ข้ามพ้นความไม่ประมาทเทียม ในระบบแข่งขัน สู่การสร้างสรรค์สังคมด้วยความไม่ประมาทที่แท้

24 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 10 จาก 17 ตอนของ

ข้ามพ้นความไม่ประมาทเทียม ในระบบแข่งขัน
สู่การสร้างสรรค์สังคมด้วยความไม่ประมาทที่แท้

อนึ่ง ระบบเศรษฐกิจ “ทุนนิยม” โดยเฉพาะแบบอเมริกันนั้น ถือเอา “การแข่งขัน” เป็นหัวใจของการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญของสังคม การแข่งขันมีทั้งผลเสียและผลดี

ผลเสียคือ การแข่งขันทำให้เราต้องหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้มากกว่า เพื่อให้เหนือกว่าคนอื่นๆ เพื่อให้เลยหน้าเขาไป เพื่อจะได้ชนะคนอื่น ซึ่งก่อให้เกิดสภาพชีวิตและสภาพสังคมแบบตัวใครตัวมัน และระแวงกัน ทำให้มนุษย์ไม่มีความอบอุ่นในการอยู่ร่วมกันในสังคม และทำให้เกิดสภาพจิตที่เครียด

ส่วนผลดีของระบบแข่งขันคือ เป็นการปลุกเร้าสภาพจิตของมนุษย์ปุถุชนให้ต้องขยันขันแข็ง และมีความเข้มแข็งในการดำเนินชีวิตและทำการต่างๆ อย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเร่งรัดตลอดเวลา ทำให้การสร้างตัวเองและสร้างสรรค์สังคมประสบความสำเร็จได้

“ระบบแข่งขัน” เป็นระบบอิงสภาพธรรมชาติที่มีหลักการอยู่ว่า มนุษย์จะดิ้นรนขวนขวายเมื่อถูกทุกข์บีบคั้นหรือถูกภัยคุกคาม ครั้นเมื่อประสบความสำเร็จ มีความพรั่งพร้อม มีความสุขแล้ว มนุษย์ก็จะมีความโน้มเอียงที่จะหยุดและนอนเสพสุข เกียจคร้าน และในที่สุดความเสื่อมก็ตามมา และแล้ว “ความเสื่อม” นี่แหละก็จะกลายเป็นทุกข์ภัยที่บีบคั้นมนุษย์ให้ดิ้นรนขวนขวายใหม่อีก แล้วจึงเจริญขึ้นได้ใหม่ แล้วก็นอนเสวยผลใหม่และเสื่อมอีก วนเวียนเป็นวงจรของความเจริญและความเสื่อมสลับกันไปอย่างนี้

การสร้างทุกข์ภัยบีบคั้นมีด้วยกัน ๒ วิธี

วิธีที่ ๑ วิธีปล่อยตามสภาพ คือ รอให้ทุกข์ภัยเกิดขึ้นตามวิถีทางของมันเอง เมื่อสังคมเจริญขึ้น คนก็มัวเมาไม่ขวนขวาย จากนั้นความเสื่อมก็เกิดขึ้น แล้วความเสื่อมนั้นก็จะกลายเป็นทุกข์ภัยที่บีบคั้นให้คนดิ้นรนขวนขวายอีกครั้งหนึ่ง เป็นวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อม หมุนเวียนกันไป

วิธีที่ ๒ วิธีสร้างกลไกมาบีบคั้นคน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การสร้าง “ทุกข์ภัยประดิษฐ์” เช่นใช้ระบบแข่งขันมาบีบคั้น และสร้างสภาพจิตแบบตัวใครตัวมัน ซึ่งทำให้คนต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวเองให้รอด ถ้ายิ่งกระตุ้นความอยากความปรารถนามากขึ้น คนก็จะดิ้นรนขวนขวายมากยิ่งขึ้น และสังคมก็จะเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๒ วิธีนี้ ล้วนแต่เป็นวิธีที่มุ่งสนองความเห็นแก่ตัว ไม่เอื้อต่อจริยธรรม ไม่ทำให้คนพัฒนาขึ้นอย่างสมดุล ไม่เกื้อกูลต่อชีวิต ต่อสังคม และต่อธรรมชาติแวดล้อม เป็นวิธีปล่อยตามกิเลสกับวิธีกดดันด้วยกิเลสของปุถุชน เป็นวิธีที่ไม่ได้ใช้ “ปัญญา” มาพินิจพิจารณาผลดีและผลเสียโดยรอบคอบ จึงทำให้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจนในที่สุดก็ต้องจบลงด้วยความเสื่อมหรือความพินาศเช่นเดียวกัน

ในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์และสร้างสรรค์ความเจริญเราจะเอาอะไรมาแทน ถ้าเราไม่ใช้ระบบนี้ การสร้างความเจริญก็เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าจะสร้างความเจริญแบบนี้ คือ ปล่อยตามธรรมชาติของปุถุชนโดยใช้กิเลสของมนุษย์เป็นตัวบีบคั้น มนุษย์ก็จะตกเป็นทาสของวงจรธรรมชาติแห่งความเจริญและความเสื่อม อย่างที่ว่ามานั้น คำตอบก็คือ ในทางการศึกษานั้นเราถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ ตรงนี้แหละเป็นจุดที่การศึกษาจะต้องเข้ามา

การศึกษาจะทำอย่างไรให้มนุษย์มีความกระตือรือร้นขวนขวาย และสร้างสรรค์ความเจริญได้ด้วยสติปัญญาของตน คำตอบก็คือ ต้องสร้างสภาพมนุษย์ที่พัฒนาแล้วขึ้นมา นี่คือภารกิจของการศึกษา ถ้าเราไม่สามารถพัฒนามนุษย์ด้วยการศึกษา เราก็ต้องอาศัยสภาพปุถุชน ที่ต้องเอาระบบแข่งขันหรือความทุกข์ยากเดือดร้อนในวงจรแห่งความเสื่อมและเจริญมาเป็นแรงบีบอยู่เรื่อยไป นี่คือทางเลือกว่ามนุษย์จะเอาทางไหน

หน้าที่ของการศึกษาในแง่นี้ก็คือการทำให้มนุษย์มีสภาพเป็นสัตว์ที่พัฒนาแล้ว ที่สามารถสร้างสรรค์ความเจริญได้โดยไม่ต้องรอให้ถูกทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม และอันนี้เป็นจุดที่ใช้วัดผลการพัฒนามนุษย์ด้วย หลักการนี้ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า “หลักการแห่งความไม่ประมาท”

มนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่ไม่ได้รับการศึกษา จะดิ้นรนขวนขวาย เมื่อมีทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ถ้าเขาอยู่สบายก็จะเพลิดเพลินมัวเมาเฉื่อยชาประมาทผัดเพี้ยน ไม่ลุกขึ้นมา แต่ถ้าถูกทุกข์ภัยบีบคั้นก็ไม่ประมาท ในระบบชีวิตของสังคมปัจจุบัน มนุษย์ไม่ต้องรอทุกข์ภัยในวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญ แต่เขาสร้างวิถีชีวิตที่มีทุกข์ภัยประดิษฐ์ในระบบแข่งขันขึ้นมาให้คนถูกบีบคั้นคุกคามอยู่ตลอดเวลาเลยทีเดียว ซึ่งก็ทำให้มนุษย์ไม่ประมาทได้เหมือนกัน แต่ความไม่ประมาทแบบนี้เรียกว่าเป็น “ความไม่ประมาทเทียม” ซึ่งมีโทษก่อผลร้ายมากมาย

อย่างไรก็ตาม มนุษย์นั้นพัฒนาได้ ดังนั้นเราจึงใช้การศึกษาเป็นเครื่องสร้าง “ความไม่ประมาทที่แท้” ซึ่งหมายถึง การที่มนุษย์สามารถกระตือรือร้นขวนขวายสร้างสรรค์ความเจริญและป้องกันความเสื่อม โดยที่ไม่ต้องรอให้ถูกทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม แต่ทำด้วยสติปัญญาของเราเอง คือ มี “สติ” ตื่นตัว ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไปในสังคมหรือในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อครอบครัว ต่อสังคม เราไม่มองข้าม ไม่ละเลย สิ่งเหล่านั้นจะถูกสำรวจตรวจตราดูว่าจะทำให้เกิดผลเสียหรือผลดี เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเสื่อมหรือความเจริญ แล้วส่งให้ “ปัญญา” หาทางแก้ไขและสร้างสรรค์ต่อไป นี้คือระบบที่ใช้ “สติปัญญา”

