เมื่อยังคิดพิชิตธรรมชาติ และเชื่อว่าสุขอยู่ที่เสพ ก็ต้องอยู่ด้วยจริยธรรมแบบจำใจที่ไม่ยั่งยืน

24 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 12 จาก 17 ตอนของ

เมื่อยังคิดพิชิตธรรมชาติ และเชื่อว่าสุขอยู่ที่เสพ
ก็ต้องอยู่ด้วยจริยธรรมแบบจำใจที่ไม่ยั่งยืน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญคือระบบเศรษฐกิจที่เข้าสู่ลัทธิ “บริโภคนิยม” และ “การแข่งขัน” โดยมีปัจจัยที่สร้างสรรค์ความเจริญคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิดระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม

แต่ลึกลงไปกว่านั้น อะไรเป็นพื้นฐานอยู่เบื้องหลังที่ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้อุตสาหกรรม กลายเป็นปัจจัยนำมาซึ่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจัยนั้นคืออะไร ปัจจัยนั้นอยู่ในตัวมนุษย์เอง นั่นคือ แนวความคิด ความเชื่อ ความคิดหมายใฝ่ฝันที่ฝังอยู่ในจิตใจ ซึ่งมนุษย์ถ่ายทอดมาในอารยธรรม และวัฒนธรรม ตลอดเวลายาวนานเป็นพันๆ ปี เวลานี้สังคมตะวันตกที่พัฒนาแล้วก็หันมามองจุดนี้ด้วย

ในการพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อม จะมองดูแค่ที่การพัฒนาในทางวัตถุ จะมองแค่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะมองแค่อุตสาหกรรมไม่ได้ องค์ประกอบเหล่านี้เป็นเพียงผลเบื้องปลาย แต่เหตุปัจจัยที่แท้จริงนั้นอยู่เบื้องหลัง ลึกลงไปถึงขั้นเป็นรากฐาน คือ ความคิด ความเชื่อ ที่ทำให้มนุษย์พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาระบบอุตสาหกรรม และพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งในที่สุดก็จับได้ ฝรั่งบอกว่า เขามีแนวคิดและความใฝ่ฝันอันหนึ่งฝังลึกมาตลอดเวลา ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ความใฝ่ฝันนี้ก็คือ “การพิชิตธรรมชาติ”

แนวความคิดที่จะเอาชนะหรือพิชิตธรรมชาตินี้เป็นปัจจัยอยู่เบื้องหลังความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตะวันตก จนกระทั่งตำราสำคัญที่เล่าเกี่ยวกับประวัติวิทยาศาสตร์ของสังคมตะวันตกก็เขียนไว้ว่า แต่ก่อนนี้สังคมตะวันตกเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อยกว่าสังคมตะวันออก หมายความว่าล้าหลังกว่า แต่ต่อมาสังคมตะวันตกได้เจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำหน้าตะวันออกไป ก็เพราะมีแนวความคิดความใฝ่ฝันที่จะพิชิตธรรมชาติ

แม้ว่าความคิดความเชื่อนี้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดมา แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันทางตะวันตกกลับมองเห็นว่าเป็นโทษ เพราะว่าแนวความคิดนี่แหละที่ทำให้เขาทำร้ายธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นมนุษย์ทางตะวันตกก็จึงคิดที่จะแก้ไขแนวความคิดนี้

อนึ่ง เมื่อสืบสาวเรื่องราวให้ตลอดสาย ก็จะมองเห็นต่อไปว่า การที่ตะวันตกมีความใฝ่ฝันที่จะพิชิตธรรมชาติ ก็เพราะมองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และเมื่อเชื่อว่าความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่การสามารถพิชิตธรรมชาติได้ ความคิดนั้นก็มาประสานเข้ากับความเชื่อทางวัตถุนิยมที่ว่ามนุษย์มีความสุขจากการเสพวัตถุ ดังนั้นมนุษย์จะประสบความสำเร็จเมื่อมีวัตถุเสพอย่างพรั่งพร้อม เหมือนกับมีคติว่า ต้องเสพมากที่สุด จึงจะสุขมากที่สุด เมื่อเชื่ออย่างนี้ มนุษย์ก็เอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้จัดการกับธรรมชาติ เพื่อนำเอาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ความคิดนี้ทำให้มนุษย์พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ และการพัฒนาอุตสาหกรรมก็จึงกลายเป็นตัวการทำลายธรรมชาติแวดล้อม แต่เมื่อมาประสบปัญหาในปัจจุบัน แนวความคิดทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้ก็ติดตัน ไปต่อไม่ได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง

กล่าวโดยสรุป แนวความคิด ๒ อย่างที่เป็นพื้นฐานของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาอารยธรรมยุคปัจจุบัน คือ

๑. แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ

๒. แนวความคิดที่เชื่อว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ เมื่อเสพมากที่สุดก็จะสุขมากที่สุด

ทั้ง ๒ แนวความคิดนี้เข้ามาประสานเสริมกันว่า เมื่อมนุษย์พิชิตธรรมชาติได้แล้ว มนุษย์ก็สามารถจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ คือเอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเป็นสิ่งบริโภคที่จะนำมาเสพให้มากที่สุด อุตสาหกรรมได้มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน และเมื่อแนวความคิดทั้งสองนี้มาประสานกัน ก็ทำให้ตะวันตกประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ทำให้มีสิ่งบริโภคพรั่งพร้อม จนกระทั่งทำให้โลก (บางส่วนในภาคที่พัฒนาแล้ว) ผ่านยุคอุตสาหกรรมมาสู่ยุคบริโภค เวลานี้ชาวตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกันบอกว่าสังคมของเขาผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมแล้ว และพวกเขากำลังอยู่ในสังคมยุคบริโภคนิยม ที่เรียกว่า consumer society นี่เป็นเรื่องภูมิหลังของสังคมตะวันตก

ในที่นี้ จุดที่ต้องการชี้ก็คือ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความเป็นมาของอารยธรรมก็คือแนวความคิดความเชื่อที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ ผลที่ปรากฎทางวัตถุหรือความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ล้วนมาจากฐานทางความคิดทั้งนั้น และความคิดความเชื่อนี้ก็ได้มีมาตั้งแต่ก่อน ๒,๐๐๐ ปีแล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้ามนุษย์ยังมีความคิดความเชื่ออย่างนี้อยู่ การแก้ปัญหาก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะจะเกิดความขัดแย้งไปหมด

แนวความคิดของตะวันตกอีกอย่างหนึ่ง ที่ตะวันตกทั้งหมด โดยเฉพาะอเมริกันภูมิใจนัก คือสิ่งที่เรียกว่า frontier mentality (สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน) ซึ่งเขาถือว่าเป็นตัวสร้างสรรค์ความเจริญ ทำให้อเมริกาเจริญก้าวหน้าอย่างยิ่ง จนทำให้เขาไปอวกาศได้ แม้แต่ตอนเริ่มสร้างสรรค์สังคมของเขา คตินี้ก็เข้มแข็งมาก เช่นที่มาปรากฏในคำกล่าวว่า “Go west, young man, and grow up with the country.”

แต่ก่อนนี้ คนอเมริกันอพยพหนีภัยจากยุโรปไปแสวงโชคในอเมริกา เขาขึ้นฝั่งที่ภาคตะวันออกก่อน โดยเฉพาะที่ Boston, New York ตลอดจน Philadelphia พอขึ้นฝั่งแล้ว เห็นแผ่นดินใหญ่กว้าง ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่เขาแบกเอาสิ่งหนึ่งมาด้วยคือ frontier mentality (สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน) ซึ่งบอกเขาว่าต้องไปข้างหน้า คือทิศตะวันตก ไปเพื่อแสวงหาและสร้างสรรค์ ไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในโลกที่มีล้นเหลือ และไปสร้างสรรค์ทำดินแดนห่างไกลให้เจริญขึ้นมา ความคิดหมายใฝ่ฝันนั้นมีกำลังแรงจนแสดงออกมาเป็นคำกล่าว เช่นที่ว่ามานั้น คือ Go west, young man เจ้าหนุ่ม จงมุ่งหน้าตะวันตก and grow up with the country แล้วจงสร้างบ้านนอกขอกนาให้เจริญขึ้นมาพร้อมกับตัวเจ้า

เขาถือว่า คตินี้ทำให้อเมริกันเจริญก้าวหน้า พอเจริญทั่วอเมริกาแล้ว เขาก็มุ่งอวกาศต่อไป เขาถือคตินี้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์สำคัญอย่างยิ่ง แต่เวลานี้ ตำราสิ่งแวดล้อม กำลังบอกว่า frontier mentality ผิด จะต้องถูกแก้ไข เพราะสืบเนื่องมาจากความคิดพิชิตธรรมชาติ และเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายสิ่งแวดล้อม

