สนทนาต่อท้าย

5 ตุลาคม 2544
เป็นตอนที่ 11 จาก 11 ตอนของ

สนทนาต่อท้าย

 

เมื่อทำให้ด้วยเมตตา ปรารถนาสุขแก่เขา
ใจเราไม่ต้องฝืน เสียสละก็กลายเป็นสดชื่น คือน้ำใจ

เรื่องเกี่ยวกับธรรมนี่ เด็กๆ สมัยนี้หลายส่วนแกรู้สึกเหมือนกับเป็นเรื่องห่างตัว ความสนใจยังไม่มากเท่าที่ควร คงต้องใช้เวลาหน่อย ก็ขออนุโมทนาท่านรัฐมนตรีที่มีความตั้งใจดี งานนี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องเด็กและเยาวชนของเรา ยิ่งสถานการณ์ของประเทศและของโลกเป็นอย่างนี้ด้วย ก็ยิ่งต้องเตรียมให้พร้อมโดยใช้กำลังความเพียรพยายามมากเป็นพิเศษ

อาตมภาพเองนั้น รู้สึกว่าเด็กไทยและคนไทยทั้งหมด เวลานี้อ่อนแอมาก และตั้งอยู่ในความประมาท ทีนี้ การที่จะลุกขึ้นมาได้ก็ต้องมีความเข้มแข็ง และการที่จะมีความเข้มแข็งก็ต้องมีอะไรที่เป็นหลักให้ เหมือนกับคนที่จะลุกขึ้นมา ควรจะมีอะไรช่วยให้ยึดเพื่อตั้งหลักขึ้นมาได้

ถ้าไม่มีอะไรช่วยยึดเป็นหลัก เขาก็ตั้งตัวไม่ค่อยได้ พอมีสิ่งล่อเร้านิดหนึ่งก็เขวไป เขวมา แต่ถ้ามีอะไรมาช่วยตั้งเป็นหลักให้ยึดได้ ก็พอจะไหว เรื่องนี้คงต้องอาศัยเวลาระยะยาว แต่ต้องตั้งเป้าหมายกันให้ชัด

การที่อาตมภาพยกเรื่องบุญขึ้นมาก็เพราะเป็นคำเก่าของเรา ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้จะเลือนลางแคบลงหรือเพี้ยนไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังพอสื่อกันได้ ยังพูดกันรู้เรื่องอยู่ ถ้าเราพื้นฟูความหมายให้ชัดขึ้นมาได้ ก็จะเป็นประโยชน์มาก เพราะคำนี้ โยงได้ทุกส่วนของสังคม อย่างที่ว่าแล้ว ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาถึงชาวบ้านรู้กันหมด เป็นแต่เพียงว่า เดี๋ยวนี้ความหมายจางเลือนและเพี้ยนไป

ถ้าเราสามารถฟื้นขึ้นมา ก็จะเป็นจุดที่สื่อใจถึงกันได้หมด แล้วก็รวมใจได้ ทำให้เกิดพลังขึ้นมา

อย่างชาวบ้านนี่ พอบอกว่าไปทำบุญ ก็ชื่นใจ เต็มใจ และเกิดกำลังใจทันทีด้วย จิตใจก็สบาย เบิกบานผ่องใส ทำด้วยความสุข และมีคุณค่าที่ทำให้สังคมดีได้

เวลานี้ กิจกรรมของคนสมัยปัจจุบัน เป็นประเภทที่ค่อนข้างแห้งแล้ง บางทีก็ฝืนใจ ทำกันไปอย่างนั้น เวลาจะไปทำงานส่วนรวมก็รู้สึกว่าฝืนใจ ต้องเสียสละ

คำว่า “เสียสละ” นี้ มีความหมายเชิงลบอยู่ด้วย ถ้าคิดไม่ดีก็ฝืนใจเลย มันต้องเสียสละ แต่ทางธรรมฝึกคนให้ทำความดีโดยไม่ต้องรู้สึกเสียสละ แต่ให้เป็นธรรมชาติเลย

หมายความว่า คนไทยเรานี้ได้ฝึกความเสียสละมามากจนกลายเป็นน้ำใจ เมื่อเป็นน้ำใจ ก็กลายเป็นคำบวก ความรู้สึกในทางลบไม่มีแล้ว เสียสละนี่ยังรู้สึกฝืน คนไทยเราบอกว่า มีน้ำใจ ก็กลายเป็นเต็มใจ

คำว่า น้ำใจ ก็คือเสียสละนั่นเอง แต่เป็นการเสียสละที่มีความหมายเป็นบวกไปแล้ว ใจเราพร้อม โดยมีเมตตา ที่จะทำเพื่อผู้อื่น ทำให้เขามีความสุข โดยที่ใจเราก็มีความสุขด้วย

