– ๓ – ความสัมพันธ์ในชุมชนทางวิชาการ

23 สิงหาคม 2539
เป็นตอนที่ 4 จาก 4 ตอนของ

จะตั้งชุมชนแห่งการศึกษา
ต้องสถาปนาระบบกัลยาณมิตรให้ได้

เราพูดได้ว่า เมื่อตั้งสังฆะคือชุมชนขึ้นมาก็ต้องมีการปกครอง แต่สังฆะนั้นโดยพื้นฐานก็คือชุมชนที่เอื้อ ซึ่งคนผู้ต้องการพัฒนาตนเอง ต้องการชีวิตที่ดีงาม จะได้เข้ามาอยู่ร่วมกัน และแต่ละคนก็เป็นตัวเอื้อต่อกัน เช่น ท่านที่พัฒนาแล้วหรือผู้ที่พัฒนามากกว่า เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้า ก็ทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ มาช่วยแนะนำสั่งสอนคนที่ใหม่กว่า ส่วนคนที่อยู่ในระดับเดียวกันซึ่งมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน ก็มาเอื้อต่อกันด้วยลักษณะการเป็นอยู่และกิจกรรม เช่นการปรึกษาหารือสนทนาเป็นต้น พร้อมทั้งเป็นชุมชนที่เป็นแหล่งการศึกษาแก่คนภายนอกที่ต้องการ แม้แต่ที่เข้ามาชั่วคราว รวมทั้งเป็นแหล่งของผู้พัฒนาตัวเองแล้ว ที่จะออกไปช่วยแนะนำให้การศึกษาแก่ผู้คนข้างนอกกว้างขวางออกไป

ว่าโดยสรุป ชุมชนแห่งการศึกษา มีบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อกัน ดังนี้

ก. ครูอาจารย์หรือผู้ที่ศึกษามากกว่า ช่วยเอื้อการศึกษาแก่ผู้ที่ศึกษาน้อยกว่า

ข. ผู้ศึกษาทั้งหลายในระดับต่างๆ มีความเป็นอยู่และกิจกรรมที่เอื้อการศึกษาแก่กันและกัน

ค. ชุมชนเป็นแหล่งเอื้อการศึกษาแก่คนภายนอก ที่จะเข้ามาแสวงการศึกษา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ง. ชุมชนเป็นแหล่งชุมนุมผู้มีการศึกษา ที่จะออกไปเอื้อการศึกษาแก่คนทั่วไปในสังคม

จ. ชุมชนการศึกษาต่างแห่ง เอื้อการศึกษาแก่กันและกัน

ชุมชนมหาวิทยาลัยและชุมชนทางวิชาการทั้งหลายก็ควรเป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่ มหาวิทยาลัยควรเป็นชุมชนที่ทำหน้าที่ไม่เฉพาะแต่วิชาการ คือไม่ใช่ศึกษาในความหมายจำกัดทางวิชาการล้วนๆ แต่ทุกคนเข้ามาแล้วจะได้พัฒนาชีวิตของตนไปสู่ความดีงาม รวมทั้งอาจารย์ก็พัฒนาชีวิตของตนเองไปสู่ความดีงาม และมีความสุขในการแสวงหาความรู้ ในการทำงานสร้างสรรค์ ในการสอน ในการให้วิชาความรู้แก่ลูกศิษย์ ช่วยเอื้อแก่ชีวิตของลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็พัฒนาตนขึ้นไปและเอื้อต่อเพื่อนศิษย์ในการแสวงปัญญาและพัฒนาชีวิต ผู้บริหารก็ปกครองด้วยการสร้างสภาพเอื้อ เพื่อช่วยให้อาจารย์และช่วยให้ลูกศิษย์พัฒนาตัวของเขาและช่วยกันพัฒนาตนขึ้นมา ถ้าอย่างนี้ก็เป็นชุมชนกัลยาณมิตร ที่มีบรรยากาศทางวิชาการ หรือพูดให้ตรงยิ่งกว่านั้นว่ามีบรรยากาศแห่งการศึกษา ซึ่งสมาชิกของชุมชนเอื้อต่อกัน เริ่มตั้งแต่มีไมตรี มีเมตตา กรุณา มีแต่การปฏิบัติในเชิงสร้างสรรค์หรือทางบวก

