เก่า-ใหม่: ก้าวไปสู่ความสุขความเจริญ

24 ธันวาคม 2531
เป็นตอนที่ 2 จาก 3 ตอนของ

กาลเวลา1

– ๑ –
เก่า-ใหม่: ก้าวไปสู่ความสุขความเจริญ

ส่งปีเก่า รับปีใหม่ อาศัยกาลเวลา ที่มากับความเปลี่ยนแปลง

เรื่องการส่งปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั้น ก็ได้เคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่า ที่จริงนั้นเป็นเรื่องสมมติ คือกาลเวลาก็หมุนเวียนเรื่อยๆ ไปตามปกติธรรมดา เราก็มาแบ่งจัดเป็นเดือนๆ มีการกำหนดว่าเดือนนั้นมีเท่านั้นเท่านี้วัน อะไรทำนองนี้ โดยคำนวณจากจำนวนวันทั้งหมด ๓๖๕ หรือ ๓๖๖ วัน ที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์

การที่จะแบ่งเป็นเดือนนั้นเดือนนี้ มีเท่านั้นเท่านี้วันอะไรนี่ เป็นเรื่องของสมมติ ซึ่งเราจะตัดตอนเอาตรงไหนเป็นปีใหม่ก็ได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของโลกสมมตินี้จึงไม่เหมือนกัน บางแห่งและบางยุคบางสมัยก็ถือวันขึ้นปีใหม่ที่จุดหนึ่ง พอเปลี่ยนไปยุคสมัยหนึ่ง หรือเปลี่ยนถิ่นฐานไป ก็มีประเพณีต่างออกไป มีการกำหนดวันส่งปีเก่าวันขึ้นปีใหม่อีกตอนหนึ่ง

ดังจะเห็นว่า มีการส่งปีเก่า-ขึ้นปีใหม่แบบไทยเดิม หรือแบบสงกรานต์ก็มี หรือแบบเคยถือเดือนอ้ายก็มี ตลอดกระทั่งว่า แบบจีนก็มีตรุษจีน แบบฝรั่งก็มีตรุษฝรั่ง อะไรทำนองนี้ แล้วก็มาถือเป็นสากล ว่าวันที่ ๑ มกราคม อย่างที่เราจะจัดตามที่ถือกันในบัดนี้ รวมแล้วก็คือเป็นเรื่องของกาลเวลา

กาลเวลาเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนี้แหละที่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของธรรมะ

สัจธรรมหรือความจริงในเรื่องของวันสิ้นปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่นั้น ก็อยู่ที่กาลเวลาซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงนี้เอง การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เรามีการแบ่งเวลาออกไป การที่เราบอกว่ามีปีใหม่ปีเก่านั้น ถ้าว่าโดยสาระสำคัญแล้ว ก็เป็นเรื่องของกาลเวลาที่เราแบ่งเป็น อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ที่ว่าเก่ากับใหม่นั้น เก่าเราบอกได้ว่าเป็นอดีต คือเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ส่วนที่ว่าใหม่นี้ยังก้ำๆ กึ่งๆ ในแง่หนึ่งคือกำลังเปลี่ยนจากเก่ามาเป็นใหม่ ใหม่ก็คือเวลานี้ ที่พบอยู่เดี๋ยวนี้ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจุบัน แต่ต่อจากปัจจุบันไปยังมีอนาคตอีก

เพราะฉะนั้น ถ้าจะแบ่งกาลเวลาให้ครบถ้วนแล้ว เก่ากับใหม่ยังได้เวลาไม่ครบทีเดียว ถ้าจะให้ครบต้องแบ่งเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมเป็น ๓ กาล

ความเปลี่ยนแปลง คู่กันไปกับกาลเวลา
ชีวิตคน คู่กันมากับการทำกรรม

เรื่องของกาลเวลาก็มี ๓ กาลนี้แหละ คือมีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์

ชีวิตมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของการสืบต่อ คือสืบต่อจากอดีตมาปัจจุบัน แล้วจะสืบทอดไปข้างหน้า เรียกว่า อดีต ปัจจุบัน อนาคต และทั้งสามนั้นไม่ใช่ตัดตอนขาดจากกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อเราพูดแบ่งเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แล้ว แต่ละอย่างจะเป็นเรื่องของแต่ละตอน ไม่ใช่อย่างนั้น

ความจริง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตนั้นสืบต่อกัน เป็นของต่อเนื่อง เหมือนอย่างชีวิตของเรานี้ ก็สืบทอดมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งปัจจุบันนี้ แล้วยังจะสืบทอดต่อไปอีกเท่าไรจนถึงอายุขัย ซึ่งก็ไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการสืบต่อทั้งสิ้น

ทีนี้ การสืบต่อที่สำคัญในชีวิตของเราอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของ “กรรม” กรรมนั้นเป็นการสืบต่อที่สำคัญ เรียกกันว่าการสั่งสม ชีวิตของเรานั้นมีการสั่งสมกรรม

พระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า มนุษย์ “แต่ละคนมีกรรมเป็นของๆ ตน แต่ละคนเป็นทายาทของกรรม” ที่ว่าเป็นทายาทของกรรมเพราะอะไร ก็เพราะว่าเราได้สร้างกรรมไว้ เมื่อเราสร้างกรรมไว้อย่างไร เราก็เป็นทายาทของกรรมนั้น และเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

เมื่อกรรมเกิดจากการสะสม มันก็เป็นเรื่องของกาลเวลา ที่เรียกว่า อดีต ปัจจุบัน อนาคต เราสั่งสมกรรมมาในอดีตแล้ว มันก็สืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้ ตัวเราในปัจจุบันนี้ก็เป็นผลของการสั่งสมของกรรมทั้งหมดในอดีต

แล้วกรรมที่เราทำในปัจจุบันนี้ ก็จะรวมเข้ากับกรรมที่ได้สั่งสมไว้ หรือทุนเดิมที่มีอยู่ทั้งหมดนั้น และเพิ่มทุนเข้าไปอีก สำหรับไปให้ผลในอนาคตต่อไปข้างหน้า

เพราะฉะนั้น การมีชีวิตในปัจจุบันแต่ละเวลา ก็คือการเพิ่มทุนสะสมเพิ่มเข้าไปในกองเสบียงทุน ที่เราทำไว้ทั้งหมดนั้น ให้มีผลยิ่งๆ ขึ้นไป

ด้วยเหตุนี้ ทางพระพุทธศาสนาท่านจึงสอนให้เราไม่ประมาท เพราะว่า เมื่อรู้ว่าชีวิตของเราเป็นการสั่งสมกรรม เราก็ควรจะสั่งสมกรรมที่ดี ดังที่มีพระพุทธพจน์สอนไว้ว่า อย่าดูถูกกรรมไม่ว่าดีหรือชั่ว แม้จะมีประมาณน้อย ตามพุทธภาษิตว่า

มาวะมัญเญถะ ปาปัสสะ นะ มัตตัง อาคะมิสสะติ

แปลว่า “อย่าดูหมิ่นกรรมชั่วหรือบาปว่าเล็กน้อย คงจะไม่มาถึงตัว” เปรียบเหมือนน้ำหยดทีละน้อยๆ ก็ทำให้ตุ่มน้ำที่ใหญ่โตเต็มไปด้วยน้ำได้ ฉันใด คนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อสั่งสมกรรมที่เป็นบาปทีละน้อย ๆ แล้วชีวิตก็เต็มไปด้วยบาปได้ ฉันนั้น

ในทางตรงกันข้าม บุญก็เช่นเดียวกัน ท่านก็สอนว่า

มาวะมัญเญถะ ปุญญัสสะ นะ มัตตัง อาคะมิสสะติ

แปลว่า “อย่าดูหมิ่นบุญว่าเป็นของเล็กน้อย คงจะไม่เกิดผล” เปรียบเหมือนตุ่มน้ำใหญ่ ย่อมเต็มด้วยน้ำที่หยดทีละเล็กทีละน้อยได้ ฉันใด คนเราดำเนินชีวิตที่ประกอบด้วยการทำความดีหรือบุญ ก็มีชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยบุญได้ ฉันนั้น

