สิทธิมนุษยชน บนหนทางแห่งการเผชิญปัญหาใหม่และขยายความหมาย

22 กันยายน 2541
เป็นตอนที่ 3 จาก 6 ตอนของ

สิทธิมนุษยชน บนหนทางแห่งการเผชิญปัญหาใหม่และขยายความหมาย

กติกาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เรียกว่า “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ของสหประชาชาตินั้น เกิดขึ้นนานแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานแค่ 3 ปี คือ ค.ศ. 1948 โดยได้ตกลงกันไว้ในวันที่ 10 ธันวาคม (ขอแทรกนิดเป็นเกร็ดความรู้ว่ามาตรงกันพอดีกับวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย)

หลังจากเกิดมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี ค.ศ. 1948 นี้แล้ว โลกก็เจริญต่อมา แล้วก็ปรากฏว่าได้เกิดมีปัญหาใหม่ ๆ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่รู้ ไม่ได้ตระหนัก

จะขอยกตัวอย่าง ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ ปัญหาธรรมชาติแวดล้อม เมื่อประมาณ ค.ศ. 1970 เป็นระยะที่เมืองฝรั่งซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้เริ่มตระหนักรู้ถึงปัญหาธรรมชาติแวดล้อมที่เสื่อมโทรม มีมลภาวะ และเป็นภัยอันตรายที่ย้อนกลับมาถึงมนุษย์ ต่อมาความตื่นตัวในเรื่องนี้ก็ได้แผ่ขยายกว้างขวางไปทั่วโลก จนกระทั่งมีการประชุมสุดยอดในเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อปี ค.ศ. 1972 เป็น Earth Summit ครั้งแรก ต่อจากนั้น มนุษย์ก็ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากว่า เราจะต้องพยายามพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมให้ได้

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในด้านธรรมชาตินี้จะโยงเข้ามาหาเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นมีความเป็นไปได้ว่า ต่อไปนี้จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง หรืออาจจะมีการวางกฎเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาในเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า สิทธิมนุษยชนนั้นมิใช่เฉพาะเรื่องของการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์เท่านั้น สิทธินั้นเราจะมองเฉพาะการปฏิบัติของมนุษย์ต่อมนุษย์เท่านั้นไม่ได้แล้ว แต่จะต้องมองออกไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย

ที่จริง การที่เราหันไปคำนึงถึงธรรมชาติแวดล้อมนั้นก็มุ่งเพียงเพื่อให้มนุษย์อยู่ดี เวลานี้มนุษย์ก็ยังสนใจแต่ในแง่นี้ กล่าวคือ การที่มนุษย์คิดจะไปพิทักษ์รักษาธรรมชาตินั้น ใจจริงก็มุ่งที่ผลประโยชน์ของมนุษย์เอง เพื่อให้มนุษย์อยู่ดีหรืออยู่รอดเป็นต้น โดยเห็นว่า เมื่อธรรมชาติเสียหายแล้วอันตรายก็จะมาถึงตน เช่นการที่มนุษย์ไปยึดครองที่ดินหรือสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติเอามาเป็นสมบัติของตน และสามารถปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนอย่างไรก็ได้ โดยถือว่าเป็นสิทธิในทรัพย์สินนั้น แต่ต่อไปก็อาจจะมีปัญหาว่า การที่บุคคลกระทำต่อทรัพย์สินที่(ถือว่า)เป็นของตนนั่นแหละ จะมีผลกระทบส่งมาทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่โลกหรือแก่ประเทศชาติ จนกลายเป็นว่าบุคคลกระทำตามสิทธิต่อทรัพย์สินของตน แต่เป็นการละเมิดต่อมนุษยชาติก็ได้

บางคนอาจจะมองกว้างไกลกว่านั้นอีก โดยนึกคิดไปว่าธรรมชาติในตัวของมันเองมีสิทธิหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น สัตว์เดรัจฉานเป็นต้น ดังที่ได้มีบางคนเริ่มมองแล้วว่า สัตว์ต่าง ๆ ที่เราเอามาใช้งานหรือเอามาเป็นเครื่องประกอบอาชีพ ดังเช่นปลาโลมาที่นำมาฝึกให้เล่นแสดงต่างๆ ก็น่าจะมีสิทธิในชีวิตหรือในความเป็นอิสระเสรีของมัน เคยมีเรื่องถึงกับว่า คนผู้หนึ่งไปลอบปล่อยปลาโลมา 2 ตัว ออกจากที่เขาเลี้ยงไว้ จนเกิดการพิพาทซึ่งกันและกัน คนที่ปล่อยปลาโลมาไปนี้ถูกฟ้องว่าละเมิดต่อทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่ง คือลักทรัพย์ แต่คนที่ปล่อยปลาโลมาไปก็ถือว่า เขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเขาเอง แต่เขาช่วยเหลือสัตว์นั้นให้ได้รับอิสรภาพ เพราะปลาโลมาก็ควรมีสิทธิในชีวิตและอิสรภาพของมัน อย่างนี้เป็นต้น

