(บทสรุปเหตุการณ์พระโพธิรักษ์)

12 มิถุนายน 2532
เป็นตอนที่ 5 จาก 7 ตอนของ

(อาจารย์ระวี) ตอนนี้กระผมคิดว่าเวลาล่วงเลยมามากพอประมาณ เวลาที่ผ่านมา ๒ ชั่วโมง ๔๕ นาทีแล้ว ยังมีปัญหาที่ผมได้เตรียมไว้ถาม และปัญหาที่ท่านผู้ร่วมการประชุมส่งขึ้นมาก็ยังมี กระผมจะขอถามสิ่งที่กระผมคิดว่ามีความสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันเสียก่อน คือเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ได้มีการประชุมการกสงฆ์ที่พุทธมณฑล การกสงฆ์นี้ก็เห็นว่าเป็นคณะทำงานว่าด้วยเรื่องสันติอโศกนี่โดยเฉพาะ แล้วก็มีการเสนอผลสรุปของการกสงฆ์ซึ่งวันนั้นสมเด็จพระสังฆราชทรงไปประชุมและกล่าวปิดการประชุมด้วย มีมติการกสงฆ์เป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับกรณีสันติอโศกให้มหาเถรสมาคมใช้อำนาจอะไรต่างๆ กระผมจะมาถึงประเด็นที่จะตั้งคำถามถามก็คือว่า ในระหว่างนั้นที่ว่าวันที่จะมีการนำเอาผลสรุปอันนี้เข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม เพื่อมหาเถรสมาคมจะได้ออกคำสั่งให้พระโพธิรักษ์ลาสิกขา แต่ว่าในวันที่ ๙ มิถุนายนนี่ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ไปพบเจรจากับพระโพธิรักษ์ และก็ได้มีการออกบันทึกการตกลงในการเจรจา ข้อความในบันทึกเป็นอย่างนี้

“บันทึกการตกลงในการเจรจาวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ จากการเจรจาตกลงของนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการกับคณะสงฆ์ชาวอโศก เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขเรียบร้อยของชาติบ้านเมืองและพระพุทธศาสนา คณะสันติอโศกยินยอมจะเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกายจากพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาคณะสงฆ์ไทยเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง โดยจะสวมเสื้อแขนกระบอกและครองผ้าโดยไม่มีจีวรและรูปแบบที่เหมือนพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทย และจะไม่ใช้คำเรียกตัวเองว่า พระภิกษุสงฆ์ นักบวช นักพรต อีกต่อไปตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๑๖.๐๐ น. คณะสันติอโศกจะปฏิบัติธรรมตามแนวความเชื่อถือที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมืองและกฎเกณฑ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และขอให้ทางกระทรวงศึกษาธิการให้ความร่วมมือในการแก้ไขตราสารและข้อบังคับของมูลนิธิและสมาคมในกิจการของชาวอโศกที่มีอยู่ โดยในวัตถุประสงค์ที่มีไว้เพื่อพระพุทธศาสนา ให้เปลี่ยนเป็น เพื่อศาสนา ต่อไป จากการปฏิบัติธรรมตามแนวความเชื่อถือดังกล่าวจะอยู่ในความดูแลของมูลนิธิธรรมสันติ กองทัพธรรมมูลนิธิ สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม และธรรมทัศน์สมาคม นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ได้รับทราบข้อตกลงดังกล่าวและจะนำไปเรียน นายมานะ รัตนโกเศศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเรียนเสนอมหาเถรสมาคมต่อไป จึงลงนามบันทึกไว้ร่วมกัน ก็มีลายเซ็นของพระโพธิรักษ์ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ พันตำรวจโทรุ่งโรจน์ เรืองฤทธิ์ เป็นพยาน นายจรวย หนูคง เป็นพยาน” อันนี้เป็นสำเนาซีล็อกซ์ที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์

ต่อมาปรากฏว่าในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ตอนบ่ายก็ได้มีการประชุมมหาเถรสมาคม มีคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องให้พระโพธิรักษ์ โพธิรกฺขิโต หรือพระโพธิรักษ์สละสมณเพศ