อันนี้เป็นคติเตือนใจ ให้เราพยายามใช้เวลาในการที่จะทำแต่กรรมดีงาม ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องการสืบต่อของชีวิตและเป็นการสืบต่อของกรรมไปด้วย

เมื่อมีชีวิตอยู่ไป กรรมก็สั่งสมขึ้นมากมาย
ต้องรู้จักทั้งตัดและต่อ จึงจะมีชีวิตที่ดีได้

สำหรับมนุษย์นั้น กรรมกับชีวิตไม่สามารถแยกจากกันได้ เมื่อมีชีวิต ก็มีกรรม เพราะเหตุที่มีกรรมนั้นแหละ จึงทำให้ชีวิตสืบต่อไป เพราะฉะนั้น กรรมก็อุดหนุนชีวิต และเมื่อมีชีวิตก็ทำกรรมกันต่อไป ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะใช้ชีวิตนั้นทำกรรมอะไร

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราทำกรรมดี และตรงนี้ก็เป็นแง่ของการที่จะสืบต่อ คนเราจึงต้องใช้การสืบต่อให้เป็นประโยชน์ หมายความว่า ชีวิตที่เป็นการสั่งสมก็ดี สืบต่อก็ดี เราควรจะทำให้เป็นการสืบต่อและเป็นการสั่งสมที่เป็นบุญเป็นกุศล ถ้าสืบต่อดีก็เกิดบุญเกิดกุศลมาก ชีวิตนี้ก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญด้วยกุศล

แต่ในเวลาเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้เรารู้จักตัดด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ให้สืบต่ออย่างเดียว สืบต่อในแง่ที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต แต่ในทางจิตใจของเรานี้ ถ้าเราไม่รู้จักตัด มันก็ทำให้เกิดความทุกข์ได้

อย่างคนบางคนทำกรรมไว้ แม้จะทำบาปไว้เพียงนิดหน่อย แล้วก็มาเป็นห่วงเป็นกังวลกับบาปหรือกรรมไม่ดีที่เคยทำไว้ แล้วจิตใจก็ไม่มีความสุข ด้านนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าต้องรู้จักตัด

เมื่อกี้นี้ต้องรู้จักต่อ ต่อให้ดีก็คือสั่งสมแต่ส่วนที่ดี ทีนี้ ส่วนที่เป็นโทษก็รู้จักตัด รู้จักตัดอย่างไร

ตัดอย่างที่หนึ่ง คือตัดในความคิดของเรานี้แหละ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า “ไม่ควรมัวหวนละห้อยถึงความหลังหรือสิ่งที่ล่วงแล้ว และก็ไม่ควรฝันเฟ้อถึงอนาคตด้วยเช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็นอดีตก็ล่วงไปแล้ว สิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ควรดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน”

ถ้าเราพิจารณารู้ชัดว่ากรรมนี้ดี เป็นสิ่งที่เป็นปัจจุบันอยู่เฉพาะหน้า แล้วก็พยายามขวนขวายทำปัจจุบันนั้นให้ดี ก็จะมีชีวิตที่ดีงามได้

ตัดอย่างที่สอง เป็นไปตามหลักความจริงที่ว่า คนเรานี้เปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นอนิจจัง และเป็นไปตามเหตุปัจจัย หมายความว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น กรรมที่ทำมาแล้ว ถ้าแม้ว่าได้ทำอกุศลมา ก็สามารถที่จะละเลิกแล้วหันมาทำกุศล มีพุทธพจน์ตรัสให้กำลังใจไว้ว่า

“โย จะ ปุพเพ ปะมัชชิตฺวา ปัจฉา โส นัปปะมัชชะติ
โสมัง โลกัง ปะภาเสติ อัพภา มุตโตวะ จันทิมา”

คาถานี้แปลความได้ว่า “บุคคลใดเคยประมาทแล้วในกาลก่อน มาภายหลังเลิกละ หันมาเปลี่ยนเป็นไม่ประมาท บุคคลนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนดังดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอก”

