ไสยศาสตร์ดีอย่างไร?

10 สิงหาคม 2540
เป็นตอนที่ 2 จาก 6 ตอนของ

ไสยศาสตร์ดีอย่างไร?

การสะเดาะเคราะห์นี้เป็นวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความเชื่อถือในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องไสยศาสตร์ หรือเรื่องอำนาจดลบันดาล ซึ่งเวลานี้แพร่หลายมากในสังคมไทย เราควรจะวิเคราะห์ดูข้อดีข้อเสีย

คนที่สะเดาะเคราะห์นั้น สิ่งที่ได้อย่างหนึ่งก็คือความสบายใจ ทำให้เกิดความอุ่นใจขึ้น หรืออาจจะมีความหวัง และคนก็มองว่าการสะเดาะเคราะห์และเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจดลบันดาลทั้งหลายนี้เป็นเรื่องศาสนา ก็เลยมีผู้พูดกันว่า ศาสนานั้นมีความหมายว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ช่วยปลอบประโลมจิตใจ บำรุงขวัญ มองในแง่นี้ก็เป็นประโยชน์อยู่ แต่ต้องพิจารณาหลายชั้น

เรื่องของไสยศาสตร์ และความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์นี้ ทางพระพุทธศาสนาให้มองในแง่ของการปฏิบัติ คือไม่สนใจในเรื่องที่ว่าจริงหรือไม่จริง คนทั่วไปมักจะเถียงกันในแง่ว่าจริงหรือไม่จริง แต่พระพุทธศาสนาสอนในแง่ว่าความเชื่อและการปฏิบัติในเรื่องจำพวกนี้มีคุณมีโทษอย่างไรมากกว่า เพราะถ้าเถียงกันว่าจริงหรือไม่จริงนี่ไม่รู้จักจบ และไม่มีใครแพ้ชนะเด็ดขาด นอกจากนั้นถึงแม้ถ้าเป็นจริง แต่ถ้ามีโทษมากกว่าคุณ ก็ไม่ควรเอาด้วย

ข้อพิจารณาที่สำคัญก็คือมองในแง่คุณและโทษ ในแง่นี้ทางพระพุทธศาสนาให้มองทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเป็นกลางๆ คือมองทั้งแง่ดีและแง่เสีย ทั้งแง่คุณและแง่โทษ

เมื่อเช้าก็ได้พูดถึงเรื่องการอ้อนวอนเทพเจ้าไปนิดหน่อย โดยยกตัวอย่างเรื่องมหาชนกมาให้ฟังว่า เมื่อเรือแตกกลางทะเล คนทั้งหลายมัวแต่ร้องไห้คร่ำครวญบ้าง อ้อนวอนขอให้เทพเจ้าช่วยบ้าง ก็ตายกันหมด แต่มหาชนกเอาเวลาระหว่างนั้น มาใช้สติปัญญาพิจารณาแก้ไขสถานการณ์โดยเตรียมตัวให้พร้อมที่จะว่ายน้ำทะเล จึงรอดมาได้

เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเรื่องการอ้อนวอนเทวดานี้ มีประโยชน์อะไรบ้าง

๑. อย่างที่บอกเมื่อกี้ คือช่วยปลอบประโลมใจ บำรุงขวัญ ขณะที่จิตใจกำลังเร่าร้อนกระวนกระวายก็ทำให้สงบลงได้ ในขณะที่ตื่นกลัวหวาดผวาก็อาจจะทำให้นอนหลับลงไปได้แล้วก็อยู่ด้วยความหวัง

๒. ต่อจากปลอบประโลมขวัญก็เกิดกำลังใจ ขณะที่ท้อแท้หดหู่พอทำพิธีแล้วก็อาจจะเกิดกำลังใจขึ้นมาบ้าง

๓. แล้วต่อไปก็คือถ้ามีความเชื่อมากก็อาจจะทำให้เกิดความมั่นใจ เมื่อมั่นใจก็ทำให้เกิดความเข้มแข็ง เช่นมีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อบูชาแล้วเกิดความมั่นใจก็เข้มแข็งขึ้นมา

ที่ว่ามานี้ก็เป็นประโยชน์ ส่วนที่จะได้ผลสำเร็จจริงหรือไม่ก็เถียงกันไปอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ไม่เด็ดขาด ไม่จะแจ้งลงไป

ที่พูดในแง่ปลอบประโลมใจ บำรุงขวัญ เกิดกำลังใจ ตลอดจนให้เกิดความมั่นใจนั้น เรามองดูก็เป็นคุณประโยชน์ แต่จะต้องมองอีกด้านหนึ่ง คือด้านเป็นโทษบ้าง

ด้านเป็นโทษ มีอะไรบ้าง คนเราเวลามีทุกข์มีภัยก็แสวงหาหนทางที่จะหลุดพ้นไป มีปัญหาก็หาทางแก้ไข แต่พอเกิดความรู้สึกอุ่นใจสบายใจขึ้นมาก็ชักจะนอนใจ หรืออาจจะรอคอยด้วยความหวัง ก็เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ทำให้เกิดความประมาท นี้เป็นข้อแรกที่ต้องระวัง

ทีนี้การเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจดลบันดาล และไสยศาสตร์ มีลักษณะที่ร่วมกันคือ

๑. ใช้ศรัทธา เอาความเชื่อเป็นหลัก คือ ไม่เกิดจากการรู้ความจริง ตัวเราเองไม่รู้ความจริงของเรื่องนั้นสิ่งนั้น

๒. เมื่อเป็นความเชื่อ ก็ต้องพึ่งอาศัยสิ่งที่อยู่นอกตัว คือขึ้นต่ออำนาจดลบันดาล รออำนาจนอกตัว ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาช่วย

๓. สิ่งอื่นหรืออำนาจดลบันดาลภายนอกนั้นมาทำให้เรา โดยเราไม่ต้องทำเอง และเราทำเองไม่ได้

นี้เป็นจุดที่สำคัญ เรามองไม่เห็นกระบวนการของความเป็นเหตุเป็นผลว่ามันสำเร็จได้อย่างไร เมื่อเราเชื่ออย่างนี้แล้ว เราอาจจะเกิดกำลังใจ เกิดความอุ่นใจ ปลอบประโลมใจ เสร็จแล้วเราก็เลยเบาใจ สบายใจแล้วก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย

ทีนี้โทษก็เกิดขึ้น ตอนที่ว่าอุ่นใจสบายใจนั้น ความอุ่นใจสบายใจไม่ได้เกิดจากการรู้เห็นชัดๆ ว่ามันจะสำเร็จได้อย่างไร เพียงแต่เชื่อว่าจะสำเร็จ ตัวเองก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ได้แต่รอ ก็เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย เมื่อไม่ได้แก้ไขปัญหา ต่อไปปัญหานั้นก็อาจจะร้ายแรงขึ้นมา อย่างน้อยก็ง่อนแง่นเพราะตัวเองไม่รู้ และมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของตัวเอง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< กล่าวนำพุทธศาสน์ว่าอย่างไร? >>

No Comments

Comments are closed.