สิทธิมนุษยชน จะสัมฤทธิ์ผลที่แท้ ต้องประสานสู่จริยธรรมเชิงสร้างสรรค์

22 กันยายน 2541
เป็นตอนที่ 6 จาก 6 ตอนของ

สิทธิมนุษยชน จะสัมฤทธิ์ผลที่แท้ ต้องประสานสู่จริยธรรมเชิงสร้างสรรค์

สำหรับชาวพุทธนั้น สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เราจะได้ประโยชน์ เพราะเป็นหลักการและข้อปฏิบัติที่ดี อย่างน้อยก็นำมาเปรียบเทียบกับศีล 5 จะเห็นว่าศีล 5 นั้น เป็นหลักประกันทางสังคมที่สำคัญ ถ้าหมู่มนุษย์ประพฤติอยู่ในศีล 5 ก็ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า สิทธิมนุษยชน และถ้ามองให้ละเอียดลงไป ก็จะเห็นว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่แยกกระจายกันไปละเอียดเป็นข้อย่อยมากมายนั้น ก็อยู่ในขอบเขตของศีล 5 นี่เอง หรือพ้นจากนั้นไปก็อยู่ในหลักธรรมอย่างเช่น เรื่องทิศ 6 ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสังคม เช่น นายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้น เป็นการดีที่ว่า ถ้าศีล 5 และหลักธรรมเหล่านี้ยังเป็นเพียงคำสอน การมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็มาหนุนโดย

1. เป็นการนำเอาคำสอนนั้นมากำหนดวางเป็นกฎกติกาทางสังคมให้ชัดเจนลงไป ที่จะต้องปฏิบัติกันให้จริงจัง โดยมีมาตรการในการที่จะควบคุมดูแล จึงยิ่งดีใหญ่ เป็นการสนับสนุนให้ศีล 5 มีผลจริงขึ้นมาในสังคม นอกจากวางเป็นกฎเกณฑ์ให้มีผลจริงจังชัดเจนแล้ว

2. ยังมีการแยกแยะรายละเอียดลงไปให้เห็นชัดในทางปฏิบัติยิ่งขึ้น เช่นศีลข้อที่ 1 ในเรื่องการไม่ละเมิดต่อชีวิตและร่างกาย หรือข้อที่ 2 ในเรื่องการไม่ละเมิดในด้านทรัพย์สิน ก็กำหนดลงไปว่าจะเอาอย่างไร จึงมีข้อย่อย ซึ่งอาจจะแยกจากศีลข้อเดียวกระจายออกไปเป็น 4 – 5 ข้อ และพูดให้ชัด จัดให้เหมาะแก่การปฏิบัติในยุคสมัย

ศีล 5 นั้นเป็นกลางๆ เช่นว่า 1 ไม่เบียดเบียนด้านชีวิตร่างกาย 2 ไม่ละเมิดด้านทรัพย์สิน แต่ในยุคสมัยหนึ่งๆ สภาพแวดล้อมย่อมเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และลักษณะอาการความเป็นไปของพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เหมือนกัน เราจึงต้องจัดวางให้เหมาะสม ทำเป็นข้อกำหนดที่ชัดเจนลงไป ที่จะปฏิบัติได้จริง อันจะทำให้ได้รับประโยชน์และบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมั่นใจมากขึ้น

นอกจากนั้น การกำหนดเป็นสิทธิมนุษยชนนี้ทำให้ได้ความรู้สึกขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับว่าแต่ละบุคคลได้มีอุปกรณ์อย่างหนึ่งไว้เป็นสมบัติของตน ซึ่งเขาสามารถยกขึ้นเป็นข้ออ้างได้ คือไม่ใช่เป็นเพียงจะห้ามคนอื่นไม่ให้ไปละเมิดต่อเขา แต่เขามีสิทธิไว้กับตัวที่จะใช้อ้างต่อสังคม หรือต่อผู้อื่น เพื่อปกป้องตัวของเขา เช่นในทางกฎหมาย เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่ง เหมือนกับเป็นการติดอาวุธให้บุคคลมีเครื่องรักษาป้องกันตัวของเขา แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า เราจะหยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้

ถ้าเทียบกับในทางพระพุทธศาสนาที่ว่าเหมือนกับหลักศีล 5 หรือ ทิศ 6 นั้น ก็จะเห็นชัดว่า ศีล 5 หรือ ทิศ 6 มิใช่เป็นสิ่งที่เพียงพอ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเป็นพื้นฐาน หรือเป็นหลักประกัน และเป็นมาตรฐานของสังคม อย่างน้อยที่จะให้โลกนี้พออยู่กันสงบได้ ไม่ลุกเป็นไฟ เพื่อให้แต่ละคนมีโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตให้เข้าถึงสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไป แต่การที่จะเข้าถึงชีวิตและสังคมที่ดีงามสูงขึ้นไปพร้อมทั้งได้รับประโยชน์จากชีวิตและสังคมที่ดีนั้น เรายังมีข้อปฏิบัติอื่นที่จะต้องทำต่อไปอีกมาก คือเราจะต้องก้าวจากเรื่องศีล 5 เรื่องทิศ 6 และเรื่องอบายมุข เหล่านี้ โดยพัฒนาชีวิตขึ้นไป อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า จาก ศีล ขึ้นไปสู่สมาธิ และปัญญา สิทธิมนุษยชนก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องในระดับศีลนั้นเอง

ยังมีข้อที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่ง คือ ศีลนี้เป็นเรื่องของจริยธรรม และสิทธิมนุษยชนเท่าที่เป็นมานี้ เรามักมองในแง่ของการระวังปกป้องตัวเอง ที่จะไม่ให้ผู้อื่นมาละเมิด ทำให้มีการเน้นในแง่ของการพิทักษ์สิทธิ และเรียกร้องสิทธิเป็นต้น เมื่ออยู่ในลักษณะนี้ ก็จะเป็นท่าทีที่มีลักษณะของจริยธรรมในเชิงลบ ซึ่งจะต้องระวัง คือจะต้องมีการพัฒนาให้เป็นจริยธรรมเชิงบวก เพื่อให้เป็นจริยธรรมเชิงสร้างสรรค์ให้ได้

เป็นอันว่า ในที่นี้ได้กล่าวเป็นแง่คิดกว้างๆ ว่า (ปฏิญญาสากลว่าด้วย) สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นหลักประกันพื้นฐาน ที่จะช่วยให้สังคมและชีวิตมนุษย์นี้ ก้าวไปสู่ความดีงามมีสันติสุข แต่เราอย่าหยุดแค่นี้ เราจะต้องนำสิทธิมนุษยชนนั้นมาใช้ประโยชน์ในการสนองวัตถุประสงค์ที่ดีงามสูงขึ้นไป

แต่ทั้งนี้ ในการที่มนุษย์จะสามารถรักษาสิทธิมนุษยชนนี้ไว้ได้ก็ดี ในการที่เขาจะก้าวจากฐานของสังคมที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นหลักประกันขึ้นสู่สังคมที่เอื้ออาทรซึ่งกันและกันก็ดี เราต้องอาศัยการพัฒนามนุษย์ ที่เรียกว่าการศึกษา ดังที่กล่าวมา ขอกล่าวถึงแง่คิดข้อสังเกตในเรื่องสิทธิมนุษยชนวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สิทธิมนุษยชน ยังไม่เพียงพอและอาจเสี่ยงภัยถ้าคนยังไม่พัฒนา

No Comments

Comments are closed.