– ๓ – ความสัมพันธ์ในชุมชนทางวิชาการ

23 สิงหาคม 2539
เป็นตอนที่ 4 จาก 4 ตอนของ

สังคมทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว
มักพัฒนาอย่างเสียดุล เพราะขาดบูรณาการ

ในสังคมที่ปฏิบัติธรรมไม่ครบ จะเกิดความเสียดุล สังคมที่มีเมตตากรุณามาก แต่ไม่รู้จักใช้อุเบกขา ก็จะเป็นสังคมที่มีน้ำใจมาก คนจะมีน้ำใจช่วยเหลือกันอย่างดี ซึ่งก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ทำให้จิตใจคนมีความอบอุ่น ชุ่มฉ่ำ ร่มเย็น มีความสุข สบาย แต่ผลเสียคืออะไร ถ้าไม่มีอุเบกขามาคุม ก็เสียดุล

๑. คนจะชอบหวังพึ่งผู้อื่น คือ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ที่มีกิเลสของปุถุชน เมื่อหวังพึ่งผู้อื่นได้ว่าจะมีคนมาช่วย ก็จะไม่ดิ้นรนขวนขวาย เขาชอบคิดว่า ถ้าเราลำบาก ขาดแคลน ขัดสน ก็ไปหาผู้ใหญ่คนโน้น ไปหาญาติผู้นี้ หาเพื่อนคนนั้น เขาก็ต้องช่วยเรา ความที่คอยหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่เรื่อย ก็เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็อ่อนแอ เพราะฉะนั้นสังคมที่มีน้ำใจ มักเสียดุลไปทางอ่อนแอ คนมักหวังพึ่งผู้อื่น ทำให้เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย และอาจจะตกอยู่ในความประมาท

๒. ไม่สามารถรักษาหลักการได้ เพราะคนจะช่วยกันจนกระทั่งละเมิดกฎหมายก็เอา ลองจะช่วยเสียอย่าง กฎหมายก็ไม่มอง ความเป็นธรรมก็ไม่เอาทั้งนั้น ช่วยกันอย่างเดียวจนเสียความเป็นธรรม และเสียหลักการ

ส่วนสังคมที่ขาดสาม หรือเพียงสองข้อต้น คือไม่มีเมตตากรุณา จะเป็นสังคมที่ไม่มีน้ำใจ คนไม่ค่อยช่วยเหลือกัน อุเบกขาจะขึ้นมาเด่น แต่อาจจะเป็นอุเบกขาแบบไม่มีปัญญาก็ได้ คือ เฉยไม่เอาเรื่อง ตัวใครตัวมัน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง พอมีปัญญาขึ้นมาหน่อยก็วางกติกาสังคมไว้ว่า แกจะทำอะไรก็เรื่องของแกนะ แกทำไปได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดกติกาหรือกฎหมาย ถ้าแกละเมิดกฎเมื่อไร ฉันจัดการทันที แต่ถ้าไม่ละเมิดก็ปล่อยแกทำไป แต่ฉันไม่ช่วยนะ

ทีนี้คนที่ไม่มีใครช่วยนี่ เมื่อหวังพึ่งใครไม่ได้ ตัวใครตัวมัน ก็ต้องดิ้นสุดขีดสุดกำลัง เพราะถ้าไม่ดิ้นก็ไม่รอด จึงทำให้เข้มแข็งและก้าวหน้า และเพราะเอากติกา เอากฎหมาย หรือหลักการเป็นใหญ่ ก็รักษาหลักการและกฎกติกาได้ แต่เมื่อไปสุดโต่ง ก็กลายเป็นสังคมที่เอาแต่กฎเข้าว่า ไร้ชีวิตชีวา ไม่มีน้ำใจ