ในทางตรงข้าม ถ้าไม่มีหลักการนี้ที่ประสานโยงกันหมดทั้งความมุ่งหมายของชีวิตบุคคลและวัตถุประสงค์ของการมีชุมชน ดีไม่ดีการปกครองก็จะเลื่อนลอยและไปเน้นด้านลบ เช่น จะใช้อำนาจ การปกครองจะมุ่งในแง่นั้น เพราะขาดระบบความสัมพันธ์แห่งจุดหมายของแต่ละขั้นตอน

ในระบบความสัมพันธ์ที่โยงส่งต่อกันสู่จุดหมายที่ชัดเจนนี้ คุณสมบัติและข้อปฏิบัติต่างๆ จะประสานกลมกลืนกัน เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา เมื่อมาเข้าระบบนี้ ก็สอดคล้องกันหมด โดยจะมีอุเบกขาคอยคุมว่าต้องให้อยู่ในขอบเขต ครูอาจารย์ปรารถนาดี มีความรัก เอาใจใส่ และมีน้ำใจช่วยเหลือส่งเสริมศิษย์ทั่วไปเสมอกันทุกคน แต่จะไม่ช่วยเขาเกินเหตุผล

นี่เธอจะมาหาความรู้เรื่องนี้หรือ เธอต้องรับผิดชอบตัวเองด้วย เธอจึงจะได้ความรู้ คือเธอจะต้องทำตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ฉันมีเมตตากรุณาคือ ช่วยแนะนำเธอให้ไปอ่านหนังสือเล่มนั้น ไปอ่าน ไปค้นเอา ไม่ใช่ฉันเขียนให้ ถ้าฉันเขียนให้ก็เมตตากรุณาเลยขอบเขต เสียดุล ถ้าฉันไม่มีอุเบกขา เธอก็ไม่พัฒนา

เพราะฉะนั้น เมตตาก็แสดงน้ำใจว่า เอ้อ ฉันจะช่วยแนะนำให้ แต่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่เธอพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นฉันชี้แนะให้เธอไปทำนี่ ทำนั่น ทำโน่น อุเบกขาก็มาต่อคอยดูให้เธอทำงานให้ถูกต้อง แล้วเธอก็ประสบความสำเร็จ
ในการบริหารหรือการอะไรก็ตาม องค์ประกอบในการปฏิบัติจะเข้ามาประสานกันหมด การบริหารเป็นต้นนั้นจึงจะมาช่วยเอื้อ รวมความว่าต้องครบทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ในการสร้างบรรยากาศแห่งการศึกษา ในชุมชนทางวิชาการ ถือได้ว่าระบบความสัมพันธ์ของคนที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่กัน โดยมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาที่ครบสี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐาน และมีกัลยาณมิตรธรรม ๗ เป็นคุณสมบัติเฉพาะเชิงปฏิบัติการ ดังกล่าวมานี้ เป็นองค์ประกอบข้อที่ ๑ พูดสั้นๆ ว่า ระบบกัลยาณมิตร

 

วินัยคือการจัดสรรโอกาส
การจัดสรรโอกาสสัมฤทธิ์ผล เมื่อคนมีศีล

อะไรจะเป็นหลักประกันหรือเครื่องเกื้อหนุนในทางรูปธรรม ที่จะให้เกิดความมั่นคงแก่ชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ที่ทุกคนเอื้อต่อการศึกษาของกันและกัน ที่ระบบทั้งหมดเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน และเอื้อต่อกิจกรรมในการศึกษา สิ่งนั้นก็คือ วินัย

วินัย คือการจัดสรรสภาพแวดล้อม ระบบการเป็นอยู่ และระบบความสัมพันธ์ที่จะมาเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตนี่แหละ พูดสั้นๆ ว่า วินัยคือการจัดสรรโอกาส วินัยมีความหมายเชิงบวก ไม่ควรมองวินัยเป็นเครื่องบังคับ

