เป็นมงคลตลอดชีวิต เมื่อครองเรือนด้วยหลักธรรม ๔

25 ธันวาคม 2526
เป็นตอนที่ 12 จาก 15 ตอนของ

เป็นมงคลตลอดชีวิต เมื่อครองเรือน
ด้วยหลักธรรม ๔

อย่างไรก็ตาม ควรจะได้กล่าวถึงธรรมที่เหมาะเฉพาะในโอกาสแห่งพิธีนั้นๆ ไว้ด้วย เพราะธรรมคือคุณธรรมความดีงามเหล่านี้ เป็นธรรมมงคลคู่ชีวิต ที่มีไว้สำหรับประพฤติปฏิบัติกันตลอดเรื่อยไป และทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลระยะยาวตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น อาตมาจึงจะได้กล่าวถึงธรรมะที่เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าบางประการ ซึ่งจะนำให้เกิดคุณงามความดีนั้นๆ ให้เหมาะสมกับโอกาสนี้ จะขอแสดงเป็นหมวดหมู่

ธรรมะหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เหมาะกับโอกาสพิธีนี้ คือ ฆราวาสธรรม ๔ ประการ ฆราวาสธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับการครองเรือน มีอยู่ ๔ ข้อด้วยกัน คือ หนึ่ง สัจจะ แปลว่า ความจริง สอง ทมะ แปลว่า การฝึกฝนปรับปรุงตน สาม ขันติ ความอดทน สี่ จาคะ ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจ จะขอกล่าวถึงธรรม ๔ ประการนี้โดยสังเขป

 

สัจจะ

ประการที่ ๑ สัจจะ ความจริง อาจแบ่งแยกได้ ๓ ด้าน ความจริงขั้นที่หนึ่ง คือ ความจริงใจ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด คนที่จะมาเกี่ยวข้องกันต้องมีรากฐานจากความจริงใจเป็นสำคัญที่สุด และเป็นรากฐานที่มั่นคงของความสัมพันธ์ที่ดีงาม ความจริงใจแสดงออกเป็นความซื่อสัตย์ต่อกัน จากนั้นก็ จริงวาจา คือพูดจริง ขั้นที่ ๓ จริงการกระทำ คือการทำจริงตามที่ใจคิดไว้ ตามที่วาจาพูดไว้ ตลอดจนกระทั่งว่าการดำเนินชีวิต ประกอบกิจกรรมต่างๆ ก็ตั้งใจทำจริงดังที่ตั้งความมุ่งมาดปรารถนาไว้ แต่ทั้งหมดนี้ก็มีความจริงใจนั่นเองเป็นรากฐาน ความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ความสัมพันธ์มั่นคงยั่งยืน

 

ทมะ

ประการที่ ๒ ทมะ แปลว่า ความฝึกฝนปรับปรุงตน ทมะนี้เป็นข้อสำคัญในการที่จะให้เกิดความเจริญก้าวหน้า

ประการแรกที่สุดที่จะเห็นได้ง่ายในความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันก็คือ บุคคลที่มาอยู่ร่วมสัมพันธ์กันนั้น ย่อมมีพื้นเพต่างๆ กัน มีอุปนิสัยใจคอและสั่งสมประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันแล้วก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเข้าหากัน

ในเมื่อมีพื้นเพต่างกันสั่งสมมาคนละอย่าง ก็อาจมีการแสดงออกที่ขัดแย้งกัน หรือไม่สอดคล้องกันได้บ้าง การที่จะทำให้เกิดความราบรื่นเป็นไปด้วยดี ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเข้าหากัน รู้จักที่จะข่มใจไว้ แล้วรู้จักที่จะสังเกต ใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งที่ผิดแปลกไปจากความคิดนึกตามความหวังความปรารถนาของตน เมื่อไม่วู่วาม ข่มใจไว้ก่อนและใช้สติปัญญาพิจารณา ก็หาทางที่จะปรับตัวเข้าหากันด้วยดีด้วยวิธีที่เป็นความสงบ และเป็นทางที่จะรักษาน้ำใจกันไว้ได้ มีความปรองดองสามัคคี อันนี้ก็เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง

