เมื่อวัฒนธรรมไทยตกเป็นฝ่ายรับ

15 มิถุนายน 2538
เป็นตอนที่ 1 จาก 4 ตอนของ

ภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมไทย
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก1

 

ขออำนวยพรท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงเกียรติ
และท่านสาธุชนผู้สนใจ ใฝ่รู้ ใฝ่ธรรม ทุกท่าน

การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนร่วมอนุโมทนา และถวายพระพรแด่สมเด็จบพิตร พระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในวโรกาสมงคลที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบนักษัตร

 

เมื่อวัฒนธรรมไทยตกเป็นฝ่ายรับ

หัวข้อปาฐกถากำหนดไว้ว่า ภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ความเปลี่ยนแปลงนี้นับว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นกฎธรรมชาติ คือ เป็นอนิจจัง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงรวมทั้งโลกเองด้วยย่อมเปลี่ยนแปลงไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ แต่การที่เราเอาคำว่าเปลี่ยนแปลงมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อการบรรยายนี้ ก็เพราะว่า ในยุคสมัยนี้การเปลี่ยนแปลงได้ปรากฏเด่นชัดมาก สมควรจะเน้นเป็นพิเศษ คือ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปด้วยพลังแรงในอัตราที่เร็ว และมีขอบเขตที่กว้างขวาง เรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทำให้เกิดสภาพใหม่ และลักษณะใหม่ของชีวิต จิตใจมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามีชื่อเรียกยุคสมัยที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ว่า เป็นยุคข่าวสารข้อมูล ยุคผ่านพ้นอุตสาหกรรม หรือมีคำแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่นคำว่า โลกาภิวัตน์ เป็นต้น คำเรียกชื่อเหล่านี้ ล้วนสัมพันธ์กับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวนั้น ไม่ในแง่ใดก็แง่หนึ่ง

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งปรากฏขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ต้องอาศัย และในสภาพชีวิตที่มนุษย์จะต้องเผชิญนั้นมีมากมายหลายประการ เฉพาะที่เป็นเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องข่าวสารข้อมูล เรื่องเทคโนโลยี เรื่องอุตสาหกรรม เรื่องระบบสังคมบริโภค เรื่องระบบแข่งขันในการแสวงหาผลประโยชน์ เรื่องของการปกครองหรือการเมือง โดยเฉพาะระบบประชาธิปไตย ตลอดจนเรื่องธรรมชาติแวดล้อม ดังที่กล่าวแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในสภาพเหล่านี้ บางอย่างก็เด่นจนเรียกกันเป็นชื่อยุคสมัย หรือแม้แต่เรียกเป็นชื่อสังคมก็มี เช่น พร้อมกับคำว่ายุคข่าวสารข้อมูลนี้ บางทีเราก็เรียกสังคมในยุคนี้ว่าเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล หรือยุคผ่านพ้นอุตสาหกรรม ก็มีชื่อเรียกสังคมว่าเป็นสังคมผ่านพ้นอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน ตลอดจนคำว่าสังคมบริโภค แม้กระทั่งพูดกันว่าจะมีการปฏิวัติใหญ่ครั้งใหม่ในอารยธรรมมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติครั้งที่ ๓ เป็นการปฏิวัติในด้านธรรมชาติแวดล้อม เรียกว่า environmental revolution

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ปรากฏในสภาพเหล่านี้ ทำให้เกิดผลต่อชีวิตมนุษย์มากมายหลายประการ เราจะได้ยินเสียงร่ำร้องต่างๆ เช่นเสียงพูดว่า

เวลานี้เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า คนมีความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีสิ่งบริโภคพรั่งพร้อม แต่มองไปอีกด้านหนึ่ง ชีวิตของคนกลับมีความบีบรัดเร่งรีบ ขาดความมั่นคง มีความเปราะบางยิ่งขึ้น

ขณะนี้ การสื่อสารคมนาคมทั่วถึงฉับไวจนโลกแคบ เป็นประชาคมอันเดียว แต่ในหมู่มนุษย์ ผู้คนทั้งหลายยิ่งแตกแยกแบ่งพวก มีความขัดแย้ง รบราฆ่าฟันกันยิ่งขึ้น

ในขณะนี้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากมายจนแทบจะล้นโลก แต่บุคคลแต่ละคนกลับยิ่งโดดเดี่ยว มีความห่างเหินกัน เหงา ว้าเหว่มากขึ้น

ข่าวสารข้อมูลแพร่หลายกว้างขวาง กระจายไปทั่วหมด แต่จิตใจคนยิ่งคับแคบ มองแค่ที่จะได้ประโยชน์แก่ตนเท่านั้น