คนที่ไม่มีการศึกษาจะมองวินัยเป็นเครื่องบังคับ คนที่เริ่มศึกษาจะมองวินัยเป็นเครื่องฝึก ถ้ามองเป็นเครื่องฝึก ก็รู้สึกว่า “ได้” ทันที แต่ถ้ามองเป็นเครื่องบังคับก็ “เสีย” ทันที การกระทำด้วยความจำใจจะเกิดขึ้น แต่พอมองเป็นเครื่องฝึกว่า อ้อ วินัย คือการจัดสรรโอกาส จัดสรรสภาพแวดล้อมและระบบความสัมพันธ์ทางสังคมทุกอย่าง ให้เอื้อต่อการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาสู่การบรรลุจุดหมายของชีวิต ความพร้อมและความเต็มใจสุขใจในการปฏิบัติตามจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง เราจัดวินัยในบ้านทำไม เราวางของเป็นที่ทำไม เก้าอี้เราวางไว้ตรงนั้นให้เป็นระเบียบ ให้มีวินัยทำไม เพราะว่าถ้าเราไม่มีวินัย ขืนวางของไว้เกะกะ เอาเก้าอี้มาวางกระจัดกระจายเต็มไปทั้งบ้าน เราจะเดินจากนี่ไปแค่ประตู กว่าจะเดินไปถึงก็หลายนาที แล้วก็เดินเตะโน่น เตะนี่ ดีไม่ดีก็จะล้มเจ็บ อย่างน้อยก็เสียเวลา แต่พอเรามีวินัย ของเหล่านั้นอยู่ในที่ที่ควรอยู่ เราเดินปรู๊ดเดียวถึงประตูเลย ฉะนั้นวินัยจึงเป็นการจัดสรรโอกาส

เมื่อสังคมมีวินัยอย่างมีความมุ่งหมาย วินัยก็จัดสรรโอกาส ด้วยการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จัดระเบียบความเป็นอยู่ของคน และจัดสภาพแวดล้อมทุกอย่างให้เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของแต่ละคน ที่จะเข้าถึงความดีงาม เมื่อวินัยจัดสรรโดยมีจุดหมายอย่างนี้ ถ้ามันยังไม่ถูกใจเราหรือขัดใจเราก็เพราะว่าปัญญาของเรายังไม่มีพอที่จะเข้าใจ และจิตใจของเรามีความปรารถนาไม่ถูกต้อง เช่นมองวินัยในแง่ลบว่าเป็นเครื่องบีบบังคับ โดยไม่รู้เข้าใจความมุ่งหมาย และเรามีความเห็นแก่ตัว อยากทำอะไรตามชอบใจ

เราต้องมองวินัยในแง่บวกว่ามันมาช่วยสร้างโอกาสให้เรา แล้วเราก็จะมองวินัยว่าเป็นเครื่องฝึก  พอมองวินัยเป็นเครื่องฝึก เราก็รู้สึกว่าเราได้ทันที พอรู้สึกว่าได้เราก็มีความสุขที่จะปฏิบัติตาม เพราะคนที่รู้สึกอยากฝึกตนก็จะมีความสุขในการฝึกตัวเอง เขาจึงประพฤติวินัยด้วยความสุข

เมื่อมีวินัย หรือตั้งอยู่ในวินัย ก็เรียกว่า “มีศีล” ไม่ใช่ “มีวินัย” ที่จริงเราพูดผิด ความมีวินัยไม่มีศัพท์ วินัยมีความหมายว่า

หนึ่ง การจัดตั้งวางระเบียบระบบ

สอง ข้อกำหนดที่วางไว้เป็นแม่บทสำหรับจัด และ

สาม การฝึกให้คนปฏิบัติตามข้อกำหนดที่วางไว้

นี่คือความหมายของวินัย โดยเฉพาะความหมายที่สามนั้นคือการปกครอง พูดอีกครั้งว่า

๑. วินัย คือ การจัดระเบียบความเป็นอยู่ ระบบสังคม และสภาพแวดล้อม เป็นต้น ให้เกิดโอกาส

