(อุตริมนุสธรรม และ อนุปสัมบัน)

12 มิถุนายน 2532
เป็นตอนที่ 2 จาก 7 ตอนของ

(อาจารย์ระวี) ทีนี้ขอมาถึงเรื่อง อุดมคติสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ในความคิดของกระผมนั้นพระพุทธศาสนาได้แสดงถึงศักยภาพภายในของมนุษย์ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ระดับชีวิตที่สูงมาก แต่ว่าการที่จะกระทำเช่นนั้นได้คงจะไม่ใช่สิ่งที่กระทำได้โดยง่าย โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในคำสอนของพระพุทธเจ้า ตามที่กระผมเข้าใจนั้นจุดหมายสูงสุดก็คือ การบรรลุอรหัตตผลของบุคคล หรือว่าการบรรลุถึงภูมิธรรมในขั้นที่ว่าจะพ้นจาก จะเรียกว่าความหลงผิดเข้าใจผิดในธรรมชาติของชีวิต ของโลก แล้วก็อยู่บนทางเดียวที่ไปสู่ความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ กระผมขอเรียกอย่างนั้น อุดมคติอันนี้เป็นเรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนาใช่ไหมครับ กระผมกราบเรียนถามอันนี้ก็คือว่า เรื่องนี้ไปเกี่ยวข้องกับที่ว่า เมื่อใดบุคคลเริ่มรู้ที่เรียกว่ารู้ประจักษ์ธรรมได้ดวงตาเห็นธรรมอย่างที่เราเรียกกันก็อยู่ในระดับที่เหนือความเป็นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะได้สืบเนื่องมาจนถึงการที่มีการกล่าวอ้างถึงการได้บรรลุในธรรมอันนี้ของบุคคล ที่จริงมีบ่อยๆ จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม เรื่องนี้กระผมก็อยากจะให้พระคุณเจ้าได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เรามาใช้เรียกว่า อุตริมนุสธรรม นี้น่ะหมายความอย่างไรและก็เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กระผมได้กราบเรียนถามมานี้อย่างไร

