ความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่น รุก-นำ หรือรับ-ตาม เสริมตัว หรือเสียตัว

24 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 8 จาก 17 ตอนของ

ความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่น
รุก-นำ หรือรับ-ตาม เสริมตัว หรือเสียตัว

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมต่างๆ ความจริงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมต่างๆ มีมานานแล้ว โดยเฉพาะก็คือ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ดังเช่นประเทศของเราก็มีปัญหาเกิดขึ้นจากเรื่องนี้อย่างชัดเจน จนกระทั่งถึงขั้นที่ต้องมาคร่ำครวญหรือปรับทุกข์กันว่า ทำไมคนของเรา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน จึงชอบตามชอบรับเอาอย่างวัฒนธรรมจากตะวันตกโดยไม่สมควร พร้อมทั้งทอดทิ้งและดูถูกวัฒนธรรมของตนเอง

การแก้ปัญหานี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจะต้องระวังการไปสุดโต่งเหมือนกัน การที่จะยึดถือแต่วัฒนธรรมของตนเอง ไม่ยอมรับของคนอื่นภายนอกเลย ก็เป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นทางพัฒนาสังคมของตนเอง และวัฒนธรรมของตนเอง แต่การที่จะไหลตามวัฒนธรรมของเขา อะไรมาก็ชื่นชม นิยม กระโดดโลดเต้นไปตาม ก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน การไปสุดโต่งทั้งสองข้างนั้น เป็นเรื่องของการใช้ความรู้สึก คือ ขัดใจ กับชอบใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ข้อพิจารณาก็คือ ทำอย่างไรจะให้คนของเราเป็นผู้มีความสามารถในการรับวัฒนธรรมจากภายนอก หรือในการเกี่ยวข้องอย่างได้ประโยชน์ หรืออย่างเป็นนายหรือเป็นผู้นำ ไม่ใช่เป็นผู้ถูกกระทำ

ในการเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างได้ผลนั้น เราจะทำอย่างไร เราจะต้องถามตัวเองตั้งแต่ต้นว่า การที่เราจะไปรับวัฒนธรรมข้างนอกเข้ามานั้น เรามีความรู้ความเข้าใจมันหรือไม่ ถ้าเรารับมาโดยไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่รับเอาเพียงเพราะชอบใจ ก็แสดงว่าเราไม่มีการศึกษาเลย เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีการพัฒนา คนที่จะรับเอาอะไรเข้ามาใช้กับตัวเอง จะต้องรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรเป็นอย่างไร และเป็นมาอย่างไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เราต้องถามว่า ในการที่คนของเรารับวัฒนธรรมของตะวันตก หรือของประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น เรามีความรู้เข้าใจเขาหรือไม่ ตอนนี้จะขอเอาแค่หลักการสั้นๆ ว่า เราจะต้องมีการศึกษาที่ทำให้คนของเราสามารถรู้เข้าใจเข้าถึงแก่นแท้ความจริงของวัฒนธรรมของประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือของวัฒนธรรมตะวันตกเหล่านั้น แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอ ขอวางหลักปฏิบัติ ๓ ขั้น คือ

๑. ต้องรู้เข้าใจวัฒนธรรมของเขาให้ถึงตัวจริงตัวแท้ โดยรอบด้าน จนถึงเหตุปัจจัยในภูมิหลังของวัฒนธรรมนั้น ที่ว่ารู้เขาอย่างรอบด้าน คือ รู้ทั้งข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อย รู้คุณ รู้โทษ ตลอดจนรู้เหตุปัจจัยของวัฒนธรรมของเขา

เวลานี้เรารับวัฒนธรรมนอกเช่นอย่างของอเมริกัน คนของเรามีความรู้หรือไม่ว่า วัฒนธรรมของเขามีข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อยอะไร เรามักจะรับทั้งดุ้นโดยเพียงตื่นเต้นว่า เป็นวัฒนธรรมของประเทศที่เจริญ พอเห็นอะไรของเขาที่ตัวชอบใจ หรือใหม่น่าตื่นเต้น ก็มองไปว่าเป็นความดีงามความเจริญน่าโก้เก๋ โดยไม่ได้ย้อนรอยสวนทางไปดูให้ถึงแหล่งในประเทศของเขา เราไม่ได้ไปสืบค้นให้รู้จักสังคมของเขาอย่างแท้จริงว่า สังคมอเมริกันขณะนี้เป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็ง มีข้อดีข้อเสีย มีความเจริญด้านไหน หรือเสื่อมอย่างไร

