ภาค ๒ วิสาขทัศน์ เพื่อรัฐและเพื่อโลก

2 มิถุนายน 2547
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

แนวคิดทางรัฐศาสตร์ทั่วไป
ยากจะพ้นการให้ตนยิ่งใหญ่บนความย่อยยับของคนอื่น

เป็นอันว่า เรื่องสำคัญในการที่จะนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ก็คือข้อที่ว่า ทำอย่างไรเราจะช่วยกันทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม ในการสร้างสรรค์ โดยไม่ประมาท ถ้าทำได้อย่างนี้ นั่นคือความสำเร็จของผู้นำ ที่ควรแก่การยกย่องอย่างแท้จริง

ผู้นำต้องมีความสามารถแบบนี้ คือ สามารถกระตุ้นเร้าให้คนร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจที่จะทำการอะไรต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความสามัคคี และก็จะมีความนิยมต่อผู้ปกครองไปด้วย

แต่ทีนี้จะกระตุ้นด้วยอะไร อาจจะกระตุ้นด้วยโลภะ คือความอยากได้ ให้ยุ่งกับเรื่องผลประโยชน์ เรื่องอามิสสิ่งเสพบำเรอ อาจจะกระตุ้นด้วยโมหะ ให้ติดเพลินหลงระเริงมัวเมา หรือบางทีกระตุ้นด้วยโทสะ

ในการกระตุ้นด้วยโทสะ เขาเอาประเทศอื่นหรือศัตรูเป็นเป้า แล้วก็ปลุกระดม ทำให้เคียดแค้นเกลียดชังต่อพวกนั้น ยิ่งแค้นเขา ก็ยิ่งมารักเรา แล้วก็เกิดกำลัง ทำให้มาร่วมด้วย

เหมือนอย่างฮิตเลอร์ ท่านผู้นี้ก็ใช้วิธีเอาความแค้นของชาวเยอรมันมาเป็นจุดปลุกระดม คือว่า ชาวเยอรมันหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว มีความโกรธแค้นต่อพวกประเทศสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามแล้วทำสัญญาที่กดขี่พวกเขา จุดนี้เป็นปมแห่งความเคียดแค้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น พอฮิตเลอร์หยิบเอาจุดเหล่านี้ขึ้นมาปลุกระดม ชาวเยอรมันก็ยิ่งเคียดแค้นและมีกำลังร่วมสามัคคีอย่างเต็มที่ เลยเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นมา นั่นก็คือ กระตุ้นด้วยโทสะ

มนุษย์ทั่วไปก็กระตุ้นกันด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยตัณหาบ้าง ด้วยมานะ ความต้องการยิ่งใหญ่บ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้

พระพุทธศาสนาต้องการให้กระตุ้นเร้าชักชวนกันด้วยปัญญา ด้วยคุณธรรมความใฝ่ปรารถนาดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากอยู่ หลักรัฐศาสตร์ของพระพุทธศาสนาจึงขยายพ้นขอบเขตผลประโยชน์และอำนาจของรัฐ ออกไปถึงประโยชน์สุขของทั้งโลก

รัฐศาสตร์ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นอย่างที่ว่าข้างต้นนั้นมาโดยตลอด พราหมณ์จาณักยะที่พูดถึงเมื่อกี้นี้ มีอีกชื่อหนึ่ง เรียกว่า เกาฏิลยะ ซึ่งแปลว่า คนเจ้าเล่ห์นั่นเอง เพราะว่าท่านใช้วิธีที่ว่านี้

สำหรับบ้านเมืองของท่าน ท่านตั้งระบบการบริหารอย่างดี หมายความว่า มุ่งหมายให้ราษฎรของตัวเองอยู่ดี มีความร่มเย็นเป็นสุข ในรัฐที่เข้มแข็ง แต่สำหรับประเทศอื่น ก็ไปทำให้เขาอ่อนแออย่างที่พูดเมื่อกี้ คือ สร้างความยิ่งใหญ่แห่งรัฐของตน บนความย่อยยับของรัฐอื่น

ทางตะวันตกก็เหมือนกัน อย่างรัฐบุรุษอิตาลีที่เป็นนักคิดนักทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากของฝรั่ง ชื่อแมคคีอาเวลลี่ (Niccolò Machiavelli) ก็สอนระบบที่เรียกว่าเจ้าเล่ห์เจ้ากล ในการแสวงความยิ่งใหญ่ ด้วยการกำจัดฝ่ายศัตรู ไม่ว่าจะกำจัดได้อย่างไร เอาทั้งนั้น ไม่ถือเป็นการเสียคุณธรรม