สังคมไทย นี่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในข้อเมตตากรุณามาก ก็เสียดุล ทำให้อ่อนแอ แล้วก็ไม่สามารถรักษาหลักการและความเป็นธรรม ส่วนสังคมแบบอเมริกันก็ค่อนข้างขาดในด้านเมตตากรุณา คือขาดน้ำใจ และหนักในอุเบกขา ทำให้คนดิ้นรนแบบตัวใครตัวมัน จึงทำให้เข้มแข็ง และทำให้รักษาหลักการกติกาได้ แต่เป็นสังคมที่แห้งแล้ง เครียด จิตใจมีความทุกข์ ขาดความอบอุ่น ได้อย่างเสียอย่าง เพราะฉะนั้นเพื่อให้พอดีจึงต้องมีครบทั้งสี่ข้อ แต่ในระดับสังคมนี่แสนยากเหลือเกินที่จะพัฒนามนุษย์ให้มีครบทั้งสี่ข้อ มันก็เลยได้เว้าๆ แหว่งๆ ได้หนึ่งบ้าง ได้สองบ้าง ได้สามบ้าง ที่จะครบ ๔ อย่างพอดีได้ดุลนั้นหาได้ยาก

พ่อแม่ก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา มาก แต่ไม่รู้จักใช้อุเบกขา ก็จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักโต เพราะฉะนั้นจึงต้องไปโดนอุเบกขาจากที่อื่นมาช่วย ถึงจะเข้มแข็ง เช่นอยู่เมืองไทยนี้พ่อแม่ทำให้หมด ให้คนใช้ทำให้หมด ก็เลยทำอะไรไม่เป็น แต่พอส่งไปอยู่เมืองฝรั่ง โดนอุเบกขาของฝรั่งเข้า ตอนนี้เข้มแข็ง ทำเป็นทุกอย่าง ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องได้ดุล โดยเฉพาะพ่อแม่นี่สำคัญที่สุด

พ่อแม่คนไทยนี่จะต้องเน้นด้านอุเบกขาให้มากขึ้น ว่าทำอย่างไรจะใช้ปัญญาให้มากขึ้น ลดด้านความรู้สึกลง และเติมด้านความรู้เข้าไป แต่ปัญญานี้ยาก มันไม่เหมือนความรู้สึก มันต้องคิดและพิจารณาว่า เออ อะไรที่ลูกของเราควรจะทำให้เป็น ควรจะฝึกรับผิดชอบ คิดแล้วมองเห็นแล้วก็มาดูให้เขาทำ ซึ่งจะเป็นการรักลูกระยะยาว ถ้ารักลูกมากด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาเกินไป จะกลายเป็นว่ารักลูกระยะสั้น มองการณ์ใกล้ สายตาสั้น แล้วจะปิดกั้นการพัฒนาของเด็ก

เมตตากรุณาสามารถปิดกั้นการพัฒนาของเด็กได้ เพราะเมื่อไม่มีอุเบกขาก็ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนา ฉะนั้นบางทีเด็กที่ถูกปล่อยถูกทิ้ง นี่แหละ ถูกอุเบกขาเข้าเต็มที่ ถ้าไม่เสียก็เก่งไปเลย เขาจะเข้มแข็ง จะช่วยตัวเองได้ดี แกร่งกล้า สามารถเจริญเติบโตงอกงามในสังคม

ควรจะยอมรับกันว่าดุลยภาพระหว่างธรรม ๔ ประการนี้เสียไปแล้วในสังคมไทย เพราะฉะนั้นตอนนี้จะต้องเน้นการปฏิบัติคุณธรรมชุดนี้ให้ครบชุดที่ว่า ต้องมีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยเฉพาะอุเบกขา เป็นตัวโยงปัญญามารักษาดุลยภาพไว้ให้เกิดความสมบูรณ์ในชีวิตและในสังคม ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป ยิ่งมาเป็นผู้บริหารก็ต้องมีครบ มิฉะนั้นก็จะเกิดความเอนเอียงเป็นอคติได้ ถ้าเมตตา กรุณา มุทิตา โดยมีอุเบกขากำกับอยู่ ก็จะดำรงรักษาความเป็นธรรมไว้ได้

