๑. ปรับอินทรีย์ให้สมดุล

5 พฤษภาคม 2539
เป็นตอนที่ 11 จาก 16 ตอนของ

๑. ปรับอินทรีย์ให้สมดุล

อินทรีย์ ๕ เป็นหัวข้อธรรมสำคัญในการปฏิบัติธรรม ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา

ก. ศรัทธา กับ ปัญญา ศรัทธาเป็นความเชื่อ ใจโน้มไป มีความซาบซึ้งอะไรต่ออะไรง่าย ศรัทธามีข้อดีคือ ทำให้จิตใจมีพลัง คนมีศรัทธา เชื่ออะไรก็มีกำลังในเรื่องนั้น

ถ้าโยมไม่มีศรัทธา โยมก็ไม่มีกำลังมาวัดนี้ ยิ่งศรัทธาแรงเท่าไร ก็ยิ่งมีกำลังเท่านั้น แม้วัดนี้จะห่างไกลเท่าไร จะ ๑๐๐ กิโลเมตร หรือ ๕๐๐ กิโลเมตร ถ้ามีศรัทธาแรง ก็ไปได้ทั้งนั้น แต่ถ้าโยมหมดศรัทธาเมื่อไร แม้แต่วัดอยู่ข้างบ้าน ก็ไม่ไป ถ้าไม่มีศรัทธาก็หมดแรงทันที ศรัทธาทำให้มีกำลัง เพราะฉะนั้นจึงสำคัญมาก แต่ศรัทธานี้ท่านว่าต้องมีตัวดึงดุล คือปัญญา

ปัญญาเป็นตัวธรรมหรือองค์ธรรมที่ทำให้มีเหตุมีผล ทำให้รู้ความถูกต้อง ความสมควร ความเหมาะสม ความจริงหรือไม่จริง รู้สิ่งที่แท้สิ่งที่เท็จ สิ่งที่ผิดสิ่งที่ถูก

ในขณะที่ศรัทธาเชื่อดิ่งซาบซึ้งไปได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีปัญญามาร่วมหรือมาประกบประกอบไว้ ก็จะเชื่อหลงๆ ไหลๆ ไปเลย ทีนี้ถ้ามีกำลัง แล้วไปทำตามที่เชื่อ ก็อาจจะเอากำลังไปใช้ในการทำสิ่งที่เลวร้ายรุนแรงอย่างเข้มแข็ง แม้แต่เบียดเบียนกัน เช่นในศาสนาต่างๆ ที่เอาแต่ศรัทธา คนมีกำลังผลักดันใจแรงมาก ทำให้สามารถแม้แต่ไปฆ่าคนศาสนาอื่น หรือทำสงครามศาสนากันก็ได้ ท่านจึงเตือนว่าต้องระวัง ศรัทธาต้องมีปัญญาคุม

แต่ถ้าไม่มีศรัทธา มีแต่ปัญญา ก็เป็นปัญหา เจ้าปัญญานี้รู้โน้นรู้นี่ แต่บางทีไม่เอาจริงเอาจังสักอย่าง เรียกว่าปัญญาจับจด เรื่องนี้ก็รู้ เรื่องนั้นก็รู้ ไม่เอาจริงสักเรื่องหนึ่ง ก็เสียอีก

แต่พอมีศรัทธาแล้ว ทำให้จับแน่นและพุ่งดิ่ง เพราะศรัทธาเป็นตัวจับ และเป็นตัวพุ่งดิ่งไปในเรื่องนั้น พอเราศรัทธาในเรื่องใด ใจเราก็พุ่งดิ่งไปในเรื่องนั้น ทั้งมีกำลัง ทั้งมีทิศทางชัดเจน พอมีทิศทาง ปัญญาที่จะศึกษาเรื่องใด ก็เจาะดิ่งไปในเรื่องนั้น ปัญญากับศรัทธาก็เสริมกัน

ถ้าเอาศรัทธากับปัญญามาเข้าคู่เกื้อหนุนและดุลกัน ศรัทธาในเรื่องไหน ปัญญาก็พิจารณาจริงจังในเรื่องนั้น เช่น ศรัทธาในธรรมข้อไหน ก็ใช้ปัญญาศึกษาธรรมข้อนั้นอย่างจริงจัง ศรัทธาก็มาเสริมปัญญา ทำให้ปัญญามีทิศทางชัดเจนเอาจริงเอาจังแน่นแฟ้น และมีกำลังมาก จนกระทั่งประสบความสำเร็จ จึงต้องมีคู่กัน

เมื่อไรปัญญาถึงจุดหมาย รู้จริงแล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยศรัทธาอีกต่อไป แต่ระหว่างปฏิบัติ ต้องอาศัยศรัทธา อย่าไปบอกว่าไม่ต้องมีศรัทธา ไม่ได้ ต้องมี แต่ศรัทธาต้องหนุนปัญญา และดุลด้วยปัญญา