“ด้วยมหาเถรสมาคมได้พิจารณาตามรายงานและมติอันเป็นเอกฉันท์ของคณะการกสงฆ์เกี่ยวกับกรณีสันติอโศกโดยรอบคอบแล้ว ได้มีมติวินิจฉัยว่า พระรัก โพธิรกฺขิโต หรือพระโพธิรักษ์ มีพฤติกรรมอวดอุตริมนุสธรรม แสดงตนเป็นพระอริยบุคคลระดับต่างๆ บางครั้งก็ว่าเป็นพระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ จนถึงกับเป็นพระสารีบุตรเถระมาเกิดใหม่ นับว่าเป็นผู้ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ นอกจากนั้นปรากฏหลักฐานว่าพระโพธิรักษ์ประพฤติตนในลักษณะบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา โดยการประพฤติให้วิปริตจากพระธรรมวินัย และทำพระธรรมวินัยให้วิปริต บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติขึ้น เพิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว ตั้งข้อกำหนดต่างๆ ขึ้นปฏิบัติตามความพอใจของตน ที่มีปัญหาคือ บทบัญญัติที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย ไม่ยอมรับกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์อันตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพฤติกรรมหลายประการที่เป็นการทำลายวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติ ทั้งไม่สังกัดวัดใดวัดหนึ่ง ซึ่งในสถานะของความเป็นพระภิกษุนั้นจะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกฎหมายจารีตแห่งสงฆ์ การกระทำของพระรัก โพธิรกฺขิโต หรือพระโพธิรักษ์ได้สร้างความแตกแยกขึ้นในหมู่ประชาชนพุทธบริษัทมาเป็นเวลานาน แม้ว่าทางคณะสงฆ์จะให้โอกาสตักเตือนโดยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความสำนึกกลับใจโดยการแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบตามพระธรรมวินัยซึ่งตั้งอยู่ในฐานะขององค์พระศาสดา แต่พระรัก โพธิรกฺขิโต หรือพระโพธิรักษ์ หาได้สำนึกผิดแต่ประการใดไม่ ยังคงทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระรัตนตรัยด้วยวิธีการต่างๆ อยู่เสมอ จึงไม่สมควรที่จะดำรงอยู่ในภาวะแห่งพระภิกษุอีกต่อไป ฉะนั้น เพื่อเทิดทูนและป้องกันพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทยไม่ให้มัวหมองและถูกบ่อนทำลาย และเพื่อความสามัคคีของพุทธศาสนิกชนที่มีความเคารพนับถือพระรัตนตรัยอย่างจริงใจ ตลอดจนเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองตลอดกาลนาน อาศัยอำนาจความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมจึงมีคำสั่งให้พระรัก โพธิรกฺขิโต หรือพระโพธิรักษ์ สละสมณเพศพ้นจากความเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วันที่ออกคำสั่งนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม”

กระผมได้ทราบจากหนังสือพิมพ์ว่า คุณชัยภักดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีศึกษาธิการและเข้าใจว่ามีพระเถระบางรูปได้ไปด้วยกันยังสำนักสันติอโศก และก็ได้มีการเจรจานำเอาคำสั่งนี้ไปให้เซ็นแต่พระโพธิรักษ์ไม่ยอมเซ็นแล้วก็มีข่าวสับสน ข่าวสับสนนั้นก็คือว่าเดิมมาทางทีวีก็พูดให้สาธารณชนเข้าใจว่าพระโพธิรักษ์ยอมสึก แต่พระโพธิรักษ์ด้วยการปฏิเสธนั้นก็ไม่ยอมสึก ดังนั้น ผมก็อยากทราบว่าเรื่องเป็นยังไง และในการประชุมครั้งนี้ผมเองก็ยังเรียกท่านว่าพระโพธิรักษ์ เพราะว่าตามกฎหมายแล้วท่านยังไม่ได้สึก แต่ผมเข้าใจว่าการที่ท่านได้เปลี่ยนรูปแบบการแต่งตัวไปเป็นไม่เหมือนพระ คือจะว่าเป็นคฤหัสถ์นั้นก็ดูจะเป็นการผิดพระธรรมวินัยอีกซ้ำซ้อนซ้อนเข้าไปเป็นเรื่องใหม่อีก แล้วก็ดูจะเป็นการยุ่งยากมาก กระผมอยากจะกราบเรียนถามพระคุณเจ้าว่า ในเรื่องทั้งหมดนี้มีสิ่งใดที่จะทำให้ที่ประชุมนี้มีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องหลายประการอันที่ว่าทางฝ่ายบ้านเมืองเข้าไป กระผมมองเห็นว่าเป็นการข้ามขั้นตอนที่น่าจะได้กระทำตามที่ประกาศมหาเถรสมาคม เข้าใจว่าจะต้องส่งคำสั่งมหาเถรสมาคมไปถึงพระโพธิรักษ์ก่อนแล้วจึงเป็นเรื่องของทางกระทรวงศึกษาหรือทางบ้านเมืองจะได้ดำเนินการต่อไป ขอกราบเรียนให้ความกระจ่างในเหตุการณ์อันนี้ด้วย ว่าเรื่องเป็นยังไงมายังไง และเมื่อปัญหามาถึงอย่างนี้แล้ว ไม่ทราบว่าพระคุณเจ้าจะมีข้อแนะนำอย่างไรหรือไม่ ขออาราธนา