 

เมื่อคนศึกษาและช่วยกันให้ศึกษาอย่างมีชีวิตชีวา
ชุมชนจึงจะมีบรรยากาศแห่งวิชาการ

เป็นอันว่าสังคมของเราจะต้องพยายามทำให้ได้ในหลักการสำคัญเหล่านี้ เราไม่จำเป็นจะต้องไปพูดถึงคุณธรรมปลีกย่อยมาก จับที่ตัวหลักขั้นรากฐานเหล่านี้ เช่นมีฉันทะตัวเดียวก็แทบจะแก้ปัญหาได้หมด แล้วคุณธรรมอื่นจะตามมาเป็นกระบวน ส่วนในเชิงปฏิบัติการก็อาจจะยกคุณสมบัติและวิธีปฏิบัติปลีกย่อยมาแนะนำเสริมเข้าไปให้ได้ผลยิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับแต่ละสถานการณ์ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องพูดในที่นี้ เพราะตอนนี้เรามุ่งวางฐานกันให้ดีเสียก่อน โดยให้ตัวคนทำงานทางการศึกษาและทางวิชาการอย่างมีชีวิตชีวา และชุมชนก็มีบรรยากาศทางวิชาการ

จะเห็นว่าสองอย่างนี้สัมพันธ์กันอยู่ เพราะเมื่อเรามีคุณสมบัติอย่างนี้ เช่น มีฉันทะ ก็ทำให้มีการแสวงปัญญาอย่างแท้จริง ทำให้วิชาการมีชีวิตชีวา และเมื่อคนที่มีฉันทะมาอยู่ร่วมกัน ก็จะเป็นชุมชนทางวิชาการที่มีบรรยากาศทางวิชาการ เริ่มตั้งแต่มีจุดหมายร่วมกัน คือ ใฝ่รู้ ใฝ่แสวงความจริง แล้วใฝ่ทำให้มันดีขึ้น เมื่อชุมชนมีจุดหมายร่วมกัน คนก็จะเอื้อต่อกัน ซึ่งจะสร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตรขึ้นมา แค่นี้บรรยากาศแห่งการศึกษาและวิชาการก็เกิดขึ้น

ความมีกัลยาณมิตรและเป็นกัลยาณมิตรนี้เป็นคุณสมบัติที่เราต้องการข้อแรกทีเดียว เราต้องตั้งเป้าหมายว่าทำอย่างไรจะให้ชุมชนหรือสังคมของเราเป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตร คือคนที่อยู่ในชุมชนทางวิชาการ เช่นมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน คือ เป็นปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อกันในการศึกษา หรือในการพัฒนาทุกด้าน ครูก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของลูกศิษย์ ครูอาจารย์เองด้วยกัน และลูกศิษย์ต่อลูกศิษย์ด้วยกันก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ผู้บริหารก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อการเจริญงอกงามของครูอาจารย์และของทุกคนในชุมชน

ความเป็นกัลยาณมิตรของครูอาจารย์และผู้บริหาร
คือสาระของการสร้างชุมชนแห่งการศึกษา

ผู้บริหารและครูอาจารย์นั้น อยู่ในฐานะเป็นผู้นำ ที่เอื้อการศึกษาแก่ศิษย์และคนอื่นๆ ในชุมชน จึงเป็นแกนกลางของการสร้างชุมชนแห่งการศึกษา หรือชุมชนวิชาการ ซึ่งเป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ดังนั้น ผู้บริหารและครูอาจารย์ จึงควรมีคุณสมบัติแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ที่ทางพระเรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ

เมื่อผู้บริหารและครูอาจารย์มีเมตตา กรุณา และมุทิตา ที่พูดไปแล้ว โดยแสดงออกมาอย่างถูกต้องในความสัมพันธ์ภายในชุมชน ก็จะมีคุณสมบัติของกัลยาณมิตรข้อแรก คือ

