การศึกษาพระพุทธศาสนากับความก้าวหน้าใหม่ๆ ในวงวิชาการของตะวันตก

8 สิงหาคม 2533
เป็นตอนที่ 5 จาก 6 ตอนของ

การศึกษาพระพุทธศาสนากับความก้าวหน้าใหม่ๆ ในวงวิชาการของตะวันตก

แม้ในวงวิชาการทั่วไป ที่เป็นการวิจัยเหนือระดับปริญญาหรือไม่เกี่ยวกับการทำปริญญา ที่เป็นเรื่องของการนำวิชาการมาใช้อย่างกว้างขวาง ก็จะเห็นว่ามีวิวัฒนาการใหม่ๆ ถึงแม้จะไม่ใช่งานที่ว่าด้วยพระพุทธศาสนาอย่างเดียว แต่พระพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลมาก และเป็นเนื้อหาสาระที่สำคัญมาก เหมือนอย่างที่อาตมาได้ยกตัวอย่างไปแล้ว

ยกตัวอย่างการที่ได้มีวิชาจิตวิทยาสาขาใหม่ แต่ก่อนนี้ ในวงการจิตวิทยาตะวันตกเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว จิตวิทยาสาขาที่ครองความสำคัญ มีบทบาทเด่นมาก มี ๒ สาย คือ สาย Psychoanalysis ที่นำโดยท่าน Freud เรียกกันว่าจิตวิเคราะห์ และอีกสายหนึ่ง คือ Behaviorism หรือ พวกพฤติกรรมนิยม

จิตวิทยา ๒ สายนี้ มีความสำคัญโดดเด่นมาก ครองความสำคัญเป็นเจ้าสถาบัน จนกระทั่งมาถึงระยะหลังปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ก็ได้มีจิตวิทยาสาขาใหม่ขึ้นมาโดดเด่น คือ สาย Humanistic อาจจะแปลว่ามนุษยนิยม หรืออะไรก็ตาม

ทีนี้ จิตวิทยาสาขา Humanistic Psychology ก็เจริญขึ้นมา จนกระทั่งว่าได้รับความสนใจมาก มีการติเตียนว่า พวกเก่าๆ นั้นศึกษาจากสัตว์ ต้องทดลองกับสัตว์ หรือทำกับคนที่ผิดปกติ แต่คนที่ศึกษาจิตวิทยาแนวใหม่นี้เอาคนปกติหรือเอาคนที่ดีพิเศษมาศึกษามาวิเคราะห์วิจัย

ต่อจาก Humanistic Psychology ก็แตกแขนงออกไปใหม่ มี Transpersonal Psychology เป็นแขนงแยกออกมา จาก Humanistic Psychology นั้นอีก ซึ่งทางด้านนี้ Maslow มีความสำคัญมาก

Maslow นี่มีบทบาทดีเด่นในจิตวิทยาที่พัฒนามาถึงยุคปัจจุบัน และมีการศึกษา peak experiences โดยสัมพันธ์กับเรื่อง self-actualization แม้แต่ตอนที่แกจะตาย ก็ยังศึกษาเรื่องนี้อยู่

peak experience อะไรพวกนี้ ก็มาสัมพันธ์กับเรื่อง mystic ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นเรื่องของ meditation ไปๆ มาๆ ก็หันมาหาเรื่องของทางตะวันออก หันมาศึกษาเรื่องของพระพุทธศาสนา

Maslow ยังพยายามคิดว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือ Enlightenment นี้ เป็นเรื่องของ peak experience และเป็น self-actualization

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่า พระพุทธศาสนาได้เข้าไปในวงวิชาการของตะวันตก (ที่จริงคือตะวันตกมาเอาพุทธศาสนาเข้าไปศึกษาในวงวิชาการของตน) เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาก็เลยไปมีความสำคัญในวงการจิตวิทยา

