การศึกษาที่แท้พัฒนาคนให้เข้าถึงชีวิตที่สมบูรณ์ และสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืน

24 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 17 จาก 17 ตอนของ

การศึกษาที่แท้พัฒนาคนให้เข้าถึงชีวิตที่สมบูรณ์
และสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืน

ข้อสังเกตนั้นก็คือ มีความแตกต่างระหว่างการพัฒนาชีวิตของบุคคล กับการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ คือ

๑. ชีวิตของบุคคลนั้นปลายปิด ชีวิตทุกคนที่เกิดมาจึงต้องมีเป้าหมายที่จะไปสู่ความสมบูรณ์ในตัวของมันให้สำเร็จเสร็จสิ้นในช่วงชีวิตนี้ ให้มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง เท่าที่จะทำได้ คือเป็นชีวิตที่สมบูรณ์

๒. อารยธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเรื่องของสังคมนั้นปลายเปิด เราไม่สามารถพูดว่าสังคมหรืออารยธรรมนั้นเจริญสมบูรณ์แล้ว มันจะต้องเจริญต่อไปเรื่อยๆ แต่อารยธรรมนั้นจะต้องช่วยให้ชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมอยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่ประสานเกื้อกูลกันให้ได้ คือเป็นอารยธรรมที่ยั่งยืน

ฉะนั้น การศึกษาจะต้องทำหน้าที่ให้ถูกจุด ชีวิตคนนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็จะต้องพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองจบสิ้นในช่วงชีวิตนั้นเท่าที่จะทำได้ อันนี้จะต้องถือเป็นหลัก เราจะต้องทำให้คนมีชีวิตที่สมบูรณ์ให้ได้ในช่วงชีวิตของเขา คือต้องพยายามทำ จะสำเร็จหรือไม่แค่ไหนก็ตาม แต่เป้าหมายต้องเป็นอย่างนั้น

ส่วนอารยธรรมเป็นการสร้างให้เติบขยายต่อไปเบื้องหน้า ไม่มีจุดสิ้นสุดแน่นอน ความเจริญของอารยธรรมนั้นวัดด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ อย่างนี้ กล่าวคือ ความเจริญที่ถูกต้องของอารยธรรมมนุษย์นั้น เป็นการสร้างสรรค์ที่ทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสภาพที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของบุคคลให้เข้าถึงความสมบูรณ์

ฉะนั้น อารยธรรมยิ่งเจริญ ก็ยิ่งทำให้ชีวิตมนุษย์มีโอกาสในการพัฒนา และประสบความสมบูรณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ประโยชน์ของอารยธรรมและสังคมอยู่ที่ตรงนี้ คือการที่มันเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาของชีวิตบุคคล ทำให้ชีวิตบุคคลนั้นพัฒนาได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มีความมั่นใจที่จะเข้าถึงความสมบูรณ์ อารยธรรมเช่นนี้ ก็คืออารยธรรมที่ช่วยจัดสรรให้ชีวิตมนุษย์ กับสังคม และธรรมชาติรอบตัว เจริญงอกงามไปด้วยกันด้วยดีอย่างเกื้อกูลแก่กัน ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าเป็นอารยธรรมที่ยั่งยืน

เวลานี้มีคำถามว่า อารยธรรมของมนุษย์ได้ช่วยให้เกิดภาวะนี้หรือเปล่า สังคมมนุษย์เจริญขึ้นมาแล้ว เป็นตัวเอื้อให้ชีวิตมนุษย์ที่เป็นบุคคลนี้เข้าถึงความสมบูรณ์ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาในทางนี้ ก็แสดงว่าอารยธรรมของมนุษย์ และสังคมมนุษย์ไม่ได้เจริญมาในทางที่ถูกต้องเลย บางทีความเจริญของอารยธรรมและของสังคมกลับเป็นตัวอุปสรรค ทำให้ชีวิตของมนุษย์ไม่สามารถพัฒนาได้ด้วยดีด้วยซ้ำ จุดแยกก็อยู่ที่นี่ เป็นอันว่าเราต้องพยายามให้ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนเข้าถึงความสมบูรณ์ ชีวิตที่สมบูรณ์ไม่ต้องรอให้สังคมสมบูรณ์ อันนี้เป็นคำย้ำที่สำคัญ