๒. วินัย คือ ตัวข้อความ หรือข้อกำหนดที่วางไว้ เพื่อให้รู้ว่าจะจัดอย่างไรเพื่อให้การจัดนั้นเกิดผลเป็นจริงในทางปฏิบัติ เช่นที่เรียกว่า กฎหมาย

๓. วินัย คือ การจัดการให้คนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกา หรือระบบระเบียบที่วางไว้นั้น ข้อนี้ก็คือ การปกครอง การปกครองก็เป็นความหมายอย่างหนึ่งของวินัย

วินัยทั้งสามความหมายอยู่นอกตัวคนทั้งนั้น ทีนี้เมื่อคนปฏิบัติตามวินัย ซึ่งอาจจะเรียกว่า ตั้งอยู่ในวินัยนั้น ก็เกิดเป็นคุณสมบัติของคนที่เราเรียกว่า ศีล ศีลก็คือ การที่คนนั้นตั้งอยู่ในวินัย ปฏิบัติตามวินัย

ในภาษาไทยเวลานี้สับสน คือ เราแยกวินัยกับศีลไม่ออก วินัยนั้นอยู่ข้างนอก ศีลอยู่ในตัวคน ทันทีที่คนปฏิบัติตามวินัย ก็เกิดเป็นศีลทันที คือคนตั้งอยู่ในวินัยลงตัวจนกลายเป็นพฤติกรรมปกติของเขา ศีลเป็นพฤติกรรม วินัยไม่ใช่เป็นตัวพฤติกรรม วินัยเป็นตัวที่ฝึกพฤติกรรม หรือตัวนำพฤติกรรม เราจะให้พฤติกรรมเป็นอย่างไร วินัยก็ว่าอย่างนั้น ส่วนพฤติกรรมของคนนั้นเป็นศีล เป็นการปฏิบัติ นี่ข้อสองแล้วนะ ชุมชนต้องมีวินัย คือคนต้องมีศีลนั่นเอง

เมื่อการปฏิบัติตามวินัยกลายเป็นคุณสมบัติในตัวคน คือคนมีศีล ก็เหมือนกับว่าวินัยของชุมชนเข้าไปอยู่ในตัวคนแล้ว ระเบียบระบบที่จัดตั้งวางไว้เพื่อจัดสรรโอกาส ก็บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ และระบบความสัมพันธ์ของชุมชนกัลยาณมิตรก็เกิดมีขึ้น

คุณสมบัติสำคัญของผู้ร่วมสร้างชุมชนแห่งการศึกษา
และพัฒนาบรรยากาศแห่งวิชาการ

คุณสมบัติ ๒ อย่างที่พูดมา คือ ความมีกัลยาณมิตร และความตั้งอยู่ในวินัยที่เรียกว่าศีลนั้น เป็นสองข้อแรกในคุณสมบัติ ๗ ประการ ที่เรียกว่า “รุ่งอรุณของการศึกษา” เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่จะทำให้บุคคลก้าวไปในการศึกษาหรือในการพัฒนาชีวิตได้อย่างมั่นใจ ทำให้การศึกษาเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา เพราะเป็นการศึกษาตัวแท้ตัวจริง คนที่มีคุณสมบัติเหล่านั้น จึงเป็นส่วนร่วมที่จะสร้างชุมชนแห่งการศึกษา และพัฒนาบรรยากาศแห่งวิชาการให้สำเร็จได้

รุ่งอรุณของการศึกษาอีก ๕ ข้อที่เหลือ จะพูดถึงไว้เพียงให้ทราบหัวข้อหรือพอให้เห็นความหมาย

ข้อสาม คือมีแรงจูงใจ ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์ ได้แก่ ฉันทะ ที่ว่ามาแล้ว ซึ่งเป็นพลังภายในที่จะต้องสร้างให้ได้

จากนั้นก็สี่ ต้องเป็นคนมีจิตสำนึกในการฝึกตน หรือจิตสำนึกในการศึกษาอยู่เสมอ หมายความว่ามีความต้องการที่จะฝึกตน โดยรู้ตระหนักว่าชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตน พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนให้ถึงความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์แห่งศักยภาพของมนุษย์ จิตสำนึกนี้จะทำให้เราพลิกความยากเป็นความสุขได้