เป็นอันว่า ศรัทธา

๑. กำหนดทิศทางให้แก่ปัญญา

๒. ทำให้ใช้ปัญญามั่นแน่วในเรื่องนั้น

๓. ทำให้(การแสวง)ปัญญามีกำลัง

แล้วปัญญาก็เป็นตัวพิจารณาในเรื่องที่ศรัทธาจับดิ่งพุ่งไปนั้นจนถึงที่สุด ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งชัดเจนทะลุโล่งไป

แต่ศรัทธาบางชนิด เป็นศรัทธาขาดปัญญา และบังปัญญา คือให้เชื่ออย่างเดียว ห้ามถาม ในบางลัทธิศาสนาให้ศรัทธาต้องเชื่อ ห้ามถาม ถามแล้วผิด อย่างนี้ท่านไม่เอาด้วย เรียกว่าเป็นศรัทธาที่ขัดขวางปัญญา หรือศรัทธาตาบอด ไม่เกิดปัญญา และก่อความขัดแย้ง

ฉะนั้น ศรัทธาต้องเสริมปัญญา ต้องช่วยให้ปัญญาเกิด พอปัญญาเกิดแล้ว ในที่สุดศรัทธาจะหมดหน้าที่ เพราะปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้น ประจักษ์แจ้งเองแล้ว ไม่ต้องอาศัยความเชื่ออีกต่อไป

ข. วิริยะ กับ สมาธิ วิริยะคือความเพียร สมาธิคือภาวะจิตที่มั่นคง แน่วสงบ สองอย่างนี้ต้องมาเสริมกัน มาพยุงกัน มาดุลกัน

วิริยะ” ความเพียรนี้มาจากคำว่า วีระ ซึ่งแปลว่า แกล้วกล้า จะเดินหน้า จะบุกฝ่าข้ามน้ำข้ามป่าไปให้ได้ เห็นอะไรๆ ก็ท้าทายความสามารถ ต้องเอาชนะ ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เจ้าวิริยะนี้จะเดินหน้าไปเรื่อย เดินหน้าๆ ท่าเดียว จึงอาจทำให้เกิดความกระวนกระวาย แล้วก็พล่านพร่า ไม่หนักแน่น ท่านจึงให้เอาสมาธิมาช่วย พอสมาธิมา ก็ทำให้สงบและมั่นคง ก็เกิดความพอดีขึ้น

ในทางตรงข้าม ถ้าไม่มีวิริยะ สมาธิก็นิ่งเฉยเฉื่อยชา จะนอนสบายเสวยความสุข ก็ขี้เกียจ กลายเป็นนอนนิ่งอย่างแน่วแน่ ท่านจึงว่า สมาธิแรงไป ก็มีโทษ ทำให้เกิดความเกียจคร้าน ต้องมีวิริยะมาช่วยพยุง เมื่อวิริยะมาหนุน ทั้งดุนและดุล ก็ไม่นอนนิ่ง แต่เดินหน้า

แต่ถ้ามีวิริยะฝ่ายเดียว ก็เดินหน้าอย่างกระสับกระส่าย กระวนกระวาย เร่าร้อน เมื่อมีทั้งวิริยะมาพยุง และมีสมาธิมาคุม ก็เดินหน้าอย่างเรียบสงบมั่นคง ไม่ใช่เดินหน้าอย่างกระสับกระส่าย และเดินหน้าอย่างแน่วแน่ ไม่ใช่นอนนิ่งอย่างแน่วแน่

เพราะฉะนั้น ๒ คู่นี้ คือ

๑. ศรัทธา กับ ปัญญา ต้องเข้าคู่ตรึงกันไว้ให้พอดี

๒. วิริยะ กับ สมาธิ ต้องเข้าคู่คุมและพยุงกันให้พอดี

แล้วมีสติ ซึ่งเป็นข้อที่ ๓ คอยตรวจดู และบอกให้รู้ว่า ตอนนี้ตัวนี้ชักจะหย่อน ไปเติมซะ ตัวนั้นเกินแล้ว ต้องลดสักหน่อย

สติ เป็นตัวเดี่ยวอยู่ตรงกลาง คอยดูคอยดันคอยดึงให้ดุล ต้องใช้ทุกกรณี สติจะคอยดูคอยระวังให้อยู่ตลอดเวลา

แม้ในการทำงานทำการต่างๆ ก็ต้องใช้หลักการนี้ เพราะเมื่ออินทรีย์ ๕ มีความสม่ำเสมอสมดุลกัน ก็จะทำให้การปฏิบัติธรรมและการทำกิจการงานเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จด้วยดี

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ตอน ๒ วิธีป้องกันและแก้ไขโทษของสมาธิ๒. ปรับการปฏิบัติให้ดำเนินตามไตรสิกขา >>

No Comments

Comments are closed.