิตอุเบกขา เป็นจิตที่มีความสมบูรณ์ลงตัวกับโลกนี้ทั้งหมด ก็เลยหมดปัญหา อยู่ด้วยปัญญาที่มองเห็นแจ้งตรงตามเป็นจริง เท่าทันโลกและชีวิต

หลักโพชฌงค์นี้ เราสามารถนำมาใช้ในปฏิบัติการกับเรื่องทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยอะไรๆ รวมทั้งปฏิบัติการในการปราบโควิด-19 นี้ ให้ได้ผลอย่างดี

อย่างน้อย คนที่มีโพชฌงค์ ๗ นั้น ใจไม่มีโรค นี่ขั้นที่หนึ่ง ใจไม่มีโรค เป็นใจที่สมบูรณ์แล้ว ก็พร้อมที่จะทำอะไรได้ คนมีใจไร้โรคแล้ว มีสุขภาพจิตดีสมบูรณ์ เมื่อรู้วิชารู้งานชำนาญการ ก็มาแก้ไขปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพของสังคมได้ผลดี

โพชฌงค์นี้เป็นหลักการใหญ่ที่เมื่อใช้ครบทุกขั้นตอน งานก็จะสมบูรณ์ ถ้าทำงานไม่ครบโพชฌงค์ ๗ งานและผลสำเร็จของเราจะไม่สมบูรณ์ อย่างเช่นงานพิจารณาตรวจสอบวัดผล ก็ต้องอยู่ในจิตอุเบกขา ปัญญาจึงจะเห็นถูกต้องชัดตรง

เอาละ ได้พูดเรื่องโพชฌงค์มาสมควร ขอย้ำอีกทีว่า โพชฌงค์คือธรรมที่เป็นองค์ประกอบของโพธิ คือธรรมที่เป็นองค์ประกอบของการตื่นรู้จนถึงตรัสรู้ ซึ่งรวมมาถึงการที่จะทำงานทั้งหลายให้สำเร็จบรรลุจุดหมายอย่างดีงามได้ผลสมบูรณ์

จุดเน้นอันหนึ่งจากโพชฌงค์ก็คือ การแก้ปัญหาและการทำงานสร้างสรรค์ทั้งหลาย เริ่มจากจิตใจที่ดีงามสมบูรณ์ คือจิตใจที่ไม่มีโรค เมื่อจิตใจไม่มีโรคแล้ว ก็จะทำงานได้ดีมีผลสมบูรณ์ และจิตใจที่ไม่มีโรคนั้น เอื้อโอกาสให้ปัญญาพัฒนาได้สมบูรณ์ด้วย เมื่อปัญญาทำงานได้สมบูรณ์ ผลสำเร็จก็สมบูรณ์

วันนี้ก็เลยอธิบายเรื่องโพชฌงค์ ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง ในระดับศรัทธา ที่เอาโพชฌงค์มาใช้เป็นปริตร เอามาสวดมนต์ ซึ่งบางที หรือมักจะสวดกันไป ฟังกันไป โดยไม่ได้รู้เข้าใจเนื้อความที่เป็นหลักธรรม แต่ด้วยแรงศรัทธา ก็ช่วยให้มีผลดีแก่จิตใจ ทำให้จิตใจตั้งหลักได้ เกิดมีความมั่นคง มั่นใจ มีจิตใจสงบ สดชื่น ผ่องใส และมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันได้

ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ เราเอาโพชฌงค์มาใช้ประโยชน์ได้ในทั้งสองระดับ ทั้งระดับศรัทธา และระดับปัญญา ช่วยให้ปฏิบัติการในการแก้ปัญหาของสังคมนี้สำเร็จ ให้คนอยู่กันดี จะได้เป็นฐานที่จะเดินหน้าก้าวไปสู่ความเจริญงอกงาม มีความสุข โดยพึงมีไพบูลย์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทั้ง ๒ อย่าง คือ มีทั้งอามิสไพบูลย์ ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ และธรรมไพบูลย์ ความแพร่หลายของธรรมด้วย

คิดว่าพูดไว้เท่านี้ พอสมควรแล้ว ขออนุโมทนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญญาทำงานไป ใจมุ่งหน้า มั่นแน่ว– ๓ – ปฏิบัติการ: โพชฌงค์ ในชีวิตและกิจการ >>

No Comments

Comments are closed.