วินัยในระบบการสร้างสรรค์อภิบาลโลก

25 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 13 จาก 13 ตอนของ

วินัยในระบบการสร้างสรรค์อภิบาลโลก

วินัยนั้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย เรื่องนี้เป็นไปตามหลักการที่แยกเป็นธรรมฝ่ายหนึ่งกับวินัยฝ่ายหนึ่ง ตามหลักการนี้ มนุษย์เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลกโดยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ที่แยกง่ายๆ เป็นสองส่วน คือ

๑. ความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน

๒. ความสัมพันธ์กับความจริงของกฎธรรมชาติ

ในด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เราก็ต้องรักษาให้ดี แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ถูกต้องกับโลกของธรรมชาติ เราก็ละเลยไม่ได้ เพราะถึงอย่างไร ทั้งชีวิตเราและคนอื่นทุกคน รวมทั้งสังคมทั้งหมด ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติทั้งนั้น เราจะต้องมีความสัมพันธ์ทั้งสองด้านนี้ให้ถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตที่ดีงามดำเนินไปด้วยดี บุคคลก็มีความสุข และสังคมก็อยู่เรียบร้อย

ถ้าเราเอาแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ละเลยหลักการแห่งเหตุและผลตามความจริงของกฎธรรมชาติ ความอยู่ดีนี้ก็ไม่สมบูรณ์ไม่มั่นคง สังคมก็จะปั่นป่วนภายหลัง หรือจะเอาแต่ความจริงของกฎธรรมชาติอย่างเดียว ละเลยความสัมพันธ์ที่ดีงามและความเกื้อกูลมีน้ำใจต่อกันระหว่างมนุษย์ โลกก็แห้งแล้ง แล้วก็จะทำให้อยู่กันไม่เป็นสุขเท่าที่ควรอีก เพราะฉะนั้นจะต้องคำนึงทั้ง ๒ ด้าน คือมนุษย์จะต้องรักษาทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และรักษาความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติไว้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงประทานหลักเกณฑ์ที่ทำให้เกิดดุลยภาพ ซึ่งเมื่อเราปฏิบัติตามก็จะเกิดระบบองค์รวมที่สมบูรณ์ขึ้น เป็นดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์เองกับระบบของความสัมพันธ์กับธรรมชาตินั่นเอง ความสัมพันธ์นี้ โดยสรุปก็คือ

ก) เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองคือตัวเรากับมนุษย์คนอื่น ว่าเราจะต้องมีความเกื้อกูลช่วยเหลือมีน้ำใจต่อกัน ในสถานการณ์ ๓ อย่าง คือ

๑. ในยามที่เขาอยู่เป็นปกติสุข เราก็มีไมตรีจิตมิตรภาพ มีความปรารถนาดี เรียกว่า เมตตา

๒. ในยามที่เขาตกต่ำลงเดือดร้อนเป็นทุกข์ประสบปัญหา เราก็เห็นใจพลอยหวั่นใจด้วย ปรารถนาจะช่วยเหลือปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากความทุกข์ เรียกว่า กรุณา

๓. ในยามที่เขาขึ้นสูงประสบความสำเร็จได้ดีมีสุข เราก็มีความยินดีด้วยพลอยส่งเสริมสนับสนุน เรียกว่า มุทิตา

สำหรับมนุษย์เราก็มี ๓ สถานการณ์นี่แหละ และทางธรรมท่านก็ให้หลักที่จะปฏิบัติไว้พร้อม คือ ยามปกติเราก็ใช้เมตตา ในยามที่เขาตกต่ำเราก็ใช้กรุณา ยามเขาขึ้นสูงเราก็ใช้มุทิตา นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ต้องระวังไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปกระทบต่อตัวธรรม ตัวหลักการ ตัวความจริงความดีงามที่เป็นเหตุเป็นผลในกฎธรรมชาติ ตลอดจนความจริงความดีงามตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุผลที่มนุษย์ได้มาจัดวางเป็นกฎในหมู่มนุษย์คือวินัย หมายความว่า ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้ไปกระทบต่อตัวหลักการที่เป็นตัวธรรมหรือวินัยที่พูดไปแล้ว เราจะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ใน ๓ ข้อข้างต้นนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้แก่การทำหน้าที่ของธรรมวินัย อันนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก คือจะต้องให้ตัวธรรมตัววินัยนั้นได้แสดงหลักแสดงผลออกมา หมายความว่า มนุษย์จะต้องปฏิบัติตามตัวหลักการตัวกฎเกณฑ์ที่เป็นความจริงหรือที่ตกลงไว้ คือตัวธรรม ตัววินัยนั้น ตอนนี้กฎเกณฑ์แห่งจริยธรรม และหลักการแห่งความจริงความถูกต้อง ความดีงาม ตลอดจนกฎหมายกติกาสังคมจะต้องออกมาได้รับการปฏิบัติ นี้คือสถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งวางลงเป็นหัวข้อได้ คือ