พุทธภาษิตนี้หมายความว่า ถ้าเราเคยทำอกุศลกรรมหรือบาปอะไรไว้ และถ้าหากเรารู้แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ไม่ดีไม่งาม เราก็เลิกละเสีย แล้วหันมาทำสิ่งที่ดีงามด้วยความไม่ประมาท ก็จะกลับเกิดเป็นบุญเป็นกุศล และจะทำให้ชีวิตนี้สว่างไสวขึ้นมา ตั้งแต่จิตใจของตนเองก็จะปลอดโปร่ง เบิกบาน แจ่มใสได้เรียกว่า พ้นจากเมฆหมอก เหมือนดังดวงจันทร์ที่ว่า เมื่อพ้นจากเมฆหมอกออกมาได้ ก็ส่องแสงสว่างให้โลกนี้แจ่มจ้า งดงามสดใสได้ ฉันนั้น

ถ้ารู้เข้าใจธรรม ก็ปิดกั้นกรรมเองได้

ยังมีคาถาอีกคาถาหนึ่ง ที่ตรัสให้กำลังใจไว้สำทับความให้ชัดยิ่งขึ้นว่า

“ยัสสะ ปาปัง กะตัง กัมมัง กุสะเลนะ ปิถียะติ
โสมัง โลกัง ปะภาเสติ อัพภา มุตโตวะ จันทิมา”

แปลความว่า “บุคคลใดกระทำบาป คือกรรมชั่วไว้แล้ว ภายหลังปิดกั้นกรรมชั่วนั้นเสียด้วยกุศล บุคคลนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนดังดวงจันทร์ที่พ้นจากเมฆหมอก”

คาถานี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ว่าแต่ก่อนประมาทนั้นคืออะไร ก่อนนั้นประมาทก็คือไม่ทันคิด ไม่ทันได้พิจารณา ยังไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ก็อาจจะทำสิ่งที่เป็นบาป เป็นอกุศลไว้ ต่อมาไม่ประมาท คือเกิดสติ และได้พิจารณา มีความรู้ความเข้าใจแล้ว ก็เลิกละอกุศล เปลี่ยนมาทำกุศลแทน ก็เอากุศลนั้นมาปิดบาปเสีย

ที่ว่าปิดนั้นไม่ใช่ปิดบัง แต่ว่าปิดรายการทีเดียว ปิดบังนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การที่จะปิดบังบาปนั้น ปิดบังในใจเราไม่ได้ แต่ต้องเอากุศลมาปิด หมายความว่า จบรายการของอกุศลหรือบาปนั้น โดยเอากุศลเข้ามาแทน ก็ทำให้เกิดความดีงามขึ้นมา เมื่อกุศลเกิดขึ้นแล้ว ก็ปิดอกุศลหรือปิดบาปเสีย ให้จบสิ้นรายการไป

เพราะฉะนั้น แม้ว่าคนเรานี้ เมื่อมีชีวิตอยู่ อาจจะทำกรรมดีบ้างชั่วบ้างได้ แต่กรรมที่ทำไว้ชั่วนั้น ถ้าเรารู้เข้าใจแล้ว และรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยมีโยนิโสมนสิการ คือทำในใจไว้โดยแยบคาย แล้วทำกุศลขึ้นมาแทน ก็สามารถปิดกั้นอกุศลนั้นให้หมดพิษสงไปได้

บาปที่ทำไว้ ที่ท่านว่าไม่หายไปไหนนั้น เมื่อทำบุญไปๆ บาปก็ถูกยับยั้ง ถูกครอบงำ หรือถูกท่วมทับ หมดฤทธิ์ เพราะบุญมีกำลังเหนือกว่า บาปก็ถูกปิดถูกกั้นไม่สามารถแสดงผลได้