คนอเมริกันเองขณะนี้ร้องทุกข์มากว่าสังคมของตัวเองจะไปรอดหรือไม่ หลายคนพูดทำนองว่า สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่กำลังจะสลายในไม่ช้าและไม่มีทางเลี่ยง ขณะเดียวกันถ้าสำรวจในวงการหนังสือ ก็จะเห็นว่าหนังสืออเมริกันที่ออกมามากประเภทหนึ่งเวลานี้ จะเป็นเรื่องของการโอดโอยคร่ำครวญถึงความเสื่อมของสังคมของตน ว่าเวลานี้สังคมอเมริกันทรุดโทรมอย่างไร สูญเสียความเป็นผู้นำในประชาคมโลกอย่างไร สภาพทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางจิตใจ อะไรต่างๆ แย่ไปอย่างไร

อเมริกากำลังเสื่อมสถานะ อย่างที่หนังสือบางเล่มเรียกว่า “สิ้นยุคอเมริกา” (The End of the American Century) หนังสือประเภทนี้มีมาก ซึ่งเราน่าจะได้สนใจติดตามแล้วก็จะเห็นว่า สังคมอเมริกันมีความเสื่อมอย่างไรบ้าง ตัวเขาเองพูดถึงความเสื่อมของเขา ซึ่งเราจะต้องรู้เท่าทัน เราจะมัวมองแต่ด้านเจริญแล้วไปรับเอาทั้งดุ้น ในขณะที่สังคมของเขากำลังเสื่อมได้อย่างไร และแม้แต่ส่วนที่เขาเจริญเราก็ต้องรู้ว่าเขาสร้างมันมาได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเจริญของสังคมของเขาที่ทำให้เขาเจริญมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม จนกระทั่งพ้นจากยุคอุตสาหกรรมไปแล้วกลายเป็นสังคมบริโภค

เหตุปัจจัยที่ทำให้อเมริกาเจริญนั้นไม่ใช่สภาพปัจจุบัน ถ้าเราจะเอาความเจริญของสังคมอเมริกัน เราจะต้องไปจับเหตุปัจจัยแห่งความเจริญของสังคมอเมริกันนั้น ซึ่งอาจจะอยู่ในอดีต ๕๐-๒๐๐ ปีมาแล้ว ถ้าเราไปเอาอย่างอเมริกันปัจจุบันนี้ เราอาจจะไปจับเอาความเสื่อมมาก็ได้ เพราะสิ่งที่อเมริกันทำในปัจจุบัน หลายอย่างจะเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมในอนาคตอีก ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้มั่นใจ เราต้องไปจับที่เหตุปัจจัยในอดีตของความเจริญในปัจจุบัน เช่น พอเรามองเห็นความเจริญทางอุตสาหกรรมของเขาในปัจจุบันนี้ เราชอบ แต่เราจะต้องรู้ว่าอุตสาหกรรมนั้นเจริญมาได้อย่างไรด้วยเหตุปัจจัยในอดีตเมื่อ ๕๐-๒๐๐ ปีก่อน ซึ่งอเมริกันก็ไม่ได้ปิดบัง เช่น ปัจจัยสำคัญตัวหนึ่ง ที่ตัวเขาเองภูมิใจยิ่งนักว่าทำให้เขาสร้างความเจริญทางอุตสาหกรรมมาได้ คือการมี work ethic ได้แก่ “จริยธรรมในการทำงาน” หรือจะมองในแง่เป้าหมายความคิด ก็มีแรงจูงใจในการที่จะเอาชนะความขาดแคลน หรือมองลึกลงไปอีกก็คือการมีสภาพจิตใจที่เรียกว่า “บุกฝ่าพรมแดน” (frontier) ซึ่งอเมริกันภูมิใจนัก สภาพจิตนี้ทำให้เขาสร้างสรรค์ความเจริญแบบที่เขาเป็นอยู่มาได้สำเร็จ

ถ้าเราจะเข้าใจเขาจริง เราจะต้องไปสืบหาเหตุปัจจัยเหล่านี้ ถ้าเราอยากเจริญแบบนั้น เราก็จะต้องไปทำที่เหตุปัจจัยเหล่านั้น ไม่ใช่ไปตามความเจริญที่มาเต้นกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมันไม่ได้เป็นเครื่องหมายของการสร้างความเจริญอะไรเลย นี่เป็นเรื่องของการที่เราเข้าใจเข้าถึงตัววัฒนธรรมที่เราจะรับหรือไม่ เราจะต้องเข้าถึงความจริงที่แท้ของเขาโดยรอบด้าน และเข้าถึงเหตุปัจจัยของเขาด้วย ไม่ใช่ตื่นผิวเผินเพียงแค่ผลที่ปรากฏ