ที่จริง พวกนักจิตวิทยาได้สนใจพระพุทธศาสนากันมานานแล้ว ตั้งแต่ C. G. Jung ซึ่งจนกระทั่งจะตาย แกก็ยังศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่ด้วย แล้วก็ Erich Fromm ก็สนใจมากและได้ศึกษาจนเขียนหนังสือออกมาเช่น Zen and Psychoanalysis ดังนี้เป็นต้น

ฉะนั้น แม้แต่พระพุทธศาสนาที่ศึกษากันในวงวิชาการสมัยใหม่ ก็ปรากฏออกมาจากตะวันตก กลายเป็นว่า ฝรั่งมานำหน้าเราไป

ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ทำให้ตะวันตกต้องเปิดรับความคิดใหม่จากตะวันออก

อีกตัวอย่างหนึ่งในปัจจุบันนี้ ก็อย่างที่ Fritjof Capra เอาไปใช้ในวิชาฟิสิกส์ เรียกว่า ฟิสิกส์ใหม่ เขาบอกว่า แนวความคิดวิทยาศาสตร์แบบนิวตันและเดคาร์ตซ์นั้นเก่าไปแล้ว ความคิดวิทยาศาสตร์แบบ Newtonistic และ Cartesian กลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่ให้ภาพที่สมบูรณ์ของธรรมชาติและสัจธรรม

เพราะฉะนั้น เขาก็จะเลิกความคิดแบบที่เรียกว่า แยกซอย หรือแยกส่วนและแบ่งซอย (reductionism) หันมาสู่ holism หรือ แนวความคิดแบบองค์รวม วิทยาศาสตร์ก็เข้ามาสนใจแนวความคิดแบบนี้

แนวความคิดทางฟิสิกส์ใหม่นี้ ก็หันมาสนใจความคิดตะวันออก ซึ่งสนใจพระพุทธศาสนาด้วย

ในหนังสือของ Fritjof Capra ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนาและพูดไว้มาก ในกลุ่มของเขาก็กำลังให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้

แม้แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มบางคน ที่ไม่เห็นด้วยกับ Capra ก็ไม่เห็นด้วยเพียงในแง่รายละเอียดและทางออก แต่ก็ยอมรับอย่างเดียวกันว่า ความคิดแบบแยกส่วนหรือแบ่งซอยหรือ reductionistic view อย่างเก่าที่ถือกันมาในวงการวิทยาศาสตร์นั้น ขาดความสมบูรณ์หรือยังผิดพลาด จะต้องปรับความคิดความเข้าใจพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์กันใหม่

เพราะฉะนั้น เวลานี้จึงพูดกันถึงฟิสิกส์ใหม่ (new physics) บ้าง วิทยาศาสตรใหม่ (new science) บ้าง เช่น อย่างนาย Heinz R. Pagels นักฟิสิกส์คนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับ Capra เมื่อพูดถึงความบกพร่องของ reductionistic view แล้ว แม้จะไม่ใช้คำว่า holism หรือ wholism แต่ก็หันไปใช้คำว่า complexity หรือ complex systems และก็มุ่งไปที่วิทยาศาสตร์ใหม่ ที่เขาเรียกว่า The New Sciences of Complexity

หรืออย่างในทางเศรษฐศาสตร์ก็มี Schumacher ที่เขียนหนังสือ Small is Beautiful ก็มาให้ความคิดทางเศรษฐศาสตร์แนวใหม่ ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดที่ติดกันมาแบบเก่าๆ บางอย่างแบบพลิกตรงกันข้าม ในหนังสือนี้มีบทหนึ่งตั้งชื่อตรงๆ ว่า พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) อย่างไรก็ตาม ในทางเศรษฐศาสตร์นี้อาจจะยังได้รับการยอมรับไม่มากนัก แต่ก็เป็นการบุกเบิกแนวทางใหม่

เมื่อเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน ที่เป็นแบบเก่าไปแล้วนี้ ได้ทำให้เกิดปัญหาและไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ พวกมนุษย์ที่มีปัญญา ก็จะต้องมาใคร่ครวญเรื่องนี้กันอีก เศรษฐศาสตร์แบบเก่านั้นถึงอย่างไรๆ ก็คงไปไม่รอดแน่ งานของชูมาเกอร์ อาจเป็นเพียงการจุดไฟหรือแรงกระตุ้นครั้งแรก