เปรียบเหมือนกับ ว่าเราเอาน้ำสีแดงหรือสีเขียวหรือสีสกปรกอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นสีดำก็ได้ มาใส่ไว้ในภาชนะ เมื่อเราใส่แต่น้ำสีดำสกปรกลงไป เราก็เห็นชัดว่าน้ำนั้นสกปรก เช่นว่าน้ำสีดำลิตรหนึ่ง ใส่ลงไป ก็เห็นชัดเลยว่าเป็นน้ำสกปรก เป็นน้ำสีดำ เหมือนกับกรรมชั่วที่ทำไว้

ทีนี้ต่อมา เราได้สติ และรู้เข้าใจแล้ว ก็ไม่ประมาท เราก็ไม่ทำกรรมชั่วนั้นเพิ่มอีก น้ำสีดำที่สกปรกมีจำนวน ๑ ลิตร ก็อยู่แค่ ๑ ลิตรนั้น

ทีนี้ ต่อจากนั้น เราทำแต่กรรมดี เราทำกรรมดีมากขึ้นๆ เหมือนกับใส่น้ำใสลงไปๆ ใส่เรื่อย เติมอยู่เรื่อย จนกระทั่งว่าน้ำใสนั้นมีปริมาณมากมายตั้งหลายถัง แล้วในที่สุดก็จะปรากฏชัดเจนว่า น้ำที่เป็นสีแดง หรือสีดำลิตรเดียวนั้นน่ะ มองไม่เห็นเลย

ในน้ำที่มีปริมาณมากมาย ซึ่งมีจำนวนตั้งพันลิตร หมื่นลิตร น้ำสีดำที่มีเพียงลิตรเดียวนั้น มองไม่เห็นเลย เจือจางไปหมด ทั้ง ๆ ที่ความจริงน้ำสีแดงสีดำนั้นก็ยังมีอยู่ แต่มองไม่เห็น ไม่มีความหมาย น้ำทั้งหมดนั้นกลายเป็นสีใสไปหมด

เรื่องนี้ก็เหมือนกัน เมื่อทำกรรมที่เป็นกุศล ทำบุญมากขึ้นๆ บาปที่มีเล็กน้อยนั้น มีก็เหมือนไม่มี เลยหมดความหมายไปเอง

อุปมาอีกอย่างหนึ่งว่า ในกรณีที่ถ้าสามารถทำกุศลที่เป็นโลกุตตระขึ้นมา โลกุตตรกุศลนั้นจะตัดกรรมชั่วให้หมดไปได้ เหมือนกับว่ามีน้ำสีใส่ลงไปในภาชนะ คราวนี้เราไม่ได้เติมน้ำใส แต่เราเอาสารเคมีชนิดหนึ่งใส่ลงไป พอใส่สารเคมีนั้นลงไป น้ำสีนั้นก็กลายเป็นน้ำใสไปเลย การใส่โลกุตตรกุศลลงไปเหมือนกับเป็นสารเคมี เปลี่ยนให้สีน้ำที่แดงนั้นกลายเป็นน้ำใสไปได้

เพราะฉะนั้น กุศลนี่แหละเป็นตัวปิดกั้น เป็นตัวตัดผลที่เป็นวิบากอันชั่วของกรรมที่เป็นบาปไปเสียได้ ฉันนั้น

เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า พระพุทธเจ้านอกจากทรงให้รู้จักต่อแล้ว ก็ทรงให้รู้จักตัดด้วย

ในแง่ต่อ ก็คือให้รู้ว่า อดีต ปัจจุบัน และอนาคตนั้น เป็นกระบวนการอันเดียวกัน ที่ไหลเนื่องสืบต่อกันไป เพราะฉะนั้น เราจึงใช้ปัจจุบันนี้ในการใส่สิ่งใหม่ที่ดีเติมเข้าไป หรือเพิ่มทุน หรือว่าทำกรรมใหม่เพิ่มเข้าไปในกระบวนการแห่งกรรมของเรา เราทำแต่กรรมดี เพื่อให้กระบวนการสืบต่อชีวิตของเรานั้นเป็นกระบวนการที่ดี อันนี้เป็นการรู้จักต่อ

แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ให้รู้จักตัด คือปฏิบัติตามพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“อะตีตัง นานวาคะเมยยะ นัปปะฎิกังเข อะนาคะตัง”