วัตถุต่างๆ เจริญ เต็มไปด้วยสิ่งสวยงามใหญ่โต ตื่นเต้น ตื่นตา แต่จิตใจคนไม่พัฒนา กลับยิ่งเสื่อมถอยจากศีลธรรม ไร้คุณธรรมเป็นอย่างยิ่ง เป็นต้น

สภาพเหล่านี้ได้เข้ามาสู่ความเป็นอยู่ของหมู่ชน จนกลายเป็นวิถีชีวิตของสังคม เมื่อเข้ามาเป็นวิถีชีวิตของคนไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม หากวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของสังคมหรือเป็นเรื่องที่แสดงถึงความเจริญของสังคม ตลอดจนเป็นการปรับตัวให้หมู่มนุษย์เป็นอยู่ด้วยดี มีความดีงามและเป็นสุข สภาพที่เกิดขึ้นมีหลายอย่างที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา หากวัฒนธรรมเป็นอย่างนี้ ก็ทำให้คิดว่า ควรต้องมีการแก้ไขให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะเรียกว่าต้องมีการพัฒนาวัฒนธรรม ถ้าจะให้การพัฒนาวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องของสังคมนั้นสัมพันธ์กับการศึกษาที่เป็นเรื่องของการพัฒนาตัวคน เราก็อาจจะแบ่งวัฒนธรรมได้เป็น ๔ ด้านคือ

๑. วัฒนธรรมทางวัตถุ

๒. วัฒนธรรมทางสังคม

๓. วัฒนธรรมทางจิตใจ

๔. วัฒนธรรมทางปัญญา

ความจริง วัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้านนั้น มีความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยส่งผลต่อกันทั้งหมด แต่เราแบ่งแยกออกมาเพื่อประโยชน์ในการศึกษา เพื่อมองเห็นให้ชัดเจนและเป็นประโยชน์ในเชิงปฏิบัติการ ในวัฒนธรรม ๔ ด้านนี้ เราจะต้องเน้นความสำคัญของวัฒนธรรมทางปัญญา เพราะปัญญาเป็นตัวจัดตัวปรับให้ทุกอย่างลงตัว เกิดความพอดีขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการที่จะแก้ไขปรับปรุงหรือดำเนินการพัฒนาที่เรียกว่า พัฒนาวัฒนธรรม เมื่อพัฒนาปัญญาขึ้นไป ซึ่งก็เป็นการพัฒนาวัฒนธรรมส่วนหนึ่ง เราก็จะอาศัยปัญญาที่พัฒนานั้นไปพัฒนาวัฒนธรรมด้านอื่นๆ อย่างได้ผลและถูกต้องด้วย

ตามหัวข้อบรรยายที่กำหนดให้พูดนี้ ไม่ใช่มีเฉพาะคำว่าวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่มีคำว่า ภาษา วรรณกรรม เพิ่มเข้าไปข้างหน้าด้วย ความจริงภาษาและวรรณกรรมก็รวมอยู่ในวัฒนธรรมนั้นแหละ แต่แยกออกมากล่าวในที่นี้เป็นพิเศษ เพื่อเน้นว่าเป็นองค์ประกอบของวัฒนธรรมส่วนที่ต้องการพูดเป็นพิเศษ

ถ้าเราวิเคราะห์ดูอีกทีหนึ่งก็จะเห็นว่าเรื่องภาษา วรรณกรรมนั้น จัดอยู่ในวัฒนธรรมด้านปัญญา จริงอยู่ ภาษานั้นเป็นเครื่องสื่อสาร เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ในทางสังคม และแสดงความรู้สึกในทางจิตใจด้วย เพราะฉะนั้นก็เกี่ยวโยงไปหมดทั้งด้านวัฒนธรรมทางจิตใจ และวัฒนธรรมทางสังคม แต่ว่าโดยบทบาทสำคัญ ภาษาและวรรณกรรมเป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องปัญญาเป็นอย่างยิ่ง ในเวลาที่จำกัดนี้ จะขอพูดเรื่องภาษาและวรรณกรรมบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะรวมไว้ในเรื่องวัฒนธรรมนั้นเอง คือพูดรวมกันไปในคำว่าวัฒนธรรมไทย โดยเน้นวัฒนธรรมด้านปัญญา

อนึ่ง ในการพูดที่เน้นด้านปัญญานี้ก็จะมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ อยากจะพูดในด้านที่เป็นการเตือนสติให้ไม่ประมาท เพราะฉะนั้นการพูดจึงอาจจะหนักไปในการมองแบบแง่ร้ายบ้าง

