เรื่องของไทย ถ้าศึกษาให้ดี ก็ขยายเวทีเป็นการศึกษาเรื่องสากล

8 สิงหาคม 2533
เป็นตอนที่ 4 จาก 6 ตอนของ

เรื่องของไทย ถ้าศึกษาให้ดี
ก็ขยายเวทีเป็นการศึกษาเรื่องสากล

ทีนี้หันมาพูดถึงการศึกษาเรื่องของไทย สังคมไทย หรือสิ่งที่ไทยมี ไทยรู้

การศึกษาเรื่องของไทยนั้น ถ้าศึกษาให้ดีแล้วมันไม่ใช่เป็นการศึกษาเฉพาะเรื่องไทยเท่านั้น แต่มันจะขยายวงออกไป เป็นการศึกษาเรื่อง Southeast Asia คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วขยายออกไปเป็นการศึกษาเรื่องเอเชียทั้งหมด ตลอดจนเป็นการศึกษาเรื่องตะวันออกทั้งหมด

จากการศึกษาที่จุดเริ่มในเรื่องของไทยนี้ ถ้าศึกษาให้ดี วางท่าทีและแนวคิดให้ถูกต้อง ก็จะขยายออกไปสู่ความเป็นสากลได้ด้วย เพราะสิ่งที่ไทยรับมาและมีอยู่ในรากฐานทางวัฒนธรรมไทยของเรานั้น เป็นสิ่งที่เป็นสมบัติกลางของอารยธรรมของโลกด้วย

เช่นอย่างพระพุทธศาสนานี้ เข้ามาสู่สังคมไทย กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยก็จริง แต่ตัวเนื้อหาสาระที่เข้ามานั้น เข้ามาเพราะอะไร ก็เพราะมันเป็นของกลาง เราจึงเอาเข้ามา รับเข้ามาสู่สังคมท้องถิ่นของเรา แต่สาระของมันนั้นเป็นส่วนที่ขยายออกไป โยงออกไปเชื่อมกัน สัมพันธ์เป็นอันเดียวกันกับส่วนที่เป็นกลาง เป็นสมบัติส่วนรวมของอารยธรรมของโลก

ฉะนั้น ถ้าเราศึกษาให้ดีแล้ว การศึกษาเรื่องของไทยนี้แหละ ก็จะขยายออกไปสู่ความเข้าใจเรื่องของตะวันออก และเรื่องของโลกทั้งหมด ตลอดจนจะทำให้ก้าวไปถึงขั้นที่บอกเมื่อกี้ว่า เราจะสามารถมองเห็นอะไรที่ไทยเรามีซึ่งเป็นของดีที่เราจะให้แก่ผู้อื่นได้

การศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อความเข้าใจสังคมไทย

แง่ต่อไป เรื่องของไทยนี่ศึกษาไปศึกษามา ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่า เมื่อฝรั่งมาทำวิจัยเรื่องสังคมไทย ส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งจะต้องมีส่วนร่วมอยู่ในเรื่องที่วิจัยด้วยไม่พ้นเลย ก็คือ พระพุทธศาสนา ตอนนี้เราจึงหันเข้ามาสู่การศึกษาพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาที่เราศึกษากันนี้ เราศึกษาอย่างไร โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ตอนนี้แหละที่เราเข้าสู่หัวข้อที่ว่า “มหาวิทยาลัยกับการวิจัยทางพระพุทธศาสนา”

การที่เรามาวิจัย หรือศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนานั้น มีแง่มุมอย่างน้อย ๒ ประการ

ประการที่หนึ่ง ก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่พูดมาแล้ว คือ เราศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อความเข้าใจสังคมไทย ทั้งนี้เพราะเรายอมรับว่า พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทย และของสังคมไทย

ในการศึกษาเรื่องของพระพุทธศาสนานั้น ในแง่ที่เกี่ยวกับสังคมไทย ก็มีแง่มุมให้ศึกษาหลายอย่าง ด้านหนึ่งก็คือการศึกษาในแง่สถาบัน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม เรื่องของวัดวาอาราม กิจการคณะสงฆ์ ตลอดจนประวัติศาสตร์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญมาก ในการที่จะเข้าใจสังคมไทย