แปลว่า “ไม่ควรหวนละห้อยถึงความหลังที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดเป็นปัจจุบันอยู่เฉพาะหน้า มองพิจารณาให้เห็นชัดแล้ว พึงขวนขวายทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”

อย่างนี้เป็นการตัดเรื่องเก่าด้วยความคิดที่ถูกต้องประการหนึ่ง แล้วก็ตัดเสียด้วยการที่ทำกุศลปิดกั้นดังที่พุทธพจน์ได้กล่าวมานั้นอีกประการหนึ่ง ก็จะทำให้อดีตที่ผ่านไปนั้น กลายเป็นอดีตที่ไม่สามารถแสดงผลในทางที่เป็นอกุศลวิบาก อันนี้ก็เป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ตามความเป็นจริงของธรรมชาติ

เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป
คนจะทันมันได้ ก็ต้องไม่ประมาท

กาลเวลานี้ ทำให้เราคิดถึงเรื่องใหม่และเก่า เพราะเป็นโอกาสเกี่ยวกับปีใหม่และปีเก่า

ทีนี้ ปีเก่าก็เป็นเวลาที่กำลังจะผ่านพ้นไป ปีใหม่ก็เป็นเวลาที่เป็นปัจจุบัน และก็เป็นอนาคตที่จะมีต่อไปด้วย จึงสมควรนำคติเกี่ยวกับเรื่องกาลเวลา ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตนี้มากล่าวไว้ เพื่อว่า เราจะได้ใช้ธรรมะให้ประโยชน์ในเรื่องเกี่ยวกับกาลเวลา ให้กาลเวลาเก่าที่ผ่านไปนี้มีผลดีแก่เราให้มากที่สุด

ถ้าเป็นกาลเวลาที่เป็นบุญเป็นกุศล ก็ให้เป็นส่วนที่อยู่ในทุนของเราที่จะเอาไปใช้ และเราก็จะเพิ่มทุนส่วนดีนั้นต่อไป เป็นส่วนของการต่อให้ดี สืบต่อให้เป็นบุญ ให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นกุศล

ถ้าเป็นเวลาเก่าที่เป็นโทษ เป็นบาป เป็นอกุศล ก็ใช้วิธีตัด ด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้ว คือ ตัดโดยใช้วิธีมนสิการอย่างถูกต้อง แล้วก็ใช้วิธีของการปิดกั้นด้วยกุศล ให้กลายเป็นส่วนของการสืบต่อในอนาคตที่ดีงามสืบไป

ที่แสดงมานี้ ก็เป็นคติเกี่ยวกับการขึ้นปีใหม่ ซึ่งรวมแล้วก็เป็นเรื่องของกาลเวลา ที่ว่าเป็นเรื่องของอดีต ปัจจุบัน อนาคต แล้วก็เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง

พระพุทธศาสนาสอนหลักสำคัญ คือเรื่องของความเปลี่ยนแปลงนี้ และความเปลี่ยนแปลงนั้นก็เป็นไปตามหลักอนิจจัง ที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่คงที่ ไม่เที่ยงแท้ มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่ต้องย้ำและจำให้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

ทีนี้เมื่อเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยดี ก็ทำให้เกิดผลดี ถ้าเหตุปัจจัยไม่ดี ก็ทำให้เกิดผลไม่ดี เมื่อเราต้องการผลที่ดี ก็สร้างเหตุปัจจัยที่ดี

เพราะฉะนั้น กาลเวลาก็เตือนให้เรามาระลึกถึงความเปลี่ยนแปลงว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้นจะทำให้ดีได้ เราก็ต้องมีความไม่ประมาท

ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจะทรงสอนอยู่เสมอ ทรงย้ำเตือนพุทธศาสนิกชนให้ไม่ประมาท แม้กระทั่งในวาระสุดท้าย เมื่อพระองค์จะปรินิพพาน ก็ยังตรัสปัจฉิมวาจา เป็นพุทธพจน์ครั้งสุดท้าย ทรงย้ำเตือนว่า

“วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ”

แปลว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นหรือสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” หรือขยายความออกไปว่า จงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

อันนี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเตือน การที่พระพุทธเจ้าทรงเตือนเราในเรื่องความไม่ประมาทนั้น เพราะ

๑. กาลเวลามีจำกัด คนเราจะมีโอกาสในการกระทำสิ่งต่างๆ ก็ต้องขึ้นต่อจังหวะของมันด้วย เพราะเวลาสำหรับทำสิ่งนั้นๆ มีจำกัด ถ้าเราไม่เร่งทำในเมื่อโอกาสหรือเวลามาถึง โอกาสนั้นผ่านไป เราไม่ได้ทำ เราก็เสียโอกาสไป ก็เป็นอันว่าเหลวล้มไป ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น เมื่อโอกาสมาถึงแล้ว จะต้องมีความไม่ประมาท เร่งทำให้สำเร็จให้ได้

ข้อสำคัญก็คือ โอกาสนี้มันมาอำนวยให้ทั้งความประมาท และความไม่ประมาท โอกาสบางอย่าง เมื่อมา มันจะชวนให้เราเกิดความประมาท ให้เกิดความหลงมัวเมาและพลาดพลั้งไป ถ้าโอกาสเช่นนั้นมา เราต้องระวังไม่ถลำตัวไปใช้โอกาสนั้นในทางประมาท ที่จะทำให้เกิดโทษแก่ตนเองหรือแก่ใครๆ แต่เราจะต้องใช้โอกาสนั้น ในการเร่งทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์

เพราะฉะนั้น เรื่องของโอกาส เรื่องของกาลเวลาที่จำกัด และจังหวะของสิ่งทั้งหลายนี้ ก็เป็นข้อเตือนอย่างหนึ่งที่ทำให้เราต้องไม่ประมาท

๒. ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน การเปลี่ยนแปลงนั้นบอกให้รู้ด้วยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ไม่แน่นอน แม้แต่ชีวิตของเราก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะเหตุที่มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ก็ทำให้เราจะต้องไม่ประมาท

ถ้าเราไปมัวเมาเพลินอยู่ว่า ชีวิตของเราจะอยู่ได้อีกนาน หรือเดี๋ยวนี้ร่างกายของเราแข็งแรงดี เรื่องนี้ยังไม่ต้องรีบหรอก เอาไว้ทำเมื่อโน้นเมื่อนี้ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าประมาท คือเราไม่รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อไร แก่ร่างกายของเราก็ตาม แก่ชีวิตของเราก็ตาม แก่สภาพแวดล้อมรอบตัวเราก็ตาม เพราะฉะนั้น เมื่อทำอะไรให้ดีได้ ก็ควรจะรีบทำเสียทีเดียว

พระพุทธเจ้าทรงสอนเราให้ไม่ประมาททั้งในแง่ที่ว่า กาลเวลา โอกาส และจังหวะนี้มีจำกัดอย่างหนึ่ง และความเปลี่ยนแปลงนั้นบ่งชี้ความไม่แน่นอนว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง

ทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นเรื่องเตือนใจให้ไม่ประมาท

กาลเวลายิ่งผ่านไป เรายิ่งได้ทำสิ่งมีคุณค่ามากมาย
จึงเป็นสิริมงคล มีแต่ความสุขความเจริญ

ปีเก่า-ปีใหม่ เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องของกาลเวลาที่ผ่านล่วงไป จึงเป็นโอกาสอันสมควร ที่เราจะนำหลักความไม่ประมาทมาใช้ ถ้านำหลักความไม่ประมาทมาใช้แล้ว ชีวิตก็จะเจริญงอกงามยิ่งขึ้น

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนไว้ อย่างที่อาตมภาพได้ยกมาอ้างแล้ว พระองค์ตรัสเตือนอยู่เสมอว่า วันเวลาอย่าปล่อยให้ล่วงไปเปล่า ท่านสอนว่า “จงทำวันทุกวันนี้ให้ไม่ว่างเปล่า” พูดตามคำบาลีว่า

