ภาค ๑ วิสาขทัศน์ เพื่อวัดและพุทธบริษัท

2 มิถุนายน 2547
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

ลำดับขั้นความสำคัญ ของวันสำคัญ

วันนี้ ที่จะต้องกล่าวเป็นพิเศษก็คือเรื่องวันวิสาขบูชา ส่วนที่พูดเกริ่นนั้นเป็นเรื่องทั่วๆ ไป

ก่อนที่จะพูดเรื่องวันวิสาขบูชา ก็ต้องขอประทานอภัยนิดหน่อย ที่จะพูดถึงเรื่องตัวเอง คือ โยมหลายท่านจะแปลกใจว่า วันนี้อาตมาลงมาได้อย่างไร เมื่อกี้ แค่ให้ศีลก็ไม่ค่อยตลอด เหนื่อย แล้วก็ใจสั่น ความจริงสภาพร่างกายไม่ได้ดีกว่าก่อนนี้ที่ไม่ได้ลง แต่เหตุผลที่คราวนี้ลงมานั้น เกี่ยวกับเรื่องของวันสำคัญ ก็เลยขอถือโอกาสพูดเสียหน่อย คือวันสำคัญที่บอกตอนต้นว่าเป็นวันสำคัญที่สุด

ทำไมจึงว่าวันวิสาขบูชาสำคัญที่สุด เรามีวันสำคัญต่างๆ ซึ่งบางทีก็ไม่สำคัญ แต่เป็นวันที่วัดมีงาน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ก็มีงานที่โยมมาทำบุญทำกุศลโดยปรารภวันเกิดของอาตมภาพ แล้วตอนนี้ก็เลยขยายเป็นวันเด็กไปด้วย

วันเกิดนั้นในแง่ตัวงานไม่ถือว่าสำคัญ เพราะฉะนั้น ถ้าเจ็บป่วยบ้างเล็กน้อย ก็เป็นอันว่าไม่ต้องลง เพราะถือว่าโยมมาทำบุญ ก็เป็นเรื่องที่โยมมีความปรารถนาดี เมื่อโยมทำบุญแล้ว ตัวไม่ได้ลง โยมก็อุทิศส่วนกุศลไปให้ได้ ไม่มีปัญหา นี้เป็นวันแบบที่หนึ่ง เป็นเรื่องของวันคล้ายวันเกิดเท่านั้น ไม่ใช่วันสำคัญจริง

ต่อมา วันสำคัญอีกประเภทหนึ่ง คือวันสำคัญตามวัฒนธรรมประเพณี อย่างวันสงกรานต์ เป็นวันที่สำคัญสำหรับประเทศชาติ หรือสำหรับสังคมทั้งหมด เป็นวันที่ญาติโยมมาประชุม แสดงความรักความปรารถนาดีต่อกัน ทั้งต่อผู้อยู่และผู้ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่ามาทำบุญรวมญาติ อุทิศส่วนกุศลแก่ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น

ในโอกาสอย่างนี้ โยมมาแสดงความปรารถนาดี พร้อมเพรียงสามัคคี พระก็มาแสดงน้ำใจ โดยมาร่วมอนุโมทนา มาช่วยอำนวยความสะดวกในการที่ญาติโยมบำเพ็ญกุศล พระองค์ไหนจะมาได้ก็ดี แต่ถ้าเจ็บป่วย ก็ไม่ต้องมา อยู่ในขั้นที่สำคัญขึ้นมาอีก แต่ยังไม่สำคัญที่สุด

จากนั้นก็มาถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาโดยตรง ซึ่งมีหลายวัน แล้วก็ยังแยกซอยออกไปได้เป็น ๒ กลุ่ม

กลุ่มแรก ก็คือ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา1 เป็นวันสำคัญสำหรับพระสงฆ์ โดยมีกิจที่ท่านต้องทำตามข้อกำหนดทางพระวินัย และในการปฏิบัติกิจของท่านตามพระพุทธบัญญัตินั้น ญาติโยมไม่เข้าไปร่วมทำด้วย