๑. ปิโย แปลว่า “ผู้เป็นที่รัก” หรือ “น่ารัก” หมายความว่า เป็นผู้รู้จักเอาใจใส่ในตัวบุคคลและสุขทุกข์ของเขา เข้าถึงจิตใจ ให้ความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนใจผู้เรียนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม

อย่างไรก็ตาม ปิโย เท่านั้นไม่พอ ปิโยนั้นได้มาจากเมตตา กรุณา มุทิตา จึงต้องมีอุเบกขามาคุมให้อยู่ในขอบเขตที่สมดุล คือพอดี ไม่ให้เกินขอบเขตไปจนกลายเป็นเสียธรรม คือ การปฏิบัติต่อคน หรือช่วยเหลือคน จะต้องไม่ให้เสียความเป็นธรรม ไม่ให้เป็นการทำลายหลักการ ไม่ให้เป็นการละเมิดต่อกฎเกณฑ์กติกาที่ชอบธรรม ไม่ให้เสียความรับผิดชอบ ไม่ละเลยหรือมองข้ามความถูกต้องสมควรตามเหตุผล นี้ก็คือการที่ผู้นำนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ทั้งกับคนและกับงาน ทั้งกับคนและกับธรรม หรือทั้งกับคนและกับหลักการ คือต้องเอาทั้งคนและทั้งงาน หรือเอาทั้งคนและหลักการ

ถ้าเอาคนอย่างเดียวก็จะเอียงสุดไปข้างหนึ่ง และจะเกิดปัญหาหรือเกิดความเสียหาย เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา จนไม่มีขอบเขต แม้จะปิโย คือเป็นที่รัก แต่ก็เสียหลักการ และทำให้เสียความเป็นธรรม นอกจากนั้น เมื่อพยายามทำตัวให้เป็นที่รักโดยเป็นกันเองเกินไปอย่างไม่มีขอบเขต ก็อาจจะเลยเถิดไปกลายเป็นเพื่อนเล่น หรือกลายเป็นที่ล้อเล่น จนกระทั่งคำพูดไม่มีความหมาย ไม่มีน้ำหนัก พูดอะไรเขาก็ไม่ฟัง อย่างนี้ก็หมดความหมาย พร้อมกันนั้นก็อาจจะกลายเป็นว่า แทนที่ตัวเองจะไปนำเขา ก็กลับถูกเขาชักพาออกนอกลู่นอกทางไป เลยหมดความเป็นผู้นำ

เพราะฉะนั้น ปิโย “เป็นที่รัก” ซึ่งเกิดจากคุณสมบัติในข้อ เมตตา กรุณา มุทิตา ที่เอาคน จึงต้องมีขอบเขตโดยมีความสมดุลกับข้ออุเบกขา ที่เอาธรรม เอาหลักการ เอาเหตุผล และเอาตัวงาน

ทีนี้ถ้าเอาตัวงาน เอาหลักการ หรือเอาธรรม ก็จะได้ลักษณะซึ่งเป็นคุณสมบัติของกัลยาณมิตรข้อต่อไป คือ

๒. ครุ แปลว่า “น่าเคารพ” คือ เป็นคนมีหลัก หนักแน่น ถือหลักการเป็นสำคัญ และมีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เป็นที่พึ่งได้

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเอาหลักการอย่างเดียว แม้จะน่าเคารพก็แห้งแล้ง บางทีไม่มีใครกล้าเข้าหน้าเลย อย่างนี้ก็ห่างเหิน เสียผลเหมือนกัน ครุ ก็จะเอียงข้างไป เพราะฉะนั้นจึงต้องพอดี ถ้าได้พรหมวิหารทั้งข้อ ๑-๒-๓ แล้วมาสมดุลกับข้อ ๔ ก็จะได้ทั้ง ปิโย เป็นที่รัก หรือน่ารักด้วย และ ครุ เป็นที่เคารพด้วย หมายความว่าได้ทั้งคนได้ทั้งงาน ได้ทั้งคนได้ทั้งหลักการ และได้ทั้งคนได้ทั้งธรรม อันนี้เป็นหลักการสำคัญแห่งดุลยภาพ