นี้เป็นเบื้องหลังของสังคมตะวันตก เป็นเรื่องระดับรากฐานทางความคิด ถ้าเราไม่เข้าถึงทิฏฐิหรือแนวความคิดแนวความเชื่อเหล่านี้ เราจะไม่รู้จักสังคมตะวันตกที่แท้จริง และการที่จะแก้ปัญหาของมนุษยชาติจะต้องแก้ถึงจุดนี้จึงจะสำเร็จ

ปัจจุบันนี้มนุษย์ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ “จริยธรรมแบบจำใจ” ซึ่งเป็นปัญหาซ้อน ที่ทำให้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมติดขัดดำเนินไปไม่ได้ กล่าวคือ มนุษย์ปัจจุบันนี้มองเห็นว่า สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องรักษา เราจะต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นหมายถึงการที่มนุษย์จะขาดโอกาสที่จะบริโภคได้เต็มที่ด้วย เพราะถ้ามนุษย์ไม่จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ มนุษย์ก็จะไม่สามารถมีสิ่งบริโภคตามชอบใจด้วย เมื่อบริโภคหรือเสพไม่ได้เต็มที่ตามปรารถนา มนุษย์ก็จะขาดแคลนความสุข ตรงนี้เป็นจุดติดตันด้านหนึ่ง

ปัญหานี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์อุตส่าห์สร้างสรรค์ความเจริญพัฒนาอารยธรรมมานานนักหนา เพื่อจะได้บรรลุความใฝ่ฝันที่จะเสพสุขให้สมบูรณ์ เต็มที่ แต่แล้วอารยธรรมนั้นกลับจะต้องมาจบลงอย่างนี้หรือ มนุษย์จะยอมได้หรือ?

แต่ถ้ามนุษย์จะทำตามชอบใจของตัวเองโดยพิชิตธรรมชาติแล้วก็จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ คือ เอามาผลิตเป็นสิ่งเสพ ธรรมชาติแวดล้อมก็จะเสีย ทรัพยากรธรรมชาติก็จะร่อยหรอ ผลร้ายภัยพิบัติก็จะเกิดขึ้นแก่มนุษย์เอง ตรงนี้ก็เป็นความติดตันอีกด้านหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้มนุษย์จะทำอย่างไร ในที่สุดมนุษย์ก็ต้องบอกว่า เราต้องยอมให้กับธรรมชาติบ้าง หมายความว่า เราต้องยอมยับยั้งตัวเองที่จะไม่เสพความสุขให้เต็มที่ เพื่อให้ธรรมชาติอยู่ได้แล้วสังคมมนุษย์ก็จะอยู่ได้ด้วย การยอมยับยั้งตัวเองอย่างนี้ก็เกิดเป็นจริยธรรมขึ้น ซึ่งเรียกว่า “จริยธรรมด้านสภาพแวดล้อม” นับเป็นจริยธรรมใหม่ที่สังคมตะวันตกได้พัฒนาขึ้นมา เวลานี้มีตำราจริยธรรมด้านนี้ซึ่งเป็นของใหม่ๆ ถ้าถอยหลังไปในอดีต ๒๐-๓๐ ปี ก่อนยังไม่มี ตำราจริยธรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เดี๋ยวนี้ฝรั่งมีแล้ว ถือว่าเป็นจริยธรรมที่สำคัญสำหรับสังคมปัจจุบัน เรียกว่า environmental ethics คือ จริยธรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม น่าสังเกตว่า จริยธรรมในหมู่มนุษย์ซึ่งมีมานานแล้ว ฝรั่งไม่ค่อยเห็นความสำคัญ แต่กลับมาให้ความสำคัญกับจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม ถึงกับพัฒนาขึ้นมาใหม่