น้ำใจคือความเจริญพัฒนาขั้นสูงของคำว่าเสียสละ มาช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรเราจะให้น้ำใจนี้เกิดขึ้นมา พอเป็นน้ำใจมันก็เป็นบุญชัดเจน เมื่อเป็นบุญแล้วมันก็อิ่ม ไม่ว่าจะทำอะไร จิตใจก็สบาย มีกำลัง

ทำอย่างไรจะให้เด็กของเราได้ก้าวขึ้นมาในบุญ แต่ต้องเป็นบุญในความหมายที่ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ก็เป็นแง่ความหมายที่อาศัยพื้นฐานวัฒนธรรมของเรา ซึ่งโยงไปหาหลักแห่งพระพุทธศาสนา

รมช. และคณะ ก็เป็นความพยายามที่จะใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แต่เดิม แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเราคงจะต้องพยายามทำให้เป็นการรวมพลังกันทั้งประเทศ ทุกโรงเรียนก็คงจะต้องทำให้เป็นนโยบายลงไปให้ถึงทุกโรงเรียน ให้รวมพลังกันทั้งในระดับผู้บริหารโรงเรียน ครูในโรงเรียน และเด็กในโรงเรียน ให้ร่วมกันสวดมนต์ อาจจะไม่ใช่เวลาเดียวกัน คงจะเป็นไปตามความสะดวกของแต่ละโรงเรียน ถ้าวันพระใดตรงกับเสาร์อาทิตย์ก็จะเป็นวันศุกร์ที่เขาจะสวดมนต์กัน

ในส่วนของศาสนาอื่นนั้นก็มีวันสำคัญในแต่อาทิตย์อยู่แล้ว เช่น วันอาทิตย์ชาวคริสต์จะไปโบสถ์ ส่วนชาวอิสลามก็จะละหมาดกันอยู่แล้ว ในส่วนของศาสนาพุทธนั้น ถ้ากำหนดให้วันพระเป็นวันสัญลักษณ์แห่งการทำความดีพร้อมกันทั้งประเทศ น่าจะเป็นการรวมพลังที่เริ่มต้นด้วยจิตใจ แล้วก็จะเชื่อมโยงกับพระบรมราโชวาทที่ว่าด้วยฆราวาสธรรม ดังที่ท่านที่ปรึกษาสุนัยได้ไปค้นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระกระแสรับสั่งมา

พระธรรมปิฎก ฆราวาสธรรม ๔ ตรัสมาหลายปีแล้วนี่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นธรรมสำหรับญาติโยมต้องใช้ทุกระดับ

เรื่องสวดมนต์ในโรงเรียนนั้น สมัย ๕๐ ปีก่อนโน้น ใช้วันเรียนวันสุดท้ายของสัปดาห์ และในชั่วโมงสุดท้าย นักเรียนทั้งโรงเรียนประชุมสวดมนต์กัน และเป็นโอกาสให้ครูพูดกับนักเรียนทั้งโรงเรียนด้วย

รมช. และคณะ ปัญหาใหญ่เรื่องจริยธรรมตัวหนึ่ง คือเราหาสิ่งที่จะเป็นพันธะทางจริยธรรม (moral obligation) ไม่ได้ เลยหยุดตรงนี้ เหมือนอย่างที่ท่านว่าพอทำปุ๊บมันรู้สึกต้องเสียสละ ทำความดีเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหาเงินหาทองนี้เรื่องง่าย มันมีผลตอบแทนทางวัตถุธรรมชัดเจน สมัยก่อนนี้เราใช้ความเชื่อในแต่ละศาสนา ถ้าเชื่อในพระเจ้า พระเจ้าก็จะเป็นตัว moral obligaiton ทำดีได้ไปสวรรค์ แต่พอความเชื่อตรงนี้หายไปจากสังคม ทุกวันนี้ต้องพยายามสร้างสิ่งที่จะเป็นพันธะทางจริยธรรมขึ้นมา เป็นเรื่องยากตรงนี้

พระธรรมปิฎก เราอาจจะรอด้านศรัทธากันมากไป โดยไม่ได้ใช้วิธีสร้างศรัทธาที่ถูกต้อง การสร้างศรัทธาที่แท้นั้นต้องอาศัยปัญญา พุทธศาสนาเน้นปัญญา โดยอาศัยศรัทธาเป็นจุดเริ่ม แต่ศรัทธาก็ต้องมีปัญญาประกอบมาตั้งแต่ต้น จริยธรรมที่แท้ต้องเป็นไปตามหลักความสมดุล ท่านเรียกว่าต้องให้อินทรีย์เสมอกัน ศรัทธากับปัญญาต้องสมดุล

