พระพุทธศาสนา คือการศึกษาเพื่อสันติภาพ

31 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 2 จาก 12 ตอนของ

พระพุทธศาสนา คือการศึกษาเพื่อสันติภาพ

ทีนี้หันกลับมาพูดถึงเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพ ความจริงนั้นพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการศึกษา และก็เป็นเรื่องของสันติภาพอยู่แล้ว ชาวพุทธเราย่อมทราบกันดี จะมีรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพหรือไม่มีก็ตาม ตัวแท้คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาจะทำให้เกิดขึ้นก็คือสันติภาพที่แท้จริง

ที่บอกเมื่อกี้ว่าตัวพุทธศาสนาเป็นการศึกษา หมายความว่า ข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาทั้งหมด หรือระบบการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้ เป็นการศึกษาทั้งสิ้น

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น เรียกกันว่า สิกฺขา สิกขาก็แปลว่าการศึกษานั่นเอง สิกขาเป็น คำบาลี สันสกฤตว่า ศิกฺษา เป็นไทยว่า ศึกษา ก็คำเดียวกัน ในเมื่อข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนาเป็นสิกขา ดังที่เราเรียกว่า ไตรสิกขา พระพุทธศาสนาก็เป็นการศึกษา

ทีนี้เราพูดว่าการศึกษาเพื่อสันติภาพ สันติภาพคืออะไร สันติภาพมาจากสันติ บวกกับภาวะ ภาวะแปลงเป็นไทยก็เป็นภาพ ภาวะก็คือความเป็น เอาไปต่อท้ายอะไรก็ได้ แทบจะไม่มีความหมายในตัว สันติภาพก็คือภาวะแห่งสันติ ได้แก่ตัวสันตินั่นเอง

สันติแปลว่าความสงบ สันติหรือความสงบนี้เป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน เป็นคำที่ท่านเรียกว่าไวพจน์ คือคำที่ใช้แทนกันได้ สันติก็คือนิพพานนั่นเอง เช่นในคำว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี สุขนอกจากสันติไม่มี สันติก็คือพระนิพพาน เท่ากับพุทธพจน์ที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ที่แปลว่านิพพานเป็นบรมสุข หรือเป็นสุขอย่างยิ่ง สรุปว่าสันติก็คือพระนิพพานนั่นเอง

ทีนี้พระพุทธศาสนาคือไตรสิกขานั้นมีจุดหมายเพื่อสันติ คือเพื่อพระนิพพานซึ่งเป็นสันติ จึงได้ความว่าตัวพระพุทธศาสนาคือไตรสิกขาซึ่งเป็นการศึกษานั้นก็เพื่อบรรลุสันติ คือพระนิพพาน เพราะฉะนั้น คำว่าการศึกษาเพื่อสันติภาพที่เขาเอาไปตั้งเป็นชื่อรางวัลนั้น ความจริงก็เป็นเรื่องของพระพุทธศาสนานั่นเอง ไม่ไปไหนไกล

เมื่อเรามองในแง่สันติที่แท้และสูงสุดก็คือพระนิพพาน แต่ถ้าเรามองในรูปหยาบๆ กว้างๆ ชาวโลกมักมองสันติแค่ความสงบภายนอก มักจะไม่มองลึกเข้าไปถึงภายในจิตใจ คือเขามองสันติที่ความสงบเรียบร้อยในสังคม การไม่รบราฆ่าฟัน ไม่มีสงคราม อยู่กันโดยไม่เบียดเบียน อย่างนี้เขาเรียกว่าสันติภาพ สันติภาพอย่างนี้ก็คือความอยู่ดีมีสุขของประชาชนหรือของสังคมหรือของโลกทั้งหมด แม้จะมองในความหมายที่หยาบๆ อย่างนี้ก็เข้ากับจุดหมายของพระพุทธศาสนาอยู่ดี เพราะว่าพระพุทธศาสนามีหลักการว่าพระศาสนานี้ดำรงอยู่เพื่อ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย พระพุทธเจ้าตรัสส่งให้พระสาวกทั้งหลายจาริกไปก็เพื่ออันนี้ คือเพื่อ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย ให้แสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดก็เพื่อความมุ่งหมายอันนี้ ให้พรหมจริยะคือพุทธศาสนานี้ดำรงอยู่ยืนนานก็เพื่อจุดหมายอันนี้ การที่จะมีการสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยก็เพื่อ พรหมจริยะจะได้ดำรงอยู่ยั่งยืนนาน พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

ในเมื่อพระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก คำว่าประโยชน์สุข คือการที่ประชาชนอยู่ดี ได้บรรลุสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์และมีความสุขนั้นเป็นภาวะที่ครอบคลุมคำว่าสันติ เพราะว่า ประชาชนจะบรรลุประโยชน์มีความสุขได้เขาก็ต้องไม่รบราฆ่าฟันกัน ถ้ามนุษย์อยู่กันดีทั่วทุกคน โลกเป็นอย่างนั้นก็คือสันตินั่นเอง เพราะฉะนั้น แม้จะมองในแง่ที่เป็นปรากฏการณ์กว้างๆ อย่างนี้ ก็ถือว่าสันติภาพเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ของเราจึงมีหน้าที่บำเพ็ญปฏิบัติเพื่อสันติภาพในความหมายทั้งสองข้อ คือบำเพ็ญไตรสิกขาก็เพื่อบรรลุถึงสันติซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุด ในความหมายที่ถือว่าเป็นนามธรรมที่สุด ได้แก่พระนิพพาน หรือในแง่งานการปฏิบัติของท่านก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อสันติภาพเหมือนกัน

เมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติหน้าที่ของท่าน ทำการทำงานของท่านโดยถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ก็เป็นงานที่ทำให้เกิดสันติภาพอยู่ในตัว ด้วยเหตุนี้จึงได้บอกไว้เป็นการย้ำว่า ไม่ว่าจะมีรางวัลเพื่อสันติภาพหรือไม่ก็ตาม ที่แท้จริงนั้นสันติภาพก็เป็นความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นรางวัลที่แท้จึงได้แก่การที่เกิดมีสันติขึ้นมาจริงๆ ในโลก ถ้าพระสงฆ์ทำหน้าที่ของท่าน และบรรลุสันติ ทำให้โลกมีความสงบเรียบร้อย อยู่กันเป็นสุขแล้ว นั่นแหละคือรางวัลที่แท้จริง ส่วนการที่จะมีองค์กรโลกคือยูเนสโกที่อยู่ในสหประชาชาติมาตั้งเป็นรางวัลอะไรขึ้นมานั้นก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง รางวัลที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ประโยชน์สุขของชาวโลกคือสันติภาพที่แท้จริง จึงต้องถือว่ารางวัลที่ยูเนสโกได้มอบถวายนั้น เป็นเพียงคล้ายๆ กับเป็นสิ่งกระตุ้นเร้า หรือเป็นสิ่งที่มาเตือนคนทั่วไปว่าให้เรามาทำหน้าที่ ทำกิจหรือปฏิบัติการเพื่อจุดมุ่งหมายอันนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)แสดงมุทิตา คือบอกว่าจะมาร่วมเชิดชูธรรม >>

No Comments

Comments are closed.