อีกด้านหนึ่งที่จำเป็นจะต้องศึกษา เพื่อความลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ สิ่งที่เป็นรากฐานอย่างแท้จริง ได้แก่ เรื่องความคิด เรื่องภูมิปัญญาอะไรต่างๆ และเรื่องของจิตใจนั่นเอง

ทั้งหมดนี้เราใช้คำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภูมิธรรม ภูมิปัญญา สาระในส่วนนี้จะทำให้เราต้องศึกษาลึกเข้าไปถึงเนื้อหา หลักธรรม คำสอน อะไรต่างๆ ด้วย

ขอให้ดูงานของฝรั่งที่ศึกษาเรื่องของไทยต่างๆ ที่พูดมาแล้วนั้น ซึ่งมีเรื่องพระพุทธศาสนามากมาย เขาก็ศึกษาปนกันไป ทั้งในแง่ของสถาบัน และการพยายามที่จะสืบค้นหารากฐานและหลักฐานที่อยู่ในตัวหลักธรรมคำสอน เช่นสืบค้นว่าอะไรที่ทำให้สถาบันเป็นแบบนี้ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หรืออาณาจักรกับพุทธจักร ว่าเป็นไปในรูปไหน และที่เป็นอย่างนั้นมาจากรากฐานคำสอนอย่างไร หรือเป็นเพราะจับคำสอนมาตีความในลักษณะไหน หรือเน้นในจุดใด อะไรต่างๆ เหล่านี้

อันนี้เป็นด้านที่หนึ่ง คือการศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อความเข้าใจสังคมไทย

สถานการณ์ของโลก ที่โยงฝรั่งไปหาการศึกษาพระพุทธศาสนา

ประการที่สอง เป็นด้านที่กว้างออกไป คือการศึกษาพระพุทธศาสนา โดยโยงกับสถานการณ์ของโลก ตลอดจนแนวโน้มของสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ก็อย่างที่กล่าวในตอนต้นแล้วว่า เราจะต้องมองให้กว้างออกไปในสังคมโลกหรือมนุษยชาติทั้งหมด

ขณะนี้โลกได้เจริญมามาก โดยมีประเทศตะวันตกเป็นผู้นำ เราเรียกประเทศเหล่านี้ว่า เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (สมัยก่อนเรียกว่าอารยประเทศ) แม้จะมีประเทศตะวันออกบางประเทศที่สามารถขึ้นไปสู่ระดับนี้ได้ อย่างประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เราก็ให้จุดเน้นไปที่ประเทศตะวันตก

ทีนี้การพัฒนาของโลก ที่ประเทศพัฒนาแล้วในวัฒนธรรมตะวันตกเป็นผู้นำนี้ ในปัจจุบันได้ประสบสภาพที่เรียกว่า “ถึงจุดตีบตัน” หรือ “จุดหักเลี้ยว” เพราะมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมาก เนื่องจากการพัฒนานั้น จนกระทั่งว่าแม้แต่องค์การสหประชาชาติ ก็ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณา และยอมรับว่าการพัฒนาในยุคที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการผิดพลาดไปแล้ว แล้วก็เห็นชอบตามข้อเสนอของยูเนสโก ประกาศให้ พ.ศ. ๒๕๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็น The World Decade for Cultural Development คือเป็น ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรม โดยมีหลักการสำคัญว่า ให้เอาวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลาง เป็นแกนกลางของการพัฒนา พร้อมทั้งลดบทบาทและความสำคัญของวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

แนวความคิดที่ก้าวหน้าในตอนนี้ก็คือ เขามองเห็นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การมุ่งความเจริญทางด้านวัตถุ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทใหญ่นี้ ทำให้เกิดปัญหามาก และจะไม่สามารถนำไปสู่จุดหมาย คือสันติสุขของโลกอย่างแท้จริง แต่จะต้องติดตันอย่างแน่นอน และจะมีปัญหาร้ายแรงถึงขั้นที่เป็นความพินาศย่อยยับของมนุษยชาติด้วย

โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ปัญหาได้ปรากฏให้เห็นประจักษ์แล้วในทุกด้าน อย่างที่บอกข้างต้นแล้วว่า ปัญหาชีวิตของมนุษย์ก็หนักทั้งด้านกายและใจ ปัญหาสังคมก็เต็มที่ อย่างอเมริกานี้ก็มีปัญหาในด้านนี้ชัดเจน ซึ่งเป็นตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้ว

เราได้ยินเรื่องโรคเอดส์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทางกายก็เริ่มดังที่อเมริกา แล้วก็เรื่องปัญหาจิตใจ เรื่องคนเสียสติ เรื่องโรคประสาท คนเป็นโรคจิต คนฆ่าตัวตายมาก เป็นโรคเครียดมาก ก็ที่อเมริกา

ปัญหาสังคมอย่างหนักในปัจจุบัน เช่น ปัญหายาเสพติด ก็มีการติดโคเคน ติดแครคส์ จนกระทั่งในอเมริกาเวลานี้ โรงพยาบาลถึงกับมีการจัดแผนกพิเศษ สำหรับเด็กคลอดใหม่ ที่เป็นลูกของคนติดยาเสพติด เพราะติดยากันมาตั้งแต่อยู่ในท้อง

มีการพูดกันในทำนองว่า ยังไม่เห็นลู่ทางว่า อเมริกาจะแก้ปัญหายาเสพติดได้ และปัญหายาเสพติดนั้น มันก็โยงไปถึงปัญหาของจิตใจนั่นเอง เพราะไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาจิตใจเช่นแก้เครียดได้อย่างไร ก็หันไปหายาเสพติด จิตใจไม่มีความสุข ไม่มีความเบิกบานผ่องใส หาความหมายของชีวิตไม่ได้ ก็เลยต้องพึ่งยาเสพติด

ต่อจากปัญหาสังคม ก็คือปัญหาธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เช่น ปัญหา greenhouse effect ปัญหา ozone layer มีช่องโหว่มาก เรื่องอุณหภูมิในโลกสูงขึ้น เรื่องดิน น้ำ อากาศเสีย มลภาวะ มลพิษอะไรต่างๆ สารพัด

เรื่องป่าไม้กำลังจะหมดไป เรื่องฝนน้ำกรดไปทำลายชีวิตสัตว์ในทะเลแล้วก็ทำลายป่าไม้ด้วย ปัญหาการตัดป่าในประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนฝรั่งไม่ค่อยตัดป่า เขารักษาป่าดี แต่ก็มีมลภาวะไปทำลายแทน

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาสำคัญๆ ทั้งนั้น

เดี๋ยวนี้การที่ฝรั่งหันมาสนใจพระพุทธศาสนา ก็เน้นที่ปัญหาทางจิตใจ ไม่ใช่แค่ปัญหาทางความคิด คือ สภาพจิตได้ฟ้องว่า การแสวงหาความสุขจากวัตถุและเทคโนโลยีนั้น ไม่สำเร็จผลแท้จริง ก็เลยหันมาสนใจทางด้านจิตใจ

การศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อแก้ปัญหาของสังคมโลก

ทีนี้ การแก้ปัญหาด้านจิตใจที่ได้รับความสนใจมาก ก็ปรากฏว่าเป็นเรื่องของศาสนาและปรัชญาตะวันออก ปรากฏว่าในช่วง ๓-๔ ทศวรรษที่ผ่านมานี้ พวกคนตะวันตกได้หันมาสนใจเรื่องปรัชญา และศาสนาตะวันออกกันมาก

ความจริงศาสนา ปรัชญาตะวันออกเข้าไปในประเทศตะวันตกนานแล้ว ตั้งแต่ Zen เข้าไป แล้วต่อมาก็มีโยคะ แล้วก็มีพวกพุทธศาสนานิกายวัชรญาณของทิเบต ซึ่งกำลังเฟื่องฟูมาก ในอเมริกาปัจจุบันนี้ ฝรั่งหันมาสนใจสมาธิ หรือ meditation ค้นคว้าเรื่องจิตใจ แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็พลอยหันมาสนใจด้านจิตมากขึ้น ในทางจิตวิทยาก็เกิด transpersonal psychology ซึ่งเป็นจิตวิทยาที่รุ่งเรืองขึ้นมาในระยะหลังนี้ มีการสนใจเรื่อง meditation สนใจเรื่อง peak experiences อะไรทำนองนี้ เรียกว่าหันมาสนใจเรื่องทางจิตใจนั่นเอง