แต่เพื่อแสดงความอุปถัมภ์สนับสนุน ญาติโยมก็มาถวายกำลังและอำนวยความสะดวก ด้วยการเลี้ยงภัตตาหารและถวายวัตถุปัจจัยที่ท่านจะต้องอาศัย จนเกิดเป็นประเพณีทำบุญ ได้แก่การถวายเทียนพรรษาและถวายผ้าอาบน้ำฝนในตอนเข้าพรรษา และตักบาตรเทโวตอนออกพรรษา

ในพิธีทำบุญอย่างนี้ พระสงฆ์ออกมาฉลองศรัทธาสนองน้ำใจของญาติโยม ซึ่งควรยิ่งที่จะมา แต่ถ้ารูปใดมีเหตุขัดข้องอันควร ก็ยกเว้นไป

ทีนี้ก็มาถึงกลุ่มที่สอง ได้แก่วันอย่าง วิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา กลุ่มนี้เป็นวันที่พุทธบริษัททั้ง ๔ ไม่ว่าเป็นภิกษุ-ภิกษุณี หรืออุบาสก-อุบาสิกา จะต้องแสดงน้ำใจของตนต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ต่อพระสงฆ์ พูดสั้นๆว่า ต่อพระรัตนตรัย จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคลนั้นเลยทีเดียว อย่างพระแต่ละองค์ก็มีหน้าที่ต่อพระรัตนตรัย ต้องมาแสดงน้ำใจ แบบนี้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรขาด เป็นเครื่องวัดความสำคัญขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

ทีนี้ ในบรรดาวันสำคัญแบบนี้ ที่เรียกว่า “บูชา” ที่เราจัดกันตามปกติ ซึ่งมี ๓ วัน คือ วิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชานั้น ถือว่าวันวิสาขบูชาสำคัญที่สุด เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เพราะมีวันนี้ วันอื่นจึงมีได้

เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นมา จึงมีวันอาสาฬหบูชาที่พระสงฆ์มาประชุมกัน ถ้าไม่มีวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาก็มีไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้แล้ว ใครจะไปสั่งสอน วันมาฆบูชาก็เช่นเดียวกัน เป็นวันที่สืบเนื่องมาจากวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมเผยแผ่พระศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้าจำเป็นจริงๆ ลงไม่ได้ ก็ตัดไปอีก ๒ วัน ก็เหลือวันวิสาขบูชา

เป็นอันว่า วันวิสาขบูชาต้องพยายามลงให้ได้ เป็นเรื่องของวันสำคัญซึ่งมีความสำคัญตามที่กล่าวมา ก็ขอโอกาสเล่าเหตุผลไว้

เมื่อพูดแล้วว่า วันนี้คือวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญที่สุด เราก็มาพูดถึงความหมายของวันวิสาขบูชากันอีก

อย่างไรก็ตาม เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า วันวิสาขบูชามีความหมายและความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธา ได้ศึกษามามาก แล้วก็มาร่วมกิจกรรมกันไม่ที่นี่ก็ที่โน่น เรียกว่าทุกปี ก็ย่อมมีความแม่นยำในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาทบทวนกันอีกว่า วันนี้มีความหมายอย่างนั้น อย่างนี้ แม้กระทั่งว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร วันนี้ก็จะไม่ทบทวน

แต่เราสามารถยกความหมายแง่มุมแง่คิดเกี่ยวกับวันสำคัญเหล่านี้มาพูดกันในแต่ละครั้ง แต่ละโอกาส ยักย้ายเปลี่ยนแปลงไป เรียกว่าเป็นปริยายเทศนา (ปริยาย นี่แหละมาเป็นไทยว่า “บรรยาย”)

วันวิสาขบูชาสำคัญ ที่เป็นวันเกิด ๓ อย่าง

สำหรับวันวิสาขบูชานี้ แม้แต่ความหมายเบื้องต้น หรือความหมายพื้นฐาน ที่เราบอกกันว่า เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เราก็ยังสามารถพูดแนวใหม่อีกได้ แล้วแต่จับแง่ความหมาย

วันนี้ ขอให้ความหมายของวันวิสาขบูชาอีกแบบหนึ่งว่า เป็นวันเกิดทั้งหมด คือ เป็นวันเกิด ทั้งวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน

ทำไมจึงว่าเป็นวันเกิด?