(พระเทพเวที) เจริญพร ก่อนที่จะไปถึงเรื่องอุดมคติของการปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยหรืออุดมคติของพระพุทธศาสนา ก็อยากจะย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องพระภิกษุสงฆ์กับคฤหัสถ์ในพระพุทธศาสนาอีกนิดหนึ่งว่า ผู้ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนานี้เราเรียกว่าเป็นภิกษุ ถ้าเป็นผู้หญิงก็ภิกษุณี ซึ่งบัดนี้ในประเทศไทยก็เหลือแต่ภิกษุ ทีนี้ภิกษุหรือผู้เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนานั้นก็ควรสังเกตไว้ด้วยว่าแตกต่างจากนักบวชในศาสนาอื่นๆ จำนวนมากอย่างไร เวลามองภาพนักบวชโดยมากมักจะมองว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของศาสนา ถ้ามองอย่างนั้นแล้วจะเป็นภาพที่ผิด พระภิกษุในพุทธศาสนาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของศาสนา ถ้าว่าถึงความหมายที่แท้จริงตามหลักการ อาตมาได้บอกแล้วเมื่อกี้นี้ว่าภิกษุก็คือผู้ที่สละความห่วงกังวลอะไรต่างๆ ภายนอกมา แล้วก็มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา ทุ่มเทอุทิศตัวอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาสู่ธรรมวินัยที่มาบวชเป็นภิกษุนี้ ก็คือผู้ที่ตั้งใจเข้ามารับการฝึกหัดอบรม ที่เราเรียกว่า สิกขา คือเข้ามารับการศึกษาอย่างเต็มที่นั่นเอง เราจะเห็นความแตกต่างว่าในศาสนาบางศาสนานั้น ผู้ที่เข้ามาเป็นนักบวชก็คือผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเทพเจ้าสูงสุดหรืออะไรทำนองนั้น เขาถูกเลือกเข้ามาให้มาทำหน้าที่แทนพระผู้เป็นเจ้าในโลกมนุษย์ แต่ในพระพุทธศาสนา พระภิกษุ สามเณรกับชาวบ้านหรืออุบาสกอุบาสิกามีฐานะเท่ากันในแง่ความสัมพันธ์กับตัวสัจธรรม แต่ภิกษุ ภิกษุณีอุทิศตัวมากกว่าโดยสละเข้ามาเพื่อตั้งใจฝึกฝนอบรมอย่างจริงจังที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาสู่เพศภิกษุนี่ ไม่ใช่คนที่ฝึกอบรมเสร็จบริบูรณ์แล้ว แต่เป็นคนที่ตั้งใจสมัครใจที่จะทุ่มเทอุทิศตัวให้กับการฝึกฝนอบรมอย่างจริงจัง ให้กับการศึกษาหรือสิกขาอย่างจริงจังก็เข้ามา เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งแล้วอุบาสกอุบาสิกาก็มีสิทธิในจุดหมายของพระพุทธศาสนาเท่ากับพระภิกษุสามเณรเหมือนกัน ถ้าหากว่าปฏิบัติชอบ แต่เขามีห่วงกังวลมีเรื่องที่เป็นอุปสรรคมากกว่า ถ้าว่าไปแล้วก็คือว่าพระภิกษุสามเณรมีสิ่งอำนวย มีโอกาสมาก แต่จะใช้โอกาสนั้นหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คฤหัสถ์มีสิ่งห่วงกังวลและสิ่งที่เป็นอุปสรรคกีดขวางมากกว่า แต่ทั้งสองฝ่ายนั้นมีสิทธิในการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ทีนี้ในหลักของพระพุทธศาสนานั้นถือว่าเมื่อใดก็ตามมีกุศลเจตนาถึงกับยอมสละสิ่งห่วงกังวลในทางโลก ความสุขสำราญในทางโลกมาได้ มุ่งมั่นอุทิศตนฝึกฝนอบรมตน ถ้าเป็นผู้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนแล้วเราก็ให้ความเคารพถึงจะยังไม่บรรลุผลสำเร็จในการปฏิบัติ ก็ถือว่าเป็นบุคคลที่น่าเคารพบูชา

ในเมื่อพระภิกษุเป็นผู้ทุ่มเทอุทิศตนในการปฏิบัติฝึกฝนอบรมศึกษาเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายพระพุทธศาสนา ส่วนอุบาสกอุบาสิกาแม้จะไม่ทุ่มเทตนแต่ก็มีความเพียรพยายามเหมือนกันที่จะเข้าถึงจุดหมายพุทธศาสนาและจะปฏิบัติไปตามกำลัง ตกลงว่าทุกฝ่ายนี้ก็มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือการเข้าถึงอุดมคติของพระพุทธศาสนา

ทีนี้อะไรเล่าคืออุดมคติของพุทธศาสนา อุดมคติของพระพุทธศาสนานั้น ในขั้นสูงสุดก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าได้แก่ พระนิพพาน แต่ก่อนที่จะถึงนิพพานนั้นก็หมายความว่าเราสามารถมีความเจริญมีพัฒนาการขึ้นไปได้ในระดับต่างๆ โดยลำดับ การเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาที่ว่าเป็นขั้นสูงสุดที่บรรลุนิพพานแท้จริงก็คือความเป็นพระอรหันต์อย่างที่เรียกว่าอรหัตตผล ก่อนที่จะถึงขั้นสูงสุดนั้นก็มีขั้นในระหว่างตามลำดับขึ้นมา รองลงไปจากความเป็นพระอรหันต์ก็เป็นพระอนาคามี ถัดลงมาจากพระอนาคามีก็เป็นพระสกทาคามี ถัดลงมาจากพระสกทาคามีก็เป็นพระโสดาบัน แล้วถัดลงมาก็จะเป็นปุถุชน ปุถุชนก็ยังมีกัลยาณปุถุชน คือปุถุชนที่เป็นกัลยาณชนเป็นคนดีงามมีกัลยาณธรรม แล้วต่อจากนั้นก็จะมีปุถุชนชนิดที่หยาบมากเรียกว่า อันธพาลปุถุชน ไปตามลำดับ นี้ก็หมายความว่า การปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อุดมคติของพระพุทธศาสนานี้มีความเจริญเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป

จะเห็นว่าในสมัยพุทธกาลมีคฤหัสถ์จำนวนมากที่ได้เป็นพระโสดาบัน อย่างนางวิสาขาเป็นต้น เป็นผู้นำในทางสังคมสงเคราะห์เป็นที่เคารพนับถือในสังคม อนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็เป็นโสดาบันเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตครองเรือนอยู่ตามปกติและก็เป็นเศรษฐีได้ด้วย หรือบางคนเป็นคนยากไร้ก็มีก็เป็นโสดาบันได้ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือคนมั่งมียากจนก็มีสิทธิเท่ากันในอุดมคติของพระพุทธศาสนาในระดับสูง ถ้าเป็นพระอรหันต์เราจะเห็นว่า ส่วนมากจะเป็นพระภิกษุ ทีนี้ความเข้าถึงหรือภาวะที่เป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนาที่ว่าเป็นขั้นตอนต่างๆ ไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนานี้ เราเรียกในความหมายหนึ่งว่า เป็นธรรมะที่เหนือกว่ามนุษย์สามัญ ธรรมะที่เหนือกว่ามนุษย์สามัญนี้ คือมนุษย์สามัญปกติจะไม่สามารถได้ไม่สามารถถึง สิ่งเหล่านี้เรามีศัพท์เฉพาะพิเศษเรียกว่า อุตริมนุสธรรม อุตริ แปลว่ายิ่งหรือเหนือ มนุส ก็คือ มนุษย์ แล้วก็ ธรรมะ ก็คือ ธรรม ก็คือธรรมะที่เป็นภาวะอันเหนือหรือเกินวิสัยมนุษย์สามัญหรือสูงกว่าภาวะสภาพของมนุษย์สามัญเท่านั้นเอง

อนึ่ง ตั้งแต่พระอรหันต์ลงมาจนกระทั่งเป็นโสดาบันเราเรียกรวมๆ ว่าเป็น พระอริยบุคคล หมายความว่าจะเป็นพระอรหันต์ก็ตาม อนาคามีก็ตาม สกทาคามีก็ตาม โสดาบันก็ตาม เราเรียกชื่อรวมๆ ไม่ระบุชั้นว่าเป็นอริยบุคคล นอกจากความเป็นพระอริยบุคคลนี้แล้วแม้แต่ธรรมะอื่นๆ ที่ต้องมีการฝึกอบรมฝึกฝนพัฒนาตนเป็นพิเศษเพื่อเข้าถึง เช่นการได้สมาธิการได้ฌานสมาบัติอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าอุตริมนุสธรรมเหมือนกัน คือธรรมที่เหนือกว่าสามัญมนุษย์หรือเหนือกว่ามนุษย์สามัญ อันนี้ก็คือความหมายของสิ่งที่เรียกว่าอุตริมนุสธรรม เจริญพร

(อาจารย์ระวี) ครับ ทีนี้กระผมก็ได้ทราบว่ามีพระพุทธบัญญัติเกี่ยวกับการที่ภิกษุจะกล่าวอวดอ้างว่าตนมีอุตริมนุสธรรมนี้มีบทลงโทษหรือว่าอะไรไว้อย่างค่อนข้างจะแรง