อีกเรื่องหนึ่ง ในแง่ของความคิดก็คือ ความพยายามที่จะหาทางออกในการแก้ปัญหาว่า เราจะแก้ปัญหาของโลกนี้ได้อย่างไร แล้วก็ได้เกิดแนวความคิดใหม่ๆ ในการที่จะเปลี่ยนกระแสความเจริญของโลก เริ่มตั้งแต่ข้อสงสัยว่า แนวทางการพัฒนาควรจะไปในทิศทางใด

ได้เกิดความแคลงใจและตั้งคำถามกันขึ้นว่า แนวความคิดของตะวันตกนั้น คงจะไม่สมบูรณ์เสียแล้ว หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะพลาด แล้วก็หันมาสนใจศึกษาแนวความคิดอื่นๆ หันมาศึกษาแนวความคิดของตะวันออก แม้แต่วิทยาศาสตร์ ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน

จะเห็นว่า พวกนักฟิสิกส์ ซึ่งเป็นคนชั้นนำในวงการวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ก็หันมาสนใจในเรื่องแนวคิดทางฟิสิกส์แบบใหม่ เกิดฟิสิกส์แบบใหม่ขึ้นมา เช่น เมื่อมีหนังสือออกมาเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ๆ ในระยะหลังๆ นี้ คนอเมริกันก็ตื่นกันมาก ตัวอย่างเช่น Fritjof Capra ออกหนังสือ The Tao of Physics ว่าด้วย แนวคิดทางฟิสิกส์อย่างใหม่ ก็ได้เป็นหนังสือขายดีที่สุดหรือ best seller และต่อมาก็มีหนังสือ The Turning Point ออกมาอีก ซึ่งได้ชี้แจงให้เห็นว่าการพัฒนาถึงจุดหักเลี้ยวอย่างไร

อันนี้ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นความเปลี่ยนแปลงในอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งปรากฏชัดในความเปลี่ยนแปลงทางวิชาการ ซึ่งก็เป็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาทั้งหมดด้วย

เราจะต้องทำการพัฒนากันในทิศทางใหม่ หรืออย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า อาจจะถือว่าหมดยุคของการพัฒนา แล้วก็อาจจะต้องทำอะไรสักอย่าง ที่เป็นไปตามแนวความคิดใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหาของโลกได้

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็เป็นจุดที่ทำให้ชาวตะวันตกเกิดความสนใจในพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในความคิดของตะวันออก ซึ่งสอดคล้องกันและช่วยชี้แนะให้ประโยชน์แก่แนวความคิดใหม่ๆ เหล่านั้น

เป็นอันว่า จุดที่ทำให้สนใจพระพุทธศาสนากันมากในประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบัน ก็คือเริ่มตั้งแต่ปัญหาจิตใจ ไปจนถึงการแสวงหาภูมิปัญญา หรือแนวความคิดใหม่ๆ เหล่านี้

วิทยาศาสตร์เริ่มคลายเสน่ห์

ในปัจจุบันนี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้จะยังมีความสำคัญอยู่ ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น มีคนจำนวนมากที่เกิดความผิดหวังต่อวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วนี่ บางพวกถึงกับต่อต้านเทคโนโลยี

เราจะเห็นว่า ในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศอเมริกา ได้มีการตั้งกลุ่ม ตั้งสมาคมต่อต้านเทคโนโลยี โดยเรียกร้อง หรือชักชวนกันให้หันกลับไปใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น การทำการเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ ในตอนนี้ก็เริ่มตื่นกันขึ้นมา เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหักแนว อย่างไรก็ตาม อันนี้ก็เป็นเรื่องของปฏิกิริยาที่อาจจะเป็นไปได้ ในระหว่างที่กำลังแสวงหาทางกัน คืออาจจะเป็นสุดทางที่ตรงกันข้าม