ตะวันออกมีดีเก็บไว้ รอให้ตะวันตกมาเอาไปใช้

อีกด้านหนึ่ง พูดถึงคนทั่วไปในตะวันตกก็สนใจ meditation กันมาก และความสนใจในประเทศฝรั่งนั้น ก็มีอิทธิพลย้อนกลับมาเมืองไทย ดังปรากฏว่าพอฝรั่งหันมาสนใจ meditation คนไทยบางกลุ่มก็ชักสนใจ meditation บ้าง อะไรทำนองนี้

จึงกลายเป็นว่า ถ้าเราจะสนใจวิชาการ แม้แต่เรื่องพระพุทธศาสนาเอง ก็ต้องไปตามฝรั่งมากเหมือนกัน แม้จะไม่ใช่โดยสิ้นเชิง เพราะคนไทยเราก็มีความคิดของเราเองด้วย แต่บางทีคนไทยด้วยกันก็ไม่สนใจ ต้องรอให้ฝรั่งสนใจก่อน

ฝรั่งที่วิจารณ์ตะวันออก (เช่น นาย Arthur Koestler ใน The Lotus and the Robot, 1961) ว่ากันไว้นานแล้วว่า ตะวันออกมีดีเก็บไว้ ก็ไม่รู้จักใช้ ได้แต่รักษาอยู่เฉยๆ ต้องรอให้ตะวันตกมาเอาไปใช้ประโยชน์

เขาว่า ตะวันตกเป็นนักเรียนที่เข้าท่า คือมาศึกษาวิจัยเอาภูมิปัญญา และปรีชาญาณของตะวันออกไปใช้ทำประโยชน์แก้ปัญหาของเขาได้ แต่ไม่มีวาสนาที่จะมาเป็นครู คือจะสอนสั่งให้ความรู้อย่างไร ตะวันออกก็ไม่รู้จักเรียนร่ำนำไปใช้ ได้แต่รอรับตามหลังอยู่เรื่อยไป และแม้แต่ตาม ก็ตามไม่ถูก ตามไม่เป็น ใครสนใจก็ลองไปอ่านหนังสือที่ว่านั้นดู

เอาละ ก็เป็นอันว่า นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในแง่ที่ควรจะได้รับการพิจารณา ซึ่งเราสามารถวิจัยได้ วิจัยเกี่ยวกับสังคมไทย เพื่อความเข้าใจตนเองอย่างหนึ่ง แล้วก็วิจัยในแง่ความสนใจทางวิชาการ อย่างสมัยปัจจุบัน เพื่อช่วยกันแสวงหาแนวทาง หาภูมิปัญญาใหม่อย่างหนึ่ง และเพื่อที่จะแก้ปัญหาของโลก เพื่อสืบต่อสานสร้าง เสริมเติมอารยธรรมของโลกให้เจริญต่อไปได้ ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ซึ่งอาจจะต้องเป็นหัวเลี้ยวใหม่ อย่างที่ได้กล่าวมา

สรุปจุดมุ่งหมาย ๓ ประการ ของการวิจัย

รวมความว่า การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนานี้ อาจจะตั้งจุดมุ่งหมายไว้ ๓ ประการด้วยกันอย่างที่พูดมาแล้ว คือ

(๑) เพื่อให้รู้จักตัวเราเองที่เป็นไทย

(๒) เพื่อเอาไปใช้ในวิชาการสมัยใหม่ ในสาขาต่างๆ เท่าที่เราเกี่ยวข้อง

(๓) เพื่อความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ ที่ว่าจะมีอะไรให้แก่อารยธรรมของโลก หรือไปช่วยแก้ปัญหาของโลก