ถ้าศรัทธามากไปไม่มีปัญญาก็งมงาย เหลวไหล แล้วก็รุนแรง อาจจะถึงกับยกพวกยกทัพไปฆ่ากัน เพราะความเชื่อ ศรัทธาจึงต้องมีปัญญาคุม

ปัญญาไม่มีศรัทธาก็จับจด เรื่องนี้ก็รู้ เรื่องนั้นก็รู้ รู้นิดรู้หน่อยก็หยุด ไม่เอาจริงเอาจังสักเรื่อง พอมีศรัทธาเชื่อว่าเรื่องนี้ดี จะนำเราไปสู่ชีวิตที่ดีงาม เป็นประโยชน์แท้จริง พอเกิดศรัทธาขึ้นมาแล้วก็จะตั้งใจเรียนรู้ศึกษาจริงจัง ฉะนั้นท่านจึงว่าต้องให้ปัญญากับศรัทธาคู่กัน

ทีนี้ การที่เราจะให้เด็กก้าวไป ศรัทธาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ แต่ศรัทธานั้นต้องประกอบด้วยปัญญา ซึ่งที่จริงศรัทธาของชาวพุทธก็เริ่มด้วยปัญญาอยู่แล้ว คือศรัทธากับปัญญานั้นอาศัยกันตั้งแต่ต้น เพราะปัญญามองเห็นว่าสิ่งนี้มีเหตุผลดีงามเป็นประโยชน์จึงเริ่มเชื่อเกิดศรัทธา เมื่อศรัทธาเชื่อแล้วก็เลยยิ่งศึกษาเรียนรู้ พอยิ่งเรียนรู้ยิ่งเข้าใจเห็นประโยชน์ขึ้นมาก็ยิ่งศรัทธาแน่นแฟ้นขึ้น ก็หนุนกันขึ้นไปอย่างนี้

ด้วยเหตุนี้ ศรัทธาของชาวพุทธจึงต้องมีการชี้แจงตั้งแต่เริ่มต้น ว่าสิ่งนั้นเรื่องนั้นเป็นความจริง มีเหตุผล มีคุณค่า จะเป็นประโยชน์เกิดขึ้นแก่ชีวิตอย่างไร และแก่สังคมส่วนรวมอย่างไร ให้เขาเกิดศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นสัทธาญาณสัมปยุต เมื่อศรัทธาประกอบด้วยปัญญาก็เข้าทางของธรรมะ

ท่านให้ระวังเรื่องนี้ คือต้องให้มีความสมดุลระหว่างศรัทธากับปัญญา แล้วในที่สุดศรัทธาที่หนุนให้กำลังแก่การเรียนรู้ก็จะนำไปสู่ปัญญาที่แท้จริง จนกระทั่งเลยขั้นศรัทธา คือถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ซึ่งไม่ต้องอาศัยศรัทธาต่อไป

ทำอย่างไรจะให้เด็กของเราได้ปัญญาขั้นต้นที่จะเกิดมีศรัทธา ครูอาจารย์ก็ต้องมีปัญญาซิ จะให้เด็กเกิดศรัทธาที่แท้ที่มีปัญญานี่ ครูไม่รู้ ครูไม่มีปัญญา แล้วจะไปชี้แจงให้เด็กเข้าใจ ให้เด็กเกิดศรัทธาได้อย่างไร เมื่อไม่มีศรัทธาที่มีปัญญาเป็นฐานก็ต้องศรัทธาแบบบังคับ หรือศรัทธาแบบงมงาย ศรัทธาแบบสักแต่ว่าเชื่อ

ฉะนั้นเราจึงต้องพัฒนาคุณภาพครู ให้ครูมีปัญญามีความรู้เข้าใจที่จะสามารถโน้มจิตใจของเด็กให้เกิดความเชื่อจากความรู้ความสามารถและความดีงามของครูเอง ถ้าเด็กมองเห็นว่าครูเป็นคนดีมีปัญญาความสามารถ เขาเชื่อ มีศรัทธาเลื่อมใสในตัวครู พอครูพูดอะไรใจเขาก็โน้มที่จะเชื่ออยู่แล้ว ครูที่มีความสามารถมีปัญญารู้เข้าใจเรื่องนั้นสิ่งนั้นชัดเจนมาแนะนำว่าสิ่งนี้เป็นความจริงอย่างนี้นะ เป็นประโยชน์อย่างนี้ มีคุณค่าอย่างนี้ เด็กก็เห็นด้วยและเกิดศรัทธาขึ้นมาก็ทำ