เราจะรอให้สังคมสมบูรณ์แล้วจึงจะให้ชีวิตบุคคลสมบูรณ์ เป็นไปไม่ได้ ชีวิตทุกคนจะต้องพัฒนาศักยภาพของตน อันนี้เป็นสภาพตรงกันข้ามที่มาบรรจบกัน คือ ชีวิตบุคคลต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองจนกระทั่งสามารถสร้างความสมบูรณ์ในตัวได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมของสังคมที่เลวขนาดไหน นี่คือเก่งที่สุด ชีวิตที่เก่ง ชีวิตที่ยอดเยี่ยม คือชีวิตที่สามารถพัฒนาดีที่สุดได้แม้ในสังคมที่เลวที่สุด

ส่วนในทางตรงข้าม เราสร้างสังคมที่ดีที่สุด เพื่อช่วยเป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลให้ชีวิตมนุษย์ได้พัฒนาอย่างดีที่สุด อันนี้เหมือนกับเป็นภาวะตรงข้าม แต่เป็นความบรรจบประสาน

พูดสั้นๆ ว่า การศึกษามีหน้าที่สร้างสรรค์ทั้งสองด้านไปพร้อมกัน คือ การพัฒนาชีวิตบุคคลให้ถึงความสมบูรณ์ และสร้างสรรค์อารยธรรมที่ส่งเสริมให้ระบบความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งเจริญงอกงามไปในวิถีทางที่เกื้อกูลกันยิ่งขึ้นๆ สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า การศึกษาที่แท้ คือ การพัฒนาชีวิตบุคคลให้สมบูรณ์ พร้อมไปด้วยกันกับการสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น สังคมต่อแต่นี้ไปจะต้องพัฒนาในวิถีทางที่จะข้ามพ้นแนวความคิดปัจจุบัน ๒-๓ อย่างที่ย้ำมาแล้ว เพื่อให้เป็นสังคมที่ดีมีสันติสุข พ้นจากแนวความคิดที่มุ่งจะเอาชนะกัน โดยมองแต่การที่จะได้เปรียบและเสียเปรียบกัน

เวลานี้สังคมที่พัฒนาที่สุดยังตกอยู่ใต้ความคิดและแรงจูงใจอย่างนี้ ลองไปดูในสังคมอเมริกัน ตอนนี้ เมื่อกำลังสูญเสียความยิ่งใหญ่และความเป็นผู้นำในประชาคมโลก หนังสืออเมริกันก็พูดกันมากถึงการที่จะแก้ปัญหาสังคมของตนและจะรื้อฟื้นกู้สถานะของประเทศชาติ เขาคิดอย่างไร วิธีแก้ไขที่เขาพูดมากที่สุด คือจะต้องพัฒนา competitiveness คือความพร้อมที่จะแข่งขัน หรือความใฝ่แข่งขัน ซึ่งยึดถือกันมาในสังคมอเมริกันตลอดเวลานานแล้ว ทั้งๆ ที่เวลานี้มนุษย์ได้รับผลร้ายจากมันแต่อเมริกันก็ยังไม่ถอย ยังยึดมั่นต่อความคิดนี้

จิตใจที่คิดแข่งขันนี้ คนอเมริกันตอนนี้คิดว่าเขาสูญเสียไป ความสามารถในการแข่งขันนี้ใช้ในทางเศรษฐกิจก่อน เป็นอันดับหนึ่ง แล้วก็ใช้ทางสังคม ในการแข่งขันในประชาคมโลก ในการแข่งขันนั้นการที่จะเอาชนะคนอื่นได้ ก็จะต้องอยู่ในฐานะได้เปรียบ

