การศึกษาแท้ที่พัฒนาคนอย่างบูรณาการ นำชีวิตสู่อิสรภาพที่สมบูรณ์

24 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 16 จาก 17 ตอนของ

การศึกษาแท้ที่พัฒนาคนอย่างบูรณาการ
นำชีวิตสู่อิสรภาพที่สมบูรณ์

ได้พูดถึงเรื่องปัญหาต่างๆ มามากมายแล้ว ควรจะเข้าสู่หลักเสียที พอเข้าสู่หลักก็พูดได้นิดเดียว แต่ได้บอกแล้วว่าวันนี้พูดเพียงข้อคิด คือข้อคิดในการนำศาสนามาใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และอย่าคิดแค่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เท่านั้น ต้องพัฒนามนุษย์โดยรวม ให้ถึงชีวิตจิตใจของเขา ให้เขาเป็นตัวของเขาเอง มีอิสรภาพ เป็นชีวิตที่ดีงาม มีสันติและความสุขในตัว

ระบบการศึกษาที่ครบถ้วนมีดุลยภาพเป็นองค์รวม จะต้องเป็นการพัฒนาที่ไปพร้อมกันหมด พระพุทธศาสนาถือว่า ในการเป็นอยู่ของมนุษย์นั้น ชีวิตที่ดีคือชีวิตแห่งการศึกษา เพราะชีวิตของมนุษย์นั้นโดยธรรมชาติเป็นการศึกษา หรืออยู่ได้ด้วยการศึกษาอย่างที่ว่ามาแล้ว มนุษย์จะต้องศึกษาพัฒนาตัวเองไปจนกว่าจะมีชีวิตที่ดีงามโดยสมบูรณ์ จนเป็นชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา ที่ท่านเรียกว่าเป็นชีวิตประเสริฐ ซึ่งเรียกว่าเป็นอเสขะ หรืออเสกขะ คือ ผู้ไม่ต้องศึกษา นั่นคือพระอรหันต์เท่านั้นที่จบการศึกษา เป็นผู้พ้นจากภาระหน้าที่ในการศึกษา

การศึกษาจึงแยกออกไปเป็น ๓ ด้านของการดำเนินชีวิต ซึ่งครอบคลุมการเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งหมด และการศึกษา ๓ ด้านนั้นจะต้องพัฒนาไปพร้อมกัน เป็นองค์รวม อย่างมีดุลยภาพ กล่าวคือ

๑. ด้านพฤติกรรม

๒. ด้านจิตใจ

๓. ด้านปัญญา

หลักการใหญ่ในการศึกษาของพระพุทธศาสนา แยกเป็น ๓ คือพัฒนาพฤติกรรม เรียกว่า ศีล พัฒนาด้านจิตใจ เรียกว่าสมาธิ พัฒนาด้านปัญญา เรียกว่า ปัญญา

การพัฒนาในด้านพฤติกรรมแยกย่อยออกไปอีก เป็นพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพหรือทางวัตถุ เช่น การใช้การบริโภคปัจจัย ๔ และเทคโนโลยี พร้อมทั้งการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติแวดล้อมทั้งหลาย และพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะแดนใหญ่แห่งพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ครองเวลาส่วนใหญ่แห่งชีวิตของเขา ก็คืออาชีวะ หรือการทำมาหาเลี้ยงชีพ

เวลานี้การศึกษาของเราเน้นเรื่องอาชีพมาก อาชีพนั้นเป็นเพียงส่วนย่อยอย่างหนึ่งของศีล ศีลนั้นประกอบด้วยวาจา กาย และอาชีวะ (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) เรามุ่งไปที่อาชีวะ และยังแถมไม่ได้พิจารณาด้วยว่าเป็นสัมมาหรือมิจฉา เอาแค่มีวิชาทำมาหากินก็แล้วกัน เมื่อเป็นอย่างนี้การศึกษาจะบกพร่องแค่ไหน ในเมื่อเราไม่ได้มองให้ครบทุกด้าน