สำหรับจุดมุ่งหมายที่ ๒ คือ เอาไปใช้ในวิชาการสมัยใหม่นั้น ถ้าเราไม่ทำให้สัมพันธ์กับข้อที่ ๓ แล้วเราจะล่าช้าถอยหลัง หรือว่าล้าหลังมาก เพราะเราจะกลายไปเป็นผู้ตามวิชาการตะวันตกที่เขาเจริญไปแล้ว

เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายตัวแท้ที่จริงจึงอยู่ในข้อที่ ๑ กับที่ ๓ คือ (๑) เพื่อรู้จักไทย และ (๓) เพื่อจะไปเป็นผู้นำ ก้าวขึ้นสู่วงการภูมิปัญญาของโลก ช่วยแก้ปัญหาของโลกได้

ถึงฝรั่งจะนำหน้า ก็มีเรื่องต้องศึกษา ที่ฝรั่งยังไม่ได้วิจัย

ได้พูดมาเป็นเวลายาวนาน จนจะเกินเวลาไปแล้ว ทีนี้ ขอมาสู่หัวข้อบางอย่างที่เป็นเรื่องนิดๆ หน่อยๆ เพราะยังมีเรื่องปลีกย่อยบางประการที่ควรจะพูด คิดว่าได้พูดมาแล้วว่า ฝรั่งได้วิจัยเรื่องพระพุทธศาสนาและสังคมไทยไปมากมาย

เมื่อฝรั่งมาวิจัย เขาก็ต้องมองแบบของเขา บางอย่างในสายตาของเขา เขาก็ไม่เข้าใจเราชัดเจน บางทีก็ถึงกับมองผิดพลาด การที่จะคอยรอคอยเก็บเอาผลงานวิจัยของเขามาใช้จึงไม่เพียงพอ เราจึงควรจะศึกษาของเราให้ชัดด้วย เพื่อประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติของเราเอง

เช่นในการพูดถึงเรื่องสถาบันก็ตาม ความคิดก็ตาม ฝรั่งยังมีอะไรหลายอย่างที่อาจจะเข้าใจไทยเราผิดพลาด เราจึงต้องศึกษาเพิ่มเติม

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องบางอย่างที่ฝรั่งอาจจะยังไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่ทันนึกก็ได้ อย่างเรื่องภาษา หรือถ้อยคำที่เราใช้กันอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

ถ้อยคำที่เราใช้กันในความหมายปัจจุบัน แต่เป็นถ้อยคำเก่าๆ หลายคำมาจากพระพุทธศาสนา แต่ความหมายที่เราเข้าใจกันอยู่ขณะนี้ได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากเดิมแล้ว ความหมายของไทยไม่ตรงกับความหมายในพระพุทธศาสนา ถ้อยคำเหล่านี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะศึกษาได้ดีทีเดียว เราจะได้ประโยชน์ในการรู้เข้าใจสังคมไทยของเรา

ฝรั่งทั่วไป ก็เช่นเดียวกับคนไทยส่วนมาก ไม่รู้ตระหนักถึงความแตกต่างผิดเพี้ยนเหล่านี้ แยกไม่ได้ แยกไม่เป็น เลยเหมาคลุมเอาความหมายที่คนไทยชาวบ้านเข้าใจ เป็นความหมายตามหลักการของพระพุทธศาสนา ทำให้ผลการศึกษาวิจัยในส่วนนี้ออกมา ทั้งผิดพลาด และเข้าไม่ถึงอีกมิติหนึ่งของความจริง แล้วผลงานวิจัยก็ไม่สมบูรณ์

ขอยกตัวอย่าง จากภาษาที่เราใช้กันอยู่ ซึ่งเป็นส่วนของวัฒนธรรมและเป็นสถาบันนี้ ใช้เป็นสื่อโยงกลับไปหาตัวหลักธรรมคำสอนเดิม แล้วมันจะบ่งชี้ว่า ในสังคมไทยนี้ได้เกิดอะไรขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในความหมายถึงได้เป็นอย่างนี้