คนที่ต้องการฝึกตน เมื่อเจออะไรก็อยากใช้เป็นเครื่องฝึกตน เมื่อรู้ว่าชีวิตดีงามจะได้มาด้วยการฝึก เราก็อยากฝึกตนอยู่เสมอ อะไรจะทำให้เราฝึกตนได้เราก็ชอบ อยากจะเจอ อยากจะทำ เช่น ปัญหา พอไปเจอปัญหาเราก็ได้ฝึกตัวเอง ฉะนั้นคนพวกนี้จะพัฒนาไปถึงจุดที่จะมีคติว่า ยิ่งเจอสิ่งยากก็ยิ่งได้ฝึกตนมาก หรือยิ่งยากยิ่งได้มาก

ตรงข้ามกับคนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกตน พอไปเจออะไรต้องทำหน่อยก็ถอย ถ้าจำเป็นก็ต้องจำใจทำด้วยความทุกข์ หนึ่ง ตัวเองก็ทุกข์เพราะ ฝืนใจ สอง งานก็ไม่ได้ผล เพราะไม่เต็มใจทำ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน พอเจอสิ่งที่ต้องทำก็ชอบ เพราะจะได้ฝึกตน แล้วยังมีคติว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก อะไรที่ง่าย ก็ได้นิดเดียว เมื่อได้ฝึกตนเองมากก็ยิ่งมีความสุขมากจากสิ่งที่ยาก ทั้งที่เจอสิ่งที่ยาก แต่สุขภาพจิตก็ดี แล้วตั้งใจทำจึงได้ผลสมบูรณ์ นี่แหละการศึกษาช่วยคนอย่างนี้ เพราะฉะนั้น คนยิ่งพัฒนาในการศึกษา ก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มมากขึ้นทุกที

ต่อไปก็ ข้อห้า มีแนวคิดที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษาสืบค้น แนวความคิดบางอย่างไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น มีแนวความคิดความเชื่อถือว่า อะไรจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น ก็แล้วแต่โชค คนที่คิดและเชื่ออย่างนี้จะไม่คิดสืบแสวงหาความรู้ แต่ถ้ามีแนวความคิดว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอเกิดอะไรหรือเจออะไร แนวคิดความเชื่อนั้นก็จูงเราไปสู่การสืบค้นเหตุปัจจัย คือหาความรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีแนวความคิดที่จะมาส่งเสริมการเรียนรู้ หรือการศึกษา ก็คือ เริ่มด้วยแนวความคิดความเชื่อ ในหลักการแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ

ต่อไปข้อหก ความไม่ประมาท ซึ่งพ่วงมากับการเห็นคุณค่าของกาลเวลา และการมีจิตสำนึกในความเปลี่ยนแปลง ความไม่ประมาทนี้ทำให้เรากระตือรือร้นอยู่เสมอ

จะต้องระลึกไว้ว่า การประพฤติปฏิบัติทำสิ่งที่ดีงามต่างๆ จะไม่ใช่เพียงเพื่อเสพเสวยผลของมันเป็นจุดหมายแล้วก็จบเท่านั้น เช่นว่า ได้ความสุขแล้วก็หยุด หรือบรรลุความสำเร็จแล้วก็หยุด หรือทำได้ดีแล้วก็หยุด

ความดี ความสุข ความสำเร็จ เป็นหลุมดักที่มักทำให้คนประมาท เราจะต้องไม่ยอมให้ความดี ความสุข ความสำเร็จ มาหยุดยั้ง ทำให้เราเพลิดเพลินมัวเมา หลงละเลิง ลืมตัว เมื่อดี สุข สำเร็จแล้ว จะต้องไม่ยอมหยุด ต้องก้าวต่อไป ต้องไม่ตกหลุมล่อของความดีงาม ความสุข ความสำเร็จนั้น ถ้าใครเพลิดเพลิน ยินดี ภูมิใจ แล้วหยุด เรียกว่าประมาท ต้องไม่ประมาทคือก้าวต่อไปจนตลอด

