พุทธศาสน์ว่าอย่างไร?

10 สิงหาคม 2540
เป็นตอนที่ 3 จาก 6 ตอนของ

พุทธศาสน์ว่าอย่างไร?

ตอนนี้ก็มาพิจารณาหลักการในทางพุทธศาสนาโดยมองเทียบจากข้อเสียของไสยศาสตร์

หนึ่ง เราควรจะทำการให้สำเร็จผลที่ต้องการด้วยความเพียรพยายามของตนเอง คือ ให้สำเร็จด้วยการกระทำ เมื่อสิ่งนั้นสำเร็จด้วยการกระทำของเรา เราจะเห็นเหตุเห็นผลจะแจ้ง คือมองเห็นความเป็นเหตุเป็นผลในการกระทำกับผลที่สำเร็จตามมา ไม่เหมือนกับผลที่เกิดจากผู้อื่นทำให้ และผู้อื่นที่ว่านั้นเป็นอำนาจเร้นลับที่เราไม่เห็นเลย ไม่สามารถรู้จะแจ้งลงไปว่าผลจะเกิดหรือไม่เกิด ได้แต่เชื่อได้แต่รอไป ฉะนั้น การเชื่อในการกระทำนี่เด็ดขาดกว่า นี่หนึ่งแล้ว

สอง คนที่ไปหวังพึ่งสิ่งภายนอกดลบันดาลหรือทำให้นั้นไม่พัฒนาตนเอง เพราะไปฝากให้ท่านทำให้แล้ว ก็รอซิ ปัญหานั้นตัวเองไม่ได้คิดแก้ไข รอผลดลบันดาลให้ ตัวเองไม่ได้คิดไม่ได้ทำก็ไม่ได้พัฒนาตนเอง

คนเรานี้จะพัฒนามีความเก่งกล้าสามารถขึ้นได้ ก็ด้วยการที่ว่า ได้ฝึกได้หัดได้ทดลองได้ทำได้คิด เมื่อปล่อยปัญหาให้อำนาจภายนอกช่วยไปแล้ว ไม่ได้คิดไม่ได้แก้ไข มัวไปหวังพึ่งท่านอยู่ ตัวเองก็ไม่พัฒนา สติปัญญาความสามารถในการกระทำก็ไม่ได้ฝึกปรือ ก็เลยไม่มีอะไรดีขึ้นในตนเอง เสียสองแล้วคือไม่มีการพัฒนาตนเอง

สาม การที่จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นต่ออำนาจภายนอกที่เรามองไม่เห็นนั้น เราไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นอิสระ ขาดอิสรภาพ หมดอิสรภาพ พึ่งตนเองไม่ได้ นี่ประการที่สาม

การพัฒนาตนเองจะมาสัมพันธ์กับการพึ่งตนเองได้ เมื่อเราพัฒนาตนเองฝึกปรือตนเอง ต่อไปเราก็สามารถพึ่งตัวเองได้ เป็นอิสระแก่ตัวเอง พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง คือ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ลูกศิษย์สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ยอมให้มามัวรอพึ่งแม้แต่พระองค์เอง พระองค์ต้องการให้ทุกคนเป็นอิสระ ให้เขาพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องมาขึ้นต่อพระองค์ พระพุทธเจ้าช่วยคนให้เขาพึ่งตัวเองได้ ทรงช่วยให้เขาเข้มแข็ง ไม่ใช่ช่วยให้เขาอ่อนแอแล้วได้แต่คอยรอให้พระองค์ช่วย และ

สี่ ที่พูดไปแล้วก็คือทำให้เกิดความประมาท เพราะไปรอหวังพึ่ง รอให้ท่านช่วย เราก็ปล่อยเวลาไปไม่ได้ทำอะไร มัวแต่อุ่นใจเลยไม่ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายแก้ไขปัญหา