มนุษย์ที่พัฒนาแล้วจะมี “ความไม่ประมาท” ที่แท้อย่างนี้ เพราะเหตุนั้นในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่า มนุษย์เมื่อเจริญแล้วไม่จำเป็นต้องเสื่อม ซึ่งบางทีก็ดูเหมือนจะตรงข้ามกับ “หลักอนิจจัง” ฝืนหลักความไม่เที่ยง แต่ที่จริงไม่ฝืนเลย มีแต่จะสอดคล้องกันอย่างดี กล่าวคือ สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตามธรรมดา แต่ที่ว่า ไม่เที่ยง นั้นเป็นคำกลางๆ เป็นธรรมดาของธรรมชาติ ไม่มีดีมีชั่วในตัวของมันเอง แต่เมื่อความไม่เที่ยงนั้นปรากฏแก่มนุษย์ เกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงไปในภาวะอย่างหนึ่ง เราเรียกว่า “ความเจริญ” เพราะมันตรงกับความต้องการของเรา แต่ขณะเดียวกัน ถ้าความไม่เที่ยงเกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะที่ไม่เป็นไปตามที่เราปรารถนา เราก็เรียกว่า “ความเสื่อม” แต่ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อม หรือความเจริญ ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น เจริญแล้วเสื่อม หรือเสื่อมแล้วเจริญก็เป็นความเปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมต่อไปอีก ก็เป็นความเปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเจริญยิ่งขึ้นต่อไป ก็เป็นความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหนก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของมัน ดังนั้นถ้าเราต้องการความเปลี่ยนแปลงในทางที่เจริญ เราก็ต้องสืบหาเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ แล้วทำตามเหตุปัจจัยนั้น ก็ย่อมเกิดความเจริญ ถ้าเราไม่ต้องการความเสื่อม ก็ต้องสืบหาเหตุปัจจัยของความเสื่อมนั้น แล้วก็หลีกละแก้ไขเหตุปัจจัยนั้นเสีย เราก็ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของความเสื่อม และสามารถรักษาความเจริญไว้ ตลอดจนทำให้เจริญยิ่งขึ้นไปได้

ด้วยเหตุนี้จึงมีหลักธรรมที่เรียกว่า “อปริหานิยธรรม” แปลว่า ธรรมที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ถ้าเราปฏิบัติตามธรรมหมวดนี้แล้ว จะมีแต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ซึ่งคล้ายๆ กับจะค้านกับสัจธรรมแห่งความไม่เที่ยง แต่ที่จริงไม่ขัดกันเลย เพราะนั่นเป็นความจริง คือใช้สัจธรรมแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย มาสอนคนให้ไม่ประมาท เพื่อจะได้เพียรพยายามทำเหตุปัจจัยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะเป็นความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมเลย ดังที่จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงสอน “ความไม่เที่ยง” ไว้กับ “ความไม่ประมาท”

ฉะนั้น ตอนปรินิพพาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนเป็นหลักใหญ่ว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราละเลยปล่อยให้เหตุปัจจัยร้ายๆ พาเอาความเสื่อมเข้ามา เราไม่สร้างสรรค์เหตุปัจจัยของความเจริญ เราก็จะต้องเสื่อมจะต้องสลาย เพราะฉะนั้น เราจะต้องไม่ประมาท คอยใช้สติตรวจตราดูว่าอะไรเกิดขึ้น จะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อความอยู่ดี ต่อประโยชน์สุข เราก็สืบสาวหาเหตุปัจจัย แล้วหาทางแก้ไขเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม และสร้างสรรค์เหตุปัจจัยแห่งความเจริญ เราก็สามารถรักษาความเจริญไว้ได้ และทำให้เจริญยิ่งขึ้นไป

หลักการของพระพุทธศาสนาถือว่า เมื่อเจริญแล้วสามารถเจริญยิ่งขึ้นไปได้ แต่ถ้าเสื่อมก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เสื่อม เหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสื่อม ก็คือความประมาทนี่แหละ

คนเรานี้มีทางที่จะประมาทได้เสมอ แม้แต่พระโสดาบันเพียรปฏิบัติธรรมมาจนได้บรรลุผลสำเร็จบางอย่างยิ่งกว่าคน ทั่วไป แต่พอได้รับความสำเร็จสูงขึ้น ก็เกิดความสันโดษ มีความพึงพอใจ พอเกิดความพึงพอใจ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า นี่เธอเป็น “ปมาทวิหารี” คือผู้อยู่ด้วยความประมาท เพราะไปสันโดษในการทำสิ่งที่ดีงามเข้า ก็เลยกลายเป็นความประมาท