สุดท้ายข้อ ๗ ก็มี โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิด รู้จักพิจารณา มีวิธีคิด เช่นคิดตามหลักการแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอเจออะไรก็ถามว่า คืออะไร ประกอบด้วยอะไร เป็นอย่างไร ทำไมเป็นอย่างนี้ จะเอาไปใช้อะไรได้ มีแง่ดีแง่เสียอย่างไร มีส่วนเสียกี่อย่าง ส่วนดีกี่อย่าง ฯลฯ ยิ่งตั้งคำถามมากๆ โยนิโสมนสิการก็ยิ่งเกิด จนมีนิสัยในการสืบค้น อย่างน้อยเมื่อเจออะไรก็ไม่ติดอยู่กับความชอบใจหรือไม่ชอบใจ แต่คิดตามแนวทางของเหตุปัจจัย

คนเรานี้มีท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายหรือต่อประสบการณ์ที่ได้พบ แยกได้ เป็น ๒ พวก คือ พวกหนึ่ง อยู่กับความชอบใจไม่ชอบใจ พวกนี้ ตัน วนเวียน เป็นนักเสพ สุขทุกข์จบอยู่กับความชอบใจและไม่ชอบใจเท่านั้น ไม่ไปไหน ส่วนอีกพวกหนึ่งมองตามเหตุปัจจัย พอเจออะไร ก็มีเรื่องต้องค้นทันที เพราะเหตุปัจจัยอะไรถึงเป็นอย่างนี้ มันเกิดเพราะอย่างนี้ มีแต่ความรู้ มีแต่เรื่องของสิ่งที่ทำ ทุกข์ก็ไม่มี ปัญญาก็เกิด พอได้เรียนรู้ ได้ทำ ได้เกิดปัญญา ก็ยิ่งมีความสุข จึงพัฒนาเรื่อยไป

โยนิโสมนสิการนี่มีวิธีมาก เช่น มองตามเหตุปัจจัย มองในแง่วิเคราะห์ มองแบบจำแนกแยกแยะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยวิธีแห่งโยนิโสมนสิการนี้ พระองค์ไม่ใช่นั่งเฉยๆ เช่นพระองค์เล่าว่า เราเกิดความคิดอันนี้ขึ้นมา เราถามตัวเองว่า ความคิดความรู้สึกนี้เกิดเพราะอะไร อะไรมีจึงเกิดอันนี้ขึ้นมา ศึกษาสืบค้นไปจนพบความจริงว่า อ้อ เพราะอันนั้นมี อันนี้จึงมี แล้วอันนี้ล่ะ ฯลฯ ก็ถาม และสืบค้นต่อๆ ไป ปัญญาก็ยิ่งพัฒนา จนในที่สุดก็ถึงจุดที่เป็นโพธิ

การศึกษาเป็นการพัฒนาคน เป็นการเรียนรู้ ฝึกฝน ให้เกิดคุณสมบัติต่างๆ มากมาย และจุดยอดของคุณสมบัติเหล่านั้นก็คือปัญญา เมื่อพูดถึงปัญญาในฐานะเป็นคุณสมบัติที่เยี่ยมยอดของมนุษย์ ก็จึงโยงไปหาคุณสมบัติอื่นๆ ที่มากมายเหล่านั้นด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดกันถึงมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นแหล่งวิชาการที่ยิ่งใหญ่ และโยงไปหาปัญญา เรื่องการแสวงปัญญา ก็จึงโยงไปหาคุณสมบัติต่างๆ ของมนุษย์อีกเป็นอันมาก

คุณสมบัติทั้งหลายที่ว่ามีมากมายนั้น โดยเฉพาะสำหรับผู้อยู่ในวงการแห่งการศึกษา หรือวงวิชาการ ทั้งผู้บริหารและครูอาจารย์ ตลอดจนนิสิตนักศึกษาและนักเรียน ในที่นี้ได้พูดไว้ไม่กี่อย่าง เฉพาะที่ถือว่าเป็นคุณธรรมหรือคุณสมบัติหลัก ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานและจำเป็น