สำหรับข้อเสียนี้ เมื่อ

– มองในแง่แต่ละคน เฉพาะหน้าก็ปล่อยปละละเลยทำให้ปัญหาหมักหมมไม่ได้แก้ ในระยะยาว ถ้าเคยตัวอย่างนี้ก็เลยมีนิสัยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ชอบรอหวังพึ่ง อยู่ด้วยความหวัง เรียกว่ามีนิสัยประมาท

– มองในแง่สังคม เมื่อคนทั่วไปเชื่อกันอย่างนี้ ก็ไม่มีการดิ้นรนขวนขวายแก้ไขปัญหาและทำการสร้างสรรค์ สู้สังคมที่เขามีความเดือดร้อนไม่มีใครช่วยเหลือเลยก็ไม่ได้ สังคมแบบนั้น เมื่อถูกภัยบีบคั้นคุกคาม แล้วหาทางแก้ไขตัวเอง ดิ้นรนไปมาก็ทำให้เจริญเข้มแข็งขึ้นมาได้ ในแง่นี้นับว่าเป็นโทษมาก

ทีนี้เราก็ดูว่าโทษกับคุณนี่คุ้มกันไหม เมื่อมองในระยะยาวและในแง่สังคมส่วนรวม แม้แต่ถ้ามันจะได้ผลจริงบ้าง ก็ไม่คุ้ม เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงวางหลักการไว้ว่า

หนึ่ง ให้ทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตัวเองตามเหตุตามผล

สอง ให้ใช้เรื่องนั้น ปัญหานั้น สิ่งที่ต้องทำ หรือสิ่งที่ต้องเผชิญนั้นเป็นเครื่องมือหรือเป็นเวทีในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง คนเราจะต้องศึกษา ต้องเรียนรู้พัฒนาตนเอง จะได้มีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น ถ้ามองในแง่ชีวิตคน ชีวิตก็จะดีขึ้น มองในแง่สังคม สังคมก็เจริญก้าวหน้าพัฒนาขึ้น

สาม อย่างที่ว่าแล้ว ให้รู้จักพึ่งตนเอง จะได้มีอิสรภาพ และพึ่งตนเองได้

สี่ ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ต้องรอให้มีอะไรมากระตุ้น หรือมีภัยมาบีบคั้นคุกคาม เราก็ลุกขึ้นกระตือรือร้นขวนขวาย ไม่ประมาทอยู่เสมอ
ความไม่ประมาทนี่สำคัญมาก ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงเน้นเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่จะปรินิพพานก็ตรัสว่า

“เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท”

พูดง่ายๆ ว่า จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ เรื่องของการพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอก หรือลัทธิรอผลดลบันดาลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไสยศาสตร์ หรือการพึ่งอำนาจเทพเจ้าอะไรก็ตาม พระพุทธศาสนาจึงไม่สนับสนุน ไม่ใช่ว่าท่านว่าไม่จริง แต่โทษมันมากกว่าคุณ มันทำให้เสียหลักสี่ประการที่ว่านี้ ถ้าใครจะถามเรา ก็บอกได้เลยว่ามันขัดหลักพุทธศาสนา ๔ ประการ

๑. ขัดหลักการกระทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายาม ตามเหตุตามผล

๒. ขัดหลักการฝึกฝนพัฒนาตนเอง

๓. ขัดหลักการพึ่งตนเองและมีอิสรภาพ

๔. ขัดหลักความไม่ประมาท

การเชื่อถือวุ่นวายกับสิ่งเหล่านี้ทำให้คนหลงเพลิน คอยรอ และก็อาจจะงอมืองอเท้าไม่ทำอะไร ทำให้ปล่อยปละละเลยกิจที่ควรทำ แล้วก็ทำให้ตกอยู่ในความเสื่อม ชีวิตและสังคมแบบนี้จะเสี่ยงต่อความเสื่อมและภัยอันตราย เพราะฉะนั้น เราจะต้องปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ โดยทำตามหลัก ๔ ประการที่กล่าวมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ไสยศาสตร์ดีอย่างไร?ชาวพุทธจะปฏิบัติตัวอย่างไร? >>

No Comments

Comments are closed.