ในความหมายแรก แน่นอนว่าชัดอยู่แล้ว วิสาขบูชาเป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ เรียกง่ายๆ ก็คือเกิด ได้แก่เจ้าชายสิทธัตถะเกิด

สอง ที่ว่าเป็นวันตรัสรู้ ก็คือเป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเกิดเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเกิดจริงในวันตรัสรู้

ต่อมา สาม ปรินิพพาน เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็เกิดพุทธศักราช พุทธศักราชนั้นกำหนดจากการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และเพราะมีการเกิดของพุทธศักราชนี้แหละ เราจึงมีเครื่องกำหนดหมายว่า พระพุทธศาสนาดำรงอยู่สืบต่อกันมานานเท่าไร เป็นเครื่องกำหนดย้อนลงไปถึงพระประวัติของพระพุทธเจ้า และเหตุการณ์ทั้งหมดทุกอย่าง

พุทธศักราชนี้เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ และเป็นสายโยงที่ยั่งยืนอยู่จนถึงปัจจุบัน ต่อเนื่องโยงตัวเรากับพระพุทธเจ้า และทั้งพระพุทธเจ้ากับเจ้าชายสิทธัตถะนั้น

ในที่นี้ ก็จึงบอกว่า วันวิสาขบูชาเป็น วันเกิด ๓ อย่าง คือ เกิดเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดพระพุทธเจ้า แล้วก็เกิดพุทธศักราช

สำหรับในประเทศลังกา (รวมถึงอินเดีย) และพม่านั้น เขานับต่างจากเรา คือ พอพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เขาก็นับทันที เพราะฉะนั้น ปีนั้นจึงเป็นพุทธศักราชที่ ๑

แต่ตามแบบของเรานั้น ยังไม่เริ่มนับ แต่หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานผ่านไปแล้ว ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน … ๑ เดือน ๒ เดือน ๕ เดือน ๑๐ เดือน ๑๒ เดือน

พอครบ ๑๒ เดือน คือครบ ๑ ปี เราจึงพูดว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้ว ๑ ปี เริ่มพุทธศักราช ๑ ของเรานับเวลาที่ล่วงแล้ว คือนับจำนวนปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้ว แต่ของพม่า ลังกา นับลำดับปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานผ่านไป

ด้วยเหตุนี้ พุทธศักราชในประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึง ลาว และเขมรด้วย จึงช้ากว่าในพม่า และลังกา ๑ ปี ญาติโยมต้องทราบด้วย เวลานี้ ในลังกาและพม่า เป็นพุทธศักราช ๒๕๔๘ แล้ว ขณะที่ของเรายังเป็น ๒๕๔๗ นับต่างกันอย่างนี้

นี่เป็นเรื่องที่ควรจะทราบเหมือนกัน เป็นเรื่องความหมายง่ายๆ เอามาพูดพอเป็นเรื่องทักทาย

โพธิญาณที่เป็นแกนของวิสาขบูชา
สอนใจมิให้ระย่อต่อความยากแห่งการลุถึงความสำเร็จ

ทีนี้เราควรพูดให้ลึกลงไปอีก สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรจะพูดเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา ก็อย่างที่บอกแล้วเมื่อกี้ว่า ตัวจริงที่สำคัญที่สุดก็คือ การตรัสรู้ การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะมีความหมายขึ้นมา ก็เพราะว่า จากเจ้าชายสิทธัตถะจึงมีพระพุทธเจ้าได้ การที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติก็เลยพลอยมีความสำคัญไปด้วย

การปรินิพพานก็เหมือนกัน มีความสำคัญก็เพราะเป็นการล่วงลับจากไปของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ได้ตรัสรู้

การตรัสรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น เราก็จะมาพิจารณาความหมายของวันวิสาขบูชา ในแง่ของการตรัสรู้ แต่เรื่องตรัสรู้ในแง่อะไรจะยังไม่พูดในที่นี้

