สันติภาพจะมีหลักประกันเมื่อพัฒนามนุษย์ให้มั่นในความไม่ประมาท

31 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 12 จาก 12 ตอนของ

สันติภาพจะมีหลักประกันเมื่อพัฒนามนุษย์ให้มั่นในความไม่ประมาท

คนเรานี้ พอมีความสุขมากขึ้น พอมีความดีงามก้าวหน้าประสบความสำเร็จมีความสุขมากขึ้นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสให้ระวังไว้ คือคนดีคนสำเร็จคนมีความสุขแล้วจะตกหลุมดักที่สำคัญที่สุด คือตกหลุมความประมาท เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสคำนี้ที่สำคัญที่สุด คือ ความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทนี้ ท่านว่าเป็นธรรมะข้อใหญ่ เหมือนรอยเท้าช้าง ที่บรรจุรอยเท้าสัตว์บกได้ทุกชนิด คนเรานี้ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมะมีกี่ข้อก็เหมือนหลับอยู่ในคัมภีร์หมด แต่ถ้ามีความไม่ประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมะเรียนมากี่ข้อก็ใช้ประโยชน์ได้หมด เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงมีความหมายมาก

ทีนี้ คนที่มีความสุขและคนที่ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปด้วยดีก็มีแนวโน้มว่าจะประมาท เพราะว่าคนที่สุขหรือสำเร็จแล้วนี่ มักจะวางใจนอนใจ แล้วก็ละทิ้งสิ่งที่ควรปฏิบัติ สิ่งที่จะต้องทำเพื่อกันและแก้ปัญหาและเพื่อเข้าถึงสิ่งดีงามที่ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างน้อยก็ชอบผัดผ่อนเวลา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนเรื่องนี้ไว้โดยเน้นหนักหนาว่า แม้แต่พระโสดาบัน และพระอริยบุคคลอื่นชั้นต้นๆ เมื่อได้ก้าวหน้าในการปฏิบัติมีความสุขความสำเร็จในธรรมชั้นสูงแล้ว ถ้าเกิดความพอใจว่า โอ เราได้บรรลุธรรมชั้นสูงมากแล้ว แล้วเกิดความสันโดษพอใจ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นปมาทวิหารี แปลว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท

มีบุคคลประเภทเดียวที่จะไม่ตกอยู่ใต้ความประมาทเป็นอันขาด คือพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าพระอรหันต์เป็นบุคคลประเภทเดียวที่ไม่อาจจะประมาท คือเป็นบุคคลประเภทเดียวที่จะไม่ประมาทเลย เพราะอยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยปัญญาก็หมายถึงมีสติอยู่ด้วย

มีสติหมายความว่าตื่นตัวอยู่เสมอ คอยระลึก คอยนึกถึง อะไรเกิดขึ้นจะมีผลกระทบทำให้เกิดความเสื่อม หรือกีดกั้นความเจริญ ก็นึกก็ระลึกจับเก็บเอามาหมด ไม่ปล่อยทิ้งไม่ละเลยอะไรทั้งสิ้น นี่คือสติ เมื่อนึกเมื่อระลึกกำหนดไว้แล้ว ก็ส่งเรื่องให้ปัญญาตรวจสอบ ว่าอันนี้เกิดขึ้นจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม อันนี้จะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ อันไหนจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมก็แก้ไขป้องกัน อันไหนจะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญก็สร้างสรรค์ ทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัย นี้เรียกว่าอยู่ด้วยสติปัญญาไม่ประมาท

หลักการนี้บอกต่อไปอีกว่า คนที่มีสันติภายในเท่านั้นจึงจะอยู่ด้วยสติปัญญา มีความไม่ประมาทที่แท้จริง สันติภายนอกยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อสังคมมีสันติสุขแล้ว คนที่ยังพัฒนาไม่เพียงพอก็มักจะประมาท แล้วก็จะตกอยู่ใต้วงจรของความเจริญและความเสื่อม

