สรุปความ

19 พฤศจิกายน 2563
เป็นตอนที่ 15 จาก 16 ตอนของ

สรุปความ

เท่าที่พูดมานี้ ก็ให้รู้เรื่องสมาธิเป็นพื้นฐานไว้ก่อน ให้รู้ว่าสมาธิในพระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายอย่างไร ให้รู้ประโยชน์คุณค่า ทั้งที่เป็นผลพลอยได้ และผลที่ต้องการแท้จริง

ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เขาใช้สมาธิกันมานานแล้ว อย่างพวก โยคี ฤาษี ดาบส ที่ได้ฤทธิ์ ได้ปาฏิหาริย์ ได้อภิญญา พวกนี้ใช้สมาธิเพื่อฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ พลังจิต แล้วไม่สามารถหมดกิเลส เพราะสมาธิกำจัดกิเลสไม่ได้

สมาธิช่วยให้จิตสงบจากกิเลสได้ชั่วคราว และทำให้จิตพร้อมที่จะทำงาน ต้องเอาจิตนี้ไปใช้ทำงานอีกทีหนึ่ง จึงจะกำจัดกิเลสได้ ไม่ใช่สมาธิกำจัดกิเลส

อีกพวกหนึ่งเอาสมาธิมาใช้เป็นตัวกล่อม ทำให้ใจสบายมีความสุข ฤาษี โยคีในสมัยก่อนพุทธกาลก็เป็นแบบนี้ด้วย เขาปลีกตัวแยกจากสังคม ไปอยู่ในป่า แล้วก็มีความสุขจากฌานสมาบัติ ได้เสวยความสุข เรียกว่าเป็นพวกตัดขาดจากสังคม ปลีกตัวออกไปเลย ไม่เอากับใครทั้งนั้น แกก็เพลินกับการเล่นฌาน ศัพท์พระเรียกว่า ฌานกีฬา มีความสุขเพลินกับฌานสมาบัติ ไม่เอาเรื่องเอาราวกับชีวิตจริง ก็เสียผลเหมือนกัน

พระพุทธเจ้าไม่ทรงยอมรับด้วย เสด็จแยกออกมาเลย พุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้น พุทธศาสนาไม่ใช่ลัทธิฤาษี โยคี ดาบส ต้องแยกให้ได้ บางทีเราเอาพุทธศาสนาไปปนกับลัทธิฤาษี โยคี ดาบส ชีไพร ก็ผิดอีก เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องแยกให้ถูก

แม้แต่ลักษณะของพระในพุทธศาสนา ก็ไม่ใช่ฤาษีชีไพร มีหลักการที่แยกกันเด่นชัด ดีไม่ดี ถ้าเข้าใจผิดเอาพระไปเป็นฤาษีอีกก็จะยุ่ง ต่างกันมากในหลักการ

วินัยของพระที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ป้องกันเด็ดขาดไม่ให้พระไปเป็นฤาษี แต่เราอาจจะเอาคำว่า “ฤาษี” มาใช้ในความหมายใหม่ เหมือนอย่างที่เรียกพระพุทธเจ้าเป็น มหามุนี หรือ มหาฤาษี แต่เป็นการเลียนศัพท์ของเขามาใช้ในความหมายใหม่ คือ อิสิ หรือ ฤาษี แปลว่าผู้แสวงคุณความดี

พระพุทธเจ้าเป็นมหาฤาษี (มหา + อิสิ) แปลว่าผู้แสวงคุณที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่ใช่ฤาษีแบบโบราณในอินเดีย พวกนั้นมีมาก่อนพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงไปทดลองมาหมด เห็นว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้องจึงได้ละทิ้งมา เพราะฉะนั้น พวกเรา ถ้าไม่ระวังให้ดี จะไปตกอยู่ในลัทธิฤาษีชีไพร

ได้พูดเรื่องสมาธิ ให้เห็นความหมาย คุณประโยชน์ และการใช้ที่ถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งการใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นที่ข้างเคียง ซึ่งถ้าเรารู้เท่าทันแล้ว แม้แต่ประโยชน์ข้างเคียง เราก็เอามาใช้ได้หมด ไม่ใช่หมายความว่าจะไม่ให้โยมใช้

แม้แต่เป็น “ตัวกล่อม” ก็ใช้ได้ แต่ใช้ได้ในขอบเขตที่ว่า อย่าให้เกิดความประมาท อย่าให้มันดึงเราให้หยุดอยู่นิ่ง แต่ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าชั่วคราวผ่านไป เหมือนอย่างใช้ยานอนหลับแก้โรคได้ แต่อย่าให้ติด จะใช้เพื่อ “พลังจิต” ก็ใช้ได้ อย่างน้อยรวมจิตไม่ให้มันฟุ้งซ่านไปก็ยังดี

