จากวัฒนธรรมที่มัวปกป้องตัว สู่ความเป็นวัฒนธรรมที่นำในการสร้างสรรค์

15 มิถุนายน 2538
เป็นตอนที่ 4 จาก 4 ตอนของ

จากวัฒนธรรมที่มัวปกป้องตัว
สู่ความเป็นวัฒนธรรมที่นำในการสร้างสรรค์

ในเรื่องของสังคมวัฒนธรรมนั้น มีแง่พิจารณาหลายอย่าง แต่ที่กำลังพูดอยู่ก็คือ องค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ในวัฒนธรรม ในการที่วัฒนธรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์พัฒนานั้น เวลาเรามองปัจจัยต่างๆ ที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้น ลักษณะอย่างหนึ่งที่จะต้องมองก็คือ การมองปัจจัยนั้นอย่างไม่โดดเดี่ยวจากปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะเรียกได้ว่า ปัจจัยร่วม

ตามปกติ เมื่อมองอะไร เรามักจะมองปัจจัยตัวเดียว แล้วก็มองปัจจัยตัวนั้นว่าเป็นอย่างไร ทำให้เกิดผลอย่างไร จึงเป็นความคิดที่ดิ่งที่แล่นไปในทางเดียว การมองปัจจัยแต่ละอย่างนั้น ต้องมองปัจจัยร่วมประกอบด้วย คือปัจจัยตัวเดียวกัน ถ้าปัจจัยร่วมต่างกัน อาจจะเกิดผลคนละอย่างเลย ปัจจัยตัวเดียวกันไปมีปัจจัยร่วมอีกตัวหนึ่ง เกิดผลในทางเจริญ แต่ปัจจัยตัวเดียวกันนั้นไปได้ปัจจัยร่วมอีกตัวหนึ่ง กลับส่งผลในทางเสื่อมลง ถ้าเราไปติดอยู่แค่ปัจจัยเดียว เราจะมองความจริงผิดไปเลย แล้วเราจะวินิจฉัยคาดการณ์อะไรต่างๆ ก็ผิดไปด้วย อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่คนมักจะพลาด ฉะนั้น จะต้องมองปัจจัยแต่ละอย่างโดยไม่แยกออกจากปัจจัยร่วม และจะต้องแสวงหาปัจจัยร่วมมาพิจารณาวิเคราะห์ว่า มันคืออะไร เมื่อเราศึกษาปัจจัยร่วมได้เพียงพอแล้ว เราจะเกิดความเข้าใจ แล้วก็มองเห็นทางที่จะพัฒนาวัฒนธรรมได้

ขอยกตัวอย่างปัจจุบันนี้ เอาเรื่องง่ายๆ ที่ต้องการเน้น ซึ่งพูดมาหลายครั้งแล้ว ก็คือเรื่องเทคโนโลยี เทคโนโลยีเข้ามาในสังคมไทยแล้วก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในทางวัฒนธรรม ตัวมันเองก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรม คือเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ แต่มันเป็นปัจจัยที่มีผลในทางสังคม ตลอดจนทางจิตใจและทางปัญญาด้วย ตามปกติ เทคโนโลยีนี้คนจะมองคู่ควบกับวิทยาศาสตร์หนึ่ง และกับอุตสาหกรรมหนึ่ง ประการแรก เวลาเรามองเทคโนโลยี เรามักจะมองควบไปด้วยกันกับวิทยาศาสตร์ ดังที่ชอบพูดกันว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้เพราะวิทยาศาสตร์ปรากฏตัวออกมาเป็นประโยชน์โดยทางเทคโนโลยี และเทคโนโลยีก็อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์พัฒนา ประการที่สอง เทคโนโลยีนั้นเราอาจจะมองคู่กับอุตสาหกรรม เพราะว่าอุตสาหกรรมเจริญควบคู่กันมากับการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วย เพราะเทคโนโลยีเป็นตัวเอื้อทำให้อุตสาหกรรมเจริญได้ และอุตสาหกรรมก็ผลิตสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญยิ่งขึ้นไปด้วย อย่างนี้เรียกว่ามองปัจจัยตัวร่วมแล้ว เวลานี้เรามองเทคโนโลยีโดยสัมพันธ์กับปัจจัยร่วม คือ วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม แต่การมองอย่างนี้ต้องถือว่าเป็นการมองแบบเดิมในสังคมตะวันตก

วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยร่วมกับเทคโนโลยี เพราะว่าวิทยาศาสตร์ในตะวันตกเจริญควบคู่กันมากับเทคโนโลยี ทั้ง ๒ อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เมื่อวิทยาศาสตร์พัฒนาไป เราก็สร้างเทคโนโลยีให้พัฒนาขึ้น แต่วิทยาศาสตร์ก็อาศัยเทคโนโลยี ถ้าเราไม่มีกล้องดูดาว และต้องใช้ตาเปล่า ความรู้ทางดาราศาสตร์ของเราก็คงคับแคบ แต่พอเราได้เทคโนโลยีสร้างกล้องดูดาวขึ้นมา เทคโนโลยีก็เป็นตัวหนุนทำให้การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขยายขึ้นอีกอย่างมากมาย เราอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์พัฒนาจนเกิดคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความหวังอย่างมากในการศึกษาวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้าขึ้นไป

วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีเกื้อต่อกันอย่างที่ว่ามานี้ แต่ข้อที่ต้องการจะพูดในที่นี้ก็คือ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาแต่เดิมในสังคมตะวันตกที่พัฒนามาคู่กับวิทยาศาสตร์นั้น ก็มีความหมายด้วยว่า สังคมตะวันตกได้พัฒนาวิทยาศาสตร์มาโดยที่ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์นั้นก็ทำให้เขาเกิดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ขึ้น วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์คืออะไร คือการที่บุคคลมีลักษณะจิตใจแบบใฝ่รู้ ชอบเหตุผล ชอบพิสูจน์ ทดลอง ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ พยายามพิสูจน์ความจริงของสิ่งต่างๆ ให้ประจักษ์ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อความรู้สึกนึกคิดจิตใจนิสัยอย่างนี้เข้ามาสู่วิถีชีวิต เราเรียกว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ในสังคมตะวันตก เทคโนโลยีเจริญขึ้นมาหรือได้รับการสร้างสรรค์จากผู้ที่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ชาวตะวันตกจึงได้สิ่งหนึ่งควบคู่กันมากับเทคโนโลยีคือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ หมายความว่าคนที่ใช้เทคโนโลยีในสังคมตะวันตกนั้น มีพื้นฐานของวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งอาจเรียกสั้นๆ ว่ามีความใฝ่รู้

ต่อมาในแง่ของเทคโนโลยีที่ควบคู่กันมากับอุตสาหกรรม ฝรั่งพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยี แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร คำตอบก็คือ เกิดจากการที่มนุษย์ในโลกตะวันตกนั้นเพียรพยายามในการที่จะแก้ไขปัญหาความขาดแคลน ซึ่งเขายอมรับว่าการที่เขาพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาก็เพราะเหตุผลข้อนี้ ตะวันตกมีความบีบคั้นในด้านปัจจัย ๔ มีความขาดแคลนและธรรมชาติแวดล้อมก็บีบคั้นอย่างยิ่ง ชีวิตความเป็นอยู่ไม่สะดวกสบาย เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องดิ้นรนแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ชีวิตของเขามีความพรั่งพร้อมในวัตถุบริโภคต่างๆ ขึ้นมา แล้วเขาก็พยายามต่อสู้ด้วยความเหนื่อยยาก และสร้างสรรค์ความเจริญ ทำให้เกิดสิ่งผลิตขึ้นมาที่เรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม การเพียรพยายามต่อสู้สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดผลผลิตอย่างนี้ ก็ทำให้เกิดระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา ดังที่เขาใช้ภาษาอังกฤษเรียกระบบนี้ว่า Industry แปลว่าความขยัน นี้คือตัวความหมายที่แท้จริง และเวลาแปลเป็นไทย เราก็แปลว่า อุตสาหกรรม ซึ่งแปลว่า การกระทำด้วยความฮึดสู้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แต่เวลาคนไทยมองเรื่องนี้ เราไม่ค่อยสังเกตความหมายของคำว่าอุตสาหกรรมเลย อุตสาหกรรมกลายเป็นเรื่องของความฟุ่มเฟือย สะดวกสบายไป เพราะอะไร นี่แหละคือที่บอกว่าปัจจัยตัวร่วมมันไม่มาด้วยในสังคมไทย