ข) ๔. ในกรณีที่ความสัมพันธ์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างบุคคลในข้อ ๑-๒-๓ จะส่งผลกระทบเสียหายหรือทำลายหลักการแห่งความจริงความถูกต้องความดีงาม ความเป็นธรรม ความชอบธรรม ในธรรมดาแห่งธรรมชาติ (ธรรม) ก็ดี ที่บัญญัติจัดวางเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์กติกาในสังคมมนุษย์ (วินัย) ก็ดี เราจะต้องหยุดหรือระงับการปฏิบัติในข้อ ๑-๒-๓ เสีย และปล่อยให้มีการปฏิบัติตามหลักการแห่งธรรมและวินัย เพื่อให้ธรรมตั้งอยู่ในโลกต่อไป การปฏิบัติในกรณีนี้ คือการมีท่าทีเป็นกลาง โดยวางเฉยต่อบุคคล ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงขัดขวางการแสดงผลของธรรมหรือวินัย คือให้บุคคลนั้นรับผลตามธรรมตามวินัย เรียกว่า อุเบกขา

ถ้ามนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงหลักการแห่งธรรมวินัย ก็จะเกิดผลร้าย คือมีการช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลจนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์กติกาของสังคม อันนี้จะเห็นได้ในบางสังคม ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นใหญ่ คนมีน้ำใจต่อกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก จนแม้แต่จะละเมิดกฎเกณฑ์กติกา ก็ไม่เอาใจใส่ มองข้ามไปเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้น ทำให้หลักการทั้งในความจริงของธรรมชาติและในสังคมมนุษย์ที่เรียกว่าธรรมวินัย เลือนลางจางหายลงไป กลายเป็นว่า หมู่มนุษย์ไม่ปฏิบัติตามธรรมและวินัย เหมือนกับร่วมกันหรือสมคบกันทำลายตัวธรรมตัววินัยลงไปเสีย แล้วผลร้ายก็จะเกิดแก่สังคมของมนุษย์เองในระยะยาว

ในทางตรงข้าม ถ้าเราจะเอาแต่กฎเกณฑ์กติกา ละเลยการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างบุคคล มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลน้อย คนไม่เอาใจใส่กัน ก็จะกลายเป็นระบบตัวใครตัวมัน ทุกคนรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์กติกา ต่อหลักการ ต่อตัวธรรม ตัววินัย กฎหมายหรือกติกาว่าอย่างไรก็ทำตามนั้น คุณจะทำอะไรคุณทำไป แต่อย่าให้ผิดกฎ ผิดระเบียบนะ ฉันจัดการทันที ในระหว่างนี้ตัวใครตัวมัน ไม่เกื้อกูล ไม่ช่วยเหลือ ไม่มีน้ำใจ ในสังคมแบบนี้ ก็เอียงไปอีก ชีวิตแห้งแล้ง ขาดความอบอุ่น มนุษย์จะมีความเครียด จิตใจไม่สบาย และถ้าขาดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จนเกินควรถึงขีดหนึ่ง คนจะเริ่มเกิดโทสะ แค้นเคืองว่าไม่มีใครเอาใจใส่กันเลย ไม่ช่วยเหลือกันเลย คราวนี้ไม่เอาละ หลักการกฎเกณฑ์กติกาก็ทำลายมันเลย ก็เสียอีก ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์กับความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ ซึ่งถ้ารักษาไว้ให้พอดี สังคมก็จะสมดุล โลกมนุษย์ก็มีสันติสุข

ที่ว่ามานี้เกี่ยวข้องกับวินัยตรงไหน ก็ตรงที่ว่าวินัยนั้นอยู่ในส่วนของกฎเกณฑ์กติกาที่เนื่องมาจากธรรม หมายความว่า เราจะต้องให้ความสำคัญแก่วินัย ที่เป็นมาตรฐานของสังคม เช่นกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา และระเบียบต่างๆ อย่าให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปเด่นเหนือวินัย