เป็นอันว่า คนที่น่าเคารพ เป็น ครุ นั้นจะยึดถือหลักการเป็นใหญ่ เอางานเป็นสำคัญ เอาธรรมนำหน้า เมื่อเอาใจใส่ดูแลคนให้ดี ก็เป็น ปิโย ด้วย ก็ได้ดุลยภาพอย่างที่ว่ามานี้

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของผู้ที่เป็น “ครุ” ซึ่งถือธรรมหรือหลักการเป็นใหญ่ ก็คือเป็นผู้เที่ยงตรง ไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียง ซึ่งเป็นแกนกลางของการรักษาดุลยภาพ และความสามัคคี พร้อมทั้งความมั่นคงของหมู่ชนที่ไปด้วยกัน เพราะถ้าเสียความเป็นธรรมแล้ว แม้แต่จะมีความรักใคร่กันอยู่ หรือแม้แต่จะเอาอกเอาใจกัน ก็จะเกิดความกินแหนงแคลงใจกัน สูญเสียเอกภาพ แต่เมื่อรักษาธรรมไว้ได้ ก็ไม่มีอคติ และไม่เสียสามัคคี

อคติ คือ ความลำเอียง หรือการเขวออกไปนอกทางที่ควรจะประพฤติปฏิบัติ มี ๔ ประการด้วยกัน คือ
ลำเอียงเพราะชอบ เรียกว่า ฉันทาคติ
ลำเอียงเพราะชัง เรียกว่า โทสาคติ
ลำเอียงเพราะขลาด เรียกว่า ภยาคติ
ลำเอียงเพราะเขลา เรียกว่า โมหาคติ

ต่อจาก ๒ ข้อนี้แล้วยังมีคุณสมบัติของกัลยาณมิตรเหลืออยู่อีก ๕ ประการ คือ

๓. ภาวนีโย แปลว่า “น่าเจริญใจ” คือ น่ายกย่อง เป็นแบบอย่างได้ ทำให้ผู้ที่ร่วมอยู่ร่วมไป คือ คนทั้งหลายในชุมชนนั้น มีความภาคภูมิใจ พอนึกถึงก็มีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวผู้บริหารและครูอาจารย์ ว่าเป็นผู้ที่มีการศึกษาจริง ได้พัฒนาตนแล้ว เป็นผู้มีสติปัญญา มีความสามารถ รู้จริง เก่งจริง และมีคุณธรรมความดีงามอย่างแท้จริง น่าเอาอย่าง

คุณสมบัติข้อนี้ อาจแยกได้อย่างน้อย ๒ ด้าน ซึ่งจะต้องนำไปอธิบายขยายความต่อไป คือ
ก) ด้านความรู้ความสามารถทางวิชาการ
ข) ด้านปฏิปทา หรือด้านการดำเนินชีวิต เช่น ความประพฤติทั่วไป ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการดำรงตนในสังคม เป็นต้น

๔. วัตตา “รู้จักพูด” หมายความว่า รู้จักพูดให้ได้ผล รู้ว่าในสถานการณ์ไหน และกับใคร ควรพูดอะไร อย่างไร เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่า พูดเป็น สอนเป็น เป็นนักสื่อสารที่ดี และเอาใจใส่สื่อสารกับผู้ร่วมไปด้วยอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เข้าใจกัน และรู้เข้าใจในสิ่งที่ทำ เป็นต้น

ที่จริง รู้จักพูดนั้น บางทียิ่งกว่าสื่อสารเก่งอีก คนที่รู้จักพูดนั้น จะพูดให้เขาเข้าใจก็ได้ พูดให้เขาเห็นใจก็ได้ พูดให้เขาเชื่อก็ได้ พูดให้เขาเห็นด้วยหรือคล้อยตามก็ได้ พูดให้เขาร่วมมือด้วยก็ได้ พูดให้เขารวมกำลังกันก็ได้ แต่ที่ท่านมุ่งหมาย ก็คือ พูดให้เขาเข้าใจ พูดให้เขาได้ประโยชน์ และพูดให้เขาช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ ต่างจากจิตวิทยาทุนนิยม ที่เน้นในแง่การพูดให้ตนเองได้ผลประโยชน์ หรือพูดหาผลประโยชน์ให้แก่ตน

พระพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของนักสื่อสารหรือนักสั่งสอนที่ดีไว้ ๔ อย่าง คือ

๑) พูดแจ่มแจ้ง คือ ชี้แจงอธิบายให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเหตุผลแจ่มแจ้ง หมดสงสัย เหมือนจูงมือไปเห็นกับตา (สันทัสสนา)

๒) พูดจูงใจ คือ พูดให้เห็นคุณค่าและความสำคัญ จนเกิดความซาบซึ้ง ยอมรับ อยากลงมือทำหรือนำไปปฏิบัติ (สมาทปนา)

๓) พูดเร้าใจ คือ ปลุกใจให้คึกคัก เกิดความแข็งขันมั่นใจและมีกำลังใจหาญกล้า กระตือรือร้นที่จะทำให้สำเร็จ โดยไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรคและความยากลำบาก (สมุตเตชนา)

๔) พูดให้ร่าเริง คือ ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งเมตตา ไมตรี ความหวังดี และความรู้สึกที่สดชื่นร่าเริง เบิกบานผ่องใส แช่มชื่นใจด้วยความหวังในผลดีและทางที่จะสำเร็จ (สัมปหังสนา)

ในเรื่องการพูดเป็น สอนเป็นนี้ สิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ การรู้จักใช้ วิธีสอน ที่เหมาะและได้ผล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องแยกออกไปอธิบายต่างหาก

๕. วจนักขโม คือรู้จักฟัง ท่านใช้คำว่า วจนักขโม แปลว่า “ทนหรือควรต่อถ้อยคำ”(ของคนอื่น) ไม่ใช่ว่าเอาแต่พูดแก่เขาอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับฟังใคร ต้องยอมรับฟัง เพราะการรู้จักรับฟังเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะสื่อสารให้ได้ผล แม้ว่าเขาพูดมาจะไม่ถูกใจอะไรก็ทนได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้งานการและประโยชน์ที่จะทำนั้นสำเร็จ เช่น ครูอาจารย์ถูกลูกศิษย์ซักไซ้ไต่ถาม ถามจุกจิก ถามเรื่องที่ครูคิดว่าน่าจะรู้แล้ว ถ้าครูอาจารย์ไม่มีความอดทนในการรับฟัง เดี๋ยวก็จะเบื่อ หรือรำคาญ ท่านว่าต้องมีคุณธรรมข้อนี้จึงจะแก้ไขได้ ต้องทำใจให้สบาย อดทนรับฟังเขาเพื่อให้เข้าใจเขาและช่วยเขาได้ดี

๖. คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา แปลว่า “รู้จักแถลงเรื่องราวต่างๆ ที่ลึกซึ้ง” ปัญหาอะไรที่หนักและยาก ก็เอามาชี้แจงอธิบาย ช่วยทำให้ศิษย์เป็นต้นมีความกระจ่างแจ้ง เรื่องที่ลึกที่ยากก็ทำให้ตื้นให้ง่ายได้ และพาเขาเข้าถึงเรื่องที่ยากและลึกลงไปๆ อย่างได้ผล

๗. โน จัฏฐาเน นิโยชะเย แปลว่า “ไม่ชักนำในอฐานะ” คือ ในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง ที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สาระ ออกนอกเรื่องนอกราว เหลวไหล ไม่เกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย

ธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการนี้ เป็นคุณสมบัติที่มาประกอบเสริมกัน และมาประสานเข้ากับพรหมวิหาร ๔ ประการ ที่พูดไปก่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารและครูอาจารย์ทำหน้าที่สำเร็จผลดีอย่างแท้จริง