(พระเทพเวที) เจริญพร เข้าใจว่าปัญหานี้เป็นเรื่องที่สาธุชนทั้งหลายกำลังสนใจกันมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด แต่ก่อนที่จะตอบปัญหานี้อาตมาติดใจอยู่นิด เมื่อกี้พูดเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ก่อนที่จะพูดให้ญาติโยมฟังเรื่องปัญหานี้ก็เลยขอพูดเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนานิดหน่อย คือหลายท่านอ้างว่าพระโพธิรักษ์มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพราะฉะนั้นการไปทำอย่างนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการนับถือศาสนา อาตมาอยากจะทำความเข้าใจนิดหนึ่งคือ พูดกันรวบรัดว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็บ่งชัดอยู่แล้วว่าเสรีภาพในการนับถือ หมายความว่าเราจะเลือกนับถือศาสนาใดหรือเลือกไม่นับถือก็ได้ คือถ้าเราชอบใจศาสนานี้เราก็นับถือศาสนานี้ เราไม่ชอบใจเราก็ไม่นับถือ แต่ทีนี้ถ้าเราเกิดนับถือล่ะ ถ้าเราเกิดนับถือก็คือว่า เรายอมรับหลักการระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของศาสนานั้นใช่ไหม เมื่อเราพอใจตกลงนับถือเราก็ต้องปฏิบัติตามหลักการกฎเกณฑ์ของศาสนานั้น อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ต่อมาเราเกิดไม่ชอบใจขึ้นมาอีกเราก็มีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ที่จะเลิกนับถือศาสนานั้น อันนี้เรียกว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนา อันนี้คนไม่เข้าใจมันกลายเป็นว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาคือการมีเสรีภาพที่จะทำกับศาสนานั้นอย่างไรก็ได้ด้วย อันนี้มันจะไกลเกินไป จนกลายเป็นว่ามีเสรีภาพที่จะแก้ไขดัดแปลงตลอดจนทำลายศาสนาก็ได้ด้วย จึงต้องพูดกันให้ชัดว่า เสรีภาพในการนับถือศาสนาไม่ใช่เสรีภาพในการทำกับศาสนาอย่างไรก็ได้ อันนี้คงจะต้องทำให้ชัดขึ้นมา นี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง

ทีนี้หันมาสู่เรื่องที่ท่านอาจารย์ระวี ท่านได้พูดไว้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ล่าสุด อันนี้จะเป็นข้อชี้อย่างหนึ่งให้เห็นว่า ในที่สุดแล้วสิ่งที่เราเรียกว่ากรณีสันติอโศกนั้น ที่แท้จริงแล้วเป็นเพียงกรณีพระโพธิรักษ์เท่านั้น เป็นปัญหาพระโพธิรักษ์เท่านั้นเอง จุดของปัญหาไม่ได้มุ่งไปที่สันติอโศก เรายอมรับว่าคณะสันติอโศกหลายคนมีเจตนาดีความตั้งใจดีที่จะประพฤติความดี แต่อาตมามีเครื่องหมายคำถามอยู่ว่า เป็นการทำความดีที่ถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนาแค่ไหน ซึ่งเราจะต้องมาทำความเข้าใจกันต่อไป อาตมาก็อาจจะต้องเขียนอีกเพื่อชี้แจงว่าหลักพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร และทางสันติอโศกก็มีสิทธิที่จะทำความเข้าใจกับเราเหมือนกันว่าที่เขานับถือนั้นถูกอย่างไร แต่สิ่งที่เราต้องการก็คือทำความเข้าใจกับชาวสันติอโศก ผู้ที่มีความปรารถนาดีตั้งใจดีก็ทำความดีต่อไป แต่ว่าจะต้องเรียนรู้ศึกษาให้เข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อให้การปฏิบัตินั้นไม่ไปสู่ทางที่ผิดพลาดได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ค้างอยู่ ทีนี้กลับมาสู่ตัวปัญหา ก็เป็นอันว่าเป็นปัญหาพระโพธิรักษ์หรือกรณีพระโพธิรักษ์เท่านั้น และมันโยงไปถึงชาวสันติอโศกอื่นบ้างก็เพราะว่า เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ว่ามันเกี่ยวกับการบวชที่โยงไปหาท่านเหล่านั้น โดยที่เป็นไปตามพระธรรมวินัยเท่านั้นหรือเป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น แต่ว่าตัวปัญหาก็คือตัวท่านโพธิรักษ์เอง

ทีนี้เรื่องที่ท่านอาจารย์ระวี ภาวิไล ถามอาตมภาพมานี้ อาตมภาพก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบแทนมหาเถรสมาคมได้ ท่านจะตอบว่ายังไงก็เป็นเรื่องของท่าน แต่อาตมาจะตอบในฐานะผู้ทำงานอิสระมองตามเหตุการณ์และมองตามหลักการที่เป็นไป เราก็จะได้ความทำนองนี้ว่า มหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบกับมติของการกสงฆ์ไปแล้ว อันนี้ทุกท่านทราบดี การกสงฆ์มีมติเสนอขึ้นมาต่อมหาเถรสมาคม ๔ ข้อ ข้อที่ ๑. ก็คือเรื่องการออกคำสั่งให้พระโพธิรักษ์ลาสิกขาหรือสละสมณเพศ ทีนี้มหาเถรสมาคมต้องการให้มีความรอบคอบว่าตนมีอำนาจในการที่จะออกคำสั่งนี้จริงหรือไม่ตามกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเสียก่อน ก็เป็นอันว่าการปฏิบัติในการออกคำสั่งที่เป็นไปตามมติการกสงฆ์ก็เพียงรอเวลาให้ได้รับมติวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนเท่านั้น เรื่องก็เป็นมาเป็นอย่างนี้ ทีนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ประชุมกัน ในระหว่างที่กำลังรอมติคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ หรือแม้แต่รู้มติของกรรมการกฤษฎีกาแล้วก็เป็นการรู้แน่นอนว่า เมื่อคณะสงฆ์ประชุมอีกครั้งก็คือจะต้องออกคำสั่ง เพราะได้มีมติเห็นชอบตามมติการกสงฆ์ไปแล้ว ในระหว่างนี้คุณชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ซึ่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็มีความหวังดีต่อท่านโพธิรักษ์ ก็จึงได้ไปเจรจากับท่านโพธิรักษ์ขอให้ยอมสึกเสียเองเถิด อย่าให้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของมหาเถรสมาคมเลย อันนี้เราถือว่าเป็นความปรารถนาดีของคุณชัยภักดิ์ ไปเจรจากันมาได้ความมาอย่างไรก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว แต่เสียงที่ออกมาเป็นข่าวสู่สาธารณชนประชาชนจำนวนมากเข้าใจเป็นว่าท่านโพธิรักษ์ยอมลาสิกขา จะยอมลาสิกขาหรือยอมสึกละสมณเพศให้เป็นไปตามที่มหาเถรสมาคมจะออกคำสั่งอยู่แล้ว แต่อันนั้นกลายเป็นความเข้าใจผิดของประชาชนบางท่านหรือหลายท่านทีเดียว เป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะว่าไม่ได้มีการสึกเกิดขึ้น หรือการที่โพธิรักษ์เจรจาแล้วเรียกว่ามีคล้าย ๆ ข้อตกลงกับคุณชัยภักดิ์นั้นก็ไม่ได้มีเรื่องการสึก แม้จะมีข้อความแวดล้อมมากมายเช่นการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายอะไรต่ออะไร แต่ประเด็นสำคัญคือไม่ได้สึก อันนี้ก็จะต้องพูดถึงการสึกหรือการลาสิกขาตามพระวินัย