ฉะนั้น แม้แต่เรื่องความสันโดษ หรือไม่สันโดษ ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้ามีคนถามเราว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราสันโดษใช่หรือเปล่า ถ้าตอบว่าใช่ก็ผิด พระพุทธเจ้าเป็น “วิภัชชวาที” แปลว่าสอนแยกแยะแจกแจง เราจะต้องแยก ต้องจำแนกให้ชัด

พระพุทธเจ้าสอนให้ไม่สันโดษก็มี สอนให้สันโดษก็มี คือสอนให้สันโดษในวัตถุบำเรอความสุขส่วนตัว แต่สอนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม อันได้แก่สิ่งที่ดีงามทั้งหลาย หลักการนี้ชัดเจนมากและสนับสนุนกันด้วย ถ้าเรา “สันโดษ” ในการแสวงหาสิ่งเสพบำเรอความสุข ก็จะทำให้เราสามารถไม่สันโดษในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามได้ด้วย เพราะคนใด “ไม่สันโดษ” ในการแสวงหาสิ่งบำเรอความสุข เขาก็จะสูญเสียแรงงาน เวลา และความคิดไปกับการวุ่นวายหมกมุ่นในการหาและเสพสิ่งเหล่านั้น จนไม่มีเวลา แรงงาน และความคิดที่จะเอาไปใช้ในการเพียรพยายามสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ ส่วนคนผู้ใดสันโดษในวัตถุสิ่งเสพบำรุงบำเรอ เขาก็สามารถสงวนเวลา แรงงาน และความคิดเอามาใช้ทุ่มเททำการสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้เต็มที่ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสธรรมไว้คู่กัน ตรัสสันโดษคู่กับความไม่สันโดษ ให้เราสันโดษเพื่อเราจะได้ไม่ต้องสันโดษได้เต็มที่ คนไหนสันโดษในวัตถุเสพบำเรอความสุข เขาก็จะไม่สันโดษในกุศลธรรมคือในการสร้างสรรค์ความดีงามได้เต็มที่ด้วย

หลักการที่ว่ามานี้เป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับ “ความไม่ประมาท” ทั้งสิ้น ดังนั้นการศึกษาจะต้องทำหน้าที่ตามหลักการนี้ให้ได้ ถ้าเราทำได้ เราก็สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ ที่สามารถข้ามพ้นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ระบบผลประโยชน์ ระบบแข่งขันไปได้ และจะได้ไม่ต้องอาศัย “ความไม่ประมาทเทียม” มาเป็นเครื่องมือเร่งรัดมนุษย์ให้สร้างสรรค์ “ความเจริญชนิดเทียมๆ”

รวมความว่า ระบบเศรษฐกิจเท่าที่เป็นมา ที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น ยังไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะระบบทุนนิยม ระบบผลประโยชน์ ระบบแข่งขัน ที่ได้พิสูจน์ตัวมันเองให้เห็นแล้วว่า ทำให้เกิดผลเสีย ทำให้เกิดโทษทั้งต่อชีวิต ทั้งต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่ชัดเจนที่สุดคือภัยจากสิ่งแวดล้อม สังคมก็เกิดการขัดแย้ง เอารัดเอาเปรียบ แย่งชิง ทำสงคราม ชีวิตของบุคคลก็หามีความสุขแท้จริงไม่ คนที่เสพมากที่สุดเพื่อจะสุขมากที่สุด กลายเป็นคนมีปัญหา แม้แต่เมื่อตนเองสามารถเสพได้มากที่สุด ก็กลับกลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพและต่อชีวิตของตนเอง ทั้งนี้เพราะขาดการศึกษาแม้แต่ในขั้นพื้นฐาน ซึ่งทำให้กลายเป็นคนที่กินไม่เป็น ที่มุ่งจะกินเพื่อสนองตัณหาที่จะได้รสอร่อยเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพตามมา และตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา พร้อมทั้งทำให้สังคมเอารัดเอาเปรียบกันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการบริโภคมากก็ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมาก

เมื่อเราพัฒนาคนให้รู้จักกินเป็น เขาก็จะบริโภคด้วยปัญญา คือ มีความเข้าใจในความมุ่งหมายของการบริโภค รู้จักถามตัวเองว่าเรากินเพื่ออะไร ซึ่งทำให้เห็นว่า ในการกินนั้นความมุ่งหมายหรือประโยชน์ที่แท้จริงไม่ใช่เพื่ออร่อย ไม่ใช่เพื่อโก้หรูหรา แต่กินเพื่อจะให้ร่างกายเป็นไปได้ด้วยดี มีสุขภาพแข็งแรง แล้วเราจะได้ใช้ร่างกายที่มีสุขภาพดีนั้นดำเนินชีวิตที่ดีงาม อยู่ผาสุก และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ต่อไป เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว พฤติกรรมการบริโภคของเราจะมีลักษณะที่ “พอดี” ดังนี้

๑. ปริมาณอาหารที่กินจะถูกจำกัด ให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย

๒. ประเภทของอาหารที่กินก็จะถูกจำกัด โดยเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าส่งเสริมคุณภาพชีวิตยิ่งขึ้นไป

“การกินเป็น” คือกินพอดี ซึ่งเป็นการกินด้วยปัญญานี้ จะช่วยสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ ฉะนั้นการศึกษาจะต้องสอนให้คนรู้จักบริโภค มีความรู้จักพอดีในการบริโภค พยายามพัฒนาคนให้มีชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ จนกระทั่งสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่ข้ามพ้นระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไปได้

การศึกษาจะต้องสร้างชีวิตให้มีดุลยภาพระหว่าง “การได้” กับ “การให้” ด้วยการฝึกคนให้รู้จักคิดตั้งเจตน์จำนงในการที่จะ “ให้” ซึ่งจะทำให้สภาพจิตของคนเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ เวลาเราคิดจะ “ให้” ใจของเราจะมุ่งไปที่ “คน” พอเรามุ่งไปที่คน เราจะมองหน้ามองตาเขา แล้วเราจะเห็น “สุข” เห็น “ทุกข์” ของเขา และเห็นความต้องการของเขา เราจะเกิดความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ แล้วคุณธรรมคือความสงสารและความเห็นใจจะตามมา ฉะนั้น เราเพียงตั้งจิตคิดจะ “ให้” เท่านั้น สภาพจิตก็เปลี่ยน ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ก็เปลี่ยน แล้วมนุษย์ก็จะพัฒนาคุณธรรมขึ้นมา ความเมตตากรุณาก็เกิด พร้อมกันนั้นก็จะมีการพัฒนาความสุขอีกแบบหนึ่งขึ้นมาด้วย คือ นอกเหนือจากความสุขจากการได้ หรือการเอาแล้ว มนุษย์จะมีความสุขจากการให้ด้วย นั่นคือ มนุษย์ได้พัฒนาพฤติกรรมเหนือ “การเอา” ขึ้นไปให้มี “การให้” ด้วย พร้อมไปกับการพัฒนาสภาพจิตใจควบคู่ไปด้วยกัน

ถ้าการศึกษาพัฒนาคนในขั้นพื้นฐานได้แม้เพียง ๓ อย่างเท่านี้ คือ

๑. ทำให้คนรู้จักใช้อินทรีย์ ด้วยการดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้น

๒. รู้จักการกินหรือบริโภคด้วยปัญญา ที่เรียกว่ากินเป็น กินพอดี หรือบริโภคพอดี และ

๓. ให้มีดุลยภาพแห่งการเอากับการให้

เพียงเท่านี้ ปัญหาต่อชีวิต ต่อสังคม และต่อธรรมชาติแวดล้อมก็แทบจะหมดไปเลย สันติสุขก็จะเกิดขึ้นได้ และจะแก้ปัญหาความติดตันแห่งอารยธรรมมนุษย์ที่กำลังประสบกันอยู่นี้ ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างแน่นอน แต่น่าเสียดายว่าการพัฒนาคนเพียงแค่นี้ก็ยังทำกันไม่ได้ ซ้ำร้ายยังมองข้ามกันไปเสียด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๒ – ทางออกจากอารยธรรมที่ไม่ยั่งยืนปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คือ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนต้องการประชาธิปไตย >>

No Comments

Comments are closed.