ปัญหาอย่างนี้คงจะขยายต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่กระทบถึงความอยู่ดีของมนุษยชาติ และโลกเวลานี้ก็ไร้พรมแดน ทำให้มนุษย์มีความรู้ตระหนักเพิ่มขึ้น สิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยคิดว่าเป็นปัญหาก็รู้หรือคิดขึ้นมาว่าเป็นปัญหา มนุษย์ที่เรียกว่ามีอารยธรรม จะต้องเตรียมพัฒนาเผ่าพันธุ์ของตนไว้ให้พร้อม มิใช่เพียงเพื่อจะมารอรับเสวยความสุข และมิใช่เพียงเพื่อจะมารับมือกับปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น แต่เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์โลกที่มีสันติสุขโดยมิใช่เป็นผู้ก่อปัญหา ท่าทีและการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็เป็นบททดสอบการพัฒนาของมนุษย์นี้อย่างหนึ่ง

ขอแทรกเรื่องเกร็ดข้อหนึ่ง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้ที่นิยมเรื่องสิทธิสตรีได้เกิดความตื่นตัว ที่เรียกว่าเป็น “feminism” จากความตื่นตัวในขั้นหนึ่งก็ได้เกิดความรู้สึกรังเกียจแม้กระทั่งถ้อยคำต่างๆ ที่พูดกันมาในภาษาอังกฤษ ซึ่งในเวลาพูดถึงมนุษย์ นิยมใช้คำเรียกแบบเพศชายเป็น man หรือแม้แต่เมื่อใช้คำกลางๆ อย่าง one หรือ everyone เวลาใช้คำแทน ก็ว่า his หรือ him เป็นต้น ผู้ที่นิยมสิทธิสตรีก็ถือว่าการใช้คำพูดอย่างนี้ เป็นการข่มขี่หรือกีดกันทางเพศ ปัจจุบันนี้เมื่อจะกล่าวอ้างถึงคนให้รวมทั้งสองเพศ จึงต้องใช้คำที่เป็นกลางจริงๆ เช่น human being และใช้สรรพนามให้ครบ เช่น his or her

เรื่องนี้ทำให้นึกขำๆ ว่า เมื่อมีการตราสิทธิมนุษยชนเป็นปฏิญญาสากลของสหประชาชาติออกมาในปี 1948 ยังไม่มีความตื่นตัวเรื่องนี้ จึงปรากฏว่าในปฏิญญาสากลนี้เองก็เขียนสรรพนามแทนคนไว้โดยใช้คำว่า his ซึ่งเป็นผู้ชาย ต่อไปฝ่ายผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิอาจจะกล่าวขึ้นมาว่า แม้แต่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ ก็ละเมิดสิทธิมนุษยชน คือไม่ให้ความเสมอภาคต่อความเป็นชายและเป็นหญิง เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง ขอให้ดูปฏิญญานั้น เช่นใน Article 10 ซึ่งชัดเจนว่าใช้คำว่า his ไม่มี her นี้เป็นเรื่องที่นึกไม่ถึงและคงไม่เจตนา ที่ยกมาเป็นตัวอย่างให้ขำขัน

อย่างไรก็ตาม การมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็เป็นหลักประกัน อย่างน้อยก็เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะช่วยให้มนุษย์อยู่กันด้วยดียิ่งขึ้น และนับว่าเป็นความเจริญงอกงามอย่างหนึ่งของอารยธรรม แต่เราไม่ถือว่าสิ้นสุด และคงจะต้องมาพิจารณาที่จะปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป แต่ข้อสำคัญก็คือ เราจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ของการมีสิทธิมนุษยชน ที่พูดว่าต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ ก็เพราะว่า ถ้าเราไม่รู้ตระหนัก และไม่คอยเอาใจใส่จับไว้ให้แม่นมั่นชัดเจนแล้ววัตถุประสงค์ก็อาจจะแปรไปได้ เมื่อวัตถุประสงค์แปรไป การใช้ประโยชน์ก็อาจจะไม่ถูกต้อง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สิทธิมนุษยชน บนภูมิหลังแห่งการถูกบีบคั้นให้ดิ้นรนแสวงหาสิทธิมนุษยชน เป็นฐานที่จะต้องใช้เพื่อก้าวต่อไปสู่การสร้างสันติสุข >>

No Comments

Comments are closed.