นี่แหละ ทำอย่างไรเราจึงจะให้ได้ศรัทธาแบบที่ถูกต้อง ซึ่งประกอบด้วยปัญญา ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตรที่มีคุณภาพ ใช่ไหม ต้องมีครูอาจารย์ที่เป็นคนดีมีปัญญาความสามารถ เพราะฉะนั้นก็เลยมาถึงปัญหาเรื่องการพัฒนาคุณภาพครู

รมช. และคณะ อันนี้ขอพูดเรื่องนอกนะคะ เรื่องการพัฒนาคุณภาพครูนี้ ดิฉันต้องกราบเรียนพระคุณเจ้าว่า ดร.นิเชตก็อยากจะมากราบวันนี้ แต่ว่ามีภาระกระทันหันที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วเมื่อวานนี้ท่านได้เอาหนังสือมาให้ดิฉันเล่มหนึ่ง เรื่อง บุญบารมีที่จะกู้แผ่นดินไทย ซึ่งกรมวิชาการได้พิมพ์ แล้วดิฉันก็ได้เอาติดรถมาด้วย ตรงกับที่พระคุณเจ้าเทศน์วันนี้ ซึ่งดิฉันดีใจมากๆ เพราะว่าดิฉันรู้สึกว่าบุญที่เราพูดถึงว่า ทาน ศีล ภาวนา นี้ยังขยายความอีกเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกได้ทั้งนั้น

ดิฉันเคยจำได้ว่ามี ทาน ศีล ภาวนา วาจาอ่อนน้อม ถ่อมตนรับใช้ เฉลี่ยให้ความดี มีใจอนุโมทนา ใฝ่หาฟังธรรม นำไปปฏิบัติไม่เว้น แล้วก็ ปรับความเห็นให้ตรง อันนี้ดิฉันคิดว่าเราสามารถที่จะเผยแพร่ให้เป็นพฤติกรรม ให้เป็นรูปธรรมได้ นอกจากจะพูดว่า ทาน ศีล ภาวนา เพราะบางครั้งพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกเป็นสิ่งที่ต้องมีการวางพื้นฐาน และดิฉันเข้าใจว่า ความอ่อนโยนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราใส่อะไรเข้าไปได้ไม่ยาก ถูกต้องไหมคะ

พระธรรมปิฎก ใช่ เพราะว่าตัวอปจายนมัยนี้ เป็นบุญในข้อที่ว่า ไม่เย่อหยิ่งและไม่ดูถูกคนอื่น มีความสุภาพอ่อนโยน พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น และพร้อมที่จะน้อมรับสิ่งที่ดีงามเข้ามาประพฤติปฏิบัติ จึงโยงกันไป ถ้าเราได้บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้มาเป็นหลัก และสร้างให้เป็นคุณสมบัติในตัวคน คือในตัวเด็ก ก็กลายเป็นการศึกษานั่นเอง เพราะว่าเรื่องบุญนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปุฺเมว โส สิกฺเขยฺย พึงศึกษาบุญ หมายความว่าการศึกษาบุญเป็นหน้าที่ของเรา และการศึกษาบุญก็คือการฝึกให้ความดีเหล่านี้เกิดขึ้นมาในชีวิตของเรา และกลายเป็นคุณสมบัติขึ้นมาในตัวเรา เมื่อบุญต่างๆ เข้ามาเป็นคุณสมบัติในตัวเรา ชีวิตของเราก็เป็นชีวิตที่มีคุณภาพดี บุญจึงเป็นเรื่องของการศึกษานั่นเอง

รมช. และคณะ เมื่อกี้ท่านรัฐมนตรี หันมาบอกดิฉันว่าจะถวายท่านให้ทราบเรื่องของครูนะคะ แต่เราก็คิดว่าในเรื่องของการบูรณาการวิชาการศาสนาและวัฒนธรรมนั้น ในเรื่องศาสนา เราต้องกราบขอความเมตตาจากพระที่ท่านได้เคยเป็นพระวิทยากร ที่ท่านสามารถจะสอน และเล่านิทานชาดกได้ อะไรทำนองนี้นะคะ ให้ท่านกรุณามาสอนในโรงเรียนของเราให้มากขึ้น

ก็จะมี ๒ อย่างคือ ท่านมีความสามารถของท่านอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งก็จะถวายความรู้ท่าน เพื่อให้อยู่ในท้องถิ่นของท่านเอง โดยเป็นความสมัครใจที่ว่าท่านจะเมตตาช่วยเราในเรื่องการสอนพระพุทธศาสนา เพราะว่าสมณสารูปเป็นสิ่งที่เด็กประทับใจมากกว่าที่จะเห็นครูแต่งน้ำเงินขาวหรืออะไรทุกวันอย่างนี้

