ภาค ๑ วิสาขทัศน์ เพื่อวัดและพุทธบริษัท

2 มิถุนายน 2547
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

ภาค ๑
วิสาขทัศน์ เพื่อวัดและพุทธบริษัท

ชาวพุทธที่ดีแท้ ไม่คิดดีอยู่แค่ตัว
แต่ต้องเดินหน้าสามัคคี หนุนการทำดีไปด้วยกัน

การมาในที่นี้ ถ้าใช้คำทางพระศาสนา ก็เรียกว่าเป็นการให้ทั้งกายสามัคคีและจิตสามัคคี

กายสามัคคี คือร่วมกาย โดยมานั่งประชุมกัน มาช่วยกันทำโน่นทำนี่ ตลอดจนมาร่วมกิจกรรมในการเวียนเทียน

จิตสามัคคี คือร่วมใจ ซึ่งอยู่ข้างใน ร่วมใจนี้สำคัญนัก เมื่อใจร่วมกันจึงทำให้มาประชุมในที่เดียวกันได้

ร่วมใจนี้ลึกซึ้ง มีหลายระดับ ร่วมใจจริงๆ ก็ต้องมีศรัทธาร่วมกัน รักกัน มีเมตตาหรือไมตรีจิตต่อกัน หวังดีต่อกัน มีใจสมัครสมานกลมเกลียว คิดร่วมใจกันในการประพฤติปฏิบัติสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เพื่อทำชีวิต ครอบครัว และสังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข เป็นต้น อันนี้จึงจะเป็นการร่วมใจที่แท้จริง เรียกว่าเป็นจิตสามัคคี

ถ้ามีครบ ๒ อย่าง ทั้งกายสามัคคีและจิตสามัคคี ก็จะสมบูรณ์ เราต้องการให้ได้ถึงขั้นนี้

การที่มีพิธีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้น ก็เพราะมุ่งให้เราได้แสดงออกซึ่งกายสามัคคีและจิตสามัคคีนี่แหละ คือ มิใช่มีพิธีเฉพาะลำพังตนเอง ซึ่งแต่ละท่านก็คงมีอยู่แล้ว แต่จะให้สมบูรณ์เกิดผลเป็นประโยชน์บริบูรณ์แท้จริง ก็ต้องมาแสดงออกร่วมกันอย่างนี้ พระศาสนา สังคม และเรื่องที่เป็นของส่วนรวม เช่นวัฒนธรรม จึงจะอยู่ได้ และสามารถดำเนินไปด้วยดี

การที่จิตใจโยมมีศรัทธา มีเมตตา มีสามัคคีกันอย่างนี้ ก็เป็นที่น่าอนุโมทนา แต่ที่ปรากฏอยู่นี้เป็นเพียงการแสดงออก ในเหตุการณ์สำคัญ ที่เป็นจุดกำหนด ที่จริงนั้น ตามปกติ ญาติโยมสาธุชนจำนวนมากก็มีศรัทธาและมีเมตตาธรรมเป็นต้น และได้มาวัดวาอาราม มาทำกิจกรรม มาถวายทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนากันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นบรรยากาศสำคัญ ที่มาประสานกัน ช่วยให้วันวิสาขบูชามีความหมายมากขึ้น

หมายความว่า เรามิใช่มาเฉพาะวันวิสาขบูชา หรือเฉพาะวันสำคัญเท่านั้น แต่เราได้เอาใจใส่ในเรื่องของบุญกุศล ในการสร้างความดี ในการร่วมกิจกรรมทางพระศาสนามาโดยตลอด ซึ่งถ้าทำได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี ก็จะเป็นการมาช่วยกันทำให้วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา ตลอดจนวันอาสาฬหบูชามีความหมายที่แท้จริงได้อย่างสมบูรณ์

อย่างที่นี่ ก็ต้องขออนุโมทนาญาติโยมจำนวนมาก ที่ได้มาช่วยเหลือเกื้อกูลวัดตลอดมา มิใช่เฉพาะถวายทานบำรุงเลี้ยงพระสงฆ์เท่านั้น แต่ได้มาช่วยในเรื่องการจัดบริเวณวัดวาอารามให้เป็นสถานที่อันสมที่จะเรียกว่าเป็นรมณียสถาน คือเป็นสถานที่ดีงาม ร่มรื่น ที่ชวนให้จิตใจสดชื่นร่าเริงเบิกบาน เรียกสั้นๆ ว่า “รมณียะ” หรือ “รมณีย์” ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของสถานที่ที่ดี

วัดที่ดี ทั้งเป็นทัศนีย์ และรื่นร่มรมณีย์

เรามีคำคู่กัน อันหนึ่งเรียกว่า “ทัศนียะ” หรือพูดง่ายๆ เรียกเป็นไทยว่า “ทัศนีย์” และอีกคำหนึ่งว่า “รมณียะ” เรียกเป็นไทยว่า “รมณีย์”

รมณีย์ แปลว่า น่ารื่นรมย์ เป็นที่ยินดี ทำให้จิตใจสบาย ส่วนทัศนีย์ เป็นด้านรูปธรรม เป็นสภาพทางวัตถุที่มองเห็นด้วยตา