เมื่อเทคโนโลยีมากับปัจจัยร่วม คือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมในสังคมตะวันตก เราจึงเห็นได้ว่าพื้นฐานของคนในสังคมตะวันตกนี้มีข้อดีหรือข้อได้เปรียบ คือ เขามีเทคโนโลยีที่พัฒนามากับสภาพจิตใจที่เกิดจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ที่มีความใฝ่รู้ พร้อมทั้งวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่มีความขยันหมั่นเพียรและใจสู้ ซึ่งขอใช้คำว่าสู้สิ่งยาก เพราะฉะนั้นจึงมีความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยากในวัฒนธรรมตะวันตก

แต่พอมาในสังคมไทยนี้ เทคโนโลยีไม่ได้มาพ่วงกับปัจจัยร่วม ๒ อย่างนั้น คือไม่ได้มาร่วมกับวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แต่คนไทยมาในวัฒนธรรมเดิมของตัวเอง ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมแบบสบายๆ ของเกษตรกร วัฒนธรรมสบายๆ ของเกษตรกรคืออย่างไร ก็คือการอยู่กันอย่างที่พูดว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ชีวิตไม่แร้นแค้น ไม่บีบรัด ไม่ต้องกระเสือกกระสนมากมาย เราอยู่กันสบายๆ อย่างนี้ จนกระทั่งมาวันหนึ่งเราก็เจอกับเทคโนโลยีที่เข้ามาสำเร็จรูปจากตะวันตก ซึ่งโดยมากเป็นเทคโนโลยีเชิงบริโภค เทคโนโลยีสำเร็จรูปเข้ามาก็อำนวยความสะดวกสบาย สบายกับสบายก็เลยมาเจอกัน คือวัฒนธรรมเดิมก็สบายแบบชีวิตของเกษตรกร โผล่มาก็เจอเทคโนโลยีของสังคมตะวันตกมาช่วยให้สบายยิ่งขึ้น

ความสบาย ๒ อย่างนี้มาเจอกันแล้วเกิดผลเป็นอย่างไร พื้นฐานความใฝ่รู้สู้สิ่งยากก็ไม่มี และมาได้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสบายแบบนี้เข้าอีก ขอพูดสั้นๆ ว่า ถ้าเราไม่ระมัดระวัง คนของเราไม่มีการศึกษาที่พัฒนาให้ถูกจังหวะให้ถูกจุด มันจะทำให้คนของเรามีนิสัยแบบเป็นคนลวกๆ ไม่ชอบเผชิญปัญหา และเป็นคนอ่อนแอเปราะบาง ตลอดจนเป็นคนมักง่าย ชอบหวังลาภลอยจากสิ่งเลื่อนลอย พร้อมกันนั้นในยุคนี้ สภาพของชีวิตมนุษย์มีความสับสนซับซ้อนมาก พอเจอเข้าอย่างนี้ก็จะทำให้คนของเรากลายเป็นคนที่นอกจากไม่สู้ความยากและไม่ชอบแก้ปัญหาแล้ว ก็จะกลายเป็นคนที่ปล่อยตัวและล้มเหลวได้ง่าย ซึ่งจะต้องยอมรับว่าเป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐานของเราเอง ที่รับปัจจัยภายนอกเข้ามาในลักษณะที่เป็นการซ้ำเติมตัวเอง ถึงตอนนี้จึงมีปัญหาว่า ถ้าจะแก้ให้ถูกจุด เราจะเอาอะไรมาช่วย เพื่อทำให้คนของเรามีวัฒนธรรมในส่วนดีที่จะเอามาเสริมเติมในส่วนที่ขาดไป ซึ่งเวลานี้จะต้องเน้นให้มากคือ ความใฝ่รู้และสู้สิ่งยาก