มีคนเทียบว่า จาณักยะเป็นแมคคีอาเวลลี่แห่งชมพูทวีป แต่ที่จริงไม่น่าจะเรียกอย่างนั้น เพราะว่าจาณักยะเก่ากว่าเยอะ จาณักยะนี่ นับตั้งแต่พระเจ้าจันทรคุปต์ขึ้นครองราชย์ ก็ พ.ศ. ๑๖๓ แต่แมคคีอาเวลลี่เพิ่งตายเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๐ (ค.ศ. 1527) หมายความว่า แมคคีอาเวลลี่หลังจาณักยะเกือบ ๒๐๐๐ ปี เพราะฉะนั้น จะเรียกจาณักยะเป็นแมคคีอาเวลลี่แห่งชมพูทวีป คงไม่ถูก ต้องเรียกแมคคีอาเวลลี่เป็นจาณักยะแห่งตะวันตก หรือแห่งยุโรปจึงจะได้

แต่รวมความว่า ทั้งจาณักยะและแมคคีอาเวลลี่มีความคิดทำนองเดียวกันนี้ คือต้องทำลายศัตรู ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยึดถือกันมา จนกระทั่งเกิดพระพุทธศาสนา แล้วก็เกิดพระเจ้าอโศก ที่นำหลักพระพุทธศาสนามาใช้ ว่าทำอย่างไร เราจะไม่ใช่มีรัฐศาสตร์เพียงเพื่อชาติ แต่มีรัฐศาสตร์เพื่อโลก

จากรัฐศาสตร์เพื่อชาติ
ก้าวใหม่ขึ้นไปสู่รัฐศาสตร์เพื่อโลก

การเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนามองได้กว้างขวาง ไม่ใช่เพียงในแง่ของธรรมะที่เราเอามาใช้ปฏิบัติในวัดเท่านั้น แต่กินความกว้างทั่วไปหมด ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่ควรจะเป็นและต้องเป็นอย่างนั้น เพราะคุณธรรมความดี และสติปัญญาอะไรทุกอย่าง เป็นคุณสมบัติที่ต้องใช้ทุกที่ทุกกาล ปรับขยายไปใช้ได้ทุกระดับ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตใจและปัญญาพัฒนาต่อมา รัฐศาสตร์เพื่อชาติก็กลายเป็นรัฐศาสตร์เพื่อโลก

หลักความคิดนี้จะเห็นได้แม้แต่ในชาดก ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงนิทานสำหรับสอนเด็ก ถ้าพูดอย่างภาษาคนสมัยนี้ ก็เรียกว่า มีปรัชญาการปกครอง มีปรัชญาในทางเศรษฐกิจ เป็นต้น อยู่ในชาดกนั้นเยอะไปหมด

ชาดกแทนที่จะสอนว่า ทำอย่างไรจะทำลายศัตรูได้ จะแก้แค้นเขาให้สำเร็จได้อย่างไร กลับสอนเรื่องเหล่านี้ว่า ทำอย่างไร ประเทศต่างๆ รัฐต่างๆ จะอยู่กันด้วยดีโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นี่คือก้าวใหม่ ซึ่งแปลกมากจากระบบความคิดทางการปกครองในสมัยโบราณ

ที่จริง ความคิดทางการปกครองเดี๋ยวนี้ก็ยังโบราณอยู่ ยังไม่ค่อยไปไหน ก็ยังคิดแต่ว่า จะเอาอย่างไรให้ฉันรักษาผลประโยชน์ของฉันได้ จะทำลายฝ่ายศัตรูได้ คิดกันแต่อย่างนี้เท่านั้น แล้วอย่างนี้จะไปสร้างสันติสุขให้แก่โลกได้อย่างไร

มนุษย์ต้องมีความคิดที่จะก้าวต่อไป ต้องข้ามพ้นความคับแคบ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักขึ้นมา ให้ไม่คิดแค่ว่าจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่รัฐของตน แล้วก็ทำให้รัฐอื่นต้องแตกสลายย่อยยับไป แต่ทำอย่างไรจะอยู่ดีด้วยกัน ให้ประโยชน์ของเราเป็นส่วนร่วมที่แผ่กระจายไปยังโลก ที่มีรัฐต่างๆ และมีมนุษย์เหมือนอย่างเราพวกอื่นๆ มากมายอยู่ร่วมกัน

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นผู้นำหลักธรรมนี้มาใช้จริงจัง ในหลักแห่งนโยบายที่เรียกว่า ธรรมวิชัย คือแทนที่จะชนะด้วยศาสตราวุธ ก็ชนะด้วยธรรม

หลักนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในจักกวัตติสูตร (เรียกเป็นไทยว่า จักรวรรดิสูตร ก็ได้) เป็นต้น คือมีในพระสูตรหลายสูตร ซึ่งมีพุทธดำรัสว่า “อสตฺเถน อทณฺเฑน ธมฺเมน อภิวิชย” นี่คือที่มาในพระไตรปิฎกของคำว่า ธรรมวิชัย ซึ่งเป็นหลักการปกครองของพระราชาผู้เป็นจักรพรรดิ

