การศึกษาต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ และการเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท

24 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 15 จาก 17 ตอนของ

การศึกษาต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้
และการเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท

ในการพัฒนามนุษย์นั้น เราจะต้องมองว่า เราต้องการมนุษย์ที่มีคุณภาพหรือคุณลักษณะอย่างไร หรือว่ามนุษย์ที่การศึกษาจะพัฒนาขึ้นมานั้น ควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าภารกิจของการศึกษาแยกเป็น ๒ อย่าง คือ การศึกษาที่ช่วยให้คนพัฒนาชีวิตที่ดีงาม และเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม การศึกษาจะต้องสร้างตัวคนให้เป็นบัณฑิต และช่วยให้เครื่องมือแก่บัณฑิตไปใช้ประโยชน์ การศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ต้องเข้าถึงเนื้อแท้ของการศึกษา คือการพัฒนาคนให้มีชีวิตที่ดีงาม และเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมด้วย ไม่ใช่มองแค่ให้เขามีอาชีพ มีการงาน มีศิลปวิทยา เท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือซึ่งอาจใช้ในทางร้ายหรือทางดีก็ได้ โดยเฉพาะถ้ามีแนวความคิดที่ผิดแล้วก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของโลกได้ ฉะนั้นจะต้องมองเป็นขั้นๆ

เรามองอย่างง่ายๆ ว่า การศึกษานี้ในเบื้องต้นต้องทำให้มนุษย์สามารถพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจและสังคม หลักธรรมในทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากมาย เช่น สอนให้คนขยันหมั่นเพียรสร้างเนื้อสร้างตัว เรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” การพัฒนาคนในระดับนี้ เช่นการสอนให้ไม่เสพอบายมุขเป็นต้น ซึ่งเป็นจริยธรรมขั้นต้นๆ ในระดับของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอามิสและสังคม แต่ยังมีต่อไปว่าทำอย่างไรจะให้มนุษย์สามารถพ้นจากการที่ต้องอาศัยกิเลสเป็นเครื่องช่วยให้อยู่รอด ไปสู่การมีชีวิตอยู่ด้วย “ปัญญา” นี่คือจุดหมายของการพัฒนามนุษย์

มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาต้องอาศัยตัณหามานำชีวิตให้ดิ้นรนเพื่อสนองความต้องการทางด้านตา หู จมูก ลิ้น และกาย หรืออายตนะทั้งหลาย เพราะมนุษย์ยังมี “อวิชชา” ไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง จึงยังต้องเอาความรู้สึกชอบไม่ชอบ เกลียด กลัว หรือปรารถนา มาเป็นเครื่องนำชีวิตก่อน เมื่อมองดูเห็นอะไรสนองความรู้สึกที่ดีที่สบาย ให้ความสุขทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ก็เอา ก็พอใจ ก็ต้องการได้สิ่งเหล่านั้น มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาจึงอยู่ด้วยตัณหา แต่ก็ต้องยอมรับว่า มนุษย์ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ เพราะเขายังไม่มี “ปัญญา”

แต่เมื่อมนุษย์มีปัญญาพอแล้ว เขาก็จะอยู่ด้วย “สติปัญญา” ดังเช่นการเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตจากการกินเพียงเพื่ออร่อยลิ้นและโก้หรู มาสู่การกินพอดีด้วยปัญญา หรือเสริมคุณภาพชีวิตให้มีสุขภาพและสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามอย่างผาสุก อันเรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา ที่บรรยายมาข้างต้นแล้ว ตลอดจนถึงการที่จะมี “ความไม่ประมาทแท้” เมื่อพัฒนาคนได้สมบูรณ์แล้ว เขาก็มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา และไม่ต้องอาศัยตัณหามาช่วยจูงอีกต่อไป คนมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาก็คือ “บัณฑิต” นั่นเอง เป็นผู้ที่พัฒนาจนพ้นจากการที่ต้องอาศัยกิเลสเป็นเครื่องรักษาชีวิตให้รอด มาสู่ความเป็นอยู่ด้วยปัญญา การที่มนุษย์อยู่ดีได้ด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของการศึกษา

การพัฒนามนุษย์ให้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา นั้น แกนกลางของมันก็คือการพัฒนาคนให้รู้จักคิด เริ่มแต่รู้จักสัมพันธ์กับประสบการณ์ ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในแนวทางของปัญญา เช่นให้รู้จักดูเป็น ฟังเป็น จนกระทั่งคิดเป็น การที่จะรู้จักสัมพันธ์กับประสบการณ์อย่างถูกต้อง รู้จักใช้ปัญญา และพัฒนาปัญญาขึ้นมาได้ จะต้องอาศัยหลักธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” คือ การรู้จักมอง รู้จักคิด รู้จักพิจารณาสิ่งต่างๆ หรือ เดินความคิดอย่างถูกวิธี

เมื่อเราสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ เริ่มแต่รับรู้ประสบการณ์ เรามองอย่างไร ถ้ามองไม่เป็น ก็ได้โทษ ตกเป็นทาสของตัณหา เสริมเติมอวิชชา แต่ถ้ามองเป็นก็ได้ประโยชน์เกิดปัญญา การมองเป็นนั้นก็คือ “โยนิโสมนสิการ” ซึ่งโดยสรุปสอนให้มอง ๒ อย่าง อันเป็นการมองที่ทำให้เกิดปัญญา นำไปสู่อิสรภาพและชีวิตที่ดีงาม คือ

๑. มองให้เห็นความจริง

๒. มองให้ได้ประโยชน์

นี่คือหลักการโดยสรุปของ “โยนิโสมนสิการ” ซึ่งมีวิธีคิดมากมาย แต่ในบรรดาวิธีคิดมากมายนั้น สรุปมี ๒ อย่างคือ มองให้ได้ความจริง กับมองให้ได้ประโยชน์

เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาเราสัมพันธ์ ถ้าเราสัมพันธ์ไม่เป็นก็สัมพันธ์แบบชอบ-ชัง ยินดี-ยินร้าย ซึ่งเป็นการสัมพันธ์แบบปรุงแต่ง ตามแรงชักจูงของอวิชชาและตัณหา เมื่อปรุงแต่งความคิดอย่างนั้นต่อไป ในที่สุดก็เกิดปัญหาขึ้น เช่น นำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นไปตามโลภะ โทสะ และโมหะ แล้วก่อปัญหาชีวิตและปัญหาสังคมต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องการเพื่อให้มนุษย์อยู่ดีก็คือ ความรู้ที่เข้าถึงความจริง และความต้องการที่แท้จริงทั้งของชีวิตของตนและสิ่งที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีวิธีคิดให้เข้าถึงความจริง และนี่ก็คือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มีหลายแบบ เช่น คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ คิดแบบให้เห็นคุณค่าแท้คุณค่าเทียม คิดแยกแยะให้เห็นคุณโทษและทางออก เป็นต้น

ในบรรดาวิธีคิดเหล่านี้ หลักการใหญ่อย่างหนึ่งก็คือการมองให้ได้ประโยชน์ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ถ้ามนุษย์มองเป็นแล้วก็หาประโยชน์ได้ทั้งนั้น คนที่พัฒนาแล้วจะสามารถหาประโยชน์ได้จากทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่สิ่งที่เลวที่สุด

ในการพัฒนาการศึกษาของเด็กนั้น เราจะต้องทำสิ่งที่ตรงข้ามกัน ๒ อย่างเข้ามาบรรจบกัน คือ ในแง่ที่เป็นผู้จัดสภาพแวดล้อม เราจัดให้ดีที่สุด แต่ในแง่การพัฒนาตัวเด็ก เราต้องพัฒนาเด็กให้สามารถได้ประโยชน์จากสิ่งที่เลวร้ายที่สุด อันนี้คือ “โยนิโสมนสิการ” ในความหมายหนึ่ง ฉะนั้นคนที่มีโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร ก็จะมีท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างต่อไปนี้ หรือพร้อมกันทั้ง ๒ อย่าง คือ