พระธรรมปิฎก พระมีหน้าที่ให้ธรรมะ โยมก็มีหน้าที่คู่กับพระ ทั้งสองฝ่ายพระพุทธเจ้าตรัสว่า อัญโญญญนิสสิตา คืออาศัยซึ่งกันและกัน อาศัยอย่างไร คือโยมถวายอามิสทานได้แก่ปัจจัย ๔ เพื่อว่าพระจะได้ไม่ต้องกังวลด้านวัตถุ และจะได้ตั้งใจทำงานของตัวเอง คือศึกษาเล่าเรียน และเผยแผ่ธรรมะไปปฏิบัติไป ทางฝ่ายพระก็มีหน้าที่ต่อโยมได้แก่ธรรมทาน คือให้ธรรมะ ทั้ง ๒ ฝ่ายต้องทำทานด้วยกันทั้งคู่

ทีนี้พระให้ธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ ให้โดยพูด กับให้โดยไม่ต้องพูด ให้ธรรมโดยพูด ก็คือ เมื่อมีความรู้เข้าใจแล้วก็นำมาแนะนำสั่งสอน ให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด ก็หมายความว่า ปรากฏตัวที่ไหนก็ทำให้ใจโยมผ่องใสที่นั่น และน้อมจิตใจคนที่พบเห็นไปสู่ความดีงาม เมื่อโยมใจผ่องใสจิตใจดี ก็เป็นธรรมะทันที ดังนั้นในสังคมไทยนี้ วัฒนธรรมของเราจึงเน้นว่าให้พระเป็นเครื่องหมายของความดีงามและความไม่มีภัย

ขั้นต้นที่สุด เจอพระที่ไหนต้องรู้สึกไม่มีภัยอันตราย เช่นไปในป่าในที่เปลี่ยว พอเห็นพระก็โล่งใจสบาย อย่างนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกต้อง พอเห็นอาการกิริยาที่สงบสำรวมมีสมณสัญญา ญาติโยมก็จิตใจเบิกบานผ่องใส เรียกว่าได้ธรรมะขึ้นมาในใจโดยพระยังไม่ต้องพูด

การที่เรามีพิธีกรรมอะไรต่างๆ ก็เพื่อความมุ่งหมายอันนี้ คือพิธีกรรมนั้นเป็นวิธีการ (พิธี มาจาก วิธี นั่นเอง) ที่ช่วยนัดหมายและจัดเตรียมให้ญาติโยมได้พบกับพระสงฆ์ แล้วท่านจะได้ให้ธรรมใน ๒ แบบที่ว่านั้น คือทั้งให้ธรรมโดยพูด เช่น พระที่เป็นหัวหน้าเป็นผู้ใหญ่จะได้สั่งสอนแสดงธรรม และพระอื่นๆ ก็ได้ปรากฏตัวในอาการของสมณะ แม้พระไม่ได้พูดอะไร เพียงปรากฏตัวขึ้นมาญาติโยมก็มีจิตใจสบาย

แม้แต่ตื่นเช้า เห็นพระเดินมาบิณฑบาต สมัยก่อนเดินเป็นแถวเลย โยมทำบุญตักบาตร เช้าพระเดินลัดท้องทุ่งนามา สีจีวรตัดกับสีแดดยามรุ่งอรุณ จิตใจโยมก็ปลาบปลื้ม เรียกว่าเริ่มต้นวันด้วยความมีจิตใจผ่องใส อย่างนี้คือพระให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด

หน้าที่ของพระก็คือให้ธรรมะ เราจะต้องทำให้พระมีคุณสมบัติที่จะให้ธรรมได้ หมายความว่าต้องพัฒนาคุณภาพพระด้วยการศึกษา เรื่องนี้สำคัญมาก

ที่ท่านรัฐมนตรีพูดเรื่องการทำทะเบียนพระที่มีความสามารถในการสอนนั้น เรื่องการใช้สื่อเวลานี้เป็นปัญหามาก ได้ยินกันมาหลายปีแล้ว ญาติโยมติเตียนว่า พระเผยแผ่ออกวิทยุเป็นโทษเสียมาก เช่น ไปเรี่ยไร ไปพูดเรื่องเสียหายไม่ควรพูด ถ้าเราปล่อยปละละเลยก็คือสังคมตกอยู่ในความประมาท

อาตมภาพก็เลยขอโอกาสพูดเรื่องนี้ด้วยว่าจะมีทางแก้ไขอย่างไร ให้การจัดเรื่องสื่อของเราเกิดประโยชน์แท้จริง ให้พระที่ออกวิทยุเข้าสู่แนวทางของการให้ธรรมะแก่ประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ไปหาผลประโยชน์ ไม่ใช่ไปพูดเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่ชักชวนประชาชนในทางลุ่มหลง