ส่วนที่จะพูดก็คือ มีแง่คิดอย่างหนึ่งว่า การตรัสรู้ก็คือการสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความสำเร็จที่สำคัญอย่างยิ่ง การสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านี้ เราเห็นได้ชัดตามพุทธประวัติว่า เป็นสิ่งที่มิใช่ได้มาโดยง่าย เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นยากนักหนา

พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสบ่อยๆ ตั้งแต่เมื่อเริ่มจะเสด็จไปประกาศธรรม ก็ทรงปรารภว่า ธรรมที่ตรัสรู้นี้ พระองค์ได้บรรลุโดยยาก (“กิจฺเฉน เม อธิคตํ” แปลว่า ธรรมนี้เราบรรลุแล้วโดยยาก) แล้วก็ตรัสต่อไปว่า หมู่สัตว์ทั้งหลายมัวลุ่มหลง เพลิดเพลิน มัวเมาอยู่ในสิ่งติดข้องทั้งหลายมากมาย ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น ละเอียดอ่อน เข้าใจได้ยาก คนเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าใจตามได้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงโน้มพระทัยไปในการที่จะไม่ทรงแสดงธรรม

แต่ตามเรื่องที่บอกว่าพรหมอาราธนา เมื่อพระองค์ได้ทรงพิจารณาว่า สัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อยก็มีอยู่ เพราะฉะนั้น ก็จะมีผู้ที่สามารถเข้าใจธรรมที่ทรงแสดงได้ โดยทรงพิจารณาดังนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตัดสินพระทัยที่จะออกไปประกาศธรรม

นี่เป็นเรื่องตอนที่ตรัสรู้แล้ว แต่ก่อนตรัสรู้ยิ่งชัดกว่านั้นอีก คือตอนที่พระพุทธเจ้าจะประทับนั่งที่โคนโพธิ ในราตรีก่อนตรัสรู้ พระองค์ตรัสว่า สิ่งที่จะลุถึงได้ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของบุรุษ (คำว่าเรี่ยวแรงของบุรุษนี้เป็นสำนวน หมายความว่าของคนนั่นเอง) ถ้าเรายังไม่บรรลุ เราจะไม่ลุกขึ้น แม้ว่าเลือดเนื้อจะแห้งเหือดไป

นี่ก็แสดงว่า ธรรมะที่ตรัสรู้ไม่ใช่ง่ายๆ พระองค์ต้องอธิษฐานพระทัย คือตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวว่า ถ้ายังไม่ตรัสรู้ ยังไม่บรรลุจุดหมายแล้ว จะไม่เสด็จลุกขึ้นเลย อันนี้ก็แสดงว่าเป็นเรื่องที่ยาก

ยิ่งย้อนดูต่อไป การที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญบารมีมากมาย

บารมี ก็คือบุญอย่างเยี่ยมยอด บุญคือความดี บารมีก็คือความดีของคนที่ยอดเยี่ยม หมายความว่า เป็นความดีซึ่งคนที่ไม่มีความเข้มแข็งเพียรพยายามจริงๆ ทำไม่ได้ แปลง่ายๆ ว่า คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยวดยิ่ง เช่นว่า จะบำเพ็ญทาน ก็บำเพ็ญอย่างชนิดว่าสละชีวิตให้ได้ จะบำเพ็ญศีล ก็ยอมสละชีวิตเพื่อศีลได้ เป็นต้น จึงจะเป็นบารมี

กว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๑๐ ข้อ และครบ ๓ ขั้น เพราะฉะนั้น ความสำเร็จนี้จึงเป็นสิ่งที่ได้มาโดยยาก คือต้องเข้มแข็ง มีความเพียรพยายามยิ่งยวดที่สุด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< กล่าวนำภาค ๒ วิสาขทัศน์ เพื่อรัฐและเพื่อโลก >>

เชิงอรรถ

  1. ถ้าพูดอย่างเคร่งครัด ก็เป็นวันสุดท้ายของพรรษา หรือวันสิ้นสุดพรรษา แต่ทางพระสงฆ์มีคำเฉพาะ เรียกว่า วันปวารณา

หน้า: 1 2

No Comments

Comments are closed.