การปฏิบัติตามพระวินัยเพื่อให้การลาสิกขาหรือการสละสมณเพศมีผลสมบูรณ์นั้นจะต้องทำดังนี้ คือ ผู้ที่ลาสิกขาหรือสละสมณเพศนั้นจะต้องกล่าววาจาแสดงเจตนาในการลาสิกขานั้นออกมาให้บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่รู้ความรับทราบเป็นพยาน อันนี้คือการลาสิกขาตามพระวินัย ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะมีผลสมบูรณ์ตามพระวินัย ทีนี้ท่านโพธิรักษ์ไม่ยอมปฏิบัติข้อนี้ แต่เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เมื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งกายก็กลายเป็นว่าท่านยังเป็นพระภิกษุแต่ไปแต่งกายอย่างอื่น เมื่อท่านเป็นพระภิกษุไปแต่งกายอย่างอื่นมันก็เป็นปัญหาพระวินัยเกิดขึ้นอีก คือพระวินัยนี้บอกไว้ว่าภิกษุแต่งกายอย่างคฤหัสถ์เป็นความผิดทางวินัยเรียกว่า ทุกกฏ ถ้าหากพระภิกษุทั้งที่ยังไม่ละสมณเพศไปแต่งกายอย่างนักบวชนอกศาสนาเป็นอาบัติแรงยิ่งขึ้นเรียกว่า ถุลลัจจัย อันนี้ก็กลายเป็นเรื่องอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเมื่อสละเครื่องแต่งกายแบบพระภิกษุไปแล้วก็ขาดสิ่งที่เรียกว่า ไตรจีวร พระภิกษุนั้นมีเครื่องแบบของตัวเองเรียกว่าไตรจีวร ไตรจีวรนี้เวลาบวชพระกรรมวาจาจารย์จะต้องสวดซักซ้อมถามว่าท่านมีจีวรครบแล้วหรือ บริบูรณ์หรือคือมีไตรจีวรครบสามไหม ถ้าครบสามจึงบวชได้ แม้แต่จะบวชก็ต้องมีครบสาม เมื่อบวชมาแล้วพระภิกษุก็มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องแบบของตนหรือไตรจีวรนี้ ถ้าเมื่อสละเครื่องแต่งกายนี้ไปแต่งกายอย่างอื่นไม่ใช่ไตรจีวร ก็มีไตรจีวรไม่ครบก็จะขาดการรักษาวินัยที่เกี่ยวกับจีวรนี้ไป ก็เป็นปัญหาอีก กลายเป็นความบกพร่องที่ไม่อาจรักษาพระวินัยได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่เราเรียกกันว่าศีล ๒๒๗ เอาล่ะเป็นอันว่าเมื่อท่านโพธิรักษ์ไม่ลาสิกขาแล้วไปเปลี่ยนเครื่องแต่งกายใหม่ มันก็กลายเป็นปัญหาทางพระวินัยขึ้นอีก

ทีนี้มหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์ก็มีหน้าที่ตามหลักการที่จะต้องให้พระภิกษุประพฤติตามพระวินัย เมื่อเรื่องเป็นอย่างนี้ คณะสงฆ์จะยอมให้พระโพธิรักษ์เปลี่ยนเครื่องแบบไปแต่งกายคฤหัสถ์ได้หรือ ถ้าหากว่ายอมตามนั้นก็กลายเป็นว่าคณะสงฆ์ยินยอมหรือสนับสนุนให้มีพระภิกษุรูปหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งปฏิบัติผิดพระวินัยใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งเป็นไปได้หรือไม่ที่คณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมจะปฏิบัติตามคำเจรจาหรือจะเรียกว่าข้อตกลงอันนั้น ซึ่งคณะสงฆ์เองก็ไม่ได้ตั้งใคร ไม่ได้มอบหมายอำนาจให้ใครไป เป็นเพียงเจตนาดีความหวังดีของท่านผู้นั้นอันหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่อาตมาก็ยังไม่ได้ยินมหาเถรสมาคมตอบชี้แจงอย่างนี้ แต่อาตมามองในฐานะคนนอกเป็นอิสระซึ่งมหาเถรสมาคมก็เคยขอความร่วมมือในการให้ความคิดเห็นซึ่งก็ได้ถวายความร่วมมือ แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ได้พูดกันจริงจัง ซึ่งในแง่ของมหาเถรสมาคมเองท่านจะพูดยังไงก็เป็นเรื่องของท่าน แต่อาตมาวินิจฉัยตามหลักการและเหตุการณ์ก็จะได้อย่างนี้ ขอเจริญพร