ในบางสังคมเหตุสำคัญที่วินัยไม่สามารถเกิดขึ้นก็เพราะว่าประชาชนเอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากเกินไป มีการอุปถัมภ์กัน ช่วยเหลือกัน จนกระทั่งคนจำนวนหนึ่งที่ไม่พัฒนาตน ก็ได้แต่คอยรอพึ่งพาคนอื่น เพราะสามารถหวังความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ญาติมิตร เพื่อนฝูง เป็นต้น ได้เราไม่ต้องทำก็ได้ เดี๋ยวคนนั้นคนนี้ก็มาช่วยเอง เราทำผิดหน่อยไม่เป็นไร เดี๋ยวไปบอกเจ้านาย ถึงอย่างไรท่านก็เมตตา ก็เลยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎของสังคม ในกรณีอย่างนี้ การช่วยเหลือเกื้อกูลที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นตัวเด่นเกินไป สังคมก็เสียดุลยภาพ เพราะคนขาดอุเบกขา กฎเกณฑ์กติกาหลักการทั้งตามธรรมชาติและของสังคมคือตัวธรรมวินัยถูกละเลย

ส่วนในบางสังคม ความสัมพันธ์มีน้ำใจช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลนี้ เขาไม่เอาใจใส่ เขาเอาแต่หลักการและตัวกฎเกณฑ์กติกา เรื่องตัวคนไม่เกี่ยว ทุกคนรับผิดชอบตัวเอง ว่าไปตามกฎ จนกระทั่งเลยเถิด ก็กลายเป็นตัวใครตัวมันอย่างที่ว่าแล้ว

ฉะนั้น การปฏิบัติในเรื่องนี้จึงยาก ธรรมยากตรงนี้แหละ คือต้องคอยระวังว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดความพอดี นี้คือความพอดีอย่างหนึ่งที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ดุลยภาพ ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ และอันนี้ก็คือหลักพรหมวิหารนั่นเอง

พรหมวิหารประกอบด้วย

๑. เมตตา ความรักความปรารถนาดีมีไมตรีกันยามปกติ

๒. กรุณา ความพลอยหวั่นใจเห็นใจอยากช่วยเหลือยามเขาตกต่ำเดือดร้อน

๓. มุทิตา ความพลอยยินดีอยากส่งเสริมสนับสนุนยามเขาขึ้นสู่ความดีงาม ความสุขความสำเร็จ

๔. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางไม่ก้าวก่ายแทรกแซง เมื่อเขาจะต้องรับผิดชอบ ตามธรรม ตามวินัย

สามข้อแรกวางไว้สำหรับรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในหมู่มนุษย์ ที่บอกสั้นๆ ว่า ยามเขาอยู่ดีเป็นปกติเรามีเมตตาไมตรี ยามเขาตกต่ำเรามีกรุณา ยามเขาได้ดีมีสุขเราก็มีมุทิตา นี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่หนักไปทางด้านความรู้สึก ไม่ต้องใช้ปัญญา

แต่พอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้ส่งผลเสียหายไปกระทบต่อตัวธรรม ตัววินัย ตัวหลักการ ตัวกฎกติกาขึ้นมา เราต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อรักษาตัวธรรมตัววินัยนั้นไว้ ตอนนี้ไม่ใช้ความรู้สึก แต่ต้องใช้ปัญญามาก เอาความรู้มาปรับหรือแม้แต่ระงับความรู้สึก ดังที่เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นว่า เด็กคนหนึ่งไปประสบความสำเร็จในการลักขโมยเงินเขา ได้เงินมา ๓,๐๐๐ บาท ตามหลักของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา ถ้าเราเอาแค่ ๓ ข้อ เราต้องแสดงข้อไหน เราก็ต้องแสดงมุทิตา พลอยยินดีด้วย ชื่นชมกันใหญ่ว่า หนูเก่งนะ โชคดีนะ คราวหน้าขอให้ได้มากกว่านี้ สนับสนุนเลย มุทิตาในกรณีอย่างนี้ผิดใช่ไหม

มุทิตาในกรณีข้างต้นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปทำลายหลักธรรมและวินัยของสังคม ฉะนั้นจึงต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้แล้วให้ปฏิบัติตามธรรมวินัย คือดำเนินการตามหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ถ้าหมู่มนุษย์ปฏิบัติอยู่ในดุลยภาพอันนี้สังคมก็จะไม่เสียหลักและจะดำรงอยู่ได้ด้วยดี

เป็นอันว่า การที่จะรักษาวินัยไว้ได้ เราจะต้องให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีขอบเขต มิฉะนั้นวินัยก็จะสำเร็จยาก วินัยจึงอาศัยพรหมวิหารข้อที่ ๔ คือ อุเบกขา