สังคมที่อยู่สบายมีสันติสุข เช่นไม่มีภัยไม่มีสงคราม แล้วมักจะเกิดความประมาท มักจะปล่อยปละละเลยผัดผ่อน ตลอดจนหลงเพลิดเพลินมัวเมา ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ จึงทำให้สังคมเสื่อมลง มนุษย์ปุถุชนทั่วไปนี้ ตามปกติต้องถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามจึงจะดิ้นรนขวนขวาย พอยามอยู่ดีมีสุขก็ประมาท พอทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคามก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายอีกทีหนึ่ง เป็นอย่างนี้กันทั่วไป เพราะฉะนั้น มนุษย์ปุถุชนทั้งหลายก็เลยตกอยู่ในวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อมเรื่อยไป และด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสหลักธรรมข้อนี้ขมวดท้ายไว้ ป้องกันอีกทีหนึ่ง เป็นการเตือนว่า เมื่อเธอประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ หรือปฏิบัติธรรมมีความสุขความสำเร็จแล้ว ระวังจะประมาท แล้วไม่ตั้งใจทำสิ่งที่ควรทำ ละทิ้งกิจหน้าที่ และไม่เพียรพยายามทำสิ่งดีงามให้ยิ่งขึ้นต่อไป อย่างน้อยก็ชอบผัดผ่อน แล้วก็จะเสื่อม

สังคมที่สุขสบายแล้วประมาทแบบนี้ ก็เลยสู้สังคมที่ตกอยู่ใต้ความบีบคั้นไม่ได้ ความบีบคั้นก็คือทุกข์ภัย ได้แก่ทุกข์ภัยที่เกิดตามสภาพของมันอย่างหนึ่ง และทุกข์ภัยที่เกิดจากมนุษย์จัดสรรกันขึ้นมาอย่างหนึ่ง

ทุกข์ภัยที่มนุษย์จัดสรรประดิษฐ์ขึ้นมาก็คือระบบแข่งขัน ระบบแข่งขันนี้เป็นระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ คือเอาทุกข์มาบีบคั้นเอาภัยมาคุกคาม เท่ากับบอกว่า ถ้าเธอล้าหลังเขา ไม่ทันเขา หรือแพ้เขา เธอจะแย่นะ จะตายนะ จะอยู่ไม่ได้นะ ฉันจะไม่ช่วยแกนะ ตัวใครตัวมัน แกจะต้องเอาชนะเขา ต้องไปเหนือเขาให้ได้ แต่ละคนถูกบีบคั้นถูกคุกคามตลอดเวลา เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ต้องเร่งกระตือรือร้นขวนขวาย ระบบปุถุชนถ้าไม่ใช้ทุกข์ภัยตามสภาพ ก็ใช้ทุกข์ภัยประดิษฐ์ คือระบบแข่งขันนี่ทำให้คนกระตือรือร้นดิ้นรนต่อสู้ ก็ทำให้เกิดความเจริญกันใหญ่

สังคมที่มีความบีบคั้นจากระบบแข่งขันก็เจริญเพราะอันนี้ แต่ระบบนี้เป็นความไม่ประมาทเทียม ไม่ใช่ความไม่ประมาทที่แท้ เพราะความไม่ประมาทอย่างนี้เกิดจากความบีบคั้นกัน ไม่ใช่เกิดจากปัญญา เป็นเรื่องที่อยู่กับความเห็นแก่ตัว เอาแต่ตัวเอง เอาแต่ผลประโยชน์ของตัว ไม่ได้คำนึงว่าผลเสียจะเกิดกับใครหรืออะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติแวดล้อมหรือสังคม เพราะฉะนั้นระบบนี้จึงเป็นภัยอันตราย ทำให้เกิดความเจริญด้านหนึ่ง แต่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียหายมากมาย เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าเป็นระบบความไม่ประมาทเทียม ไม่ใช่ความไม่ประมาทแท้

ความไม่ประมาทที่แท้ก็คือไม่ต้องรอให้ทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม แต่อยู่ด้วยสติและใช้ปัญญา สติปัญญานี้แหละจะสำรวจตรวจตราเหตุปัจจัย แล้วระวังป้องกันความเสื่อมและสร้างสรรค์ความเจริญได้ตลอดเวลา เมื่อทำด้วยสติปัญญาตามหลักเหตุปัจจัยอย่างนี้ ก็จะทำให้สังคมและชีวิตไม่มีเสื่อม มีแต่เจริญอย่างเดียว

