วินัยในฐานะเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย

25 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 10 จาก 13 ตอนของ

วินัยในฐานะเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย

การฝึกวินัยนี้ มีความหมายอีกอย่างหนึ่งด้วย คือเราถือว่าวินัยเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของประชาธิปไตย ถ้าไม่มีวินัย ประชาธิปไตยก็ตั้งอยู่ยาก เพราะประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน ประชาชนปกครองกันเอง ประชาชนจะปกครองกันเองได้ ประชาชนทุกคนต้องปกครองตนเองได้ คนที่ปกครองตนเองได้คือคนที่มีวินัย คนที่ไม่มีวินัยจะปกครองตนเองไม่ได้ เมื่อปกครองตนเองไม่ได้แล้ว จะไปร่วมกันปกครองเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ประชาธิปไตยก็ไปไม่รอด

สรุป ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชนที่แต่ละคนปกครองตนเองได้

การที่จะทำให้คนปกครองตนเองได้ ต้องทำให้คนมีวินัย คือมีศีล หรือตั้งอยู่ในวินัย แต่สาเหตุของความขาดวินัยอย่างหนึ่งมันมาจากปัญหาเกี่ยวกับหลักการของประชาธิปไตยเสียเอง กล่าวคือ มีองค์ประกอบอยู่อย่างหนึ่งที่สำคัญมากของประชาธิปไตยคือเสรีภาพ ทีนี้ ถ้าคนเข้าใจความหมายของเสรีภาพไม่ถูกต้อง เสรีภาพนั้นก็จะมาขัดแย้งกับวินัย เหมือนกับในบางสังคมที่มีปัญหาการขาดวินัยเกิดขึ้น เพราะคนไปยึดถือเสรีภาพในทางที่ผิด คือไม่เข้าถึงความหมายของเสรีภาพ นึกว่า เสรีภาพ คือการทำได้ตามใจชอบ เพราะฉะนั้นการตามใจตนเองได้ ทำตามใจชอบได้ ก็คือการมีเสรีภาพ แล้วบอกว่าเสรีภาพคือองค์ประกอบของประชาธิปไตย เมื่อเข้าใจเสรีภาพอย่างนี้ วินัยก็มีไม่ได้ กลายเป็นว่า คนพวกนี้เอาข้ออ้างจากหลักการของประชาธิปไตยมาทำลายประชาธิปไตย ฉะนั้นเมื่อคนไม่เข้าถึงสาระของประชาธิปไตยก็เกิดความขัดแย้งในตัวมันเอง นี่คือการเข้าใจความหมายของเสรีภาพผิด

เสรีภาพนั้นไม่ใช่การทำตามชอบใจ เรามักจะให้ความหมายของเสรีภาพในแง่ที่เป็นการทำได้ตามปรารถนา ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย หรือกติกาของสังคมบ้าง การทำได้ตามพอใจเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นบ้าง แต่นั่นยังไม่ใช่ความหมายที่เป็นสาระของประชาธิปไตย เป็นเพียงความหมายในเชิงปฏิบัติเท่านั้น

ที่จริง เสรีภาพในฐานะที่เป็นหลักการอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ย่อมมีความหมายที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยนั้นเป็นระบบการปกครองอย่างหนึ่ง การปกครองทุกอย่างมีความมุ่งหมายเพื่อจัดสรรสังคมให้อยู่ดีมีสันติสุข เราเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดที่จะให้บรรลุจุดหมายนี้ เราจึงตกลงกันให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนร่วมกันปกครอง โดยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองนั้น และเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง เราจึงต้องให้ประชาชนมีเสรีภาพ เพื่อให้ประชาชนเหล่านั้นทุกๆ คนสามารถนำเอาสติปัญญาความรู้ความสามารถของเขาออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม ถ้าคนไม่มีเสรีภาพ สติปัญญาความรู้ความสามารถของเขาก็ถูกปิดกั้นไม่มีโอกาสออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม

โดยนัยนี้ เสรีภาพที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย จึงมีความหมายว่าเป็นการมีสิทธิโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพของบุคคลแต่ละคน ออกมาช่วยเป็นส่วนร่วมในการเสริมสร้างประโยชน์สุขให้แก่สังคม เสรีภาพที่แท้จริงอยู่ที่นี่ เสรีภาพที่เข้าใจผิดก็คือ การที่แต่ละคนจะเอาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเอง เสรีภาพกลายเป็นมีความหมายว่า ฉันจะเอาอะไรก็ต้องได้ตามที่ฉันต้องการ แต่ที่จริงนั้นเสรีภาพมีไว้เป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย เพื่อให้การปกครองนั้นสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมได้จริง โดยการจัดการเอื้ออำนวยโอกาสให้บุคคล แต่ละคนมาช่วยกันเสริมสร้างสังคมได้

ถ้าบุคคลไม่มีเสรีภาพ ความคิดความเห็น สติปัญญาของเขาก็ไม่มีโอกาสที่จะมามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม แต่เมื่อเขามีเสรีภาพ สติปัญญา ความคิดเห็นที่ดีของเขาก็ออกมาช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามขึ้นได้ ประชาธิปไตยก็สำเร็จ แต่ประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้องก็เพี้ยนไป กลายเป็นระบบแก่งแย่งผลประโยชน์ของปัจเจกชน ที่แต่ละคนก็มองเสรีภาพในความหมายว่าฉันจะเอาอะไรก็ต้องเอาให้ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ประชาธิปไตยก็อยู่ไม่รอด

ฉะนั้นจะต้องมองความหมายของเสรีภาพใหม่ว่าเสรีภาพคือการมีสิทธิโอกาสที่จะใช้ศักยภาพของแต่ละคนในการมีส่วนร่วมที่จะสร้างสรรค์สังคม อันนี้เป็นความหมายที่แท้จริง เพราะสอดคล้องกับความมุ่งหมายของประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบการจัดตั้งเพื่อสังคม

เรื่องความหมายของศัพท์เหล่านี้จะต้องทำความเข้าใจทั้งนั้น เพราะมีความสำคัญ และสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้าเราเข้าใจพลาด การปลูกฝังคุณสมบัติต่างๆ ก็คลาดเคลื่อนหมด ฉะนั้นการจะปลูกฝังวินัยได้สำเร็จจะต้องสัมพันธ์สอดคล้องกับหลักการอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบทั้งหลายของประชาธิปไตย ถ้าจะให้วินัยเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย ทั้งตัวมันเองและองค์ประกอบข้ออื่นๆ ของประชาธิปไตยก็ต้องมีความหมายที่ถูกต้อง แล้วมาจับสัมพันธ์กันอย่างสอดคล้องกลมกลืน มันจึงจะประสานกันไปได้ ฉะนั้น เสรีภาพจึงเป็นคำหนึ่งที่จะต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง

เมื่อเข้าใจความหมายของเสรีภาพถูกต้องแล้ว ก็จะเห็นว่า วินัยเป็นการจัดสรรโอกาสที่จะทำให้เสรีภาพของเราอำนวยผลเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคมได้อย่างแท้จริง แล้วคนก็จะมีใจยินดีที่จะประพฤติตามวินัย ทำให้เกิดความเคารพกฎเกณฑ์กติกา คือเคารพวินัยนั่นเอง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วิธีเสริมสร้างวินัยความหมายของวินัย พัฒนาไปตามการพัฒนาของคน >>

No Comments

Comments are closed.