พ้นเก่า-ใหม่: สู่ความสดใสอมตะตลอดกาล

31 มกราคม 2531
เป็นตอนที่ 3 จาก 3 ตอนของ

– ๒ –
พ้นเก่า-ใหม่: สู่ความสดใสอมตะตลอดกาล1

มีใหม่ก็ต้องมีเก่า

ขอเจริญพร วันนี้เป็นรายการมาพบปะสนทนาธรรมกันอีกครั้งหนึ่ง ในรายการของโยม ที่ตั้งชื่อว่า “คณะขันธ์ ๕” (คือกลุ่มขันธ์ห้า) ซึ่งมีคุณโยมมิสโจเป็นประธาน โดยจัดเป็นรายการประจำในทุกๆ เดือน

สำหรับเดือนนี้ เป็นเดือนที่มีวันสำคัญวันหนึ่ง เป็นเดือนแห่งการขึ้นปีใหม่

ความจริง แทบทุกเดือนในปีหนึ่งนี้ ก็มีวันสำคัญเกือบครบ อย่างเดือนนี้มีวันขึ้นปีใหม่ เพราะเป็นเดือนมกราคม ต่อไปเดือนหน้ากุมภาพันธ์ ก็จะมีวันมาฆบูชา แต่ไม่แน่นอนเสมอไป ถ้ามีเดือนแปด ๒ หน ก็เลื่อนไปเป็นเดือนมีนาคม

ต่อไปก็จะมีวันสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ในเดือนเมษายน วันวิสาขบูชาในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน วันเข้าพรรษาในเดือนกรกฎาคม อย่างนี้เป็นต้น หมายความว่า ตลอดปีนี้ มีวันสำคัญอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เราก็มีโอกาสที่จะพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีแง่คิดเกี่ยวกับวันสำคัญนั้นๆ

สำหรับเดือนนี้ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เป็นเดือนแห่งการขึ้นปีใหม่ ถ้ามองในแง่หนึ่ง เหมือนกับว่าเป็นวันสำคัญมาก ไม่ใช่เป็นวันสำคัญเฉพาะเดือน แต่เป็นวันเริ่มต้นของปีทั้งปีทีเดียว

เรื่องของปีใหม่นี้ ถ้าว่าในแง่ของชาวพุทธแล้ว เราเรียกได้ว่า เป็นเรื่องของการสมมติ ชาวโลกมาตกลงกำหนดกันขึ้น วันเวลาหมุนเวียนของมันเรื่อยไป แล้วแต่เราจะตกลงกำหนดเมื่อไรเป็นวันอะไรขึ้น

วันขึ้นปีใหม่นี้ สมัยก่อน ถอยหลังไปเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เคยกำหนดเดือนเมษายน วันที่ ๑ เป็นวันขึ้นปีใหม่

ต่อมา เรียกกันว่าทำตามสากลนิยม ประเทศอื่นๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศตะวันตก เขาถือเอาวันที่หนึ่งมกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ เราก็เปลี่ยนมาถือตามสอดคล้องกับเขาไปด้วย เลยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตลอดมานานแล้ว

สำหรับชาวพุทธ ก็ให้รู้เท่าทันว่า นี่เป็นเรื่องสมมติ สมมติในกรณีนี้ ก็เป็นเรื่องของใหม่-ของเก่า

ที่จริง วันก็ใหม่ทุกวัน พอถึงพรุ่งนี้ก็เป็นวันใหม่ วันต่อไปก็เป็นวันใหม่ อย่างนี้เรื่อยไป จนกระทั่งถึงวันที่กำหนดสิ้นสุดปี เมื่อไรครบ พอเลยจากนั้นไป ก็ขึ้นปีใหม่

เรื่องใหม่ก็ต่อกันกับเรื่องเก่า ต้องมีเก่า จึงมีใหม่ได้ เป็นของคู่กันมาตลอด ความใหม่กับความเก่านี้ มักจะมีความหมายสำหรับมนุษย์เรา คนโดยทั่วไปชอบใหม่ ไม่ค่อยชอบเก่า

เพราะคำว่า “เก่า” มักจะมีความหมายเป็นเรื่องทรุดโทรม เหี่ยวแห้ง เป็นของที่จะพังทลายแตกสลายไป แต่ถ้า “ใหม่” ก็มีความรู้สึกเหมือนว่า อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เป็นของที่สดใส ทำให้จิตใจสบาย ชื่นใจ พอใจ