พระพุทธศาสนานี่ท่านสอนถึงขนาดนี้ทีเดียวนะ คือบอกว่าเราสามารถทำให้เจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อมก็ได้ ถ้าเราไม่ประมาท ยกตัวอย่างเช่นที่ทรงสอนไว้ในหลักอปริหานิยธรรม ที่แปลว่า ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม

หลักธรรมชาติบอกว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับ พร้อมกันนั้นพระพุทธศาสนาก็สอนว่า ถ้าเธอไม่ประมาทเธอไม่จำเป็นต้องเสื่อม เธอจะมีแต่เจริญตลอดไป สองหลักนี้เป็นหลักสัจธรรมและจริยธรรม ดูเหมือนจะขัดกัน แต่เป็นความจริงทั้งสองอย่าง อาตมาจะไม่เฉลย ขอให้ชาวพุทธไปเฉลยเองว่า เอ๊ะ ทำไมมันไม่ขัดกัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อนิจจัง สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดแล้วต้องดับ แต่ทำไมอีกด้านหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเธอไม่ประมาท เธอจะไม่เสื่อม มีแต่เจริญอย่างเดียว หลักธรรมสองอย่างนี้ไม่ขัดกันเลย แถมยังสนับสนุนกันด้วย แต่มันสนับสนุนกันอย่างไร ไม่ขัดกันอย่างไร อาตมาขอทิ้งไว้เป็นปริศนาสำหรับโยมไปคิดต่อไป

วันนี้ก็เอาเป็นว่ามาจบลงด้วยความไม่ประมาท สันติภาพที่แท้จะเกิดมีได้ต้องพัฒนาคนให้มีสันติทั้งภายในและภายนอก แล้วสันตินั้นจะอยู่มั่นคงได้ด้วยความไม่ประมาท ดังที่ได้กล่าวมาถึงตอนนี้ก็ได้แสดงธรรมบรรยายมาพอสมควร เป็นปาฐกถาธรรมเนื่องในการอนุโมทนา ในโอกาสที่ทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดสัปดาห์นี้ขึ้นมาเพื่อแสดงมุทิตาจิต

อาตมภาพขออนุโมทนาต่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ และในนามของคณะรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง และโดยเฉพาะต้องขออนุโมทนาอย่างยิ่งต่อท่านวิทยากรทั้งหลาย เช่นท่านที่มาในช่วงใกล้ที่สุดนี้ คือพระอาจารย์ชยสาโร พร้อมทั้งทางคณะนิสิตมีประธานนิสิตมหาจุฬาฯ เป็นตัวแทนที่ได้มาแสดงออกในวันนี้ และท้ายที่สุดแต่สำคัญยิ่ง ก็คือญาติโยมพร้อมทั้งพระสงฆ์ที่มาฟังอยู่ในที่ประชุมนี้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานนี้สำเร็จได้ เพราะฉะนั้นก็ขออนุโมทนาต่อโยมทุกท่านที่มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

ดังที่กล่าวแล้วว่า การมาแสดงมุทิตาจิตนี้ ก็คือการที่เรามีจิตใจพร้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการที่จะเชิดชูธรรม จึงขอให้เรามาร่วมกันในการส่งเสริมเชิดชูธรรมต่อไป เพราะธรรมะนี่แหละจะเป็นที่พึ่งเป็นความหวังที่จะนำมาซึ่งสันติและความสุขที่แท้จริงให้แก่ชีวิตและสังคม

ในโอกาสนี้ ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยเป็นเครื่องอำนวยพรแสดงความปรารถนาดีต่อทุกท่าน ขอทุกท่านจงประสบแต่จตุรพิพิธพรชัย มีความก้าวหน้างอกงามในการดำเนินชีวิต และในการประกอบกิจหน้าที่การงาน ให้ประสบความก้าวหน้าและความสำเร็จ ประสบแต่สิ่งที่เป็นสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ.

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมื่อตัวเองมีสุขสมบูรณ์อยู่ข้างใน ก็ไม่มีอะไรต้องทำ นอกจากเที่ยวนำความสุขไปแจกจ่ายให้

No Comments

Comments are closed.