เมื่อเราแยกออกไปอีก ในการพัฒนาพฤติกรรม ยังมีพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ จำพวกวัตถุ เช่น ดูเป็น ฟังเป็น กินเป็น บริโภคเป็น เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ตาดู หูฟัง และการสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ เป็นต้น รวมอยู่ในการพัฒนาทางด้านกาย ที่เรียกว่า กายภาวนา จัดเป็นส่วนเบื้องต้นของศีล

ต่อจากนั้นก็มีพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี เริ่มแต่มีศีล ๕ จัดเป็นการพัฒนาด้านศีล ที่เรียกว่า ศีลภาวนา

จากนั้นอีก ๒ ด้านก็คือ การพัฒนาด้านจิตใจ ที่เรียกว่า จิตตภาวนา ซึ่งมีทั้งเรื่องคุณธรรมความดีงาม ที่เป็นคุณภาพของจิตใจ เรื่องความเข้มแข็งมีประสิทธิภาพของจิตใจที่เป็นสมรรถภาพของมัน และการสร้างเสริมความรู้สึกที่สดชื่นเบิกบานผ่องใส เป็นสุข ที่เป็นสุขภาพของจิตนั้น ประสานกันไปกับการพัฒนาด้านปัญญา ที่เรียกว่า ปัญญาภาวนา อันรวมทั้งเรื่องคติความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ความรู้เข้าใจข้อมูลข่าวสาร ความรู้คิดเหตุผล การรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย การนำความรู้มาใช้แก้ไขปัญหา สร้างสรรค์ ดำเนินกิจการต่างๆ ตลอดจนรู้แจ้งความจริงของโลกและชีวิต จนมีจิตใจเป็นอิสระโดยสมบูรณ์

คนที่พัฒนาดีแล้วทั้งสามด้านอย่างนี้เรียกว่าเป็นบัณฑิต การศึกษามีหน้าที่สร้างบัณฑิต คือคนที่เจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนี้ เมื่อเป็นบัณฑิตเขาก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยปัญญา แล้วศิลปวิทยาที่เราถ่ายทอดให้ไปก็เป็นเครื่องมือของบัณฑิตที่จะนำไปสร้างสรรค์ ทำให้ชีวิตดีงาม สังคมมีสันติสุข มนุษย์มีอิสรภาพมากขึ้น และโลกนี้ก็จะดำรงอยู่ด้วยดี

พึงสังเกตว่า การศึกษาที่แท้จริงตามหลักการดำรงอยู่ของชีวิตอย่างเข้าถึงความจริงของธรรมชาตินี้ จะบูรณาการ จริยธรรมเข้าไว้ในตัวของมันอยู่แล้ว และจริยธรรมนั้นก็เป็น จริยธรรมที่ยั่งยืน สอดคล้องกับกฎธรรมชาติที่นำมาใช้ในการพัฒนาคน

เนื่องจากการศึกษาที่เป็นการพัฒนาคนแบบระบบองค์รวม ที่บูรณาการทั้ง ๓ ด้านแห่งชีวิตในระบบความสัมพันธ์ที่ส่งผลเสริมซึ่งกันและกันนั้น เป็นแกนกลางของการพัฒนาทั้งชีวิตของบุคคลและอารยธรรมของสังคม จึงควรนำมากล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง ให้เห็นระบบของมันโดยสังเขป

การศึกษา พัฒนาทั้ง ๓ ด้านของชีวิตคน คือ

๑. ด้านพฤติกรรม (ศีล) ส่วนสำคัญที่ควรเน้น คือ

ก. พฤติกรรมในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือโลกแห่งวัตถุ (กายภาวนา) โดยเฉพาะ
– การใช้อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการรับรู้ โดยไม่เกิดโทษก่อผลเสียหาย แต่ได้ผลดี ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการฝึกอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพในการใช้งาน ให้ดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้น (หลักอินทรียสังวร)
– การเสพ บริโภคปัจจัย ๔ และใช้ประโยชน์จากวัตถุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยี ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจมุ่งคุณค่าที่แท้จริง ให้ได้คุณภาพชีวิต และส่งเสริมการพัฒนาชีวิต ไม่หลงถูกหลอกไปด้วยคุณค่าเทียม ตามค่านิยมฟุ้งเฟ้อ โก้เก๋ ที่ทำให้บริโภคมาก แต่เสียคุณภาพชีวิต เรียกง่ายๆ ว่า กินเป็น บริโภคเป็น ใช้เป็น เริ่มด้วยการกินพอดี (หลักโภชเนมัตตัญญุตา ขยายไปถึงปัจจัยสันนิสิตศีล)