แต่อย่าลืมก้าวต่อไปในการใช้ประโยชน์ที่แท้ คือ ประโยชน์ตามจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา ที่จะกำจัดกิเลส และให้รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย ให้รู้ถึงความที่สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างไร แล้วรู้จักโลกและชีวิตตามเป็นจริง จนกระทั่งวางจิตวางใจต่อชีวิตและโลกได้ถูกต้อง เป็นจิตสงบ ราบเรียบ โปร่งโล่ง ผ่องใส เป็นอิสระ เพราะไม่มีกิเลส ไม่มีอะไรหรือความเป็นไปใดๆ ในโลก ที่จะมาทำให้จิตหวั่นไหวได้ เพราะปัญญาเข้าถึงความจริง แล้วดำเนินชีวิตเป็นอยู่ด้วยปัญญา ที่รู้และทำตรงเหตุปัจจัย

อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งจะสำเร็จด้วยการที่มาปฏิบัติตามกระบวนการส่งต่อของไตรสิกขา

ถ้าจะเอา meditation ๒ อย่างที่พูดแต่ต้น คือ Tranquillity Meditation (บอกแล้วว่าเดี๋ยวนี้ตกลงเรียก Tranquillity Development) ได้แก่ สมถภาวนา และ Insight Meditation (หรือ Insight Development) คือวิปัสสนาภาวนา ก็ให้มาประสานกัน

ทั้งนี้โดยให้สมถภาวนาส่งผลต่อไปสู่วิปัสสนาภาวนา แล้วก็จะบรรลุถึงจุดหมายที่แท้จริง

วันนี้ ได้พูดมาในเรื่องเกี่ยวกับสมาธิพอให้เป็นแนวทาง ก็คิดว่าเป็นเวลาพอสมควรแล้ว

ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรสาธุชนทุกท่าน ที่ได้มีศรัทธามาฟังธรรมในวันนี้ แล้วก็ไม่เฉพาะในกรณีนี้ แต่ขออนุโมทนาด้วยในการที่ทุกท่านได้มีศรัทธาช่วยกันส่งเสริมค้ำจุนกิจการพระศาสนา มาช่วยกันบำเพ็ญประโยชน์ ไม่เฉพาะแก่ตัวโยมญาติมิตรเองเท่านั้น แต่เป็นการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นและแก่สังคมด้วย ซึ่งถูกต้องตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ให้เราบำเพ็ญทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

เมื่อโยมได้ปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้มีความอิ่มใจ มีปีติในคุณความดีที่ตนได้บำเพ็ญ ทั้งส่วน ทาน ศีล ภาวนา และเมื่อมีปีติอิ่มใจอย่างนี้ ก็จะเป็นสภาพจิตที่ดี อันจะนำไปสู่สมาธิได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

ขอทวนอีกทีว่า ผู้ปฏิบัติธรรมควรจะทำสภาพจิต ๕ ประการต่อไปนี้ให้เกิดอยู่เสมอ

๑. ปราโมทย์ ความสดชื่นร่าเริงเบิกบานใจ

๒. ปีติ ความอิ่มใจ ปลื้มใจ

๓. ปัสสัทธิ ความเรียบรื่น ผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด

๔. สุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ คล่องใจ ไม่มีอะไรติดขัดคับข้อง

๕. สมาธิ ภาวะจิตมั่นแน่ว เข้าที่ อยู่ตัว สงบ ไม่มีอะไรมากวนได้

ภาวะจิต ๕ ประการนี้ ขอให้ญาติโยมรักษาไว้ให้ดี แล้วปลูกฝังปรุงแต่งเพิ่มพูนให้เกิดขึ้นในจิตใจอยู่เสมอ ก็จะทำให้ชีวิตมีความสุข และก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม แล้วให้สมาธิซึ่งเป็นตัวที่ ๕ ส่งผลแก่ปัญญาต่อไป ก็จะถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา

ขออนุโมทนาโยมทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง และขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พรอภิบาลรักษา ขอโยมญาติมิตรทุกท่านจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ในการประกอบกิจหน้าที่การงาน และในธรรมปฏิบัติ ให้กุศลงอกงาม ร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สติปัฏฐานภาคผนวก (คัดตัดมาจากปาฐกถาอีกเรื่องหนึ่ง – ตามคำขอ) >>

No Comments

Comments are closed.