การที่จะแก้ได้ก็คือการที่เราจะต้องมีการจัดระบบ ไม่ให้ทำกันเรื่อยเปื่อย ไม่ให้เขาพูดล้อเล่นได้ว่า นี่คือเสรีภาพแบบไทยๆ ทำอะไรก็ได้ตามชอบใจ เหมือนเรื่องร้านเหล้าเปิดถึงเมื่อไรก็ได้ เด็กอายุเท่าไรก็เข้าร้านสุราซื้อเหล้าได้ พระองค์ไหนจะพูดอะไรทางวิทยุก็ได้ เสรีภาพเมืองไทยเหลือล้นกว่าประเทศไหนๆ

เป็นข้อที่ดีถ้าหากจะมีการทำทะเบียนพระ แต่เราจะต้องมีวิธีการ และมาตรการที่ดีจริงๆ ให้ได้พระมีคุณภาพมาทำงาน อย่างมั่นใจ ซึ่งจะทำให้เรามีที่อ้างอิง เวลาเกิดปัญหาความต้องการขึ้นมาก็หาพระทำงานได้ทันที ไม่ใช่ไม่รู้ว่าจะไปเอาที่ไหน อันนี้เป็นความคิดที่จะช่วยได้มาก แต่ทำอย่างไรเราจะได้อย่างกว้างขวาง ก็คงจะต้องมีการประสานงานกันกับหน่วยงานทางพระศาสนา เช่นอย่างมหาวิทยาลัยสงฆ์อะไรอย่างนี้ ว่าจะหาบุคลากรที่มีคุณภาพได้อย่างไร แล้วก็ประสานไปถึงเรื่องสื่อ

ปัจจุบันในการศึกษานี้สื่อมีอิทธิพลมาก บางทีมีอิทธิพลมากกว่าโรงเรียนอีก สื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนบางทียิ่งกว่าโรงเรียน ทีนี้ถ้าสื่อทำผิดก็เลยกลายเป็นมิจฉาสิกขา เป็นการศึกษาที่ผิด ก็คือไม่ใช่การศึกษา ก็ยิ่งทำให้สังคมตกต่ำลง เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาใจใส่เรื่องสื่อด้วย คือจะต้องช่วยกันว่าทำอย่างไรจะจัดระบบสื่อในแง่ของการศึกษานี้ให้ได้ผลจริงๆ ซึ่งก็โยงมาหาเรื่องพระและเรื่องพระศาสนา

เคยพูดอย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยเรานี้ พุทธศาสนิกชนตามสถิติบอกว่า ๙๕% นี่เป็นสถิติรวม แต่จังหวัดทั้งหลายในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ส่วนมากเป็นพุทธจะแทบ ๑๐๐% เลยใช่ไหม

ที่น่าเสียดายก็คือว่าคนไทยรวมทั้งเด็กๆ ที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธ บอกว่านับถือพุทธศาสนา แต่ไม่รู้จักพุทธศาสนา ไม่รู้ว่าพุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร ชาวพุทธเชื่ออย่างไร และปฏิบัติอย่างไร

เมื่อไม่มีความรู้ ก็มีความเชื่อผิดๆ และประพฤติปฏิบัติผิด แล้วคนที่ชื่อว่าเป็นชาวพุทธแต่ไม่รู้จักพุทธศาสนาและเชื่อผิดๆ ประพฤติปฏิบัติผิดจากหลักพุทธศาสนาเหล่านี้แหละ ที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม

ฉะนั้น วิธีหนึ่งที่ตรงที่สุดในการแก้ปัญหาสังคมไทยก็คือ ทำให้คนที่ชื่อว่าเป็นพุทธ แต่ไม่รู้พุทธ ซึ่งเป็นพลเมืองแทบทั้งหมดของประเทศนี้ ให้รู้ศาสนาของตัวเองเสีย ให้รู้ให้ถูก เชื่อให้ถูก ปฏิบัติให้ถูก มันก็เป็นการแก้ปัญหาสังคมไทยทันทีในตัวเลย ตรงไปตรงมาที่สุด อันนี้แค่นี้เราจะทำได้ไหม

หมายความว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ตรงไปตรงมา เธอเป็นชาวพุทธใช่ไหม เธอบอกว่านับถือพุทธศาสนาแล้วทำไมเธอไม่รู้จักพุทธศาสนา เชื่อก็ไม่ถูก ปฏิบัติก็ไม่ถูก เราก็ทำให้เธอรู้เข้าใจ เชื่อถูก ปฏิบัติถูก ก็แก้ปัญหาได้เลย เรื่องนี้น่าจะได้ทำ อันนี้ตรงไปตรงมา แทนที่จะไปหาอันโน้นอันนี้ มัวอ้อมค้อมกันไปมา