เพราะฉะนั้น คนทั้งหลายจึงชอบของใหม่ เราก็พยายามที่จะทำให้ได้พบได้เห็นสิ่งทั้งหลายที่ใหม่ๆ อยู่เรื่อย

อยากได้ใหม่ ก็ต้องการเรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด

แต่การที่จะได้พบได้เห็นสิ่งใหม่นี้ บางทีก็เกี่ยวกับเรื่องความต้องการ ซึ่งทำให้เรามีความอยากได้สิ่งต่างๆ เพิ่มเข้ามา

การที่ต้องการสิ่งใหม่ๆ เข้ามานี้ ถ้าไม่รู้จักใช้สติ ไม่รู้จักใช้ธรรมะเข้ามาควบคุม ก็จะกลายเป็นความต้องการที่ทางพระท่านเรียกว่า “ตัณหา”

ตัณหาเป็นความปรารถนา ซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งคือ แสวงหาความยินดีพอใจในสิ่งใหม่ๆ เรื่อยไป พอได้พบสิ่งนี้แล้ว สิ่งนี้ก็กลายเป็นสิ่งเก่า แล้วก็แสวงหาสิ่งใหม่ๆ อย่างอื่นต่อไปอีกไม่รู้จบสิ้น

ถ้าไม่มีหลักในการควบคุมความต้องการ ความต้องการนั้นก็จะไม่มีที่สิ้นสุด เข้าลักษณะที่ทางพระบอกไว้ว่า

“นตฺถิ ตณฺหาสมา นที”

แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี

ธรรมดา แม่น้ำจะมีน้ำไหลเรื่อยไป น้ำเก่าไปและมีน้ำใหม่มา แม้ว่าตามปกติจะไม่ค่อยเต็มง่ายๆ แต่ถึงกระนั้นในบางโอกาสก็ยังมีการเต็มท่วมท้นได้ ไม่เหมือนกับแม่น้ำคือความต้องการ หรือความปรารถนาของมนุษย์นี้ ไม่รู้จักจบสิ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“แม้แต่จะเนรมิตภูเขาให้เป็นทองคำทั้งลูก ก็ยังไม่เต็มความปรารถนาของคนคนเดียว”

เคยมีเรื่องเป็นชาดกเล่าว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง พระนามว่าพระเจ้ามันธาตุราช ต้องการครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ตอนแรกก็มีอาณาจักรเล็กๆ จึงต้องการได้ดินแดนใหม่เพิ่มเข้ามา พระองค์มีอำนาจ และมีความสามารถ ก็รบราแผ่ขยายดินแดนออกไป ได้ดินแดนเพิ่มมาเรื่อย เพิ่มไปเพิ่มมา จนกระทั่งหมดทั้งโลก

ตอนแรกก็ยังคิดแค่ในโลกว่า ให้เราได้ครองโลกทั้งหมดเถิด พอครองโลกได้สมจริง ก็อยากจะครองต่อไปอีก

ทรงดำริว่า เอ มีดินแดนที่ไหนเหลืออีก ถ้าได้ครองสวรรค์ด้วยคงดี พอดีตอนนั้นโอกาสอำนวยให้ขึ้นไปครองสวรรค์ด้วย ก็เลยไปครองดินแดนสวรรค์ชั้นจาตุมฯ

ต่อมาก็คิดที่จะครองสวรรค์ชั้นสูงต่อไปอีก แล้วก็ได้ขึ้นไปครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ร่วมกับท้าวสักกะคือพระอินทร์

ทีแรกแบ่งครองคนละครึ่ง อยู่ต่อๆ มา ก็คิดอีกว่า เอ ทำอย่างไรเราจะครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทั้งหมดเสียคนเดียว

ตอนนี้ก็คิดจะฆ่าพระอินทร์ แต่พระอินทร์นั้นใครก็ฆ่าไม่ได้ ต้องรอให้ตายเองตามกาลเวลา เมื่อเป็นอย่างนี้ จากการปรารถนาเลยขอบเขตของตน ก็เป็นเหตุให้จิตใจเหี่ยวแห้ง เพราะว่าความปรารถนาถูกขัดขวาง