 

การปกครองที่แท้ คือเครื่องมือของการศึกษา

โดยเฉพาะการบริหารที่ถูกต้อง จะเป็นการโยงและประสานและเกื้อหนุนให้สิ่งแวดล้อมและภาวะเอื้อต่อกันที่เราต้องการนั้นเกิดขึ้น การบริหารแบบนี้จะเป็นการบริหารเชิงบวก ไม่ใช่บริหารเชิงลบที่ตั้งใจไปควบคุม และการปกครองที่เป็นส่วนสำคัญของการบริหารก็จะดำเนินไปในทางที่ถูก

การปกครองในยุคปัจจุบันนี้น่าจะกำลังพลาด แม้แต่การปกครองของพระสงฆ์ก็เขวออกไป การปกครองได้กลายเป็นการปกครองเพื่อการปกครอง คือการปกครองเพื่อมุ่งความเรียบร้อยให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาที่วางไว้ เป็นต้น ถ้าคนอยู่กันเรียบร้อย สังคมสงบเรียบร้อยก็คิดว่าบรรลุจุดหมายของการปกครอง ซึ่งที่จริงยังไม่ใช่ และเมื่อเน้นการปกครองเพื่อการปกครอง ก็จะต้องมีการบังคับควบคุมให้อยู่ในกฎเกณฑ์กติกา และใครละเมิดก็ต้องลงโทษ การปกครองก็จะเน้นอำนาจ

การปกครองที่แท้จริงนั้น มีขึ้นเพราะอะไรและเพื่ออะไร เรามีชุมชนขึ้นมา แล้วต้องการให้คนในชุมชนนั้นมีชีวิตที่ดีงามมีความสุข แต่ชีวิตที่ดีงามนั้นคืออะไรและเพื่ออะไร พูดสั้นๆ ว่า ชีวิตที่ดีงามเป็นชีวิตแห่งการฝึกฝนพัฒนา เพราะมนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงามขึ้นมาได้เฉยๆ ลอยๆ มนุษย์แม้แต่จะนั่ง แม้แต่จะนอน แม้แต่จะขับถ่าย กิน เดิน พูด ก็ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน หรือฝึกหัดพัฒนาขึ้นมาทั้งนั้น หมายความว่า ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ไม่ได้มาเปล่าๆ ไม่เกิดขึ้นเพียงจากสัญชาตญาณ แต่ได้มาด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา เราต้องการให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม เราจึงสร้างชุมชนและสังคมขึ้น และสร้างสรรค์ให้สังคมนั้นเป็นสภาพเอื้อต่อการที่ชีวิตของแต่ละคน จะได้มีโอกาสพัฒนาขึ้นไปเป็นชีวิตที่ดีงาม

ในเมื่อชีวิตที่ดีงามต้องอาศัยการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา เราจึงต้องสร้างสังคมหรือชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมและระบบความเป็นอยู่ เป็นต้น ที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน ด้วยเหตุนี้แหละพระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งสังฆะเป็นชุมชนขึ้นมา เพื่อให้พระภิกษุทุกรูปที่เข้ามาในชุมชนนี้ ได้พัฒนาชีวิตของตนเข้าสู่จุดหมายที่จะเป็นชีวิตที่ดีงาม

แกนกลางของความเป็นอยู่ในชุมชนนั้น ก็คือการศึกษา ทุกคนมีหน้าที่พัฒนาชีวิตของตนเองให้เข้าถึงความดีงาม และเราก็สร้างชุมชนหรือสังคมขึ้นมาเพื่อจะได้เป็นสภาพเอื้อต่อการศึกษาของแต่ละชีวิตนั้น ถ้าคนไม่มีชุมชนนี้ หรือไม่มีสังคมอย่างนี้ เขาก็จะไม่ได้โอกาส สภาพแวดล้อมจะไม่เอื้อ เช่นมีการเบียดเบียนกัน มัวแต่เดือดร้อนวุ่นวาย แต่เมื่อมาอยู่ในชุมชนนี้แล้ว สภาพแวดล้อมทุกอย่าง และระบบความเป็นอยู่ ได้จัดตั้งวางไว้เพื่อเอื้อต่อการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาชีวิตของตนเข้าสู่ความดีงาม เพราะฉะนั้นสังคมจึงเป็นสภาพเอื้อในแง่นี้