๒. ต้องไล่ทันและจับล้วงเอาส่วนที่ดีที่สุดของเขาให้ได้ แนวความคิดและภูมิปัญญาที่เจริญก้าวหน้าที่สุดของประเทศที่เป็นผู้นำในโลกปัจจุบัน เราต้องเข้าถึง จับให้แม่น และขณะที่สังคมของเขายังนำอยู่ เราจะต้องทันต่อส่วนที่ก้าวหน้าที่สุด ที่ดีที่สุดของสังคมของเขา ขณะนี้เรามองแบบพร่า เราไม่มีจุดในการจับ ก็เลยมองเป็นความเจริญไปหมด เราจับจุดที่ดีที่สุดไม่ได้ แล้วก็ไม่ทันเขาด้วย

ถ้าเราจะสร้างสรรค์สังคมของเรา เราจะต้องจับส่วนที่เป็นความล้ำเลิศที่สุดของอเมริกัน ส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดทั้งของอเมริกันและของญี่ปุ่น ว่าส่วนดีที่สุดของเขาอยู่ที่ไหน ถ้าเราจับจุดนี้ได้ นั่นคือทางแห่งความสำเร็จ ถ้าเราจับพร่าไปทั่วหมดก็จะกลายเป็นเราตามเขาเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านไปแล้ว

๓. เอาส่วนที่ดีของเขามาเสริมขยายตัวเรา วัฒนธรรมที่เจริญทุกวัฒนธรรมเกิดจากการนำเอาวัฒนธรรมอื่นมาเสริมสร้างตัวเองทั้งนั้น ชนชาติที่เจริญอย่างโรมัน เป็นพวกป่าเถื่อนมาก่อน แล้วมารับวัฒนธรรมกรีก แล้วก็ทำให้ตัวเจริญขึ้น แต่ต่อมาก็เสื่อมเพราะมีความหลงใหลมัวเมาตกอยู่ในความประมาท จึงถูกพวกป่าเถื่อนพิชิตราบไป

ตัวอย่างหนึ่งก็คือภาษาอังกฤษ ซึ่งเวลานี้แทบจะเป็นภาษาสากล มีความมั่งคั่งในภาษา ศัพท์ภาษาอังกฤษมีมากมาย dictionary ของเขาเล่มใหญ่มาก ฝรั่งก็ภูมิใจว่าภาษาอังกฤษมีศัพท์ใช้อย่างพรั่งพร้อมบริบูรณ์ ลองไปดูเถิด ดูที่มาของศัพท์ภาษาอังกฤษนั้น มีที่เป็นของตัวเองมาแต่เดิมอยู่กี่ส่วน ถึงครึ่งหรือเปล่า นอกนั้นมาจากภาษาอื่นทั้งนั้น มาจากวัฒนธรรมภายนอก

วัฒนธรรมที่เจริญคือ วัฒนธรรมที่รู้จักรับ รู้จักย่อย รู้จักดูดกลืนสิ่งที่ดีจากวัฒนธรรมอื่นทั้งนั้น ไม่ใช่รับแบบเลียนแบบไปตาม แต่รับอย่างมีสติปัญญาโดยรู้จักเลือกสรรเอามาใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมที่เจริญคือวัฒนธรรมที่รู้จักกลั่นและย่อย เช่นเดียวกับสังคมไทยจะเจริญได้ก็อยู่ที่การมีศักยภาพที่จะเลือกรับวัฒนธรรมภายนอกด้วยสติปัญญา ไม่ใช่เลียนแบบทำตามเขาไป

ดังนั้น การรับเอาวัฒนธรรมภายนอกอย่างฉลาดและถูกต้องก็คือ การรับเอาสิ่งที่ดีมาเสริมขยายตัวเรา แล้วเอามาย่อยเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา ไม่ใช่เอามาสวมใส่ข้างนอก เดี๋ยวนี้เราเอาวัฒนธรรมข้างนอกมาเป็นเพียงเครื่องสวมหุ้มตัว ทำให้ตัวเราสวยสดงดงาม อวดโก้กันเท่านั้นเอง อย่างนี้หรือเปล่า เป็นการเอามาเป็นเปลือก ไม่ได้ย่อยเป็นเนื้อเป็นตัว ถ้าเราจะเจริญก้าวหน้า เราจะต้องทำให้เนื้อตัวของเราเจริญ คือย่อยเขาเข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา

ในการที่จะสร้างสรรค์ความเจริญ จะมีข้อแตกต่างในความหมายของคำว่า “เจริญ” ซึ่งบางทีไม่ได้พูดกันให้ชัดออกมา เพราะเป็นนัยที่แฝงอยู่และไม่รู้ตัว ทีนี้ลองวิเคราะห์ออกมาดูกัน