(พระเทพเวที) เจริญพร อุตริมนุสธรรมนี้เป็นจุดหมายเป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นจะต้องถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ถ้าหากว่ามีการหลอกลวงกันขึ้นในเรื่องเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการทำลายสิ่งที่เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งก็หมายถึงการทำลายตัวพระศาสนา และเนื่องด้วยอุตริมนุสธรรมหรืออุดมคติเหล่านี้เป็นคุณค่าทางจิตใจหรือจะเรียกว่าคุณค่าทางจิตวิญญาณอย่างสูงสุดที่พระพุทธศาสนามีให้แก่มนุษย์ อันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณขั้นสูงสุดที่มนุษย์จะสามารถเข้าถึงได้ ถ้าใครเอาสิ่งเหล่านี้มาหลอกลวงก็เท่ากับว่าเป็นผู้ที่ไปทำร้ายต่อจิตวิญญาณของมนุษย์นั่นเอง เพราะในเมื่อเราถือว่าจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญเราก็ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการหลอกลวงอวดสิ่งที่เรียกว่า อุตริมนุสธรรม ถ้าไม่มีจริงพระพุทธเจ้าจึงถือว่าเป็นโทษเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก ถึงกับทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยเป็นความผิดสถานหนักในระดับเดียวกับการฆ่ามนุษย์ ในระดับเดียวกับการลักทรัพย์

แต่ที่จริงพระองค์ถือว่าร้ายแรงกว่าด้วยซ้ำ เพราะพระองค์ตรัสไว้ในพระวินัยในสิกขาบทที่บัญญัติเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ ว่ามหาโจรมีอยู่ ๕ จำพวกในโลกนี้ มหาโจรพวกที่หนึ่งก็คือพวกที่คุมสมัครพรรคพวกไปปล้นชาวบ้านชาวเมืองในที่ต่างๆ ทำความเดือดร้อนแก่มนุษย์เป็นอันมาก ต่อจากนั้นก็บรรยายมหาโจรที่สอง ที่สาม ที่สี่ และสุดท้ายมหาโจรที่ห้าก็คือภิกษุผู้อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงในตน พระองค์ตรัสว่า ข้อที่ห้านี้คือยอดมหาโจร ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะเป็นการหลอกลวงชาวโลก ทั้งนี้เพราะคุณค่าที่พุทธศาสนาจะมีให้แก่มนุษย์ก็มีอยู่ที่อันนี้ เขาเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้หลอกลวงมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่สุดสำหรับพระภิกษุ จึงเป็นอาบัติที่เรียกว่า ปาราชิก ถ้าผู้ใดอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงในตน ก็เป็นปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุตั้งแต่ขณะที่อวดและคนที่ฟังรู้ความนั้น ไม่ว่าเขาจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม อันนี้ก็เป็นความผิดที่ร้ายแรงสำหรับภิกษุอย่างหนึ่งใน ๔ ข้อ ข้อที่หนึ่งคือ ร่วมประเวณี ข้อที่สองคือ ลักทรัพย์ ข้อที่สาม ฆ่ามนุษย์ ข้อที่สี่ก็คือ อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงในตน แต่ว่าแม้มีจริงในตนพระองค์ก็ทรงบัญญัติไว้อีกเป็นอาบัติที่เล็กน้อยลงไปว่า ถ้าภิกษุอวด ที่จริงท่านไม่ใช้คำว่าอวดหรอก ท่านใช้คำว่าบอก ถ้าภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบันถึงมีจริงก็เป็นอาบัติหรือความผิดที่เรียกว่า ปาจิตตีย์ เจริญพร

(อาจารย์ระวี) เห็นจะต้องกราบเรียนขอให้แสดงความหมายของคำว่าอนุปสัมบันให้ชัดเจนซะเลยในที่นี้