อย่างไรก็ตาม จริยธรรมแบบนี้เป็น “จริยธรรมแบบจำใจ” เพราะว่ามนุษย์จะต้องยอมอด จะต้องยอมฝืนใจตัวเองไม่เสพความสุขอย่างที่ตนปรารถนา เพื่อให้ธรรมชาติแวดล้อมอยู่ได้ เมื่อเป็นจริยธรรมแบบจำใจ มนุษย์ก็เป็นทุกข์ไม่จบสิ้น เพราะต้องฝืนใจตัวเอง จึงเป็นจริยธรรมที่ไม่ยั่งยืน เพราะไม่มีความมั่นใจและความปลอดภัยว่ามนุษย์จะไม่ละเมิดจริยธรรมนี้ และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด เป็นปัญหาทั้งในแง่ความสุขความทุกข์ และในแง่ประสิทธิภาพของจริยธรรม เรื่องนี้ก็เป็นภารกิจของการศึกษาอีกอย่างหนึ่งคือ ทำอย่างไรจะให้มนุษย์มีความสุขได้ ทำอย่างไรจะพ้นไปได้จากภาวะที่ต้องทนฝืนใจเป็นทุกข์ในยุคต่อไป ที่รออยู่ข้างหน้า มนุษย์มีทางพัฒนาได้ไหมในการที่จะมีความสุขนอกเหนือจากการที่จะเสพวัตถุให้มากที่สุด จริงอยู่มนุษย์พัฒนาได้ แต่พัฒนาในเรื่องนี้ได้ด้วยหรือไม่

ถ้าหาคำตอบในพุทธศาสนา เราบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ เมื่อเราพัฒนามนุษย์นั้น เราพัฒนาความสุขของเขาด้วย มนุษย์จะมีช่องทางในการมีความสุขเพิ่มขึ้น และมนุษย์จะมีมิติของความสุขขยายเพิ่มออกไป อีกทั้งความหมายของความสุขก็จะเปลี่ยนไปด้วย สำหรับความหมายของ “ความสุข” นี้ ถ้าไม่ระวัง สังคมแบบอุตสาหกรรมก็จะให้ความหมายของความสุขอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ความสุขจากการที่ได้เสพ

ในการพัฒนาความสุขนั้น มนุษย์มีทางทำได้หลายอย่าง เช่นที่เคยพูดมาบ้างแล้วว่า ด้วยการฝึก “การให้” มนุษย์ก็จะพัฒนาคุณธรรมคือความเมตตากรุณาขึ้นมา โดยที่พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็จะพัฒนาความสุขขึ้นด้วย คือ เขาจะรู้จักความสุขจากการให้ เพิ่มจากเดิมที่เคยรู้จักความสุขจากการได้ เพียงอย่างเดียว ดังนั้น “การให้” กลายเป็นความสุขเมื่อใด ก็แสดงว่ามนุษย์ได้พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

มนุษย์ยังมีวิธีได้มาซึ่งความสุขมากกว่านี้อีกหลายอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของศักยภาพของมนุษย์ หมายความว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะมีความสุขอยู่แล้ว มนุษย์ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเพียงเพื่อให้มีความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขเท่านั้น มนุษย์สามารถพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย จะต้องตระหนักว่า เมื่อมนุษย์พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุขนั้น มนุษย์ก็จะเอาความสุขของตนไปฝากไว้กับวัตถุมากขึ้นๆ ด้วย และมนุษย์ก็ไม่รู้ตัวว่าตนเองค่อยๆ สูญเสียอิสรภาพลงไป เพราะไม่สามารถมีความสุขด้วยตัวเอง แต่ความสุขต้องขึ้นกับวัตถุ และพร้อมกันนั้นก็กลายเป็นคนที่สุขยากขึ้นด้วย

การศึกษายุคปัจจุบันนี้ ถ้าไม่ระวังเราจะสูญเสียดุลยภาพในการพัฒนามนุษย์ในด้านความสุขด้วย คือเราจะพัฒนามนุษย์ให้มีความสามารถหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่พร้อมกันนั้นไม่ได้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เมื่อไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขและไม่รักษาศักยภาพที่จะมีความสุขไว้ มนุษย์ก็จะกลายเป็นคนที่สุขได้ยากยิ่งขึ้น แล้วชีวิตของเขาก็จะต้องขึ้นกับวัตถุมากขึ้น ทำให้มีการแย่งชิงกันมากขึ้น สังคมก็เดือดร้อนมากขึ้น และคนก็ต้องไปเอาจากธรรมชาติมากขึ้น ธรรมชาติก็ยิ่งเสื่อมโทรมลงไป

ในทางตรงข้าม เมื่อมนุษย์พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เขาก็จะมีความสุขง่ายขึ้น และความสุขของเขาก็ขึ้นกับวัตถุน้อยลง เมื่อเขาหาวัตถุมาได้มากขึ้น วัตถุนั้นเกินจำเป็นที่จะทำให้เขามีความสุข เขาก็จะเอาไปเจือจานกับเพื่อนมนุษย์ได้ แล้วเขาก็จะมีความสุขจากการให้อีกด้วย ก็เลยยิ่งมีความสุขมากมาย เพราะฉะนั้น ในการพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้อง จะมีการประสานกลมกลืนกันขององค์ประกอบทุกอย่าง เช่น พฤติกรรม คุณธรรม และความสุข เป็นต้น มนุษย์จะพัฒนาตนเอง และมีสังคมที่ดีขึ้น อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมด้วยดี โดยที่ชีวิตก็มีความสุขมากขึ้นด้วย อันนี้เป็นหลักการพัฒนาที่สำคัญ