– ชาวบ้านยังควรเมตตาพระ ทำไมเด็กจะไม่ควรเมตตาผู้ใหญ่

ยกตัวอย่างเช่นคำว่า “เมตตา”
เมตตานี้แปลว่า ความรัก ความปรารถนาดี

ในสังคมไทยเราเข้าใจกันว่า เมตตานี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก เราพูดว่าผู้ใหญ่เมตตาต่อเด็ก แม้แต่พรหมวิหารทั้งหมด เราก็บอกว่าเป็นธรรมของผู้ใหญ่ บอกให้ผู้ใหญ่มีธรรมข้อนี้

แต่ในหลักธรรมเดิมที่เป็นของแท้นั้น แน่นอนว่า เมตตานี้เป็นธรรมต่อกันระหว่างมนุษย์ทุกคน คือ ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นให้เขามีความสุข ผู้ใหญ่ก็เมตตาต่อเด็ก เด็กก็ต้องเมตตาต่อผู้ใหญ่

มีหลักธรรมสอนไว้ว่า ให้ฆราวาส ญาติโยม กุลบุตร มีเมตตาต่อพระสงฆ์ เรียกว่าปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยเมตตากายกรรม ด้วยเมตตาวจีกรรม ด้วยเมตตามโนกรรม

เมตตาไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะของผู้ใหญ่ ที่จะพึงมีต่อเด็กเท่านั้น มันเป็นเรื่องของมนุษย์ต่อมนุษย์ หรือว่ามนุษย์ต่อสัตว์ คือชีวิตร่วมโลกทั้งหมด

แต่สังคมไทยไปยังไงมายังไงไม่รู้ เมตตากลายมาเป็นธรรมของผู้ใหญ่

นี่มันบ่งชี้ว่า ต้องมีอะไรเป็นเรื่องพิเศษที่ได้เกิดขึ้นในสังคมของเรา

– คนไทยเพียรทำดีด้วยมานะ แต่พระให้ใช้ฉันทะทำความดี

อีกตัวอย่างหนึ่งคำว่า “มานะ”

มานะนี้พูดกันบ่อย มานะในสังคมไทยเราแปลว่า ความเพียรพยายาม ตั้งใจจริง ขยันหมั่นเพียร เช่น จงมานะอดทน เรียนหนังสือไป ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต อะไรทำนองนี้ ว่ากันมานาน

ทีนี้หันไปดูในทางธรรม มานะมาจากบาลีแน่นอน แต่มานะในบาลีไม่ได้แปลอย่างไทย

มานะในบาลีแปลว่า ความถือตัว ถือตัวเองสำคัญ แปลว่า ความอยากเด่น ความอยากใหญ่ ความอยากเด่นประดุจธง ท่านว่าอย่างนั้น คือจะต้องให้ตัวฉันยิ่งใหญ่ เด่นดัง และสำคัญกว่าคนอื่น

เวลาให้ความหมาย ท่านแปลมานะว่า เกตุกัมยตา หมายถึงความปรารถนาที่จะเป็นดังธง คือ ชูธง หรือ เด่น

แล้วทำไมในสังคมไทย มานะจึงกลายเป็นความเพียรพยายาม?

มันอาจจะเป็นได้ไหมว่า คนไทยเราใช้มานะ เป็นตัวปลุกเร้าให้เกิดความขยันหมั่นเพียร

ถ้าวิเคราะห์ตามหลักทางพระพุทธศาสนา ท่านว่าอกุศลธรรม เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมได้

มานะนี้ในทางบาลี และในทางธรรมถือว่าเป็นกิเลส กิเลสเป็นสิ่งที่จะต้องละ มานะเป็นสังโยชน์ มานะ คือความถือตัว เป็นกิเลส เป็นอกุศล ท่านสอนให้ละ ให้กำจัดให้หมดไป

แต่คนเราเอามานะมาปลุกใจได้นะ แล้วมันก็ปลุกได้ดีเสียด้วย พอปลุกว่า “เขาแค่นั้นยังทำได้ เธอแค่นี้ทำไมทำไม่ได้” เอาแล้วซิ! พอโดนปลุกอย่างนี้มานะก็เกิด คือตัวฉันจะต้องยิ่งใหญ่กว่า สำคัญกว่า จะแพ้ไม่ได้ ยอมไม่ได้ จากนั้นก็เกิดเรี่ยวแรงเพียรพยายามทำ สู้เต็มที่

อันนี้เรียกว่ามานะโยงกับความเพียร มีเค้าอยู่

ทำไมมานะที่แปลว่า อยากใหญ่ มันจึงกลายมาเป็นความเพียร?