๑. มองเห็นความจริง หรือได้ความรู้ (ได้ปัญญา)

๒. มองเห็นประโยชน์ หรือสามารถทำให้เป็นประโยชน์ (ได้ประโยชน์)

นี่คือหัวใจของการเรียนรู้ เมื่อเราพัฒนาเด็กด้วยโยนิโสมนสิการนี้ เด็กก็จะพัฒนานิสัยแห่งการเรียนรู้ขึ้นมา แล้วก็จะมี วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้น เมื่อมนุษย์อยู่ด้วยปัญญา สังคมก็มี “วัฒนธรรมการเรียนรู้” การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นจากการใช้ความคิด การรู้จักมอง การรู้จักสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างถูกต้อง

เมื่อคนพัฒนาไปในแนวทางนี้ เขาก็พัฒนาความสุขไปด้วย แล้วความสุขของเขาจะเป็นความสุขที่ประสานกลมกลืน ชนิดที่ว่าความสุขของบุคคลก็เป็นความสุขของสังคมไปด้วย ตรงข้ามกับความสุขแบบแย่งชิงกันซึ่งมีลักษณะที่ว่า ถ้าเราได้ เขาก็เสีย ถ้าเราสุข เขาก็ทุกข์ เมื่อพัฒนาคนขึ้นมาระดับหนึ่ง ก็จะมี “การให้” ชนิดที่ทั้งผู้ให้และผู้ได้มีความสุขด้วยกัน นับเป็นความสุขแบบประสาน ชีวิตของคนก็มีความสุขขึ้น สังคมก็อยู่ดีมีสุขด้วย สุขทั้งสองฝ่าย ทำให้สามารถแก้ปัญหาการเบียดเบียนแย่งชิงก่อความเดือดร้อนกันได้ และมนุษย์ก็มีอิสรภาพมากขึ้น

ด้วยการพัฒนามนุษย์อย่างถูกทางเป็นบูรณาการนั้น ความสุขที่เกิดขึ้นก็อาศัยวัตถุภายนอกน้อยลง มนุษย์สามารถมีความสุขด้วยตัวเองที่เป็นอิสระได้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ความสุข สันติ และอิสรภาพ ก็จะค่อยๆ เข้ามาประสานกัน ในตอนแรกเมื่อมนุษย์ยังไม่พัฒนา ความสุขจะตรงข้ามกับสันติ และไม่มีอิสรภาพ แต่เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นมา ความสุข สันติ และอิสรภาพจะมีความหมายกลมกลืนจนกลายเป็นอันเดียวกัน ซึ่งพร้อมกันนั้นก็ทำให้เขาสามารถมีความสุขโดยไม่เป็นเหตุให้เกิดความประมาทด้วย หลักการนี้เป็นมาตรฐานอันหนึ่งในการวัดการพัฒนามนุษย์ มนุษย์จะมีชีวิตที่พอดีโดยมีดุลยภาพมากขึ้น สามารถ “อยู่ด้วยปัญญา” และสามารถมี “ความไม่ประมาทที่แท้” ซึ่งทำให้สังคมดำรงอยู่ในสันติสุขได้อย่างยั่งยืน ไม่มีเสื่อม