รมช. และคณะ ดังนั้นก็คงจะต้องมีเรื่องที่ทางฝ่ายฆราวาส และฝ่ายสงฆ์ช่วยกันทำ ก็คือเรื่องของสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาของสื่อที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่วัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นซึ่งเขาช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วก็ค่อนข้างที่จะหลงทางในเวลานี้ มีเรื่องที่คงต้องกราบขอความเห็นจากพระคุณเจ้า ก็คือ แนวทางที่จะพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนให้เป็นผู้นำทางปัญญา

พระธรรมปิฎก เรื่องนี้ก็สำคัญ อย่างน้อยผู้บริหารจะต้องมีความภูมิใจในสังคมไทย และภูมิใจในวัฒนธรรมไทยบ้าง ขณะนี้คนไทยสูญเสียอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือ ไม่มีความภูมิใจในพื้นฐานของสังคมของตัวเอง ขาดลอยจากรากฐานของสังคม ก็เลยกลายเป็นคนเคว้งคว้าง จะเอื้อมไปเอาฝรั่งก็เอาไม่ถึง เอามาไม่ได้จริง ของตัวเองก็หลุดลอยไป ก็เลยเสียทั้งคู่ สังคมก็เลยเคว้งคว้างกันใหญ่ พอผู้ใหญ่เคว้งคว้าง เด็กก็เคว้งคว้างด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องมีความมั่นคง

ความมั่นคงนั้นเกิดจากความมั่นใจ คนเราถ้าไม่มีความมั่นใจมันก็มั่นคงไม่ได้ ทีนี้ความมั่นใจก็เกิดจากความรู้เข้าใจ ให้มีความเชื่อมั่นจากการเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวมี ถ้าเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวมี ว่าวัฒนธรรมไทย และสังคมไทยเรามีดีอะไร เมื่อเรามองเห็นคุณค่าก็เกิดความมั่นใจทันที พอเกิดความมั่นใจ ทิศทางก็เกิดทันที ความเข้มแข็งก็เกิดขึ้น พอเป้าหมายปรากฏขึ้นมา ก็เดินหน้าได้เลย

เวลานี้คนของเราอ่อนแอ เพราะเหตุหนึ่งคือเราขาดความมั่นใจในตัวเอง สืบเนื่องจากการไม่รู้จักคุณค่าของพื้นฐานทางวัฒนธรรม ฉะนั้นจะต้องฟื้นให้ได้ ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องพัฒนาคุณภาพของผู้บริหารให้เป็นผู้นำที่มีความรู้และความมั่นใจนี้

ทีนี้จะทำอย่างไรให้คนของเราได้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ที่เป็นรากฐานของสังคมไทย อันนี้ก็ต้องเกิดจากปัญญา อยู่ๆ เขาจะมาเห็นคุณค่าได้อย่างไร เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจก็ต้องทำให้มีปัญญารู้เข้าใจ ซึ่งจะต้องมีการศึกษากันจริงจัง และให้ความรู้กันอย่างเพียงพอ

ถึงตอนนี้ก็เลยต้องขอโอกาสพูดถึงตัวเอง เวลานี้งานอย่างหนึ่งก็คือพยายามที่จะชี้

๑. ให้รู้เข้าใจตัวเอง

๒. ให้รู้เขา โดยเฉพาะว่าฝรั่งเป็นมาอย่างไร มีรากฐานมาอย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ในปัจจุบัน

ต้องเข้าใจเขาให้ชัด พอเข้าใจเขาชัดรู้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะรู้เหตุผลที่ทำให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็นปัจจุบันนี้ จะมองเขาออก พอมองเขาออกก็จะเห็นคุณค่าของตัวเองขึ้นมาด้วย

แต่เวลานี้คนไทยเลื่อนลอย มองอะไรก็เห็นแค่ผิวเผิน มองเห็นสังคมฝรั่งก็เห็นแต่ผล ไม่ได้เห็นเหตุ เห็นผลก็คือมองติดอยู่แค่ความเจริญอย่างที่เขาเป็นปัจจุบัน ว่าเขามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างนั้นๆ พอเห็นความเจริญที่เป็นผลก็อยากจะได้ อยากจะรับ ก็ได้แต่รับ ได้แต่บริโภค ได้แต่ตามเขาไป

ทีนี้ถ้าเรามีการศึกษา ก็คือไม่ดูแค่ผล แต่ค้นคว้าสืบสาวดูเหตุปัจจัยที่ทำให้เขามีผลอย่างนี้ ศึกษาให้เข้าใจสังคมอเมริกันเป็นต้น ว่าเขาสร้างเหตุปัจจัยมาอย่างไร พอเข้าใจแล้วก็โยงมาหาความเข้าใจตนเองได้ ฉะนั้นตอนนี้คิดว่าต้องทำอย่างสำนวนเก่าว่า ต้องรู้เขา-รู้เรา แต่ความหมายหนึ่งของการรู้เขารู้เราคือ ไม่ใช่รู้แค่มองเห็นข้างนอก ต้องลึกลงไปถึงรู้เหตุปัจจัยกันเลย