ก็เพราะเราใช้มานะนี้ เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้เพียรพยายามใช่หรือเปล่า?

ทีนี้ ความหมายในทางวัฒนธรรมก็คือ มันอาจจะส่อว่า สังคมไทยนี้ได้เอามานะมาใช้เป็นตัวเร้าความเพียรจนเคยชิน จนกระทั่งมีคำกล่าวในทำนองว่า “จงมานะพากเพียรเล่าเรียนไป จะได้เป็นใหญ่เป็นโต” มันส่อแสดงว่าเราได้เอาความอยากใหญ่โต อยากเป็นเจ้าคนนายคน มาเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้คนเพียรทำดี

ทำไมเอากิเลสมาใช้ ทั้งๆ ที่ในพระพุทธศาสนา ท่านให้ละกิเลส?

พระพุทธศาสนา ท่านให้เพียรพยายามด้วยฉันทะ แต่เราลืมเลย คำว่า ฉันทะ นี้ ในสังคมไทยไม่พูดถึง ใช่หรือเปล่า? แทบจะหายไปเลย นอกจากคนที่สนใจธรรม ไปเรียนเรื่องอิทธิบาท ไปเจอฉันทะเข้าแต่ก็ไม่โยงมาหาเรื่องนี้

ถ้าไม่ศึกษาอย่างนี้ เราจะไม่ได้เห็นเลยว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร วัฒนธรรมของเราสืบต่อและผันแปรมาอย่างไร เรารับเอาศัพท์ธรรมจากบาลีมาแล้วเอามาใช้อย่างไร กลายความหมายไป จนกระทั่งมานะที่เป็นกิเลสกลายเป็นของดีไป

– วาสนาท่านให้ปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่มีไว้สำหรับแข่งขัน

อีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น วาสนา

วาสนานี้ พระอรหันต์ท่านละได้ แต่ไม่หมด พระพุทธเจ้าละได้หมด เราทุกคนก็ควรจะต้องพยายามแก้ไข ละวาสนา

แต่ในสังคมไทยเห็นว่าวาสนาเป็นสิ่งดี “โอ้! คนนี้ดี มีวาสนา” “อย่าไปแข่งบุญแข่งวาสนาไม่ได้”

ชอบพูดกันนักว่า “แข่งอะไรแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนา แข่งไม่ได้”

พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้สอนให้แข่งกันในเรื่องบุญวาสนา ไม่ต้องไปแข่งหรอก เราทำของเราเอง วาสนาท่านให้ละเสียด้วยซ้ำ

ทีนี้ ความจริงเป็นอย่างไร?

วาสนาก็คือ การที่ได้สั่งสมอบรมพฤติกรรมของตน ในแนวทางนั้นๆ จนเคยชิน จนกลายเป็นลักษณะประจำตัว จนกระทั่งทำไปเองโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นอย่างนั้น

อย่างเช่น คนหนึ่งพูดลักษณะนุ่มนวล อีกคนหนึ่งพูดกระโชกโฮกฮาก คนหนึ่งเดินเก้งก้างๆ อีกคนหนึ่งเดินนิ่ม เดินกระชดกระช้อย อะไรต่างๆ นี้

ลักษณะอาการประจำตัวของแต่ละคนนี้ไม่เหมือนกัน บางทีเราเรียกว่า บุคลิกภาพ ซึ่งก็เกิดจากการสั่งสม ทำเคยชินจนกระทั่งว่าไม่รู้ตัว ไม่เฉพาะการกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเท่านั้น แม้แต่ลักษณะแนวโน้มของจิตใจที่เกิดจากการสั่งสม เราสั่งสมความสนใจของเราไว้ คิดนึกอย่างนี้ไว้ ต่อมา มันก็มีลักษณะสนองตอบต่อสิ่งเร้า เป็นแบบของตัวเอง เป็น pattern ของตัวเอง นี่ก็เป็นวาสนาของบุคคลนั้นๆ

ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ทั้งทางความคิดจิตใจ ทางวาจา ทางกาย พฤติกรรมต่างๆ ที่สั่งสมอบรมมาจนกระทั่งเป็นลักษณะประจำตัวของแต่ละคน นี้เรียกว่าเป็น วาสนา

อาจจะให้ความหมายอย่างหนึ่งว่า วาสนา คือ พฤติกรรมและรูปแบบความคิดความสนใจ ที่เป็นไปเพียงตามความเคยชิน โดยไม่อยู่ในความควบคุมของสติปัญญา

คนมีวาสนาอย่างไร ลักษณะอาการแสดงออกที่เป็นวาสนาของเขาอย่างนั้นก็จะเป็นตัวกำหนด ที่จำกัดขอบเขตการสัมพันธ์ของเขากับผู้อื่น และไปจำกัด ไปมีอิทธิพลต่อปฏิกิริยาจากผู้อื่นต่อตัวเขาเอง แล้วก็จะมีผลต่อวิถีชีวิตของเขา เช่น ต่อความก้าวหน้าของชีวิตด้วย วิถีชีวิตของเขาจะถูกตัววาสนานี้ไปจำกัดและมีอิทธิพล

แต่ในภาษาไทย เรามองวาสนาในแง่เป็นผลได้ แทนที่จะมองเป็นตัวของมันเอง ซึ่งเป็นฝ่ายเหตุปัจจัยมากกว่าเป็นผล

วาสนานี้ ว่ากันไปแล้วมันก็คือบุคลิกภาพนั่นเอง แต่มันมีความหมายในทางแสดงผลมากกว่า คือ ไม่ได้มีความหมายแค่ลักษณะประจำตัวของผู้นั้นเท่านั้น แต่มันกินความหมายไปถึงการที่สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อวิถีชีวิตของเขาด้วย

จริงหรือไม่ คนที่มีลักษณะพูดจากับใครไม่ใคร่ยั้งคิด หรือพูดขวานผ่าซากอะไรอย่างนี้ ลักษณะพฤติกรรมของเขาอย่างนั้น ก็ไปกำหนดวิถีชีวิต หรือชะตากรรมของเขา

คนที่พูดนิ่มนวล รู้จักพูด ทำให้คนสบายใจ เวลาใครมีปัญหาแตกแยกกัน คนอื่นๆ ก็พากันนึกถึงเขา บอกว่าไปเอาคนนี้มานะ เพราะว่าเขาพูดเก่ง จะทำให้คนสมานสามัคคีกันได้ เราก็ต้องการคนอย่างนั้น

นี่วาสนาเป็นตัวกำหนด มันทำให้คนอื่นมีความรู้สึกต่อเขาอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร แล้วทำให้เขามีบทบาทในสังคมอย่างนั้น มีวิถีชีวิตอย่างนั้น มีขอบเขตของความเจริญก้าวหน้าแบบนั้น แค่นั้น กำหนดอะไรต่างๆ ไปหมดหรือมากทีเดียว

วาสนาคือสิ่งนี้ แต่คนไทยเรามองวาสนาเป็นอะไรไปก็ไม่ทราบ คล้ายๆ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลอยมาจากข้างนอก แทนที่ว่าวาสนาจะอยู่ที่ตัวเราแต่ละคนสั่งสมเอาเอง

วาสนานี้ท่านบอกว่าแก้ได้ แต่แก้ยากมาก ท่านบอกว่า แม้แต่พระอรหันต์ก็แก้ได้เฉพาะวาสนาที่จะพาให้เกิดผลเสียหายมากๆ ที่เป็นบาป แต่วาสนาบางอย่างแก้ไม่ได้ พระอรหันต์บางองค์ทั้งๆ ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เวลาพูดก็ยังมีท่วงทำนองการพูดและใช้ถ้อยคำที่ดุ หรือไม่นิ่มนวล