พวกหนึ่งก็ยังยืนหยัด ที่จะฝากชะตากรรมไว้กับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ บอกว่า ถึงแม้โลกนี้จะเกิดปัญหาก็ช่างมัน เราจะไปสร้างสถานีอวกาศอยู่ แล้วก็จะไปพัฒนาโลกพระอังคาร

พวกนี้เขาหวังว่า จะไปทำโลกพระอังคารให้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์แทนโลกนี้ ถึงแม้โลกนี้จะพินาศสูญเสียด้วยปัญหาสังคม ปัญหาสงครามนิวเคลียร์ ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย ก็ไม่เป็นไร เราพากันไปด้วยยานอวกาศ ไปอยู่ในโลกพระอังคารได้ พวกนี้เขาเรียกว่า พวกบ้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อีกพวกหนึ่งไม่เอาเลย บอกว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ไม่ได้เรื่องหรอก ทำให้พวกเราประสบปัญหาดังปัจจุบันนี้ จนย่ำแย่ มนุษยชาติจะพินาศแล้ว เพราะฉะนั้นไม่เอาละ พวกนี้ต่อต้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่เลย ไม่ใช้สักอย่าง จะอยู่ตามธรรมชาติ กลับไปอยู่ในสังคมแบบเกษตร

แต่ในสภาพปัจจุบัน เรามองเห็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ยังไม่ได้หมดความสำคัญ แต่จะมีแนวความคิดใหม่ๆ ในทางวิทยาศาสตร์ บางคนพูดว่า แม้แต่ความคิดพื้นฐานในทางวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะต้องเปลี่ยน ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ อาจจะต้องเปลี่ยนการที่จะต้องใช้วิธีเก็บข้อมูล ทดลอง ยอมรับแต่ความจริงที่เห็นได้ อะไรต่างๆ นี้ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

อยากจะพูดว่า ยุคต่อไปนี้ อาจไม่ใช่ยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหมดบทบาทลง แต่มันจะเป็นยุคที่คนจะอยู่เหนือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังมีความสำคัญอยู่ แต่ท่าทีของมนุษย์ต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป มนุษยชาติแต่ก่อนหวังพึ่ง หรือปล่อยให้ความเจริญของอารยธรรมของเรานี้ ขึ้นต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเต็มที่ ฝากความหวังไว้โดยสิ้นเชิง กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่บัดนี้ เรากำลัง “หายหลง” หรือ “เลิกคลั่งไคล้”

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะว่าหมดเสน่ห์ ก็ไม่ถึงกับหมด แต่มันคลายเสน่ห์ ฝรั่งว่าเกิด disenchantment

คือมนุษย์จะคลายหลง เลิกคลั่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นคนมีเหตุมีผล และมีท่าทีที่เป็นวิทยาศาสตร์ต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น จะรู้ตระหนักถึงขอบเขตของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และก็มองเห็นว่า ยังมีส่วนอื่นของมนุษย์หรือของชีวิตที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่สามารถทำให้ได้

ถึงตอนนี้เราจะเริ่มมีปัญญา ที่มองเห็นความจริงเด่นชัดขึ้น แล้วการพัฒนาของมนุษย์ก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ก็เป็นอันว่า เราอาจจะมาถึงยุคที่ต้องรู้จักควบคุม หรืออยู่เหนือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้หมดความสำคัญไป แต่เรารู้จักใช้อย่างถูกต้อง และรู้จักที่จะมีชีวิตที่เป็นอิสระได้ โดยไม่ต้องขึ้นต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ความสนใจที่นำไปสู่การวิจัยทางพระพุทธศาสนา

ในการแสวงหาทิศทางและแนวความคิดใหม่ๆ เหล่านี้ เพื่อแก้ปัญหาของโลก คนหรือปัญญาชนในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่ง ก็ได้หันมาสนใจพระพุทธศาสนา

ฉะนั้น จุดที่เราจะทำการวิจัยทางพระพุทธศาสนา จึงมี ๒ ด้าน

ด้านที่ ๑ อย่างที่กล่าวมาแล้ว คือ การศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อความเข้าใจสังคมไทย และเพื่อประโยชน์ของสังคมไทยเอง