นอกจากนั้น ในการอยู่ร่วมกับบุคคลภายนอกหรือในกิจการงานและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย เราก็ต้องรู้จักปรับตัวเข้ากับบุคคล การงาน และสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น และรู้จักปรับปรุงฝึกฝนตัวให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการขวนขวายหาความรู้ให้เท่าทันสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ เป็นต้น ชีวิตจึงจะเจริญก้าวหน้าได้

ทมะนี้ต้องมีปัญญาเป็นแกนนำสำคัญ เพราะต้องรู้จักคิดพิจารณา และมีความรู้ความเข้าใจ จึงจะปรับตัวและฝึกฝนปรับปรุงตนได้

 

ขันติ

ประการที่ ๓ คือ ขันติ ความอดทน ความอดทนเป็นเรื่องของพลัง ความเข้มแข็ง ความทนทาน

คนเมื่ออยู่ร่วมกัน ท่านว่าเหมือนลิ้นกับฟัน ย่อมจะมีโอกาสที่กระทบกระทั่งกัน จึงต้องมีความหนักแน่น ความเข้มแข็งในใจที่จะอดทนไว้ก่อน เรียกว่า อดทนต่อสิ่งกระทบใจ นอกจากนั้น ก็อดทนต่อความเจ็บปวดเมื่อยล้าทางกาย และอดทนต่อความลำบากตรากตรำ ในการทำการงาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคลุล่วงไปได้

ถ้าหากว่าบุคคลสองคนหรือหลายคนมาอยู่ร่วมกันแล้ว เอาความเข้มแข็งที่มีอยู่ของแต่ละคนมารวมกันเข้า ก็จะเพิ่มกำลังความเข้มแข็งให้มากขึ้น จะสามารถร่วมฝ่าฟันอุปสรรคและเพียรสร้างสรรค์รุดหน้าไปสู่ความสำเร็จ อันนี้เป็นเรื่องของขันติ ความอดทน ที่จะช่วยเสริมให้มีความก้าวหน้า เจริญมั่นคง และพรั่งพร้อมด้วยความสำเร็จ

 

จาคะ

ประการที่ ๔ จาคะ แปลว่า ความเสียสละ เริ่มแต่ความมีน้ำใจ คือความพร้อมที่จะเสียสละความสุขส่วนตัวให้แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมกันก็จะต้องมีความเสียสละต่อกัน เช่น เวลาฝ่ายหนึ่งไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเสียสละความสุขของตนเองเพื่อช่วยรักษาพยาบาล อย่างน้อยก็มีน้ำใจที่จะระลึกถึง เมื่อจะทำอะไรก็ตามก็คำนึงถึงความสุขของอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อฝ่ายหนึ่งคำนึงถึงความสุขความเจริญงอกงามของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างนี้ก็เรียกว่ามีจาคะ

จาคะนี้พึงเผื่อแผ่ไปยังญาติมิตร บิดามารดา หรือผู้อยู่ใกล้ชิด ตลอดจนกระทั่งถึงเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป ถ้าหากว่ามีกำลังพอ ก็ใช้ก็สละทรัพย์สินสิ่งที่ตนมีอยู่นี้ในการอนุเคราะห์สงเคราะห์ผู้อื่น

จาคะนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกัน และของคนทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่ไว้ได้

นี่คือหลักธรรม ๔ ประการ ซึ่งมีความสำคัญในการครองเรือน โดยสรุป ก็คือ สัจจะ ความจริง เป็นรากฐานให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน ประการที่ ๒ ทมะ การฝึกฝนปรับปรุงตน เป็นเครื่องนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและการงาน ประการที่ ๓ ขันติ ความอดทน เป็นเครื่องช่วยให้ความเจริญก้าวหน้านั้นเป็นไปได้สำเร็จ เพราะมีความเข้มแข็งมีพลังที่จะช่วยเสริม และประการที่ ๔ จาคะ ความเสียสละ มีน้ำใจ เป็นเครื่องบำรุงหล่อเลี้ยงมนุษย์ช่วยให้เกิดความชุ่มฉ่ำสดชื่น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มงคลแท้ไม่จบแค่พิธีบำรุงต้นไม้แห่งชีวิตสมรสให้แข็งแรงงอกงาม >>

No Comments

Comments are closed.