ยกเว้นแต่พระพุทธเจ้า ซึ่งทรงแก้วาสนาได้หมด เป็นผู้ละวาสนาได้ทั้งหมด มีพฤติกรรมอยู่ในความควบคุมของสติปัญญาโดยสิ้นเชิง

คนไทยชอบพูดตามกันมาว่า แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ แต่พระพุทธศาสนาบอกว่า วาสนามีไว้สำหรับปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่มีไว้สำหรับแข่งขัน และในขั้นสุดท้าย จะต้องละวาสนาทั้งหมดด้วยซ้ำ โดยจะต้องให้พฤติกรรมทุกอย่าง ดำเนินไปตามการบังคับบัญชาของสติปัญญา

อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เราจะต้องศึกษาสิ่งเหล่านี้ว่า ในสังคมไทยมันมีการแปร และการกลายไปได้อย่างไร

– บารมี สังเวช ฯลฯ ล้วนเคลื่อนคลาดไปตามกัน

คำว่า บารมี ก็เหมือนกัน

บารมี ในทางธรรม เป็นตัวเหตุ ตัวสิ่งที่เราต้องกระทำเพื่อให้เกิดผล แต่ในสังคมไทยมาเน้นที่ผลใช่ไหม? คือ คนที่มีบารมี เราหมายความว่า เขามีสภาพผลที่เขาจะไปมีอิทธิพลต่อคนอื่นได้ เช่น มีเงิน มีอำนาจ มีกำลังต่างๆ พร้อมอยู่แล้ว

แต่บารมีในทางธรรม หมายถึงตัวเหตุ สิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ

คือ เราจะต้องทำบารมี (ไม่ใช่มีบารมี)

บารมี คือคุณธรรมแต่ละอย่าง ที่ทำอย่างสุดยอด อย่างเช่นว่า มี ขันติ ก็ต้องอดทนกันจนถึงที่สุด ใครจะฆ่า จะฟันก็ยอม ถ้ามี สัจจะ ก็ถือกันจนกระทั่งว่ายอมเสียชีวิตเพราะสัจจะ ถ้าบำเพ็ญ ปัญญา ก็ต้องแสวงหาความรู้และใช้ปัญญาแก้ปัญหากันไปให้ได้ผลอย่างเต็มที่ อะไรอย่างนี้

ในบาลี บารมี เป็นเรื่องของการกระทำ ในภาษาไทยเราถือเอาที่ผลซึ่งตนมี กลายเป็นกำลังหรืออิทธิพลที่จะเอาไปใช้ต่อผู้อื่น

หรือ สังเวช นี้ ในภาษาบาลีหมายถึง ปลุกใจ หรือ ปลุกเตือนจิตสำนึก เร้าใจให้ได้คิด ไปพบอะไรเข้า แม้แต่ความตาย ก็ต้องให้ได้ความคิด ที่จะมาเร่งเตือนตนให้ไม่ประมาท เร่งขวนขวายทำความดี

พอมาเมืองไทยนานๆ เข้า ถึงเวลานี้ สังเวชกลายเป็นความสลดหดหู่ใจ หมดแรง หรืออะไรอย่างนั้น

จะเห็นว่า แม้แต่ตัวถ้อยคำที่แสดง concept ต่างๆ นี้ ก็เป็นเรื่องที่ส่อสภาพสังคม และความเป็นมาของสังคม แสดงถึงความคิด ความเข้าใจ และระบบพฤติกรรมที่ผสมผสานหรือแฝงตัวอยู่ในวัฒนธรรม ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เรื่องของไทย ถ้าศึกษาให้ดี ก็ขยายเวทีเป็นการศึกษาเรื่องสากลถึงจะเป็นนักวิชาการไทย แต่อาจอยู่ใต้กรอบความคิดแบบฝรั่ง >>

No Comments

Comments are closed.