ตามหลักการที่ว่านี้ การปกครอง มีขึ้นเพื่ออะไร การปกครองนั้นเป็นสื่อประสานความร่วมมือร่วมทุนร่วมแรงร่วมใจร่วมสามัคคีเป็นต้น เพื่อจัดสรรโอกาส จัดสรรบรรยากาศ จัดสรรระบบความสัมพันธ์ของคน จัดสรรกิจการ จัดสรรสภาพแวดล้อมทุกอย่าง ให้เอื้อต่อการที่มนุษย์จะได้ดำเนินชีวิต กิจกรรม และกิจการต่างๆ เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคมของตน ให้แต่ละคนเข้าถึงความมีชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นชุมชนที่ดีจึงเป็นชุมชนแห่งการศึกษา และมีการปกครองเพื่อเอื้อต่อการศึกษานั้น

พูดสั้นๆ ว่า การปกครองมีไว้เพื่อจัดสรรโอกาส คือเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของคนเข้าสู่ความดีงามสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นสาระที่แท้จริงของชีวิตและของสังคม ขอย้ำด้วยการถามใหม่ตอบใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า การปกครองมีเพื่ออะไร เพื่อการศึกษา นี่เป็นคำตอบรวบยอด ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าจัดการปกครองขึ้นมา กิจกรรมทุกอย่างในการปกครองนั้น ในขั้นสุดท้าย จะโดยตรงก็ตาม โดยอ้อมก็ตาม ก็เพื่อเกื้อหนุนการศึกษาทั้งสิ้น

การปกครอง เพื่อการศึกษา คือเพื่อจัดสรรโอกาสให้กิจกรรมและกิจการทุกอย่างดำเนินไปในทางที่ช่วยพัฒนาชีวิตของคน หรือช่วยให้คนได้พัฒนาชีวิตของตน และการที่คนจะพัฒนาชีวิตก็ต้องมีฉันทะ

เมื่อมองย้อนกลับ คนจะต้องมีฉันทะ การปกครองจึงจะเป็นไปได้ด้วยดี ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อคนมีฉันทะคือต้องการไปสู่จุดหมายของชีวิต ของกิจการ และของสังคม ที่การปกครองจัดสรรโอกาสให้ เขาก็ย่อมเดินหน้ามุ่งไปในทางสู่จุดหมายนั้น ทุกอย่างก็เรียบร้อยเป็นไปด้วยดี แต่ถ้าคนไม่มีฉันทะ เขาไม่ต้องการไปสู่จุดหมายของชีวิตของกิจการและของสังคม แต่เขาต้องการสิ่งอื่นที่อยู่นอกทางนั้น เขาก็ย่อมแตกแยกเขวออกไปนอกทาง ความวุ่นวายก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าขาดฉันทะ การปกครองที่ดีก็ไม่มีทางสำเร็จ

มองดูอย่างง่ายๆ ในชุมชนทางวิชาการ ถ้าทุกคนในชุมชนนั้นมีฉันทะใฝ่ปรารถนาตรงต่อจุดหมายของวิชาการ ซึ่งเป็นจุดหมายที่ตรงกันและร่วมกันของชุมชน การปกครองก็ทำหน้าที่ของมันไปอย่างราบรื่น แต่ถ้าคนในชุมชนนั้นไม่มีฉันทะคือไม่ใฝ่ปรารถนาต่อจุดหมายของวิชาการ กลับไปใฝ่ปรารถนาสิ่งอื่น การปกครองก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปโดยเรียบร้อยด้วยดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๒ – ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.