ถ้าเราจะให้ความหมายของคำว่า “เราอยากจะเจริญแบบฝรั่ง” ที่ว่าอยากเจริญแบบฝรั่งคืออย่างไร ก็จะมีความหมายแยกได้เป็น ๒ อย่าง คือ ความเจริญแบบนักผลิต กับ ความเจริญแบบนักบริโภค ความเจริญอย่างฝรั่งแบบนักบริโภคจะมีความหมายเป็นการมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง หมายความว่า ฝรั่งมีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอะไร ประเดี๋ยวคนไทยก็มีบ้าง อย่างนี้เรียกว่าเป็น “ความเจริญแบบนักบริโภค”

ความเจริญอย่างฝรั่งในความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ ฝรั่งทำอะไรได้ เราก็ทำได้อย่างนั้น เจริญอย่างฝรั่งคือ ทำได้อย่างฝรั่ง อย่างนี้เรียกว่า “ความเจริญแบบนักผลิต”

สรุปแล้ว ความหมายของ “ความเจริญอย่างฝรั่ง” มี ๒ นัย คือ

๑. มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง (ความหมายแบบนักบริโภค)

๒. ทำได้อย่างฝรั่ง (ความหมายแบบนักผลิต)

ถ้าถามว่า คนไทยมองความหมาย “ความเจริญอย่างฝรั่ง” แบบไหน แบบนักผลิต หรือแบบนักบริโภค ถ้าเรามองว่า ความเจริญอย่างฝรั่งคือ มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง เราก็เป็นผู้มองความหมายของความเจริญแบบนักบริโภค ถ้าคนไทยมองความเจริญอย่างนี้เราจะเป็นผู้ตามเขาเรื่อยไป ไม่มีทางที่จะเป็นผู้นำได้ เพราะผู้บริโภคก็ต้องรอให้เขาผลิตก่อน เมื่อเขาผลิตมาแล้ว เราก็คอยรับบริโภค เราไม่ได้ทำ เราไม่ได้สร้างสรรค์

สังคมที่จะเจริญอย่างเขาจะต้องมองความหมายของความเจริญนั้นแบบนักผลิตว่า เจริญอย่างฝรั่งคือ ทำได้อย่างฝรั่ง ถ้าเรามองความหมายอย่างนี้ ไม่ช้าสังคมไทยจะมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน

ในความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม เราจะเห็นภาพอีกอย่างหนึ่งปรากฏขึ้นมา คือ วัฒนธรรมหนึ่งเป็น “ฝ่ายรุก” อีกวัฒนธรรมหนึ่งเป็น “ฝ่ายรับ” ฝ่ายรับก็จะถดถอยลงไป จะกร่อน จะอยู่ในภาวะชะงักงันหรือแข็งตัว และมีอาการปกป้องตัว ส่วนวัฒนธรรมแบบรุกจะมีความเจริญก้าวหน้าและมีการปรับตัวได้ดี เราจะต้องดูวัฒนธรรมของเราว่า เป็นฝ่ายรุก หรือฝ่ายรับ เราถูกวัฒนธรรมภายนอกรุกใช่หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นเราจะต้องพลิกผันตัวขึ้นมาเป็นผู้รุกบ้าง อย่างน้อยในบางด้าน นั่นคือ เราจะต้องมีอะไรดีให้แก่ผู้อื่นด้วย

การที่เราจะเป็นวัฒนธรรมของ “ผู้รุก” ได้ เราจะต้องมีอะไรดีที่จะให้แก่ผู้อื่นด้วย ซึ่งวัฒนธรรมอื่นจะเอาไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะยุคปัจจุบันนี้ เป็นช่วงเวลาที่เอื้อที่สุด เพราะว่าวัฒนธรรมของประเทศที่พัฒนาแล้ว ตลอดจนอารยธรรมของโลกทั้งหมดกำลังมาถึงจุดติดตันไม่มีทางออก ถ้าเราสามารถสร้างตัวให้เป็นผู้ให้ได้ เราก็จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลกและสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติได้ด้วย

ประการสุดท้ายก็คือ การที่เราจะทำหน้าที่ทั้งหมดนี้ได้ดี เราจะต้องรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง ในการที่จะพัฒนาตัวเอง ถ้าเราไม่รู้จักตัวเองแล้ว เราจะพัฒนาได้อย่างไร ฉะนั้น สังคมไทยในปัจจุบันนี้จะต้องรู้จักตัวเอง และขณะเดียวกันต้องรู้จักผู้อื่นอย่างแท้จริงด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก แต่ต้องให้เด็กเอาดีได้จากสิ่งที่เลวที่สุด– ๒ – ทางออกจากอารยธรรมที่ไม่ยั่งยืน >>

No Comments

Comments are closed.