ตอนแรก เรามองเห็นสถานที่ที่สะอาด มีต้นไม้ มีธรรมชาติต่างๆ ที่สดชื่นสวยงาม น่าดูน่าชม ก็เป็นทัศนีย์ แต่จะให้ผลจริงๆ ที่ลึกซึ้งลงไป ก็ต้องเข้าไปถึงจิตใจ ให้เกิดความรู้สึกรื่นรมย์ คือเป็นรมณีย์ อันนี้เป็นลักษณะทั่วไป และวัดวาอารามก็ควรจะเป็นสถานที่ซึ่งเป็นทั้งทัศนียะและรมณีย์

สังเวชนียสถาน ๔ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และทรงแสดงปฐมเทศนา ในชมพูทวีป ที่ชาวพุทธไปนมัสการกันนั้น ที่จริงท่านไม่ได้เรียกว่าสังเวชนียสถานอย่างเดียว ในพระไตรปิฎกเอง พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นทัศนียสถานและสังเวชนียสถาน คือเป็น ๒ อย่าง แต่เราจับเอามาคำเดียว เรียกว่าสังเวชนียสถาน

โดยทั่วไป ที่อื่นซึ่งไม่ได้เป็นสังเวชนียสถานอย่างนั้น ก็ต้องให้เป็นทัศนียสถาน แล้วก็เป็นรมณียสถาน ดังจะเห็นว่า คำบรรยายลักษณะวัดทั่วไปในพุทธกาลเป็นอย่างนี้

ทัศนีย์ รมณีย์ นี่เป็นเรื่องของสถานที่ ญาติโยมมาในที่ที่ว่าเป็นวัดวาอาราม ถ้ามีลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นที่โน้มนำจิตใจไปสู่ความสงบ ความสดชื่นเบิกบานใจ แล้วก็โน้มนำต่อไปสู่ธรรมะ ถ้ามีการสดับตรับฟัง และฝึกศึกษาปฏิบัติธรรมต่อไป ก็ทำให้ได้ผลดีด้วย เพราะบรรยากาศเกื้อกูล เรียกว่าเป็น “สัปปายะ” อันนี้เป็นด้านหนึ่ง

พระสงฆ์ที่ดี เป็นมโนภาวนีย์
หรืออย่างน้อย ต้องเป็นปสาทนีย์

ทีนี้อีกด้านหนึ่ง ก็คือตัวบุคคล ในสถานที่นั้น ก็ต้องมีตัวบุคคล ตัวบุคคลที่เหมาะที่ดีก็มีลักษณะแบบเดียวกัน มีคำเรียกเป็นชุดต่อกันไปเลย คือ

บุคคลก็เริ่มต้นด้วยเป็น ทัศนียะ คือน่าดู ซึ่งเป็นลักษณะอาการทางรูปกาย หรือเป็นรูปธรรมภายนอก จากนั้นก็มีศัพท์ที่ลึกลงไป ต่อจากทัศนียะ ก็ต้องเป็น “ปสาทนียะ”

ปสาทนียะ แปลว่า น่าเลื่อมใส น่าชื่นชม น่าเชื่อถือ หมายความว่า มีคุณสมบัติดีงามต่างๆ เช่น มีความรู้ มีความสามารถ มีการประพฤติปฏิบัติดี เป็นต้น เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ชวนให้เชื่อถือ

ทัศนียะ เป็นการมองเห็นด้วยตาในเบื้องต้นก่อน แต่พอถึงปสาทนียะ ก็เป็นการมองลึกเข้าไปข้างใน เรียกว่า เห็นรูปพรรณภายนอกเป็น ทัศนีย์ ต่อจากนั้นมีคุณสมบัติข้างในลึกเข้าไปก็เป็น ปสาทนีย์

ยิ่งกว่านั้น ถ้าจะให้ดียอดเยี่ยม ขอให้ดูอย่างในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ มีผู้คนไปกราบไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น เหตุผลที่เขาไปอย่างหนึ่งก็คือ ต้องการไปพบไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระมหาสาวกทั้งหลาย ที่เขาเรียกว่าเป็น “มโนภาวนียะ” หรือเรียกสั้นๆ ก็เป็น มโนภาวนีย์ แปลว่า เป็นที่เจริญใจ

เป็นอันว่ามี ๓ ขั้นด้วยกัน

๑. ทัศนียะ/ทัศนีย์ เห็นรูปร่างและอาการทั่วไปภายนอก ก็น่าดูน่าชม

๒. ปสาทนียะ/ปสาทนีย์ พอใกล้เข้าไป เห็นถึงข้างใน ก็ซึ้งใจ รู้สึกชื่นชม ชวนให้เลื่อมใส มิใช่งามแค่รูปร่างท่าทาง แต่ข้างในมีคุณความดีทางธรรมทางปัญญา มีความรู้ความสามารถน่าเชื่อถือ น่าศรัทธา ต่อจากนั้นก็