ด้านที่ ๒ คือ การศึกษาพระพุทธศาสนาในแง่ที่เป็นจุดสนใจของวงวิชาการของโลก หรือของปัญญาชนยุคปัจจุบัน ในแง่ที่จะก้าวไปช่วยแก้ปัญหาของโลกทั้งหมด หรือเพื่อร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก

สิ่งที่จะต้องศึกษาในการวิจัยทางพระพุทธศาสนา
เพื่อความเข้าใจและเพื่อพัฒนาสังคมไทย

สำหรับด้านที่ ๑ การวิจัยทางพระพุทธศาสนาในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันชั้นนำ ที่จะต้องทำการด้านนี้ ก็คือ

แง่ที่ ๑ ศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานและเป็นองค์ประกอบของสังคมและวัฒนธรรมไทย

แล้วก็ศึกษาในแง่ว่า พระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลอะไรต่อสังคมไทย และมีบทบาทอย่างไรในสังคมไทย เมื่อเข้ามาในสังคมไทยแล้วมีความเป็นไปอย่างไร ทั้งในทางเจริญและเสื่อม ก็แล้วแต่จะศึกษาไป

แง่ที่ ๒ ศึกษาในแง่ว่า พระพุทธศาสนาเองนี้ เมื่อเข้ามาสู่สังคมไทยแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ ในสังคมไทย ได้แปรเปลี่ยนพระพุทธศาสนาไปอย่างไร

ไม่ใช่ว่า พระพุทธศาสนามาทำต่อสังคมไทยเท่านั้น สังคมไทยก็ได้ทำกับพระพุทธศาสนาด้วย

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย จึงไม่จำเป็นต้องเป็นพระพุทธศาสนาอย่างเดิมทั้งหมด แต่เป็นพระพุทธศาสนาแบบที่คนไทยตีความ หรือพระพุทธศาสนาในแง่ที่คนไทยชอบนำมาใช้ และพระพุทธศาสนาในแง่ที่กลมกลืน ประสมประสานกับองค์ประกอบอื่นในสังคมไทยเอง เช่น ลัทธิผีสาง เทวดา ศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น

มีเรื่องที่จะต้องพิจารณามากมาย ซึ่งจะทำให้รู้เห็นแนวทางที่จะแก้ไขปรับปรุงด้วย

เช่น พอเห็นว่าพระพุทธศาสนาเข้ามาเจริญในสังคมไทย โดยได้รับอิทธิพลอย่างนี้ และพระพุทธศาสนาได้แปรเปลี่ยนไปในแง่นี้ เพราะคนไทยเรานำมาในแง่นี้ เพราะเราตีความ เราเน้นในแง่นี้ พอรู้อย่างนี้แล้ว เราก็จะได้ความคิดว่า อ้าว! ในสังคมปัจจุบันนี้มันไม่ควรจะใช้ในแง่นี้นี่! แง่อื่นก็มีนี่ เป็นส่วนที่ดีกว่านี้ หรือเป็นส่วนที่ถูกต้องสมบูรณ์กว่านี้ด้วยซ้ำ เราควรจะปรับเปลี่ยนอะไรต่างๆ ให้มันถูกต้อง ควรแก้ไข และก้าวต่อออกไป

นอกจากนั้น ลองศึกษาลึกลงไป การศึกษาเรื่องของหลักธรรมคำสอนที่เราตีความเอามาใช้นี่ มันจะโยงไปหาตัวหลักธรรมคำสอนเดิม ที่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา นำไปสู่เนื้อหาเดิม แล้วอันนี้ก็จะนำไปสู่การที่จะรู้จักปรับปรุงตัวเองได้ เพราะว่าประเทศชาติและสังคมที่จะเจริญพัฒนาขึ้นได้นั้น จะต้องรู้จักปรับปรุงหรือพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ การปรับปรุงในเนื้อตัวของตัวเองอย่างนี้ จึงจะเป็นความเจริญเติบโตที่ต่อติด สืบเนื่องและกลมกลืน ไม่ลักลั่นและฉาบฉวยอย่างที่เป็นปัญหาในสังคมของเราที่ผ่านมา