หันกลับไปถามว่า มนุษย์จะทำตามหลักการนี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่เปลี่ยนแนวความคิดที่เป็นรากฐานของอารยธรรมเสียใหม่ ก็คงยาก เพราะว่าแท้จริงนั้น จริยธรรมแบบจำใจก็สืบเนื่องจากแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติและความเชื่อในความสุขจากการเสพเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อยังยึดถือและเชื่ออย่างนั้น แม้แต่ความสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมก็มีปัญหาติดขัดทุกขั้นตอน มนุษย์ในระบบเศรษฐกิจที่ต้องแย่งชิงความสุขที่ขึ้นอยู่กับการเสพ เมื่อไปสัมพันธ์กับธรรมชาติก็จะหาความสุขได้น้อยลง เพราะโดยพื้นฐานเขาจะมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ ซึ่งอาจจะแรงขึ้นจนถึงขั้นที่ว่า ธรรมชาติเป็นตัวขัดขวางเขาไม่ให้ได้รับความสุข เพราะความสุขของเขาอยู่ที่การเสพเทคโนโลยี เขาจะต้องเอาความสุขจากเทคโนโลยี แต่ธรรมชาติมาขวาง

เป็นการยากที่คนผู้มุ่งหน้าหาความสุขจากการเสพ จะรู้จักความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป แม้แต่ความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ เพราะชีวิตยุ่งอยู่แต่เรื่องการแข่งขัน คิดแต่เรื่องผลประโยชน์ พรุ่งนี้จะเอาอะไรที่ไหนอย่างไร ใจว้าวุ่น มีความละโมบครองใจอยู่ และเต็มไปด้วยความขัดแย้งหวาดระแวง ส่วนคนที่มีจิตใจไม่วุ่นวาย ไม่มีความละโมบ และไม่ถูกรบกวนด้วยความครุ่นคิดห่วงกังวลในเรื่องการแข่งขันแย่งชิงหรือความขัดเคืองหวาดระแวงคู่แข่งเป็นต้น เมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติก็สามารถซึมซาบความสุขจากสภาพแวดล้อมของธรรมชาติได้เต็มที่

การศึกษาจะต้องช่วยให้มนุษย์สามารถซึมซาบความสุขจากสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่ละเอียดอ่อนได้ด้วย ไม่ใช่จะหาความสุขจากสิ่งเสพอย่างเดียว อย่างน้อยชีวิตก็จะมีดุลยภาพดีขึ้น ดูจากตัวอย่างคน ๒ คนไปเห็นนก ความสุขของ ๒ คนนั้นไม่เหมือนกัน คนหนึ่งมีความสุขอยู่ที่ว่าจะต้องรอเอานกมาลงหม้อแกงแล้วบริโภค ส่วนอีกคนหนึ่งมีความสุขทันทีเมื่อเจอนก เนื่องจากเขามีจิตใจละเมียดละไม เพียงเห็นธรรมชาติที่นุ่มนวล เห็นการเคลื่อนไหวของนก ก็ทำให้จิตใจเขาสบายและมีความสุขได้ทันที

คนที่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง จะมีศักยภาพที่จะมีความสุข และพัฒนาศักยภาพนั้นให้ตนมีความสุขได้ง่ายยิ่งขึ้น เขาไม่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขนี้ไป ที่จริงนั้น ความรู้สึกพร้อมที่จะมีความสุขนี้มนุษย์มีอยู่แล้ว แต่ด้วยการพัฒนาที่ผิด การศึกษาที่ผิด ทำให้เขาสูญเสียความสามารถอันนี้ไป การศึกษาที่ถูกต้อง จะทำให้ทุกสิ่งเจริญงอกงามขึ้นไปในลักษณะที่ประสานกลมกลืนกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คือ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนต้องการประชาธิปไตยมนุษย์พัฒนาโลกวัตถุให้ถึงกันหมดเป็นหนึ่งได้ แต่ยังข้ามไม่พ้นสิ่งกีดขวางการรวมใจให้เป็นสากล >>

No Comments

Comments are closed.