อุเบกขาคือต้องวางทีเฉยดู ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง ช่วยเหลือส่งเสริมบุคคลให้เสียกระบวนการของธรรมวินัย ให้หลักการหรือกฎเกณฑ์แห่งธรรมและวินัยได้แสดงตัวของมันออกมาด้วยปฏิบัติการแห่งปัญญาที่เรียบสงบไม่หวั่นไหวไปตามความรู้สึก อุเบกขา แปลว่า วางทีเฉยดู ไม่ใช่เฉยทิ้ง ไม่ใช่เฉยเมย ไม่ใช่เฉยเมิน แต่เฉยมอง คือคอยมองดูอยู่ ถ้าเกิดการพลาดพลั้ง เพลี่ยงพล้ำเมื่อใด ก็พร้อมที่จะเข้าไปแก้ไขทันที ถ้าถึงเวลาต้องช่วยเหลือเมื่อไรก็เข้าไปช่วยเหลือทันที แต่ที่เฉยมองก็เพราะจะเปิดโอกาสให้การปฏิบัติจัดการต่างๆ ดำเนินไปตามความรับผิดชอบของเขา ต่อตัวหลักเกณฑ์กติกาแห่งธรรมและวินัย

อุเบกขานี้เข้าใจผิดกันมากและปฏิบัติได้ยากกว่าข้ออื่นๆ สามข้อแรกหนักในด้านความรู้สึก ปฏิบัติได้โดยแทบไม่ต้องใช้ปัญญาเลย แสดงไปตามสถานการณ์ที่ปรากฏ แต่อุเบกขานี้ยาก ต้องมีปัญญา ดังคำแปลของมันที่ว่า คอยมองดูอยู่ มาจาก อุป = คอยเข้าไปใกล้ๆ และ อิกข = มอง จึงแปลว่าคอยมองดูอยู่ หรือดูอยู่ใกล้ๆ หมายความว่า เฉยมอง ไม่ใช่เฉยเมย ไม่ใช่เฉยเมิน ที่เฉยมองก็หมายความว่า ไม่ขวนขวายช่วยเหลือบุคคลนั้นให้เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการของธรรมและวินัย เพราะต้องการจะให้มีการปฏิบัติไปตามธรรมและวินัย ถ้าเราเปิดโอกาสให้คนได้รับผิดชอบต่อการกระทำของเขาตามหลักข้ออุเบกขานี้ ก็จะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างวินัย ซึ่งทำให้สังคมมีดุลยภาพ

เมื่อคนมีคุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ท่านเรียกว่ามี พรหมวิหาร ซึ่งแปลว่าธรรมประจำใจของพระพรหม บุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในฐานะเป็นพรหม

พระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์ทุกคนควรทำตัวให้เป็นพรหม พระพรหมนั้นตามหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นผู้สร้างโลก และบำรุงเลี้ยงรักษาโลกไว้ พูดสั้นๆ ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์และอภิบาลโลก พระพุทธศาสนาสอนว่าอย่าไปรอพระพรหมที่เป็นเทพเจ้านั้นเลย ถ้าเรารอพระพรหมนั้นเราอาจจะมัวเพลินกับการก่อความยุ่งยากเดือดร้อนวุ่นวาย ทำลายโลก แล้วก็รอให้พระพรหมมาสร้างโลกใหม่อยู่เรื่อยไป

พระพุทธเจ้าสอนให้เราทุกคนเป็นพรหม เมื่อเราเป็นพรหมแล้วเราจะได้ช่วยกันสร้างโลกนี้ แล้วเราทุกคนก็มาช่วยกันบำรุงรักษาทำให้โลกนี้อยู่ด้วยดี เจริญมั่นคง เมื่อเรามีคุณสมบัติ ๔ ประการนี้ เราจะเป็นพรหม เพราะทุกคนจะเป็นผู้ที่สร้างสรรค์อภิบาลโลกนี้ ดำรงรักษาโลกนี้ให้อยู่ในสันติสุข

มนุษย์ที่เป็นพรหมก็คือมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีคุณสมบัติ ๔ ประการ อันเรียกว่าพรหมวิหาร ที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างมนุษย์ไว้ได้ โดยมีดุลยภาพพอดีกับการรักษาความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ กล่าวคือ มนุษย์เองก็อยู่ร่วมกันด้วยดี และหลักความจริงแท้ที่เป็นตัวธรรมพร้อมทั้งกฎที่มนุษย์ได้จัดวางขึ้นเป็นวินัย ซึ่งเป็นระเบียบระบบในหมู่มนุษย์ ก็คงอยู่ได้ด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< องค์ประกอบร่วมในการเสริมสร้างวินัย

No Comments

Comments are closed.