(พระเทพเวที) เจริญพร อนุปสัมบัน นี้เป็นศัพท์ของพระวินัย แปลว่าผู้ไม่ได้อุปสมบทนั่นเองเรารู้จักคำว่าอุปสมบทกันดี ผู้อุปสมบทแล้วก็เรียกว่า อุปสัมบัน ถ้าไม่อุปสมบทก็เรียกว่า อนุปสัมบัน แต่ในพระวินัยปิฎกท่านบัญญัติให้คำจำกัดความไว้จำเพาะทีเดียวว่า “เว้นจากภิกษุและภิกษุณีแล้ว บุคคลอื่นชื่อว่าเป็นอนุปสัมบัน ทั้งสิ้น อันนี้คือความหมายที่เป็นไปตามพระธรรมวินัย พระวินัยนี้เหมือนกฎหมาย เราจะเห็นว่าพระวินัยนี้มีลักษณะที่เป็นแบบแผนอย่างเดียวกับกฎหมาย จนกระทั่งมีผู้กล่าวว่ากฎหมายของเราได้อาศัยพระวินัยเป็นแบบมากทีเดียว คือลักษณะของวินัยนั้นจะต้องมีการให้คำจำกัดความมีการบอกความหมายอะไรต่ออะไรไว้ชัดเจนไม่ให้ดิ้นได้ อย่างพระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้แล้วว่า ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบันถ้ามีจริงเป็นปาจิตตีย์แล้วก็จะมีคำอธิบายต่อไปเลยว่า คำว่าภิกษุคืออย่างนั้นๆ คำว่าบอกคืออย่างนั้นๆ คำว่าอุตริมนุสธรรมคืออย่างนั้น แล้วก็คำว่า อนุปสัมบันคืออย่างนั้นๆ อันนี้ก็คือความหมายของอนุปสัมบันที่อาตมภาพยกมาจากพระวินัยปิฎกเป็นเรื่องของตัวบทกฎหมายของพระนั่นเอง เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ว่า พระพุทธเจ้าวางแบบของกฎหมายไว้แล้ว คือ ไม่สามารถจะให้ดิ้นไปอย่างอื่นได้ เจริญพร

(อาจารย์ระวี) เพราะฉะนั้นการที่ได้มีผู้ที่กล่าวว่าอนุปสัมบันมีความหมายอื่นก็เป็นการขัดแย้งกับพระวินัยซึ่งพระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้

(พระเทพเวที) เจริญพร อันนี้มีเรื่องที่จะต้องพูดหลายแง่หลายมุมแม้แต่ในกฎหมายปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน อย่างเมื่อเราตราพระราชบัญญัติขึ้นมา เช่น กฎหมายแพ่ง มีคำว่านิติบุคคล เขาก็จะต้องให้ความหมายคำจำกัดความของคำว่านิติบุคคลคืออะไรตามกฎหมายนั้น เพื่อจะไม่ให้ตีความเป็นอย่างอื่น ถ้าตีความอย่างอื่นก็จะขัดต่อตัวบัญญัติทันที ตัวบัญญัตินี้จึงมีความชัดเจนขั้นหนึ่ง แล้วถ้ายังไม่ชัดเจนจึงจะมีการตีความ และการตีความนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างมีแบบแผนเป็นรูปธรรม เช่นมีคณะบุคคลซึ่งตั้งขึ้นถูกต้องตามกฎหมายมาประชุมกันลงมติตีความให้ แต่จุดสำคัญก็คือการมีบัญญัติกับการตีความนี่เป็นปัญหาคนละชั้น อันนี้จะต้องแยกให้ถูก ปัญหาในระดับบัญญัติกับปัญหาในระดับตีความเป็นคนละเรื่องกัน ตอนนี้มีการทำให้สับสนระหว่างบัญญัติกับการตีความก็ต้องพูดกันตรงๆ คือปัญหาของท่านโพธิรักษ์นั่นเอง คือท่านตีความคำว่าอนุปสัมบันโดยท่านให้ความหมายขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่เป็นไปตามพระวินัยปิฎก ท่านบอกว่าอนุปสัมบันคือคนที่ยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้น เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้นจึงจะอวดไม่ได้ แต่ถ้ามีภูมิธรรมถึงขั้นก็อวดได้ เพราะฉะนั้นจะบอกอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์ก็ได้ ถ้าคฤหัสถ์คนนั้นมีภูมิธรรมถึงขั้น กลายเป็นว่าได้เกิดมีความหมายขึ้นมาใหม่ หมายความว่าตอนนี้กลายเป็นว่าอาจจะบอกอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์ก็ได้ถ้าผู้นั้นมีภูมิธรรมถึงขั้น แล้วทีนี้เราจะเอายังไง จะเอาความหมายที่บัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎก หรือจะเอาความหมายที่ท่านโพธิรักษ์บัญญัติ