การรู้เหตุปัจจัยนี้สำคัญ แต่สังคมไทยเรามักไม่มองไปที่ตัวเหตุปัจจัย ทั้งๆ ที่พุทธศาสนาเน้นเรื่องเหตุปัจจัย เราจะเอาแค่ผล เวลามองฝรั่งก็ดูว่าเขามีผลอะไรให้เราบริโภคบ้าง ก็จะรับผลนั้น แล้วก็ชื่นชมวนอยู่กับเรื่องผลที่ปรากฏขึ้นมา ไม่พยายามรู้เหตุ แล้วก็ไม่ทำเหตุด้วย จึงได้แค่

๑. รู้เห็นผล

๒. รับและเสวยผล

ต้องเปลี่ยนเป็น ๒ อย่าง ที่ตรงข้าม คือ ต้องรู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำเหตุปัจจัย ตรงทำเหตุปัจจัยนี้แหละจะสำเร็จ เหมือนอย่างที่พูดบ่อยๆ ว่า คนไทยมองความเจริญของฝรั่งด้วยความชื่นชมตื่นเต้นว่าอยากจะเจริญอย่างฝรั่ง เราเห็นฝรั่งเจริญและอยากจะเจริญอย่างฝรั่ง

แต่ที่ลึกกว่านั้นก็คือ เรามองความเจริญนั้นอย่างไร การมองแบบหนึ่ง คือ มองความเจริญแบบนักบริโภค หมายความว่าฝรั่งมีกินมีใช้ มีบริโภคอะไร ถ้าฉันมีกินมีใช้ มีบริโภคอย่างนั้น ฉันก็เจริญอย่างฝรั่ง อย่างนี้เรียกว่า มองความเจริญอย่างนักบริโภค

การมองอีกแบบหนึ่ง คือ มองความเจริญแบบนักผลิตนักสร้างสรรค์ ดูว่าที่ฝรั่งเจริญนั้นเขาทำอะไรได้ ฉันจะต้องทำให้ได้อย่างนั้น ถ้ามองความเจริญของฝรั่งอย่างนี้ประเทศไทยก้าวไปได้ แต่เด็กไทยตอนนี้ไม่มีหรอกที่มองอย่างนี้ แทบหาไม่ได้เลย ถ้าเด็กไทยคิดว่าฝรั่งทำอะไรได้ ญี่ปุ่นทำอะไรได้ ฉันต้องทำได้อย่างนั้น ถ้าเมื่อไรเด็กไทยมีความคิดอย่างนี้ ไม่กี่ปี เอาแค่ ๕ ปีเท่านั้นแหละ เมืองไทยไปลิบเลย

เวลานี้มองแค่ว่า ฝรั่งมีกินมีใช้มีอะไรบริโภค ฉันจะมีอย่างนั้น พอมีแล้วก็รู้สึกโก้ภูมิใจ มาอวดกันว่า ฉันเป็นเหมือนฝรั่งแล้ว แต่เปล่า ไม่เหมือนหรอก ไม่มีทางหรอก มันต้องทำได้อย่างฝรั่ง ฝรั่งทำอะไรได้ ญี่ปุ่นทำอะไรได้ ฉันต้องทำได้อย่างนั้น หรือทำให้ดีกว่านั้นอีก อย่างนี้ละก็ไทยไปได้

ขออนุโมทนาท่านรัฐมนตรี พร้อมทั้งอาจารย์ทุกท่าน ที่ได้มีความตั้งใจดีต่อประเทศชาติ สังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อาตมภาพอนุโมทนาอย่างยิ่งเลยว่า เราจะต้องช่วยกันฟื้นสังคมให้ได้ ซึ่งเราจะต้องมีจิตใจที่มุ่งสู่เป้าหมาย และมีความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง แล้วก็มีความเข้มแข็งในตัวเอง โดยมองเห็นด้วยปัญญาว่า อันนี้ถูกต้องดีงามแท้ ให้ความมั่นใจเกิดขึ้น และมีพลังที่จะเดินหน้ากันต่อไป ขอให้ทุกท่าน ดำเนินภารกิจเพื่อความมุ่งหมายนี้ให้สำเร็จด้วยดีทุกท่าน ขออนุโมทนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมื่อรู้เข้าใจทำบุญให้ก้าวไปในหลักพระพุทธศาสนา ก็จะพัฒนาวัฒนธรรมให้ยิ่งเจริญงอกงาม

No Comments

Comments are closed.