“จักรพรรดิ” ในที่นี้ หมายถึง จักรพรรดิในความหมายเดิมทางธรรม ไม่ใช่จักรพรรดิแบบ emperor

ในเวลาที่แปลเป็นภาษาอังกฤษนั้น จกฺกวตฺติ/จักรพรรดิ นี่ นักปราชญ์ในวงการภาษาบาลี แม้แต่ฝรั่ง เขาไม่แปลเป็น emperor หรอก แต่คนไทยเราเอา “จักรพรรดิ” มาเป็นคำแปลสำหรับ emperor กันเอง แต่ที่จริงคำว่าจักรพรรดิไม่ได้แปลว่า emperor ต้องบอกว่าเป็น emperor ในความหมายของไทย แต่ในวงวิชาการ จกฺกวตฺติ/จักรพรรดิ เขาแปลกันว่า Universal Monarch หรือ Universal Ruler คือพระมหากษัตริย์ หรือผู้ปกครองที่เป็น universal (ไม่ใช่เจ้าผู้ปกครอง empire)

พระมหากษัตริย์ที่เป็นจักรพรรดิแบบนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีชัยชนะโดยไม่ต้องใช้ศาสตรา ไม่ต้องใช้ทัณฑ์ ไม่ต้องใช้การลงโทษ หรือเครื่องมือทำร้ายกัน แต่ชนะโดยธรรม คือชนะใจด้วยความดี และพระเจ้าอโศกก็นำหลักนี้มาใช้ จึงเรียกนโยบายของพระองค์ว่า ธรรมวิชัย แล้วพระองค์ก็ทำสำเร็จด้วย จึงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ฝรั่งบางคนถือว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นกษัตริย์ผู้เดียวในประวัติศาสตร์ที่เขานับถือ เป็นผู้เดียวที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ท่านผู้นี้คือ H. G. Wells ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ Outline of History

รวมความว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นที่ชื่นชมนิยมนับถือ เพราะนำหลักธรรมวิชัยมาใช้ ซึ่งก็หมายความต่อไปด้วยว่าพระองค์ได้เลิกแนวคิดของพระเจ้าปู่ ที่พราหมณ์จาณักยะได้ปลูกฝังตั้งไว้

จาณักยะนี้เป็นผู้สร้างอาณาจักรมคธที่พระเจ้าจันทรคุปต์เป็นผู้เริ่มวงศ์ปกครองและยิ่งใหญ่มาก สมัยเดียวกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) คือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิตดินแดนมากมายมาจนจดถึงชายแดนประเทศอินเดีย ตีได้แคว้นโยนก (ฝรั่งเรียก Bactria) ลงมาถึงตักศิลาราวปี ๓๒๖ ก่อนคริสต์ศักราช (ถ้านับเป็นพุทธศักราชแบบเราก็ ๑๕๗) ตั้งทัพเตรียมจะบุกอินเดีย

ที่นั่น อเล็กซานเดอร์มหาราชได้พบกับจันทรคุปต์ที่เป็นปู่ของพระเจ้าอโศก ซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้อำนาจ ตอนแรกก็จะร่วมมือกัน แต่แล้วเกิดขัดใจกัน พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็จับจันทรคุปต์ขัง แต่หนีออกมาได้

เรื่องนี้ยืดยาว รวบรัดว่า ในฝ่ายของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชนั้น เสนาข้าทหารเบื่อหน่ายการรบเต็มที เพราะได้รบราฆ่าฟันมาตลอด ก็เลยยกทัพกลับไปในปี ๓๒๕ ก่อนคริสต์ศักราช และจากนั้นอีก ๔ ปี (บางตำราว่าในปี 325 B.C. นั่นเอง) จันทรคุปต์ก็โค่นราชวงศ์นันทะลงได้ และตั้งราชวงศ์โมริยะ (เรียกอย่างสันสกฤตว่า เมารยะ)

นี่คือพระอัยกาหรือปู่ของพระเจ้าอโศกมหาราช อโศกที่เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของชมพูทวีป หรือพูดคร่าวๆ คืออินเดีย

เป็นอันว่า พระเจ้าอโศกมหาราชได้ล้มเลิกนโยบายแบบของพระเจ้าจันทรคุปต์ ที่พราหมณ์จาณักยะวางไว้ ที่มุ่งให้สร้างความยิ่งใหญ่แห่งรัฐของตนบนความย่อยยับของรัฐอื่นๆ เปลี่ยนมาใช้นโยบายธรรมวิชัย ที่ว่าทำอย่างไรจะให้รัฐทั้งหลายและมวลมนุษย์อยู่ดีด้วยกันด้วยความสงบสุข เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า ไม่ใช่รัฐศาสตร์เพื่อชาติ แต่เป็นรัฐศาสตร์เพื่อโลก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ภาค ๑ วิสาขทัศน์ เพื่อวัดและพุทธบริษัทคำปรารภ >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.