เมื่อปรารถนาแล้วทำไม่ได้ จิตใจที่เคยฟูเคยพอง ก็ยุบลงไป ทั้งๆ ที่ตนมีอยู่แล้วมากมายไม่รู้เท่าไร ก็หาได้เกิดความสดชื่นพอใจกับสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ แต่ไปเหี่ยวแห้งในสิ่งที่ตนไม่ได้ ใจเหี่ยวแห้ง ก็หมดบุญ อยู่บนสวรรค์ไม่ได้ ก็เลยร่วงหล่นตุ้บ จากสวรรค์ลงมาบนดิน

ก็เลยได้คติว่า แม้แต่มีบุญใหญ่ มีอำนาจล้นฟ้า ต้องการอะไรก็ได้ ได้ครอบครองสวรรค์ ก็ยังไม่รู้จักพอ

เพราะฉะนั้น เรื่องความปรารถนาของคนนี่จึงไม่รู้จักจบสิ้น

ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขที่แท้จริง

ใหม่แท้ อยู่กับใจที่สดใสไม่รู้จักเก่า

การที่จะมีความสุขที่แท้จริงนั้น มิใช่อยู่ที่การปรารถนาแล้วได้สมปรารถนาทุกอย่าง หาเป็นเช่นนั้นไม่

แต่อยู่ที่ว่า เราทำอย่างไรจะรู้จักว่าสมควรแก่ความปรารถนาของเราแล้ว ทำให้อยู่ได้เป็นสุข ทำจิตใจของเราให้เป็นสุขได้ อันนั้นก็จะทำให้ได้ความสุขที่แท้จริง ความสุขแท้มิใช่อยู่ที่การสนองความปรารถนาเรื่อยไป ที่ไม่จบสิ้น

อีกประการหนึ่งที่ง่ายๆ ก็คือ ให้มีความปรารถนาที่ชอบธรรม เอาธรรมะมาเป็นเครื่องจำกัดความปรารถนา นี่ก็พูดเลยออกไปจากเรื่องความใหม่ คือ มนุษย์ปรารถนาสิ่งใหม่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ ก็จะต้องรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้องต่อเรื่องความใหม่และความเก่า ความใหม่บางทีเราก็ไม่อาจจะได้เรื่อยไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ ร่างกายของเรา เราไม่สามารถจะให้เป็นร่างกายที่ใหม่ได้ตลอดกาล เมื่อวันเวลาล่วงผ่าน มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ ตอนแรกก็ต้องมีการเจริญเติบโตขึ้นไป เมื่อเติบโตขึ้นสู่วัยหนุ่มวัยสาวแล้ว ต่อจากนั้นก็ต้องมีความชราเข้ามาเบียดเบียนครอบงำ ร่างกายของเราก็เสื่อมโทรมลงไป

ทีนี้ ถ้าเราปรับใจไม่ได้ เราต้องการแต่ความใหม่เรื่อยไป ก็เกิดอาการขัดแย้งกับความปรารถนา เพราะคนเราไม่อาจจะได้ใหม่เรื่อยไป แต่จะต้องเจอกับเก่าด้วย เพราะมีสิ่งที่จำเป็นจะต้องเก่า และสิ่งใหม่ที่มี ก็ต้องกลายเป็นเก่า นอกจากนั้นก็มีสิ่งเก่าที่เราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเราอยู่ในโลก

โลกนี้เป็นเรื่องของสังขาร สังขารนั้นมีหลักธรรมดาว่า ย่อมเป็นไปตามกฎของพระไตรลักษณ์ คือ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องเปลี่ยนแปลง มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใหม่แล้วก็กลายเป็นเก่า

เมื่อเราจำเป็นต้องประสบพบกับสิ่งที่เก่า เราจะทำอย่างไร ความเก่า-ความใหม่ที่แท้จริง อยู่ที่ไหน

ความเก่าที่เป็นสภาวะตามธรรมชาติของสังขารนี้ ก็อย่างหนึ่ง แต่ความเก่าความใหม่ที่มีผลต่อจิตใจของเรานี้ อยู่ที่จิตใจของเรานี่เองแท้ๆ

ถ้าเรามีความรู้สึกหดหู่ ใจคอไม่สบาย จิตใจว้าเหว่หงอยเหงา ก็เป็นลักษณะของจิตใจที่เก่า ถ้าเป็นจิตใจที่สดชื่น เบิกบานผ่องใส อันนี้ก็คือจิตใจที่ใหม่

ถ้ารู้หลักนี้แล้ว เราก็ทำความใหม่ให้เกิดขึ้นได้เสมอ คือทำใจของเราให้ใหม่อยู่เสมอ เพราะฉะนั้น สิ่งทั้งหลายจะเก่าก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก ถ้าเรารู้จักทำใจของเราให้ใหม่อยู่เสมอ