(อาจารย์ระวี) กระผมขอตั้งข้อสังเกตอย่างที่กระผมได้กราบเรียนมาแล้วว่า ความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยของเราผู้คนในบ้านเมืองนี้ค่อนข้างจะน้อย และโดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย กระผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคือพูดง่ายๆ ว่ากระผมต้องกราบเรียนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า พระโพธิรักษ์ไม่ต้องการสึกแต่ใช้วิธีการพูดและการกระทำที่ทำให้คุณชัยภักดิ์เข้าใจผิดว่าการกระทำเหล่านั้นที่จะทำไปตามข้อตกลงนั้นเป็นการสึก ซึ่งคุณชัยภักดิ์หรือแม้ผมเองสมมติว่าไปอยู่ในสถานะนั้นก็อาจจะหลงไปได้เหมือนกัน เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ มีแต่ความปรารถนาดี และนี่ก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ผมก็มองเห็นว่าเป็นตัวอย่างของเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องเดียวในหลายๆ เรื่องที่เราไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นอีกมากมายที่ทำให้การแก้ไขปัญหานี้มันไม่ยุติ

แล้วข้อนี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าการกระทำความดีของพระโพธิรักษ์นั้นมีจุดมุ่งหมายอะไรกันแน่ เพราะว่ายิ่งนับวันที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ซึ่งก็แสดงสิ่งที่ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็เรียกว่าเล่ห์กลต่างๆ มากขึ้นๆ เป็นที่ปรากฏมากขึ้นๆ สิ่งนี้ทำให้เกิดความรู้สึกในข้อที่ว่ามีความสุจริตใจต่อพระศาสนาอย่างไรกันแน่ ถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งคือว่าท่านน่าจะปรารถนาตั้งตนเป็นศาสดาแต่ว่าท่านมองเห็นว่า วิธีการเผยแพร่ลัทธิที่ท่านประสงค์นั้นในขั้นต้นนั้น ถ้าหากอยู่ในรูปแบบของสงฆ์ในพุทธศาสนาก็จะมีผู้เชื่อถือได้ง่าย อันนี้ก็เป็นข้อที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาแสดง เพราะแม้โดยถ้อยคำของพระโพธิรักษ์เองนั้นเมื่อไปขอบวชก็ได้เล่าให้แก่สานุศิษย์ฟังว่า เพราะเป็นฆราวาสไปพูดเขาหาว่าเอาคนบ้ามาพูด ก็จำเป็นจะต้องบวชเพื่อให้ได้เครื่องแบบของพระสงฆ์ แล้วทีนี้ไปพูดเขาก็เชื่อกันแล้ว ก็ได้เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ นั่นก็คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมา สิ่งที่กระผมพูดไปหยกๆ นี้มันไม่ได้เป็นเรื่องของการเตรียมมาพูดนึกมาว่าจะสรุปอย่างนี้แล้วมาหาเหตุต่างๆ แต่ท่านผู้ร่วมฟังคงจะเห็นเหตุผลที่ค่อยๆ แสดงปรากฏเปิดเผยมาเป็นขั้นๆ มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าทำไมท่านทำได้ พูดตรงๆ ก็คือให้ท่านหลอกได้ เพราะเราคือคนที่สนใจพระศาสนามีน้ำใจบริสุทธิ์ที่จะปฏิบัติธรรม เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้ล่ะครับ

กระผมจำเป็นต้องมาสู่ข้อสรุปนี้เพียงเท่านี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (พระราชบัญญัติคณะสงฆ์)ภาคผนวก-บทสัมภาษณ์ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) >>

No Comments

Comments are closed.