แม้ในการพยายามพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยปัจจุบันนี้ ก็จะมีถ้อยคำแบบนี้อยู่มาก คือการมุ่งที่จะเอาชนะสังคมอื่น การได้เปรียบ และการเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งก็แสดงว่า เราก็เดินตามแนวความคิดของอเมริกันนั่นเอง และแสดงว่าเรายังคิดวิธีสร้างความเจริญที่ดีกว่านั้นไม่ได้ ถ้ามนุษย์ยังอยู่ในแนวความคิดอันนี้อยู่ การสร้างสันติสุขให้แก่โลกก็เป็นไปไม่ได้ ไม่สำเร็จ การพัฒนาที่ยั่งยืนก็เกิดขึ้นไม่ได้ และอารยธรรมก็ไม่ยั่งยืน

ฉะนั้น สังคมที่ดีจะต้องก้าวพ้นแนวความคิดนี้ นี้คือปัญหาที่ท้าทายการศึกษาอีก ว่ามนุษย์จะสามารถทำได้ไหม ที่จะพัฒนาให้มนุษย์ไม่ต้องขึ้นต่อกิเลส ไม่ต้องอาศัยกิเลสมาเป็นเครื่องบีบคั้นทำให้มีความไม่ประมาทเทียม ตามระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ทำอย่างไรจะพ้นวงจรร้ายนี้ไปได้ และให้มนุษย์มีความไม่ประมาทแท้ด้วยสติปัญญา

ในสังคมปัจจุบันนี้ จะเห็นว่ากระแสการพัฒนายังไม่ไปไหนเลย ยังวนอยู่ในระบบความคิดแบบนี้อยู่อย่างเดิม แล้วจะมีการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร มนุษย์จะต้องข้ามพ้นไปให้ได้ มนุษย์จะต้องพัฒนาไปให้มีปัญญาพึ่งตนเองได้ เมื่อพึ่งตนเองได้แล้ว ก็เกื้อกูลต่อสังคมและเกื้อกูลต่อโลกได้ด้วย อันนี้ก็เป็นปัญหาในทางการศึกษาที่ค้างคาอยู่

ในทางธรรมมีคำตอบสำหรับปัญหาเหล่านี้ เพราะเมื่อเราพัฒนาไปอย่างถูกต้อง องค์ประกอบสำคัญ ๓ อย่างในการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ก็จะมาประสานเกื้อกูลต่อกัน เป็นการบรรจบถึงจุดสุดท้าย

สิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ ๓ ประการ ก็คือ ตัวชีวิตของมนุษย์เอง สังคม และสิ่งแวดล้อม

เราสามารถพัฒนาไปจนถึงภาวะที่เปลี่ยนจากความขัดแย้งไปเป็นความประสานกลมกลืน ที่ปรากฏว่า สิ่งใดดีต่อชีวิต ก็ดีต่อสังคมและดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย สิ่งใดดีต่อสังคม ก็ดีต่อชีวิตและดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย สิ่งใดดีต่อสิ่งแวดล้อม ก็ดีต่อชีวิตและสังคมด้วย ถ้าเมื่อใดเราพัฒนาถึงขั้นนี้ นั้นคือผลสำเร็จ เพราะเมื่อสังคมดี สังคมก็เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของบุคคล ชีวิตบุคคลดีก็เป็นส่วนร่วมที่สร้างสรรค์สังคมที่ดี แล้วชีวิตมนุษย์ที่อยู่ดีอย่างถูกต้องในสังคมที่ดีก็จะเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วย การพัฒนาที่สำเร็จนั้นในขั้นสุดท้ายก็ทำให้ประโยชน์ทั้ง ๓ ฝ่ายนี้ประสานกัน ซึ่งจะสำเร็จด้วยการพัฒนามนุษย์ด้วยการศึกษาที่ถูกต้อง ที่ทำให้เกิดการประสานกลมกลืน โดยที่ความสุขก็เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย จริยธรรมในวิถีแห่งการพัฒนามนุษย์เช่นนี้จะเป็นจริยธรรมแห่งความสุข ไม่ใช่เป็นจริยธรรมแห่งความจำใจ

ฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา เมื่อบุคคลได้ประสบความสำเร็จบรรลุจุดหมายของการปฏิบัติธรรม พัฒนาสมบูรณ์แล้ว จะมีลักษณะที่เรียกว่าเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตน เป็นผู้ที่ไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป อันนี้คือความสำเร็จในการพัฒนา

มองในแง่ชีวิตส่วนตัว บุคคลที่พัฒนามีการศึกษาสมบูรณ์ คือคนที่ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป แม้มองในแง่อิสรภาพก็สมบูรณ์ในตัว มองในแง่ความสุข ก็มีความสุขประจำในชีวิต ความสุขนั้นเป็นเนื้อหาเป็นคุณสมบัติของชีวิตจิตใจของเขาตลอดทุกเวลา หมายความว่า ความสุขนั้น ทั้งมีอยู่ข้างในเป็นคุณสมบัติของชีวิตเอง ทั้งมีทุกเวลา คนอย่างนี้จะต้องไปหาความสุขที่ไหนอีก

คนปัจจุบันนี้ใช้ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนแสวงหาความสุข โดยไม่รู้ว่าความสุขอยู่ที่ไหน และจะถึงเมื่อไร คำว่าแสวงหาความสุข ก็บ่งบอกอยู่ในตัวว่าขาดความสุข คือไม่มีความสุข จึงต้องหา บุคคลที่พัฒนาเต็มที่นั้น คือคนที่มีความสุขเป็นคุณสมบัติของชีวิตอยู่ในตัวตลอดทุกเวลา เขามีความสุขเต็มอิ่มอยู่แล้ว สิ่งภายนอกเป็นเพียงเครื่องเสริมสุข เขาจึงเป็นคนที่ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป เมื่อไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป ก็อุทิศพลังชีวิตที่มีอยู่นั้นทำให้แก่ผู้อื่นเพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ จึงมีคติสำหรับพระสงฆ์ โดยเฉพาะพระอรหันต์ เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าว่า พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ จงดำเนินไป จงเป็นอยู่ จงบำเพ็ญกิจ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลต่อชาวโลก

นี้คือคติของผู้สำเร็จการศึกษา เป็นอันว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ตัวเองก็สมบูรณ์ ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเอง แล้วก็ช่วยเหลือมนุษยชาติให้มีความสุขด้วย ฉะนั้น จุดหมายที่ว่าทำอย่างไรจะให้มนุษย์มีความสุข ไม่ใช่เป็นเพียงนักหาความสุขนี้ จึงเป็นสิ่งที่การศึกษาจะต้องทำให้สำเร็จ คือ ทำให้มนุษย์ทุกชีวิตมีความสมบูรณ์ในตัว และเกื้อกูลต่อมนุษยชาติโดยส่วนรวม พร้อมทั้งในทางกลับกัน ก็ทำให้อารยธรรมของมนุษยชาติเป็นสภาพสร้างสรรค์ระบบความสัมพันธ์อันเกื้อกูล ที่ช่วยให้มนุษย์ทุกชีวิตมีโอกาสดีที่สุดที่จะพัฒนาตนให้บรรลุความสมบูรณ์ อย่างที่พูดสั้นๆ ว่า การศึกษาเพื่อชีวิตที่สมบูรณ์ ในอารยธรรมที่ยั่งยืน

นี้คือหลักการศึกษาที่จะนำมาได้จากพระพุทธศาสนา ซึ่งที่จริงก็คือ การนำหลักการแห่งความจริงในธรรมชาตินั้นเองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่เราจะเอามาใช้ได้สำเร็จหรือไม่ ก็เป็นความรับผิดชอบของเราเอง ที่จะยอมพัฒนาตนหรือไม่ ถ้ายอมรับและจับถูก แล้วใช้ถูก ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น

อาตมภาพได้ใช้เวลาของที่ประชุมมามากมายเหลือเกินแล้ว ก็ขอยุติการพูดในเรื่องการนำศาสนามาเป็นหลักในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพียงเท่านี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การศึกษาแท้ที่พัฒนาคนอย่างบูรณาการ นำชีวิตสู่อิสรภาพที่สมบูรณ์

No Comments

Comments are closed.