วินัย นั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เป็นเรื่องของระเบียบแบบแผนต้องมีความชัดเจน และคำจำกัดความนี้ก็มีอยู่แล้วในวินัย อาตมาก็เลยยกตัวอย่างเทียบให้เห็น เหมือนอย่างกับในปัจจุบันนี้มีกฎหมายแพ่งตอนหนึ่งพูดถึงเรื่อง มูลนิธิ อันนี้อาตมาเขียนไว้ในหนังสือแล้ว บอกว่าในตราสารของมูลนิธินั้นก็จะต้องมีการกำหนดไว้ บอกว่ามูลนิธินั้นถ้าหากว่าเกิดการสิ้นสุดหรือล้มลงไปทรัพย์สินจะต้องเป็นของ นิติบุคคล อันใดอันหนึ่ง นี่กฎหมายตราไว้อย่างนี้ ทีนี้ยกตัวอย่างว่า มีคนๆ หนึ่งมาร่วมกับพวกตั้งมูลนิธิขึ้นมาแล้วก็กำหนดไว้ในตราสาร บอกว่าเมื่อมูลนิธิของเขาชื่อนั้นสิ้นสุดลง ให้ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิตกเป็นของนางสาว ข. นางสาว ข. เป็นลูกสาวของคนที่ตั้งมูลนิธินั้นซึ่งอาจจะเป็น นาย ก. ทีนี้ทางเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายก็บอกว่าไม่ได้ กฎหมายบัญญัติไว้แล้วว่าจะต้องให้ทรัพย์สินนั้นเป็นของนิติบุคคล กฎหมายแพ่งตราไว้แล้วนิติบุคคลคืออะไร มีความหมายชัดเจนว่าต้องเป็นอย่างนั้นๆ นาย ก. ก็อ้างว่าลูกสาวฉัน คือ นางสาว ข. นี่เป็นนิติบุคคล ทำไมจะไม่เป็นนิติบุคคล ฉันเปิดพจนานุกรมดูแล้ว นิติแปลว่า แบบแผน ลูกสาวฉันนี่เป็นคนมีแบบแผน คือว่าตื่นเช้าก็ตรงเวลา ๖ โมงเช้า แล้วตื่นเช้าเสร็จก็ไปรับประทานอาหารเช้า รับประทานอาหารเช้าเสร็จก็ไปโรงเรียน ไปโรงเรียนเสร็จแล้ว เรียนหนังสือตามเวลา เข้าตามเวลา ออกตามเวลา กลับบ้านตามเวลา กลับมาถึงบ้านแล้วรับประทานอาหารเย็น อ่านหนังสือ เข้านอนตามเวลา เป็นคนมีแบบแผน เพราะฉะนั้นลูกสาวฉันเป็นนิติบุคคลเหมือนกัน คุณจะต้องยอมให้ฉันกำหนดไว้ในตราสารว่า เมื่อมูลนิธิสิ้นสุดลงแล้วก็ให้ทรัพย์สินนี้ตกเป็นของนางสาว ข. ผู้เป็นบุตรของฉันอะไรทำนองนี้