ข. พฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม และโลกแห่งชีวิต (ศีลภาวนา)
– การอยู่ร่วมสังคม โดยไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อน หรือเวรภัย แต่รู้จักมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์อย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างน้อยดำรงตนอยู่ในขอบเขตแห่งศีล ๕
– รักษากติกาสังคม กฎเกณฑ์ หรือกฎหมายระเบียบแบบแผน คือวินัยแม่บทแห่งชุมชน หรือสังคมของตน และวัฒนธรรม รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่าจรรยาบรรณต่างๆ
– ทาน คือการให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ ให้ความสุข และส่งเสริมการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม
– การประพฤติเกื้อกูลแก่ชีวิตอื่นๆ ทั้งสัตว์ มนุษย์ และพืชพรรณ เช่น การร่วมสร้างรักษาเขตอภัยทาน นิวาปสถาน การปลูกสวน ปลูกป่า (อารามโรปะ วนโรปะ) และสร้างแหล่งน้ำ เป็นต้น

ค. พฤติกรรมในด้านอาชีวะ คือการทำมาหาเลี้ยงชีพ (ศีลภาวนาด้านสัมมาอาชีวะ) โดยมีศิลปวิทยา วิชาชีพ ที่ฝึกไว้อย่างดี มีความชำนิชำนาญที่จะปฏิบัติให้ได้ผล และเป็นสัมมาชีพ ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ
– ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น หรือก่อผลเสียหายต่อสังคม
– เป็นเครื่องแก้ปัญหาชีวิตหรือสังคม เป็นไปเพื่อสร้างสรรค์ ทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูล
– เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของตน ไม่ทำชีวิตให้ตกต่ำ หรือทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หรือทำให้เสื่อมจากคุณความดี

๒. ด้านจิตใจ (สมาธิ) ซึ่งแยกออกได้ดังนี้ (สภาพจิตที่ดีทุกอย่าง มีสมาธิเป็นฐานที่ตั้ง)

ก. คุณภาพจิต ได้แก่ คุณธรรมความดีงามต่างๆ เช่น เมตตา กรุณา กตัญญูกตเวทิตา คารวะ หิริโอตตัปปะ ฯลฯ ซึ่งหล่อเลี้ยงจิตใจให้งอกงาม และเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมที่ดีงาม

ข. สมรรถภาพจิต ได้แก่ ความสามารถ เข้มแข็ง มั่นคง มีประสิทธิภาพของจิต เช่น ฉันทะ (ความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ) ความเพียร (วิริยะ) ความขยัน (อุตสาหะ) ความอดทน (ขันติ) ความระลึก นึกทัน ตื่นตัว ควบคุมตนได้ (สติ) ความตั้งมั่น แน่วแน่ ใส สงบอยู่ตัวของจิต (สมาธิ) รวมทั้งความไม่ประมาท เป็นต้น ที่ทำให้ก้าวหน้ามั่นคงในพฤติกรรมที่ดีงาม และพร้อมที่จะใช้ปัญญา

ค. สุขภาพจิต ได้แก่ สภาพจิตที่ปราศจากความขุ่นมัว เศร้าหมอง เร่าร้อน เป็นต้น สดชื่น เอิบอิ่ม ร่าเริง เบิกบาน ผ่อนคลาย ผ่องใส เป็นสุข ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกาย และทำให้พฤติกรรมที่ดีงามมีความมั่นคง สอดคล้องกลมกลืน

๓. ด้านปัญญา (ปัญญา) ซึ่งมีการพัฒนาหลายด้านหลายระดับ เช่น

– ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่สดับตรับฟัง หรือเล่าเรียน และรับถ่ายทอดศิลปวิทยาการ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

– การรับรู้ประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องตามเป็นจริง ไม่บิดเบือน หรือเอนเอียง ด้วยความชอบชัง หรืออคติทั้งหลาย

– การคิดพิจารณาวินิจฉัยอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยการใช้ปัญญาบริสุทธิ์ ไม่ถูกกิเลส เช่น ความอยากได้ผลประโยชน์ และความเกลียดชัง เป็นต้น ครอบงำบัญชา

– การรู้จักมอง รู้จักคิด ที่จะให้เข้าถึงความจริง และได้คุณประโยชน์ มีโยนิโสมนสิการ อย่างที่เรียกว่า มองเป็น คิดเป็น เช่น รู้จักวิเคราะห์ แยกแยะ สืบสาวเหตุปัจจัย เป็นต้น

– การรู้จักคิดจัดการ ดำเนินการ ทำกิจให้สำเร็จ ฉลาดในวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย

– ความสามารถแสวงหา เลือกคัดจัดประมวลความรู้ คิดได้ชัดเจน และสามารถนำความรู้ที่มีอยู่มาเชื่อมโยงสร้างเป็นความรู้ความคิดใหม่ๆ เพื่อใช้แก้ปัญหา และสร้างสรรค์

– ความรู้แจ้งความจริงของโลกและชีวิต หรือรู้เท่าทันธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ที่ทำให้วางใจถูกต้องต่อทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถแก้ปัญหาชีวิต ขจัดความทุกข์ในจิตใจของตนได้ หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย จิตไม่ถูกบีบคั้นครอบงำกระทบกระทั่งด้วยความผันผวนปรวนแปรของสิ่งต่างๆ หลุดพ้นเป็นอิสระ อยู่เหนือกระแสโลก สว่างโล่งโปร่งผ่องใส ไร้พรมแดน ซึ่งทำให้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย และดำเนินชีวิตด้วยปัญญาอย่างแท้จริง

โดยสรุป ปัญญา ๒ ด้านที่สำคัญยิ่ง คือ ปัญญาที่เข้าถึงความจริงแห่งธรรมดาของธรรมชาติ และปัญญาที่สามารถใช้ความรู้นั้นจัดตั้งวางระบบแบบแผนจัดดำเนินการให้ชีวิตและสังคมมนุษย์ได้ประโยชน์สูงสุดจากความจริงนั้น

การศึกษาในความหมายอย่างนี้จะทำให้มนุษย์มี อิสรภาพ ทั้ง ๔ ด้าน กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ขาดแคลนปัจจัย ๔ เราก็สามารถแก้ปัญหาทำให้มนุษย์มีปัจจัย ๔ โดยการจัดสรรสร้างขึ้นมา ทำให้มีอิสรภาพพื้นฐานของชีวิต คืออิสรภาพทางกาย และเมื่อมนุษย์รู้จักประมาณในการเสพบริโภค พร้อมทั้งมีการเผื่อแผ่แบ่งปันกันในสังคม มีความสัมพันธ์กันด้วยไมตรี มนุษย์ก็จะมีอิสรภาพในทางสังคม เพราะไม่ต้องเบียดเบียน ไม่ต้องข่มเหงเอารัดเอาเปรียบกัน

พร้อมกันนั้น ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้อโอกาส เขาก็สามารถพัฒนาจิตใจ ทำให้มีอิสรภาพในทางจิตใจ โดยพ้นจากอำนาจบีบคั้นของกิเลส มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีสมรรถภาพ มีคุณธรรม และมีความร่าเริงเบิกบาน มีความสุข แล้วก็พัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ทำให้ชีวิตเป็นอิสระจากปัญหา จนกระทั่ง แม้แต่ความเป็นไปผันผวนปรวนแปรในโลก และความทุกข์ในธรรมชาติก็ไม่สามารถครอบงำจิตใจของเขาได้ จัดเป็นอิสรภาพทางปัญญาอันสูงสุด ถึงจุดที่มนุษย์มีความสมบูรณ์ของชีวิตส่วนบุคคล

แล้วเราก็มาถึงจุดแยกระหว่างชีวิตบุคคลที่สมบูรณ์ กับความก้าวหน้าเติบโตของอารยธรรม ซึ่งมีข้อที่ต้องสังเกต

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การศึกษาต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ และการเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาทการศึกษาที่แท้พัฒนาคนให้เข้าถึงชีวิตที่สมบูรณ์ และสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืน >>

No Comments

Comments are closed.