เราต้องมีการสำรวจตัวเอง ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงผ่านกาลเวลามายาวนานนี้ แม้แต่ของของเราเองที่เราสืบต่อกันมา บางทีก็มีการคลาดเคลื่อนบิดเบือนไปด้วยการที่ไม่มีการศึกษาบ้าง เป็นเพราะมีอิทธิพลภายนอกเข้ามากระทำบ้าง หรือแม้แต่มีการดัดแปลงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์เข้ามาบ้าง

นานๆ เราจึงต้องตรวจสอบกันสักที ถ้าเห็นว่าเราคลาดเคลื่อนไปเสียแล้ว ก็กลับไปหาหลักที่แท้จริงกันใหม่ อะไรทำนองนี้

อันนี้ก็เป็นแง่ที่ว่า เราศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อเข้าใจและเพื่อประโยชน์แก่สังคมไทย

การศึกษาพระพุทธศาสนาในด้านที่เป็นสากล

ทีนี้จากแง่ที่ ๒ ที่พูดมาแล้วนั้น เราก็สามารถก้าวต่อไปสู่การถือเอาประโยชน์อีกด้านหนึ่ง คือการศึกษาหลักธรรม หลักปรัชญา หรือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา แยกจากบริบทของสังคม และประวัติศาสตร์เท่าที่ทำได้ อันนี้เป็นการเข้าไปหาคำสอนเดิม สู่ตัวเนื้อหา ความคิด หลักธรรม รวมทั้งข้อปฏิบัติที่แท้จริง

การศึกษาในแง่นี้ เป็นการศึกษาที่อาจจะนำมาโยงกับวิชาการสมัยใหม่ นำมาใช้กับวิชาการสมัยใหม่ได้ เช่น อาจจะเอามาใช้ในทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และจิตวิทยา เป็นต้น

ในวิชาการสาขาต่างๆ นี้เราสามารถนำเอาหลักธรรมไปโยงเข้าได้ และอันนั้นก็จะเป็นการสร้างเสริมสืบต่อความคิดในสาขาวิชาเหล่านั้น

ว่ากันไปแล้ว ในเรื่องนี้ ดูเหมือนว่าฝรั่งได้นำหน้าไทยทั้ง ๒ ด้านแล้ว อย่างที่พูดมาเมื่อกี้ ในด้านสังคมไทยของเราเอง เราก็ต้องไปเรียนจากเขาอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น เราจึงน่าจะตั้งความมุ่งหมายให้ชัดเจนว่า เราจะศึกษาเรื่องของเราให้ได้ถึงขนาด ให้ได้สมบูรณ์ ให้ได้เต็มที่ อย่างน้อยก็ควรจะไม่แพ้เขา

ในด้านหลังที่เป็นวงกว้างเกี่ยวกับวงวิชาการ หรือวงของสติปัญญา ในการพัฒนาของโลกทั้งหมด ซึ่งจะขยายออกไปสู่การร่วมแก้ปัญหาและสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกนี้

ในด้านนี้ เราจะเห็นว่าฝรั่งก็กลับมาเป็นผู้นำไทย คือ ถ้ามองในแง่ของวงวิชาการ ในแง่งานของสถาบัน อย่างมหาวิทยาลัยเองนี้ นอกจากไปพึ่งไปเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่ต่างประเทศแล้ว แม้แต่หลักวิชาพระพุทธศาสนาที่ไม่เกี่ยวกับเมืองไทย อย่างเช่น วิชาภาษาบาลี เราก็ไปเรียนไปทำปริญญาเอกภาษาบาลีกันที่ University of Pennsylvania บ้าง บางท่านก็ไปต่อที่ University of California ที่ Berkeley อะไรทำนองนี้

ต่อไปนี้บางท่านอาจจะไปจบวิชาพระพุทธศาสนา ที่ Harvard หรือ ที่ Wisconsin หรือไปเรียนภาษาบาลี สันสกฤตก็อาจไปจบที่ Oxford หรือ Cambridge อะไรทำนองนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จะรู้ดีในเรื่องไทย ก็ต้องเข้าใจพระพุทธศาสนาการศึกษาพระพุทธศาสนากับความก้าวหน้าใหม่ๆ ในวงวิชาการของตะวันตก >>

No Comments

Comments are closed.