การที่ได้พูดเฉพาะคุณธรรมพื้นฐานก็เพราะว่า คุณธรรมทั้งหลายเป็นส่วนย่อยอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เมื่อเราจับจุดถูก คือพัฒนาคุณสมบัติที่เป็นแกนหรือเป็นมูลฐานขึ้นมาได้แล้ว คุณธรรมปลีกย่อยต่างๆ ก็เกิดตามมาเอง หรือเกิดพ่วงมาได้ง่าย เช่น เมื่อพัฒนาคนให้มีฉันทะ ซึ่งเป็นคุณธรรมมูลฐานแล้ว ก็มั่นใจได้แทบจะโดยสมบูรณ์ว่า ความขยัน ความอดทน ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ฯลฯ จะเกิดตามมาชนิดวางใจได้

ที่พูดนี้ มิใช่หมายความว่าจะไม่มีปัญหาจริยธรรมอีกเลย แต่ปัญหาจะเหลือน้อยอย่างยิ่ง ในทางตรงข้าม ถ้าไม่พัฒนาคุณธรรมมูลฐานนี้ขึ้นมา เช่น คนสอน คนทำงาน คนเรียน ไม่มีฉันทะ ถึงจะพยายามอบรมสั่งสอนคุณธรรมต่างๆ มากมาย ก็ยากที่จะสำเร็จ วันเวลาจะหมดไป ตัวงานที่เป็นสาระไม่เดินหน้า มัวแต่สาระวนกับการแก้ปัญหาจนแทบไม่เป็นอันทำอะไร

บางทีเราพูดกันถึงจริยธรรมทางวิชาการ เช่น จริยธรรมในการทำงานวิจัย แต่มักมองจริยธรรมนั้นในความหมายแคบๆ ตื้นๆ เช่น ความซื่อตรงที่จะเขียนงานที่เป็นของตนเอง และอ้างหลักฐานที่มาที่ไปให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่โกงผลงานของผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณธรรมและพฤติกรรมในระดับผลข้างปลาย ไม่ลงไปถึงรากฐานหรือแก่นแท้ของการศึกษา ที่เป็นเหตุปัจจัยของจริยธรรมเหล่านั้น ถ้าอยู่กันด้วยจริยธรรมแค่ระดับนี้ ก็จะต้องยุ่งอยู่กับการสร้างมาตรการควบคุมและลงโทษเป็นต้น และแม้จะควบคุมได้ ก็จะไม่สามารถสร้างงานวิชาการที่มีคุณภาพเป็นเลิศซึ่งบรรลุจุดหมายแห่งการศึกษาและการสร้างสรรค์ที่แท้จริง

ถึงจะร่ำร้องและเรียกร้องอย่างไรๆ ให้คนมีจริยธรรม ถ้าไม่สร้างฉันทะที่เป็นรากเหง้าต้นตอของมันขึ้นมา ก็อย่าพึงหมายว่าจะสำเร็จ

สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อมองโดยภาพรวมทั้งหมด การพัฒนาคุณสมบัติทั้งหมดที่ได้พูดมาก็ตาม ไม่ได้พูดก็ตาม ก็อยู่ที่การพัฒนาชีวิต ๓ ด้านของมนุษย์ คือ การพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา

ถ้าเราโยงการพัฒนา ๓ ด้านนี้ให้มาประสานกัน และให้เป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ก็จะเกิดผลที่ต้องการถึงจุดสูงสุดคือ ปัญญา และในระหว่างที่พัฒนาปัญญาไปนั้น ถ้าเราพัฒนาถูกต้อง คุณสมบัติอื่นก็จะเกิดพ่วงมาด้วย แต่สิ่งที่จะต้องมองให้ชัดก็คือ ความเป็นปัจจัยต่อกันระหว่าง ๓ ด้านของชีวิต คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ซึ่งสัมพันธ์กันเป็นระบบในกระบวนการพัฒนามนุษย์ ดังได้พูดแล้วข้างต้น

ขออนุโมทนาท่านอาจารย์ และนิสิต ที่มาเยี่ยมวัด ขอความสุข สวัสดีและจตุรพิธพรชัยจงมีแก่ทุกท่าน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๒ – ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.