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งในสังคมไทย ที่เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมในปัจจุบันนี้ ซึ่งขอพูดเสียเลย คือ สภาพความเชื่อถืออย่างหนึ่งที่แฝงปนมาในวัฒนธรรมไทย ได้แก่ ความนับถือไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เทพเจ้า ภูตผีปีศาจ ที่มีอำนาจดลบันดาลต่างๆ เรื่องเหล่านี้มีแง่มุมต่างๆ ที่ต้องพิจารณาหลายอย่าง หมายความว่า แม้แต่ปัจจัยตัวเดียวกัน การนำมาใช้อาจจะต่างแง่ต่างมุมกันได้ ไสยศาสตร์และการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าต่างๆ นั้นมีความหมายอย่างไร ในที่นี้ขอยกมาพูดเพียง ๒ อย่างคือ

๑. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ปลอบประโลมบำรุงขวัญทำให้สบายใจ ในที่นี้ขอหายทุกข์คลายโศก

๒. ในสมัยโบราณ สิ่งสำคัญในสังคมที่รักษาวัฒนธรรมไว้ ทำให้หมู่ชนอยู่กันได้ด้วยดี มีความสงบเรียบร้อยพอสมควร ก็คือการที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นอำนาจเรียกร้องจริยธรรม ว่าถ้าเธอจะอยู่ดีมีความสุขความเจริญ เธอจะต้องทำอันนี้ จะต้องงดเว้นอันนั้น ถ้าไม่ทำตามกำหนดหรือคำสั่งบัญชาของเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เธอจะถูกลงโทษ ถ้าเธอทำตาม เทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะโปรดประทานรางวัล เพราะฉะนั้นความเชื่อต่อเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จึงเป็นอำนาจเรียกร้องจริยธรรม และเป็นอำนาจกำหนดข้อห้ามในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในสังคม และพร้อมกันนั้นมันก็เป็นอำนาจที่อำนวยโชคลาภด้วย

อำนาจอำนวยโชคลาภ กับอำนาจเรียกร้องกำหนดจริยธรรมนี้สัมพันธ์กัน กล่าวคือ ในสังคมโบราณ การที่จะให้อำนาจเร้นลับอำนวยโชคลาภนี้ก็อาจจะต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน คือต้องประพฤติจริยธรรม แต่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ แม้ว่าคนจำนวนมากยังนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้ากันอยู่ แต่ปรากฏว่าผลในแง่อำนาจเรียกร้องจริยธรรมเลือนหายไป เหลือแต่อำนาจอำนวยโชคลาภ เมื่อไม่มีอำนาจเรียกร้องจริยธรรมแล้ว คุณค่าของเทพเจ้าไสยศาสตร์สิ่งลึกลับทั้งหลายก็แทบจะหมดไปเลย

ยิ่งกว่านั้นที่ร้ายมากก็คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจเทพเจ้า และผีสางต่างๆ เหล่านั้น ถูกใช้เป็นที่รับถ่ายโอนภาระความรับผิดชอบ หมายความว่าเราต้องการอะไร เผชิญปัญหาอะไร ก็ไม่ต้องเพียรพยายามทำ แต่ไปอ้อนวอนขอให้ท่านช่วย อย่างนี้เรียกว่าเอาท่านเป็นที่รับถ่ายโอนภาระรับผิดชอบ นี่คือจุดเสื่อมที่สุดที่สังคมไทยปัจจุบันใช้ไสยศาสตร์ สิ่งเร้นลับ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ และเทพเจ้าในทางลบ ขอสรุปว่า

๑. อำนาจเรียกร้องจริยธรรมแทบไม่ใช้เลย อันนี้เสียหมด ใช้แต่เฉพาะในด้านเป็นอำนาจอำนวยโชคลาภ ซึ่งเป็นการสนับสนุนลัทธิทุนนิยมระบบผลประโยชน์ที่สอดคล้องไปกันได้ดี และเทคโนโลยีก็ไปกันได้กับไสยศาสตร์แบบนี้