ทีนี้ เรามาดูวัฒนธรรมไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในโลก ก็มีคำถามว่าวัฒนธรรมไทยมีความเป็นไปอย่างไร ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น วัฒนธรรมไทยถูกกระทบกระเทือนจากความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และนอกจากนั้นก็คือ วัฒนธรรมไทยมีบทบาทต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หรือในสำนวนอีกอย่างหนึ่ง ก็อาจจะพูดว่า วัฒนธรรมไทยได้คุณหรือได้โทษจากการเปลี่ยนแปลงในโลก และต่อจากนั้นก็อาจจะพูดเลยไปถึงว่า วัฒนธรรมไทยได้มีส่วนร่วมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นไปในทางที่เป็นการเสริมสร้างก็ดี หรือในทางที่ทำให้เสื่อมก็ตาม

ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ วัฒนธรรมทั้งหลายย่อมต้องมาสัมพันธ์กันโดยมีการติดต่อสื่อสารต่างๆ ทำให้วัฒนธรรมทั้งหลายมีการสังสรรค์กันทั่วโลก และอาจพูดได้ว่าวัฒนธรรมทั้งหลายที่มาสังสรรค์สัมพันธ์กันนั้นมีความเข้มแข็งหรือพลังไม่เท่ากัน ซึ่งจะเกิดผลทำให้เกิดความรู้สึกหรือมองเห็นเป็นว่าวัฒนธรรมฝ่ายหนึ่งนำ คืออยู่เหนือ หรืออาจจะเป็นบางวัฒนธรรมได้รับการยอมรับจากวัฒนธรรมอื่นโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งวัฒนธรรมนั้นกลายเป็นกระแสใหญ่ที่มีพลังมาก ไหลบ่าท่วมวัฒนธรรมอื่นๆ ไปได้

สำหรับวัฒนธรรมไทยในท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คงต้องยอมรับว่า เราเป็นวัฒนธรรมที่ถูกกระทบกระเทือน เป็นฝ่ายรับอยู่ไม่น้อย และวัฒนธรรมที่ไหลบ่าเข้ามานั้น ที่เรามองเห็นกันชัดๆ ก็คือ วัฒนธรรมตะวันตก เรื่องนี้ยังไม่ได้ตรวจตราวิเคราะห์พิสูจน์ให้ลึกซึ้ง แต่เป็นการพูดตามที่มีเสียงร้องทุกข์กันทั่วไป ดังที่มีเสียงพูดเสียงร่ำร้องที่ว่า ทำไมคนไทยโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว จึงมีค่านิยมเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกกันนัก ชอบตามอย่างวัฒนธรรมตะวันตก หรือเสียงเรียกร้องที่บอกว่า ให้คนไทยอนุรักษ์วัฒนธรรมของตน เป็นเสียงเรียกร้องต่อว่ากันต่อเนื่องมาไม่หยุดหย่อน

การที่วัฒนธรรมเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมภายนอกอย่างเป็นเบี้ยล่างนั้น วัฒนธรรมของเราหรือสังคมของเราอาจจะถึงขั้นตั้งตัวไม่ติด และถูกครอบงำ กระทั่งรักษาตัวไว้ไม่อยู่ แม้แต่จะเอาประโยชน์จากสิ่งที่เข้ามาก็ยังเอาไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะออกไปแสดงบทบาทเป็นผู้นำ และอาจจะถูกท่วมทับจนกระทั่งแม้แต่ตัวเองก็ค้นหาไม่พบ คือ ค้นหาไม่พบว่าตัวเองคืออะไร เป็นอย่างไร เช่น ลองสำรวจดูว่าในวัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้าน เริ่มแต่ด้านวัตถุ เช่น ปัจจัย ๔ ตึกรามบ้านช่อง เทคโนโลยี ถนนหนทาง ศิลปกรรมต่างๆ จะเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม อะไรก็ตามนี้ ลองพิจารณาดูสิว่ากระแสวัฒนธรรมเป็นอย่างไร หรือในด้านสังคม ก็ดูได้จากระบบการเมือง ระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบชีวิตแบบการแข่งขัน ตลอดจนความสัมพันธ์ในสังคม ตั้งแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นต้นไป ว่าเป็นอย่างไร จากนั้นก็ดูในด้านจิตใจ ว่าสภาพจิตใจของคนไทยในยุคนี้เป็นอย่างไร มีความชอบใจไม่ชอบใจในเรื่องอะไร มีภูมิธรรมอย่างไร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปเพียงแค่รับก็ยังไม่ทัน จะผันตัวขึ้นเป็นผู้นำได้อย่างไร >>

เชิงอรรถ

  1. คำบรรยายธรรม ในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “อนาคตของภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมไทย” จัดโดย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๘

No Comments

Comments are closed.