ถ้าเป็นชาวพุทธ ก็ต้องรู้จักทำจิตใจให้ใหม่ ทำใจให้ใหม่ก็คือ ทำใจให้สดชื่นเบิกบานผ่องใสอยู่ตลอดเวลา

แม้แต่การที่เรามากำหนดกันว่า ให้มีปีใหม่ทั้งๆ ที่วัน เดือน ปี ก็หมุนเวียนอยู่ธรรมดาอย่างนั้น มันก็เป็นอุบายอย่างหนึ่งของชาวโลก ที่จะทำจิตใจของตนให้เบิกบานผ่องใส มีความร่าเริง

เมื่อมองลึกลงไปก็จะเห็นว่า ที่ชาวโลกเขามีความเบิกบานผ่องใสสดชื่นนั้น เป็นด้วยอะไร ก็เป็นด้วยจิตใจของเขานี่เอง ไม่ใช่เป็นเพราะวันเก่าวันใหม่อะไรจริงเลย

จิตใจใหม่สดใส เพราะมีธรรมค้ำชูอยู่ข้างใน

ความใหม่ที่เป็นของประณีตก็คือ เวลาขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นวันที่เรากำหนดกันว่าเป็นสิริมงคลนั้น คนมาแสดงความรักความปรารถนาดีต่อกัน มีไมตรีจิตมิตรภาพ

อย่างพ่อแม่ ก็แสดงเมตตาต่อลูก คนทั้งหลายก็ไปแสดงความเคารพนับถือกัน ส่งความสุขให้แก่กันในปีใหม่ ส่งการ์ด ส่งบัตรอวยพร แสดงความปรารถนาดี คนที่รับก็มีความสุขสดชื่นขึ้นมาจากไมตรีจิตมิตรภาพความปรารถนาดีของผู้อื่น

หรืออย่างถึงวันปีใหม่เช่นนั้น ลูกๆ อาจจะเข้ามาแสดงความปรารถนาดี แสดงความรักต่อคุณพ่อคุณแม่ เอาดอกไม้มามอบให้ หรือเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแสดงน้ำใจ หรือเอาถ้อยคำที่เป็นมงคลมาสื่อใจ เป็นการแสดงถึงความรู้สึกปรารถนาดีและความรักนั้น จิตใจของพ่อแม่ก็มีความสุขสดชื่นเบิกบาน หรือว่าคุณพ่อคุณแม่แสดงความรักต่อลูกก็เช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้แสดงว่า ความใหม่ที่มีผลต่อจิตใจอย่างแท้จริง ก็เป็นเรื่องของธรรมะนั่นเอง ความรักความปรารถนาดีต่อกัน หรือไมตรีจิตมิตรภาพนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ในธรรมที่มีอยู่มากมาย ธรรมะทำให้จิตใจสดชื่นเบิกบานผ่องใส แล้วความใหม่ก็เกิดขึ้น

เหมือนอย่างในวันทำบุญคราวนี้ คุณโยมคณะขันธ์ ๕ มาทำหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง โดยปรารภถึงวันเกิดของอาตมา ในเดือนมกราคม ก็เป็นการแสดงความปรารถนาดี

แต่มองดูอีกที วันเกิดที่มาถึงนี้ เราบอกว่าเป็นวันเกิดวันใหม่ หมายความว่ามาถึงวาระครบรอบขึ้นปีใหม่ของการเกิดนั้น วันเกิดปีใหม่ เป็นวันเริ่มต้นของอายุในรอบปีต่อไป ก็เป็นความใหม่

แต่ความจริง เมื่อมองในด้านตรงข้าม ก็คือเป็นความเก่า เพราะว่า เมื่อวันเกิดเวียนมาใหม่ ก็แสดงว่าอาตมานี้เก่าลงไปอีกปีหนึ่ง ความจริงนั้นเป็นเก่า แต่มองอีกแง่หนึ่งว่าเป็นใหม่

ทีนี้ จะใหม่หรือจะเก่า จะมีความหมายอย่างไร ก็อยู่ที่ว่าเราจะเอาธรรมะมาใช้ไหม ถ้าเอาธรรมะมาใช้ มาพิจารณา ทำจิตใจให้สดชื่นเบิกบานผ่องใส ด้วยสติที่ระลึกถูกทาง และด้วยมีปัญญารู้จักคิดพิจารณาถูกต้อง พร้อมทั้งมีความปรารถนาดีที่ว่าเมื่อกี้ ความใหม่ที่มีความหมายก็มาทันที