๒. ใช้เป็นที่รับถ่ายโอนภาระความรับผิดชอบที่ว่าเมื่อกี้

๓. เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ปลอบประโลมใจ บำรุงขวัญ

ในแง่พุทธศาสนา สำหรับข้อที่ ๓ ที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นที่ยึดเหนี่ยว ปลอบใจ บำรุงขวัญ ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นความหมายของศาสนานั้น ถ้ามองในแง่ของพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นอันตรายมาก เพราะว่าการยึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่งทางจิตใจนี้ มันไม่มีความหมายจบบริบูรณ์ในตัวของมันเอง เพราะที่พูดว่ายึดเหนี่ยวนั้น ยังไม่แน่ว่าเหนี่ยวลงหรือเหนี่ยวขึ้น ดึงลงหรือดึงขึ้น การนับถือเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไสยศาสตร์หลายอย่าง เมื่อนับถือเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวเข้าแล้ว ก็จะดึงคนที่นับถือให้จมลงในความลุ่มหลงงมงายไม่รู้จักพัฒนาตนต่อไป แต่สิ่งที่พึงยึดเหนี่ยวที่ถูกต้องก็คือ สิ่งที่นับถือแล้วจะดึงคนให้พัฒนาตนเองขึ้นไปในทางปัญญาและคุณธรรม ไม่หมกจมอยู่แค่นั้น เราจะต้องให้คนมีที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวชนิดที่ดึงคนขึ้นมา

ถ้าหากว่าคนไทยเรารับเทคโนโลยีโดยไม่มีปัจจัยพ่วง คือขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และขาดวัฒนธรรมอุตสาหกรรม และมีวัฒนธรรมแบบสบายๆ ของเกษตรกรเข้ามาซ้ำ พร้อมทั้งมีการนับถือเทพเจ้าไสยศาสตร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบแง่มุมที่ผิดอย่างนี้แล้ว เราจะได้วัฒนธรรมที่อ่อนแอและเลื่อนลอย เพราะฉะนั้นจะต้องคิดกันให้ชัดว่า ส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไปนี้ เราจะสร้างขึ้นมาอย่างไร ก็ต้องสร้างด้วยการศึกษาพัฒนาคนให้ใฝ่รู้สู้สิ่งยาก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่า เรายอมรับว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมนั้นดีสมบูรณ์นะ อาตมภาพไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เป็นแต่เพียงยกแง่มุมที่ดีมาใช้ เพราะว่าแม้แต่สิ่งที่ไม่ดี ไม่สมบูรณ์ ถ้ารู้จักดู ส่วนดีก็มีอยู่ และนี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำ

เป็นอันว่าในที่นี้ต้องการพูดให้เห็นว่าเรื่องของวัฒนธรรมนั้นมีปัจจัยต่างๆ เป็นองค์ประกอบมากมาย และการมองปัจจัยต่างๆ อย่ามองโดดเดี่ยว ต้องมองปัจจัยร่วมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นตัวผันแปรให้ปัจจัยตัวนั้น เกิดผลในทางดีหรือทางร้าย ตรงกันข้ามทีเดียวก็ได้ โดยสรุปก็ขอพูดว่า เราคงต้องยอมรับก่อนว่า เวลานี้วัฒนธรรมของเราตกอยู่ในภาวะเป็นวัฒนธรรมที่ปกป้องตัวเองไปเสียแล้ว เราจะปล่อยให้วัฒนธรรมของเราอยู่ในภาวะนี้ไม่ได้ แต่การแก้ปัญหาให้ได้ผลนั้น บางทีไม่ใช่เป็นการไปมัวสาละวนกับการแก้ปัญหา

การมัวสาละวนกับการแก้ปัญหาไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผล บางทีการแก้ปัญหานั้น แก้ได้ด้วยการทำสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งอาจจะทำให้เราข้ามพ้นปัญหานั้นไปได้เลย เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปมัวแก้ปัญหากันอยู่ บางทีต้องทำการสร้างสรรค์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่เป็นวัฒนธรรมที่มัวปกป้องตัวเป็นฝ่ายถูกกระทบ และมัวแต่เน้นการอนุรักษ์กันอยู่ ซึ่งเป็นการมัวสาละวนกับการแก้ปัญหา และไม่คิดทำการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่เราจะต้องมองว่าเราจะทำการสร้างสรรค์อะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ไหม ถ้าเราทำได้ วัฒนธรรมของเราก็จะก้าวพ้นปัญหา มันพ้นไปเอง มันหมดไปเอง