๓. มโนภาวนียะ/มโนภาวนีย์ ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก เห็นท่านเมื่อใด ก็ใจโปร่งใจโล่ง ไม่มีอะไรที่จะให้เคลือบแคลงขุ่นมัวในส่วนของตัวท่านที่จะคิดเอาจากใครหรือคิดร้ายต่อใคร มีแต่คุณความดีเป็นหลักที่ยึดถือได้และน้ำใจที่มุ่งจะให้ ทำให้ซาบซึ้งใจ พอได้มาพบเห็น ก็มีผลเกิดขึ้นแก่ตัวผู้ดูผู้มาผู้ชมผู้ชิดใกล้ ทำให้ผู้ที่มาเห็นมาชื่นมาชมมาดูนั้น จิตใจสบายผ่องใสเบิกบานร่าเริงใจ เป็นที่เจริญใจ ด้วยทำให้ผู้นั้นๆ มีใจที่จะพัฒนาก้าวหน้าไปในธรรมในปัญญายิ่งขึ้นไป

เพราะเหตุนี้แหละ ตอนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน หลายคนจึงได้แสดงความเสียอกเสียใจบอกว่า เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว มิใช่เฉพาะเขาจะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่เขาจะไม่ได้เห็นพระมหาสาวก พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เป็นมโนภาวนียะ ผู้เป็นที่เจริญใจ ที่ว่าพอเห็นแล้ว ได้พบได้พูดคุยสนทนา ก็ทำให้ได้ความรู้ ได้ธรรม ได้บุญกุศล ได้ความดีงาม ได้ปัญญา อะไรต่างๆ อย่างนี้ เรียกว่า มโนภาวนียะ เป็นที่เจริญใจ คือทำให้จิตใจของเขาพัฒนาขึ้นมา

รวมความว่า ควรและขอให้ได้ทั้ง ๓ ขั้น

อันนี้ก็เป็นเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ของสถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นเครื่องเกื้อกูลแก่ผู้ที่มาในวัดวาอาราม มาทำบุญทำกุศล ทำให้ได้ผลดีจากพระศาสนาอย่างแท้จริงแม้ถึงญาติโยมทั้งหลายเอง ก็คงจะเป็นทัศนียะ และเป็นปสาทนียะแก่กันและกัน

สำหรับมโนภาวนียะนี่ ตามปกติท่านใช้น้อย มักจะใช้กับท่านที่เป็นพระอรหันต์ ก็เอาละ ขอให้เป็นปสาทนียะก็ยังดี ก็พอแล้วที่จะทำให้สังคมของเราอยู่ร่มเย็นเป็นสุข อยู่กันด้วยความรู้สึกเป็นมิตร มีไมตรี มีคุณค่าต่อกัน และรู้สึกในคุณค่าของกันและกัน ชื่นชมต่อกัน หวังว่าบรรยากาศของวัดจะได้ช่วยให้มีความรู้สึกที่ดีงามเหล่านี้

ญาติโยมที่มาวัดก็อย่างที่กล่าวแล้ว ไม่ใช่เฉพาะมาทำบุญทำกุศลถวายทานเลี้ยงพระอย่างเดียว แต่ได้มาช่วยกันจัดดูแลวัด ทำให้สถานที่วัดร่มรื่น ช่วยปลูกต้นไม้บ้าง ทำความสะอาดบ้าง จัดตกแต่งต่างๆ ต้องขออนุโมทนาไว้ในที่นี้

ท่านที่มาช่วยจัดเตรียมงานต่างๆ นั้น ทุกคนย่อมมีความคิดหวังอย่างเดียวกัน คือมีความมุ่งมาดปรารถนาดีต่อผู้ที่จะมาร่วมงาน โดยตั้งใจว่า ขอให้สาธุชนทั้งหลายมาวัดแล้ว จงได้ความสดชื่นเบิกบานใจ ร่าเริงผ่องใส ได้ความสุขสงบกลับไป ได้ประโยชน์ทางศีล ทางจิตใจ แล้วก็ได้ปัญญา ได้ความรู้ความเข้าใจ ต้องตั้งความหวังต่อกันอย่างนี้

ถ้าเราตั้งความหวังต่อกันอย่างนี้ ว่าขอให้ผู้ที่มาแล้ว ได้ประโยชน์มีความสุขโดยทั่วกัน ก็เป็นจิตใจที่ดี เป็นกุศลในตัว พระก็ต้องตั้งจิตอย่างนี้ต่อญาติโยม เป็นหลักของพระพุทธศาสนา

เรามาในวันนี้ ก็เป็นอันว่าได้กายสามัคคีและจิตสามัคคีแล้ว โดยมีความหวังดีปรารถนาดีต่อกัน เปี่ยมด้วยศรัทธาและเมตตาเป็นพื้นฐานที่ดีงาม มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลทั่วกัน อาตมภาพก็ขออนุโมทนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< กล่าวนำภาค ๒ วิสาขทัศน์ เพื่อรัฐและเพื่อโลก >>

หน้า: 1 2

No Comments

Comments are closed.