ถ้าอาตมายกตัวอย่างแบบนี้ท่านจะเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล คือว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะเหตุที่ชาวพุทธจำนวนมากไม่รู้เรื่องพุทธศาสนา พอเอาเรื่องอนุปสัมบันเข้ามาแล้วก็งง เลยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกัน ไม่สามารถเข้าใจได้ ความจริงในแง่พระภิกษุแล้วมองเห็นการกระทำนี้เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระที่จะไปตีความอนุปสัมบันเป็นผู้มีภูมิธรรมไม่ถึงขั้นอะไรทำนองนั้น อาตมาขอยกตัวอย่างอีกคำหนึ่ง เช่นในรัฐธรรมนูญของเรานี้แหละ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ก็มีหมวดที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ชนชาวไทยมีสิทธิเสรีภาพต่างๆ เช่น มีสิทธิและเสรีภาพในทางการเมือง เป็นต้น ทีนี้ชนชาวไทยคือใครล่ะ สมมติว่ามีคนๆ หนึ่งบอกว่า ชนชาวไทยนั้นก็มาจากชนชาวไท “ไท” เปิดพจนานุกรมดูแล้วแปลว่า คนที่เป็นใหญ่เป็นอิสระในตัวไม่เป็นทาส ทีนี้คนอเมริกัน คนลาว คนเขมร คนสเปน หรืออะไรต่างๆ เข้ามาในประเทศไทยก็มาอ้างตัวเพื่อจะมีสิทธิในการเลือกตั้งเป็นต้น บอกว่าฉันเป็นคนไทย อ้าว! เป็นคนไทยได้ยังไง ก็ฉันเป็น “คนไทย” เพราะฉันเป็นไท เป็นคนใหญ่โต เป็นคนมีอิสระในตัวไม่ได้เป็นทาสของใคร เพราะฉะนั้นต้องให้ฉันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ อย่างนี้เป็นต้นจะทำได้หรือไม่ หรือว่าอีกคนหนึ่งไปติดคุกติดตารางมาหรืออยู่ในปกครองของคนอื่น เจ้าหน้าที่อาจจะบอกว่าคุณนี่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะคุณไม่เป็นชาวไทย เพราะคุณไม่มีอิสระในตัวอะไรทำนองนี้ ถ้าตีความอย่างนี้ก็คงยุ่ง กฎหมายคงไม่เปิดทางให้ตีความอย่างนี้ กฎหมายต้องมีความแน่นอน อาตมาว่าถ้ายกตัวอย่างในเรื่องสามัญอย่างนี้แล้วคนก็เข้าใจ แต่เพราะว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมหลักวินัยเป็นภาษาบาลี ญาติโยมฟังแล้วก็งง พอพูดขึ้นมาก็เห็นเป็นเรื่องแปลกเป็นเรื่องที่ฟังชอบกล ฉงนสนเท่ห์ น่าฟังน่าสนใจ ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง

แล้วยังบางท่านบอกว่าเรื่องภาษาบาลีก็ไม่สำคัญอะไรหรอก มันก็เป็นเรื่องภาษาเท่านั้นข้อสำคัญขอให้ปฏิบัติดีก็แล้วกันอะไรต่างๆ เหล่านี้ ความจริงนั้นความสำคัญมีอยู่ เพราะว่าภาษาบาลีในที่นี้ไม่ใช่เป็นภาษาเฉยๆ แต่ในภาษาบาลีนั้นบรรจุไว้ซึ่งหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าหากว่าเราไม่รู้ไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้อง ไม่รู้ไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ของภาษา ไม่ใช้ภาษาด้วยความซื่อตรง มีความเบี่ยงเบน หรือมีการใช้ภาษาเป็นเครื่องหลอกลวง หรือใช้ในทางใดทางหนึ่งที่ไม่ซื่อตรงแล้ว มันก็เกิดปัญหาขึ้นมา หมายความว่าอาจจะทำดีอะไรต่างๆ ก็ไม่ว่าหรอกแต่ถ้ามีการหลอกลวงไม่ซื่อตรง แม้แต่แกล้งใช้ภาษาให้ผิด กล่าวถ้อยคำให้คนเข้าใจผิด มันก็กลายเป็นการทำร้ายทำชั่วอีกด้านหนึ่งที่อาจจะร้ายแรงกว่า คนเราโดยมากก็มีความดีกันไม่มากก็น้อย แต่เราจะเอาความดีนั้นมาเป็นเหตุอ้างสำหรับหักล้างความชั่วอีกอันหนึ่งที่ตนกระทำไม่ได้ โดยเฉพาะความชั่วที่ยิ่งใหญ่กว่าสำคัญกว่า คนทำผิดทำชั่วต่างๆ นี่มักจะอ้างเรื่อย ฉันเป็นคนดีฉันทำอย่างนั้นอย่างนี้แต่ทำไมท่านมาลงโทษฉัน ก็ขอให้เรามาทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องว่าตัวประเด็นนั้นมันอยู่ที่ไหน อาตมาก็เลยพูดโยงเข้ามาถึงเรื่องความสำคัญของภาษา เป็นเรื่องของปัญหาที่เกี่ยวกับภาษาที่บรรจุไว้ซึ่งธรรมวินัย แล้วมันก็โยงไปถึงเรื่องตัวบัญญัติ เรื่องของการตีความ

สำหรับปัญหาที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ปัญหาในระดับการตีความ แต่เป็นปัญหาในระดับตัวบัญญัติ หลายท่านงงเข้าใจว่าเป็นปัญหาในระดับการตีความ ซึ่งไม่ใช่เลย การตีความนั้นเป็นเรื่องรองลงไป ในพระพุทธศาสนานี้เราให้อิสระเสรีภาพอย่างมากที่สุดในการตีความ เราจะไม่มายุ่งกันมากนักในเรื่องการตีความ แต่เราจะระวังบ้างก็ขอให้มีความซื่อตรงในการตีความ และให้การตีความนั้นมีหลักฐานมีที่อ้างอิง มีระบบที่จะเชื่อมโยงกันสอดคล้องกับคำสอนส่วนรวมเป็นต้น อันนั้นก็เป็นเรื่องที่จะพูดกันไป แต่ในแง่ของตัวบัญญัติแล้วอย่างที่ว่ามานี้ เช่นว่าอะไรคือนิติบุคคล อย่างนี้ในกฎหมายไม่ใช่เรื่องของการตีความแต่เป็นเรื่องของการบัญญัติ แต่บุคคลเอาตัวบัญญัตินั้นไปตีความซ้อนขึ้นมาแล้วเอาการตีความของตนเองเป็นตัวที่ถูกต้อง แล้วลบล้างบัญญัติเสียเลย อย่างนี้ก็เป็นการสับสนระหว่างบัญญัติกับการตีความ อันนี้ก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน คือมีพุทธบัญญัติไว้แล้วในพระวินัยปิฎกบอกไว้เสร็จว่า ตัวบทของกฎหมายเป็นอย่างไร แล้วคำไขก็มีต่อจากแม่บทไว้แล้วให้ความหมายของทุกศัพท์ไว้เรียบร้อย เมื่อไม่ถือตามนั้นไปบัญญัติอย่างอื่นมันก็กลายเป็นการบัญญัติใหม่ลบล้างบัญญัติของพระพุทธเจ้า หรือการคัดค้านบัญญัติของพระพุทธเจ้านั่นเอง เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็ต้องเกิดความสับสนแน่นอน นี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่าง อาตมาขออธิบายเท่านี้ก่อน ถ้ายังมีสิ่งที่ไม่ชัดเจนอะไรก็ขอให้ช่วยกรุณาแจกแจง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พุทธบริษัท กับ พระธรรมวินัย — บทสนทนาธรรมระหว่าง พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กับ ดร. ระวี ภาวิไล(ปัญหาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร) >>

No Comments

Comments are closed.