โยมมีความปรารถนาดีต่ออาตมา ก็ทำหนังสือนี้ขึ้น เป็นการแสดงออกโดยอวยชัยให้พรอะไรต่างๆ โยมเองก็มีจิตใจเบิกบานผ่องใสในการที่ได้ทำอย่างนี้ จิตใจของโยมก็ใหม่ ใหม่ด้วยความสดชื่นผ่องใสนั้น เมื่ออาตมารับเอาพรและความปรารถนาดีของโยม ก็เป็นจิตใจที่เบิกบานผ่องใส เกิดเป็นความใหม่พรั่งพร้อมกัน ฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้ใหม่ ก็คือธรรมะนี่เอง

ผู้ที่รู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ต้องรอวันเวลาที่เป็นเรื่องสมมติในทางโลกมาช่วยให้เกิดความใหม่ แต่สามารถเอาธรรมะมาใช้ทำจิตใจของตนให้ใหม่ได้เสมอไปตลอดกาล

เมื่อรู้หลักอย่างนี้แล้ว ก็ปฏิบัติธรรมเช่นเมตตา (ความรักความปรารถนาดี) ศรัทธา (ความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย) ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในจิตใจเมื่อไร ก็มีความสดชื่นเบิกบานเมื่อนั้น แล้วก็จะมีความใหม่อยู่เสมอ

ฉะนั้น เราทั้งหลายผู้ต้องการความใหม่ ก็ควรจะเอาธรรมะมาไว้ในใจ แล้วจะไม่มีความเก่าเลย จะเป็นคนใหม่อยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่กลัวความเก่า

ใหม่แท้คือธรรม ที่พ้นเก่าพ้นใหม่
เป็นอมตะ ที่ใหม่แท้ตลอดไป

ธรรมะ ที่ว่าใหม่อยู่เสมอนั้น ว่าที่จริงแล้ว คือไม่ขึ้นต่อกาลเวลานั่นเอง ความจริงนั้น ธรรมะไม่มีเก่า ไม่มีใหม่ เป็นของที่คงอยู่อย่างเดิมตลอดเวลา มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า

ชีรนฺติ เว ราชรถา สุจิตฺตา

ราชรถที่ตกแต่งประดับประดาอย่างดี ก็ยังมีวันเก่าคร่ำคร่าไป แต่

สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ

ธรรมะของสัตบุรุษทั้งหลายไม่แก่ชราเลย

ธรรมะคือหลักความจริง ความจริงเป็นสิ่งคงที่ เป็นสิ่งที่ไม่ตาย ไม่รู้จักเก่า และเมื่อไม่เก่า ก็ไม่ใหม่ด้วย เป็นความจริงอยู่อย่างนั้น

ความดีงามก็เช่นเดียวกัน เราประพฤติเมื่อใด ก็เป็นความดีงามเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น ธรรมะนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีเก่า-ไม่มีใหม่ เป็นความจริงที่ดำรงอยู่ตลอดไป

เราทั้งหลายที่ต้องการให้ตนพ้นจากการครอบงำของกาลเวลา ที่ว่าจะเก่าจะใหม่นั้น ก็นำเอาธรรมะเข้ามาไว้ในจิตใจของตน ประพฤติปฏิบัติตามธรรมะแล้ว ก็จะไม่มีความใหม่ความเก่า แต่จะกลายเป็นอมตะ กลายเป็นไม่ตาย

ชีวิตของเราก็จะไม่ตายด้วยรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลาย เหมือนคนที่อยู่เหนือกาลเวลา ไม่มีความเก่าไม่มีความใหม่ กาลเวลาไม่สามารถครอบงำจิตใจของเขาได้ จิตใจของเขาเป็นอิสระหลุดพ้น เพราะปราศจากกิเลส เพราะปราศจากความครอบงำของกาลเวลา ดังที่กล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกทั้งหลาย สามารถถือเอาประโยชน์จากเรื่องความเก่าความใหม่ของกาลเวลาได้ ทั้งในแง่ที่ว่า

หนึ่ง ทำตัวเองให้เป็นคนใหม่อยู่ตลอดเวลา ด้วยการมีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสเบิกบาน

สอง ทำชีวิตของตนให้เป็นอมตะ เป็นชีวิตที่ไม่ตาย ด้วยการเอาธรรมะที่เป็นสิ่งอันไม่ตาย ที่ไม่ขึ้นต่อกาลเวลานั้น เข้ามาไว้ในจิตใจและการประพฤติปฏิบัติของตน

คุณของพระธรรมอย่างหนึ่งนั้น ท่านระบุว่า “อกาลิโก” เราสวดบทพระธรรมคุณกันอยู่เสมอ “สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก

อกาลิโก” แปลว่าไม่ขึ้นต่อกาลเวลา คือ ไม่ว่าจะประพฤติเวลาใดก็ตาม ก็เกิดผลดีเวลานั้น

เมตตาธรรม ความรักความปรารถนาดี เรานำเข้ามาใส่ไว้ในใจเวลาใด เวลานั้น จิตใจของเราก็สดชื่นเบิกบาน เป็นจิตใจที่ดีงาม

ศรัทธา เราปลูกฝังขึ้นไว้ในใจ นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระรัตนตรัย นึกถึงบุญกุศลขึ้นมาเวลาใด จิตใจของเราก็ผ่องใสมีพลังขึ้นมาในเวลานั้น

สติ เกิดขึ้นในใจเวลาใด ใจของเราก็มีหลัก สามารถยั้งหยุดจากความชั่วร้ายทั้งหลายได้ และหันไปหยิบยกเอาสิ่งที่ดีงามขึ้นมาคิดมาทำ

ปัญญา เกิดขึ้นในใจเวลาใด เวลานั้นจิตใจของเราก็สว่าง โล่ง รู้เห็น เข้าใจเท่าทันสิ่งทั้งหลาย ตามความเป็นจริง รู้ทิศรู้ทางที่จะเดินหน้าไป

เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงเป็นอกาลิโก แปลว่าไม่ขึ้นต่อกาลเวลา และก็ทำให้เป็นอมตะด้วย นี่คือหลักที่จะทำให้พุทธศาสนิกชนได้ประโยชน์จากเรื่องกาลเวลา และความเก่าใหม่นั้น

เป็นอันว่า เราชาวพุทธทั้งหลายมาชักชวนกันให้รู้เท่าทันเรื่องกาลเวลา เพื่อทำให้เกิดความใหม่ขึ้นในจิตใจอยู่เสมอทุกวันเวลา แล้วในที่สุดก็ทำให้อยู่พ้นอำนาจของกาลเวลา เหนือกาลเวลา เข้าถึงสัจธรรม อันเป็นสิ่งที่ไม่ตายสืบต่อไป

ในโอกาสนี้ ขออนุโมทนาคณะญาติโยมที่ได้มาสนทนาธรรมกัน มาพบปะสังสรรค์ มาถวายภัตตาหาร เป็นการทำบุญทำทาน ให้จิตใจโน้มเข้ามาสู่ธรรมะ ซึ่งเป็นการทำจิตใจให้สดชื่นเบิกบานผ่องใส

เราควรจะทำให้ได้อย่างนั้นจริงๆ คือทำให้จิตใจสดชื่นเบิกบานผ่องใสเอิบอิ่มในธรรม แล้วก็นำธรรมน้อมเข้ามาในใจของตนเอง ด้วยสติปัญญาที่รู้เข้าใจความจริง ให้จิตใจของตนอยู่กับธรรมะ อันเป็นสิ่งอมตะ แล้วก็จะได้รับผลดีคือความสุขความเย็นใจที่เป็นความใหม่ตลอดไป

ด้วยอานุภาพคุณพระรัตนตรัย ขออนุโมทนาญาติโยมทุกท่าน และขอคุณพระพุทธ คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ พร้อมทั้งบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญ จงเป็นเครื่องอภิบาลรักษา ให้ญาติโยมคณะขันธ์ ๕ และญาติมิตรทั้งหลาย จงได้ประสบจตุรพิธพรชัย เจริญงอกงามด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ในการปฏิบัติกิจหน้าที่การงานและปฏิบัติธรรม ให้ก้าวหน้า มีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนาน เทอญ.

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เก่า-ใหม่: ก้าวไปสู่ความสุขความเจริญ

เชิงอรรถ

  1. ธรรมกถา แสดงที่บ้านคุณโยมมิสโจ เมื่อวันที่ ? มกราคม ๒๕๓๑ (ก่อนเรื่องแรก ๑๑ เดือน)

No Comments

Comments are closed.