กล่าวโดยสรุปว่า “ความไม่ประมาทที่แท้” ที่เกิดจากสติปัญญานั้น เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จในการพัฒนามนุษย์ โดยพิสูจน์ว่ามนุษย์จะสามารถรักษาสังคมและอารยธรรมให้เจริญอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ ถ้ามนุษย์ไม่สามารถสร้างความไม่ประมาทที่แท้ ที่เกิดจากสติและปัญญา มนุษย์ก็จะต้องหมุนเวียนไปตามกระแสกิเลสในวงจรของความเจริญและความเสื่อมแบบปุถุชนเรื่อยไป คือ เจริญขึ้นมาแล้ว สุขสบายก็มัวเมาประมาทแล้วก็เสื่อม พอเสื่อมแล้ว เดือดร้อนมีความทุกข์ ก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายกลับเจริญขึ้นมาอีก ถ้ามนุษย์มีความไม่ประมาทที่แท้ เขาก็จะสามารถดำรงรักษาความเจริญไว้และทำให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งสิ้น

ขอย้อนไปพูดถึงจุดเชื่อมต่อจากบุคคลมาสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมในเรื่องที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่สำคัญอันควรย้ำที่เราได้เห็นแล้วก็คือ จากการที่มนุษย์ประสบปัญหาอะไรต่างๆ มากมาย เมื่อสืบเข้าไปแล้วก็มาจากความเชื่อและแนวความคิด เช่น อารยธรรมทั้งหมดของตะวันตกปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่บนฐานของแนวความคิด ๒ ประการ คือ

๑. แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ

๒. ความเชื่อที่ว่า ความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุ

ทั้งนี้ รวมทั้งแนวความคิดและคติต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากแนวความคิด ๒ อย่างนั้น เช่น สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) ที่พูดไปแล้วด้วย

ค่านิยมในสังคมมีความสำคัญในการผันแปรทิศทางของสังคมฉันใด ลึกลงไปและกว้างออกไป “ทิฏฐิ” คือแนวความคิดความเชื่อที่ละเอียดอ่อน ก็เป็นตัวบันดาลวิถีทางของอารยธรรมของมนุษย์ฉันนั้น มนุษย์จะแก้ปัญหาได้สำเร็จ การศึกษาจะต้องแก้ปัญหาเรื่อง “ทิฏฐิ” ของมนุษย์นี้ โดยแก้ลึกลงไปถึงแนวความคิดความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังอารยธรรมทั้งหมด

แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และความเชื่อที่ถือว่า ความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุนั้นนำไปสู่จริยธรรมแบบจำใจ จริยธรรมที่แท้ ต้องไม่ใช่จริยธรรมแบบจำใจ แต่เป็นจริยธรรมที่ประสานกับความสุข นี่คือจริยธรรมของพระพุทธศาสนา

ทิฏฐิที่ว่ามานั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติ นำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม และอีกด้านหนึ่ง ทิฏฐิสำคัญที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม ซึ่งก่อปัญหาความขัดแย้งในหมู่มนุษย์ ก็คือการเชื่อถือยึดมั่นว่าเชื้อชาติของตัว ศาสนาของตัวเท่านั้น จึงจะควรมีอยู่ เชื้อชาติอื่น ศาสนาอื่นจะต้องหมดไป ซึ่งทำให้มนุษย์แบ่งแยกและกำจัดซึ่งกันและกัน

ทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมก่อให้เกิดความไม่ประมาทอย่างเทียมด้วยการนำมาซึ่งระบบแข่งขันเป็นต้น การที่มนุษย์จะเข้าถึงความไม่ประมาทที่แท้ จึงต้องข้ามพ้นทิฏฐิเหล่านี้ให้ได้ด้วย

เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ท้าทายความสำเร็จในการพัฒนามนุษย์จึงอยู่ที่การแก้ไขทิฏฐิหรือแนวความคิดความเชื่อเหล่านี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการที่จะสร้างสรรค์อารยธรรม และเป็นความติดตันของอารยธรรมในปัจจุบัน จึงเป็นการท้าทายการศึกษาอย่างที่ว่ามา การศึกษาจะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๓ – การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืนการศึกษาแท้ที่พัฒนาคนอย่างบูรณาการ นำชีวิตสู่อิสรภาพที่สมบูรณ์ >>

No Comments

Comments are closed.