“อะโมฆัง ทิวะสัง กะยิรา”

พึงกระทำวันแต่ละวันนี้ไม่ให้ว่างเปล่า

“อัปเปนะ พะหุเกนะ วา”

ให้ได้อะไรบ้างไม่มากก็น้อย

หมายความว่า ต้องทำอะไรให้ได้สักอย่าง ไม่ได้ทางกาย ก็ได้ทางวาจา ไม่ได้ทางวาจา ก็ได้ทางใจ เริ่มตั้งแต่งานภายนอก อาจจะเป็นงานเขียนหนังสือบ้าง งานเกี่ยวกับการทำอาชีพบ้าง งานแต่ละอย่างนี้ควรพยายามทำไปให้คืบหน้า ได้วันละเล็กละน้อย ยิ่งได้มากก็ยิ่งดี ถ้าไม่ได้มาก ก็ต้องให้ได้บ้างเล็กน้อย

ถ้าไม่ได้ภายนอก ก็ให้ได้เข้ามาในใจ อย่างน้อยภายในใจของเรานี้ ก็ทำให้เกิดภาวนา ให้เกิดสติปัญญา หรือให้เกิดความผ่องใส ให้เกิดการพัฒนาในทางจิตใจ ให้เกิดการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา กุศลธรรมอะไรก็ตาม ให้ได้บ้างไม่มากก็น้อย แล้ววันเวลานั้นจะเป็นสิ่งที่มีค่า แล้วชีวิตก็จะเป็นชีวิตที่มีค่าเจริญงอกงามไปด้วย

ตอนนี้จะถึงโอกาสปีใหม่แล้ว อาตมภาพก็เลยขอนำธรรมกถานี้มากล่าว เป็นเรื่องของอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน และเรื่องของความไม่ประมาท

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งนำมาเป็นคติ ในการที่จะพัฒนาชีวิตให้เกิดความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ในโอกาสแห่งวันสำคัญที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้ ขอให้เราทั้งหลายมองในแง่ดี มองในแง่ว่าเป็นกาลเวลาที่เป็นสิริมงคล และการที่จะเป็นสิริมงคลนั้น ก็ด้วยการที่เราทำกรรมดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ

เริ่มด้วยปัญญาที่เข้าใจธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคติว่า ให้รู้จักทั้งตัดและต่อ คือ ตัดในสิ่งที่เป็นโทษ ต่อในทางที่เป็นคุณ ทำจิตใจให้ดี แล้วออกมาทางวจีกรรม การพูด การกล่าว การแนะนำ ตักเตือนกันในทางที่ดีงาม และออกมาทางกายกรรม คือการกระทำทางกายที่ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแก่กันระหว่างเพื่อนมนุษย์ มีความสัมพันธ์ต่อกันในทางที่ดีงาม กระทำกรรมทั้งหลายที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ ก็จะกลายเป็นมงคล แล้วกาลเวลาที่เป็นมงคลนั้นก็จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ

ในโอกาสที่เป็นมงคลอย่างนี้ อาตมภาพก็ขออ้างอิงคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร

ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา” ด้วยอานุภาพคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ อันเป็นที่พึ่ง ที่เคารพสักการะของเราชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พร้อมทั้งบุญกุศลที่ญาติโยมทุกท่านได้ช่วยกันร่วมกันบำเพ็ญแล้ว จงเป็นปัจจัยอันมีกำลังอภิบาลรักษาให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ในกาลเวลาปีใหม่อันเป็นสิริมงคลนี้ จงประสบสุขเป็นผลยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดปีใหม่และตลอดกาลอันเป็นนิจนิรันดร์ พร้อมทั้งจงมีความร่มเย็นเป็นสุข งอกงามในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนาน เทอญฯ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< นำเรื่อง อนุโมทนาก่อนผ่านปีเก่าพ้นเก่า-ใหม่: สู่ความสดใสอมตะตลอดกาล >>

เชิงอรรถ

  1. ธรรมกถา แสดงที่บ้านคุณโยมมิสโจ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๑

No Comments

Comments are closed.