ข้อสำคัญก็คือ ในการที่เราจะก้าวไปถึงขั้นนั้น ซึ่งเป็นการก้าวไปสู่การมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของโลก และสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ ตลอดจนเป็นผู้นำ โดยเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่มัวแต่ถูกกระทำนี้ เราจะต้องเน้นวัฒนธรรมทางปัญญา โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศต่างๆ ในโลก แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังมีความติดตัน และอับจนต่อปัญหาของโลกและชีวิต กำลังต้องการแนวความคิดใหม่ๆ คือต้องการภูมิปัญญาใหม่ๆ ที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาที่ติดตันอยู่นี้ สังคมไทยเราถ้านึกให้ดี หันมาสำรวจตัวเองให้ชัดเจนและให้ทั่วตลอด ก็จะเห็นว่า เราก็มีดีที่จะให้แก่โลก ถ้าเราตรวจดูและปฏิบัติต่อวัฒนธรรมของเราให้ถูกต้อง เราอาจจะเห็นทางที่จะก้าวต่อไปได้อย่างดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำในวัฒนธรรมเพื่อเห็นทางก้าวหน้าต่อไป จึงมี ๒ ด้านมาบรรจบกัน คือ

ประการที่ ๑ ลงลึกให้ถึงฐาน หยั่งให้ถึงรากเหง้าของตนเอง อย่างที่ยกตัวอย่างให้เห็นเมื่อกี้นี้ว่า ภูมิธรรมภูมิปัญญาของเราอาจจะมีอยู่ แต่เราไม่รู้จักตัวเอง จึงค้นหาตัวเองไม่พบ จะต้องจับตัวจริงมาให้ได้ ศึกษาให้ลึก มีอะไรในวัฒนธรรมไทยที่ไม่ชัดเจน ก็สืบลงไปให้ถึงตัวจริงดั้งเดิม เราอาจจะพบคุณค่าแท้ที่มันลึกลงไปกว่าที่วัฒนธรรมไทยเราเคยเอามาใช้ก็ได้ และมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เหมือนอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ว่า ในรูปแบบหรือโมเดลอันหนึ่ง เรามองว่าวัฒนธรรมไทยนี้เป็นการพยายามก้าวเข้าสู่อุดมคติของพระพุทธศาสนา และเราได้ก้าวมาแล้วบางขั้น แต่ยังไม่ถึง ก็ต้องก้าวกันต่อไป

ประการที่ ๒ คือต้องมองกว้างออกไปให้ทั่วทั้งโลก หรือจะเรียกว่าทั่วทั้งจักรวาลก็ได้ โดยมีสายตากว้างไกล มองออกไปในระบบความสัมพันธ์แห่งปัจจัยของสิ่งทั้งหลายทั้งหมด อย่างที่เรียกว่าเป็นระบบปัจยาการ ให้เราเห็นปัญหาและทางออก แม้แต่ปัญหาที่โลกผจญอยู่ และสิ่งที่โลกต้องการในการแก้ไขปัญหานั้น

เมื่อมองทั้ง ๒ ด้านนี้มาบรรจบกัน เราอาจจะเกิดปัญญา มีความคิด มีความหยั่งเห็น มี Vision ใหม่ๆ ที่เขาใช้คำว่าวิสัยทัศน์ ที่จะทำอะไรให้ก้าวพ้นจากการเป็นวัฒนธรรมแบบปกป้องตัวเอง ขึ้นสู่ความเป็นผู้นำ ทำให้วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา ที่คนในก็สามารถภูมิใจ และคนนอกทั่วไปก็จะพากันชื่นชมได้ด้วย

การบรรยายในวันนี้คงจะต้องยุติด้วยเวลาเพียงเท่านี้ หากว่าในการบรรยายครั้งนี้จะมีส่วนใดที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ อาตมภาพก็ขอถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในมหามงคลสมัยที่สมเด็จบพิตรทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบนักษัตร เพื่อทรงพระเจริญด้วยพระจตุรพิธพรชัยยิ่งยืนนาน

ขอจบการบรรยายครั้งนี้เพียงเท่านี้ ขอเจริญพร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มองตัวเองให้เห็นลึกถึงฐาน จะเห็นทางผันตัวขึ้นมาทำการสร้างสรรค์

No Comments

Comments are closed.